tisdag 4 april 2017

กษัตริย์ใหม่ ให้มีการทำเป็นพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี


Somsak Jeamteerasakul
กษัตริย์ใหม่ ให้มีการทำเป็นพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี
กษัตริย์ใหม่ ให้มีการทำเป็นพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี
เมื่อเช้า ตอนที่ผมโพสต์กระทู้ที่แล้ว เรื่องจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ วันจักรี 6 เมษายนนี้ ความจริง "มิตรสหายท่านหนึ่ง" ที่ส่งข่าวมาให้ (มีมากกว่า 1 ท่านที่ส่งข่าวมาพร้อมๆกัน) บอกมาด้วยว่า น่าสังเกตว่าจะทำพิธีเหมือนสมัยรัชกาลที่ 7
พอดีผมกำลังรีบจะออกจากบ้าน เลยไม่ทันได้คิดโดยละเอียด เมื่อกลับมา ก็มี "มิตรสหายอีกท่านหนึ่ง" ถามมาหลังไมค์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆตั้งแต่สมัยทศวรรษ 2520 ไม่เคยมีพิธีใช่ไหม? ผมลองทบทวนเช็คข้อมูลดู ก็เป็นจริง
ก่อนอื่นขอให้ดูภาพประกอบ ซึ่งผมรวบรวมการลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญทุกฉบับ จากปี 2511 เป็นต้นมา จนถึงรัฐธรรมนูญ "ชั่วคราว" 2557 ที่กำลังใช้อยู่นี้ (เอามาจากกระทู้ที่ผมเคยโพสต์ปลายเดือนกันยายนที่แล้ว ที่นี่ https://goo.gl/1nuQz5)
จะเห็นว่า ครั้งสุดท้าย ที่มีการประกอบพิธี คือปี 2511 (รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่าง 10 ปีในสมัยสฤษดิ์-ถนอม มีพิธีประกาศเมื่อ 20 มิถุนายน) หลังจากนั้นมา การประกาศใช้ มีแต่เพียง "ประธานสภานิติบัญญัติ" เข้าเฝ้าถวายให้ในหลวงภูมิพลลงพระปรมาภิไธยที่พระตำหนัก และมีภาพถ่ายออกมาเท่านั้น
ก่อนหน้า 2511 มีการประกอบเป็นพิธี 3 ครั้ง คือ
- รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 (ของคณะราษฎร+รัชกาลที่ 7)
- รัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม 2489 (รัฐธรรมนูญปรีดี)
- รัฐธรรมนูญ 8 มีนาคม 2495
นี่คือ "รัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495" ซึ่งเป็นผลจากการที่จอมพล ป.รัฐประหารตัวเอง ก่อนในหลวงภูมิพลจะเสด็จถึงไทยถาวรไม่กี่วัน ซึ่งทำให้ในหลวงโกรธมาก มีปัญหาต้องเจรจาต่อรองกัน จนถึงนาทีสุดท้ายที่จะมีพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ในหลวงทำท่าจะไม่ยอมเสด็จ ทั้งๆที่รัฐบาลประกาศเชิญทูตานุทูตไปหมดแล้ว จนต้องประกาศเลื่อนกระทันหัน แล้วก็ประกาศจะมีอีก (พวกทูตประเทศต่างๆงงกันมาก) หลังจาก พล.ต.อ.เผ่า มือขวาของจอมพล ต้องเดินทางไปเข้าเฝ้าที่วังไกลกังวล หัวหิน ขอร้องแกมบังคมให้ในหลวงเสด็จ หลังจากนั้น ก็ยังมีความตึงเครียดกันอยู่อีก จนในหลวงไม่ยอมเสด็จเปิดรัฐสภาในสัปดาห์ต่อมา และมี "ข่าวลือ" เรื่องในหลวง "ถูกจับกุมพระองค์" จนรัฐบาลต้องออกแถลงการณ์มาปฏิเสธ (ดูกระทู้ที่ผมเคยเล่าเรื่องนี้บางส่วน ที่นี่ https://goo.gl/bKHcil)
..................
ดังนั้น จะเห็นว่า การที่กษัตริย์ใหม่ให้มีพิธีขึ้นมาอีก หลังจากไม่มีมา 50 ปี จึงเป็นอะไรที่สำคัญเหมือนกัน
ทำไมจึง "ทรงพระขยัน" ให้มีพิธี? ผมคิดว่า กษัตริย์ใหม่คงคาดหวังจะให้มีลักษณะเป็นการแสดง "พระบรมเดชานุภาพ" อย่างหนึ่งว่า เป็นการ "เริ่มรัชสมัยใหม่" มี "รัฐธรรมนูญใหม่" ที่พระองค์ทรงประกาศเองอย่างอลังการ์
อาจจะคาดหวังให้รัฐธรรมนูญที่จะทรงประกาศอย่างใหญ่โตใน "วันจักรี" (เสียด้วย) นี้ "อยู่ชั่วกัลปาวสาน" อะไรแบบนั้นก็ได้
แม้ว่า โดยประวัติศาสตร์ - ไม่รู้มีใครบอกพระองค์หรือพระองค์ตระหนักหรือเปล่า? - บรรดารัฐธรรมนูญที่ทำพิธีประกาศใหญ่โตทุกฉบับข้างต้น ยกเว้นฉบับ 2475 ฉบับเดียว ที่อยู่ได้นานหน่อย เพราะคณะราษฎรมีอำนาจอยู่นาน 10 กว่าปี (จนถูกแทนที่อย่างสันติด้วยรัฐธรรมนูญปรีดี 2489) ฉบับอื่นๆล้วนอยู่ได้แค่ไม่กี่ปี คือ ฉบับพฤษภาคม 2489 อยู่ได้ปีเศษ (ถูกล้ม 8 พฤศจิกายน 2490) ฉบับ 2495 อยู่ได้นานกว่านั้นหน่อย 6 ปี (ถูกล้ม 20 ตุลาคม 2501) ฉบับ 2511 อยู่ได้ 3 ปีเศษ (ถูกล้มจากการรัฐประหารตัวเองของถนอม 17 พฤศจิกายน 2514)
.....................
ความจริง ไม่นานมานี้ "มิตรสหายท่านหนึ่ง" พูดกึ่งเล่นกึ่งจริงกับผมว่า คสช. "พลาด" ถ้าไม่ใช่เพราะไปเพิ่มคำถามพ่วง "ประชามติ" การมีนายกฯคนนอก ทำให้ต้องมีการตีความจากศาล ฯลฯ อาจจะทำให้แล้วเสร็จ ก่อนในหลวงภูมิพลสวรรคต และอาจจะลุ้นให้ในหลวงภูมิพลทรงลงพระปรมาภิไธยได้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น อาศัยพระบารมีในหลวงภูมิพล รัฐธรรมนูญ คสช.นี้ ก็จะเหมือนเป็น last legacy หรือ "มรดกสุดท้าย" ที่ในหลวงภูมิพล "พระราชทาน" ไว้ ซึ่งใช้อ้างในการห้ามคนแก้หรือล้มได้ ..... แต่เรื่องนี้กษัตริย์ใหม่คงไม่ทรงพระเห็นด้วยแน่ 
 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar