måndag 26 oktober 2015

บท"วิเคราะห์" ฝากให้สำหรับทุกท่านที่ต้องการได้คำตอบให้ตัวเอง ว่าทำไมสังคมไทยจากที่มีประชาธิปไตยครึ่งๆกลางๆแบบไทยๆ วันนี้จึงได้กลายพันธ์มาเป็นสังคมเผด็จการทหารแบบเบ็ดเสร็จไปได้.. ควรเปิดใจให้กว้าง "อ่าน คิด พิจารณา" ทบทวนหลายๆครั้งอย่างมีสติ แล้วจะเข้าใจถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุปัจจัยที่"ซับซ้อน" จะได้ถอดถอนบทเรียนเดินหน้าไม่หลงทางกลับไปเดินในทางสายเดิม.....

ข่าวมติชน
วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 06:00:31 น.
"สมศักดิ์ เจียม"เขียนเรื่อง"สองทักษิณ" ระบุ เป็นแกนนำมวลชนที่แย่และไร้คุณธรรม!





ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เเสดงความเห็นถึงการเคลื่อนไหวและเเสดงความเห็นทางการเมือง  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังนี้  "ผมจะไม่พูดถึงข่าวล่าสุดที่จตุพรออกมาบอกว่าจะ "ลั่นกลอง" ปลุกระดมประชาชนอะไรนะ แต่จะพูดถึงอะไรที่มันกว้างกว่านั้น เป็นเรื่องเดียวกันนี่แหละ แต่มองภาพกว้างออกไปในประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญ และคิดๆ มาสักพักแล้ว"

ในช่วงวิกฤติ ๑๐ ปีที่ผ่านมา สำหรับ "คนเสื้อแดง" และคนที่เชียร์ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย คุณทักษิณและเครือข่ายเป็น ๒ อย่างพร้อมๆ กัน ซึ่งบรรดาคนที่เชียร์ บางทีก็ไม่ตระหนักว่า ๒ อย่างนี้ มันมีความแตกต่างสำคัญบางอย่างอยู่

ด้านหนึ่ง แน่นอน คนที่เชียร์เริ่มมาจากชอบคุณทักษิณในฐานะ รัฐบาล อันนี้ ก็รวมไปถึงหลังรัฐประหาร รัฐบาลสมัคร-สมชาย-ยิ่งลักษณ์ ด้วย คือชอบในแง่เป็นผู้บริหารประเทศ มีนโยบายที่รู้สึกว่าถูกใจ (จาก "๓๐ บาท" "สงครามยาเสพย์ติด" "โอท็อป" มาถึง "จำนำข้าว" ฯลฯ)

ผมจะไม่ถกเถียงในที่นี้ในแง่ว่า นโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลทักษิณ (รวมสมัคร-สมชาย-ยิ่งลักษณ์) ดีไม่ดีอย่างไร แค่พูดความจริงพื้นๆ ที่ว่า มีคนชอบมากกว่าไม่ชอบ คือเห็นได้ว่า เสียงส่วนใหญ่ก็ยังเลือกพรรคทักษิณเข้ามาบริหารประเทศเรื่อยๆ

ผมเป็นนักวิชาการ (ที่ไม่ได้ทำงานกับรัฐบาล) แทบจะคนเดียวในปี๔๘-๔๙ตอนเริ่มวิกฤติ ที่เสนอว่า ตราบเท่าที่ทักษิณได้รับความไว้วางใจจากเสียงส่วนใหญ่โดยผ่านการเลือกตั้ง ผมก็ยินดีจะดีเฟนด์ โดยเฉพาะดีเฟนด์จากการโจมตีของการเคลื่อนไหวที่วางอยู่บนฐานของกำลังที่ไม่อยู่ในระบบเลือกตั้ง-ตรวจสอบควบคุมไม่ได้เลย(สมัยนั้นปัญญาชน "ทวนกระแส" เกือบทุกคน ไม่เห็นว่าเลือกตั้งสำคัญอย่างไร ผมจะไม่ทบทวนในที่นี้ เพราะจะยาว แต่เป็นแบบนั้นจริงๆ)

ประเด็นที่ผมจะพูดในที่นี้คือ ตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมา ทักษิณกับเครือข่ายยังมีบทบาทหรือสถานะอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ บทบาท-สถานะในฐานะ ผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของมวลชน

๒ อย่างนี้ - ในฐานะรัฐบาล กับในฐานะผู้นำหรือแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวมวลชน - เป็นอะไรที่ไมใช่อย่างเดียวกัน ความจริง มีความแตกต่างสำคัญอยู่

อย่างแรกนั้น ผมคิดว่า ต่อให้ไม่ชอบหรือวิจารณ์ได้อย่างไร เราอาจจะพูดได้ว่า ทักษิณกับพวกประสบความสำเร็จจริง อาจจะพอพูดได้ไม่ยากเลยว่า "บริหารดีกว่า ปชป." (ไม่ต้องพูดถึง คสช.) และมองในเชิงหลักการปกครองประชาธิปไตย ต่อให้ไม่ชอบ ก็เป็นอะไรที่สามารถดีเฟนด์ได้ (คือดีเฟนด์ทักษิณกับพวกในฐานะรัฐบาลเลือกตั้งมา)

ปัญหาคือบทบาท-สถานะแบบหลัง

ในความเห็นของผมในบทบาทสถานะของการเป็นผู้นำขบวนการเมืองทักษิณกับพวกไม่เพียงประสบความล้มเหลวอย่างแย่มากๆ อย่างสำคัญ ยังเป็นผู้นำและแกนนำขบวนการการเมืองมวลชนที่แย่ ไม่มีคุณธรรม ไม่มีความสามารถสุดๆ ด้วย

ผมไม่สามารถไล่เรียงโดยละเอียดในที่นี้ว่า ที่เพิ่งพูดมีอะไรบ้าง เอาแบบสั้นๆ แค่ ๒ กรณีที่รู้จักกันดี คือ

(ก) การตัดสินใจยึดราชประสงค์ปี ๕๓ เป็นการตัดสินใจที่แย่ ที่ไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์ด้วย และในที่สุด การตัดสินใจนาทีสุดท้าย ที่จะไม่ยอมรับ "โร้ดแม็พ" อภิสิทธิ์ เพื่อต่อรองบางอย่างเพิ่มเติมให้ทักษิณ เป็นการตัดสินใจที่ไม่เพียงโง่ หายนะในทางยุทธวิธี ยังสะท้อนลักษณะไม่มีคุณธรรม เอาชีวิตของมวลชนเข้าเสี่ยง (แล้วก็ตายเป็นเบือจริงๆ ทั้งๆ ที่หลีกเลี่ยงได้) และแน่นอนสะท้อนลักษณะรวบอำนาจขึ้นต่อผู้นำ ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย (เสียงทักษิณใหญ่พอจะเปลี่ยนความเห็นที่ส่วนใหญ่เอนเอียงไปในทางยอมรับโร้ดแม็พแล้ว)

(ข) กรณีเหมาเข่ง ในแง่ยุทธวิธีล้วนๆ (ไม่ต้องพูดถึงในแง่หลักการอะไรเลยในที่นี้) เป็นการตัดสินเชิงยุทธวิธีที่โง่บัดซบสุดๆ และเช่นเดียวกับกรณีราชประสงค์ เป็นการตัดสินใจที่สะท้อนลักษณะไม่มีคุณธรรมมากๆ ด้วย คือตลอดเวลาก่อนหน้านั้น เอาชีวิตในคุกมวลชนตัวเอง รอไว้เป็นตัวคอยต่อรอง หาโอกาสเพื่อช่วยผู้นำ และในที่สุด เมื่อมีโอกาสที่จะช่วยผู้นำ ก็ทำ โดยไม่คำนึงถึงว่า เป็นการทำลายโอกาสของมวลชนตัวเองอย่างไร และแน่นอน การที่ทั้งพรรคเอาด้วยกันหมดแบบเชื่องๆ ก็ยืนยันอีกครั้งถึงลักษณะรวบอำนาจขึ้นต่อผู้นำ ไม่เป็นประชาธิปไตยของขบวนนี้

(จริงๆ ยังมีเรื่องที่ต่อเนื่องกันช่วงวิกฤติ กปปส.  แต่ผมจะไม่พูดในที่นี้ เพราะมันจะยาว คือประเด็นเรื่องการเคลื่อนไหวแบบ "ใต้ดิน" ที่แพร่หลายมากในหมู่เสื้อแดงในช่วงนั้น โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ ประเด็นนี้มันมีความซับซ้อนอยู่ คือจุดเริ่มต้นอาจจะไม่ใช่มาจากการนำของทักษิณและระดับนำโดยตรง แต่ว่า ในที่สุด ความรับผิดชอบที่ทำให้มีสภาพเช่นนั้นขึ้นได้ มีส่วนอยู่ในความรับผิดชอบของระดับนำแน่นอน)

สรุปแล้วในฐานะบทบาทของผู้นำขบวนการการเมือง ทักษิณกับพวกมีลักษณะโง่และไร้คุณธรรม อันที่จริง ขบวนทั้งขบวนในแง่ความเป็นขบวนการเคลื่อนไหวการเมืองมวลชน มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจขึ้นกับผู้นำ ไม่เป็นประชาธิปไตย มีลักษณะ "ระบบอุปถัมภ์" "มั่ว" สูงมากๆ

(อันที่จริง ควรกล่าวด้วยว่า ในสถานะรัฐบาล ลักษณะรวบอำนาจ ฯลฯ ก็มี แต่ในกรณีนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า กลายเป็นความสำเร็จของทักษิณในฐานะรัฐบาลด้วยซ้ำ พูดง่ายๆ การที่อะไรๆ ก็ขึ้นกับทักษิณในฐานะนายกฯ ทำให้ทำอะไรเร็ว เด็ดขาด ฯลฯ ในแง่นโยบายบริหารประเทศ - นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า สถานะ ๒ อย่างที่พูดถึง มีความแตกต่างกันอยู่)

ปัญหาคือ สำหรับชาวบ้าน ประชาชนทั่วไป บทบาท ๒ อย่างที่พูดนี้ มัน "ซ้อนทับ" กันอยู่ และคนที่ชอบทักษิณกับพวก ที่เริ่มมาจากการชอบในบทบาทแรก คือชอบในฐานะเป็นรัฐบาล (บริหารดี เศรษฐกิจดี ฯลฯ) ก็มักจะ "ถ่ายโอน" (transfer) ความชอบนั้น มาที่ทักษิณกับพวกในฐานะผู้นำขบวนการการเมืองด้วย พูดแบบง่ายๆ คือ ทักษิณกับพวกเอาไงเอาด้วย ในแง่จังหวะก้าวการเคลื่อนไหวการเมือง ในแง่ท่าทีทางการเมือง ฯลฯ
และคนที่เชียร์ทักษิณ ด้วยสาเหตุจากบทบาทแรก (คือในฐานะรัฐบาล ชอบนโยบาย ฯลฯ) ก็มักจะเลยไปเชียร์หรือดีเฟนด์ในบทบาทหลังด้วย แม้ว่า ในขณะที่บทบาทแรก อาจจะกล่าวได้ว่ามีเหตุผลเข้าใจได้ที่จะเชียร์หรือดีเฟนด์ แต่ในแง่บทบาทหลัง ไม่มีเหตุผลให้ควรเชียร์หรือดีเฟนด์

(อันที่จริง ไม่เพียงระดับชาวบ้านหรือมวลชนทั่วไป ในช่วงก่อนรัฐประหาร ผมมองว่า แม้แต่นักวิชาการหรือแอ๊คติวิสต์บางส่วน ก็ "สับสน" หรือไม่แยกระหว่างบทบาท ๒ อย่างนี้ด้วย ความรู้สึกผมคือในช่วงท้ายๆ ก่อนรัฐประหาร นักวิชาการจำนวนหนึ่ง - ซึ่ง ๘-๙ ปีก่อนหน้านั้น ยังไงก็ไม่เอาทักษิณๆๆ - กลับไปขึ้นต่อหรือตามจังหวะก้าวหรือยุทธวิธีของทักษิณ-เพื่อไทยในฐานะขบวนการเมืองมากไป แต่เรื่องนี้มีความซับซ้อน ที่ไม่สามารถอภิปรายในที่นี้)

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar