"ไม่ว่าหลาน ๆ จะพูดถึง 10 ข้อเรียกร้อง หรือข้อเสนอ 0 หรือใช้คำว่าความฝัน มันก็คือเรื่องเดียวกัน..." แนวร่วม นปช. ที่เข้าร่วมชุมนุมกับ “คณะประชาชนปลดแอก” กล่าว
ประชาชนปลดแอก: สำรวจแนวร่วม "1 ความฝัน" จาก 10 สิงหา ถึง 16 สิงหา
ผู้จัดการชุมนุมในนาม "คณะประชาชนปลดแอก" ได้ออกแถลงการณ์ยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องเดิม ภายใต้ 2 หลักการ และ 1 ความฝัน คือการมี "ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ส่งท้ายกิจกรรมการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 16 ส.ค. โดยไม่มีการพูดถึง 10 ข้อเรียกร้องซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แบบตรง ๆ หลังปัญญาชนบางส่วนชี้ว่าปรากฏการณ์ "10 สิงหา" เป็นสิ่งที่ "ทะลุเพดาน"
แต่ถึงกระนั้นผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้งรุ่นเยาว์และรุ่นใหญ่ต่างระบุตรงกันว่าผู้ร่วมชุมนุมเข้าใจสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นดี ทว่าแต่ละคนอาจมีวิธีแสดงออกแตกต่างกัน
บีบีซีไทยสำรวจแนวร่วม "1 ความฝัน" จาก 10 สิงหา ถึง 16 สิงหา
เพดาน นปช. หยุดแค่ "ไพร่-อำมาตย์" แต่ นศ. "แทงทะลุฝ้า"
ชายวัยเกษียณเดินทางจากบ้านพักย่านพุทธมณฑล จ.นครปฐม เพียงลำพัง เพื่อเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ประชาชนปลดแอก" ตั้งแต่บ่ายสามโมง หลังเพื่อนของเขาส่งภาพบรรยากาศที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้ดูผ่านแอปพลิเคชันไลน์ตั้งแต่ช่วงหัวบ่าย
"นี่มาครั้งแรกเลยนะ อยากมาดูให้เห็นกับตา มาให้กำลังใจนักศึกษาเขา ลองดูสิเด็ก ๆ ทั้งนั้นที่มาชุมนุม นั่งกันเรียบร้อยเชียว" ชายวัย 62 ปี ผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อกล่าวกับบีบีซีไทยขณะกวาดสายตามองสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ปรากฏภาพเยาวชนจำนวนมากกำลังส่งเสียงโห่ฮารับมุกของผู้ปราศรัยบนเวที สลับกับการจิ้ม-จ้องหน้าจอสมาร์ทโฟน
"นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 40 กว่าปีเลยนะ ที่นักศึกษาเขาออกมานำจริง ๆ เราไม่เคยเห็นภาพแบบนี้ตั้งแต่ 14 ตุลา 2516" เขาขยายความ ก่อนกล่าวต่อไปว่าไม่ใช่แค่นักศึกษา แต่นักเรียนมัธยมก็เข้าร่วมขบวนการด้วย
"ผมนี่จบเตรียมอุดมนะ ดูกลุ่ม 'เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ' จัดแฟลชม็อบที่โรงเรียนแล้วก็ภูมิใจที่เด็ก ๆ เขาตื่นตัวทางการเมือง เพราะเขามีข้อมูลข่าวสารของเขา มีคำศัพท์ใหม่ ๆ มาอธิบายความคิด... ว่าแต่ไอ้ 'เกียม' นี่มันแปลว่าอะไร" เขาโยนคำถามพลางหัวเราะ
"แล้ว 'มุ้งมิ้ง' ล่ะ" เขาพยายามเข้าใจความหมายของอีกคำ ก่อนสะดุ้งเล็ก ๆ หลังทราบคำอธิบายและ พูดเสียงดังว่า "อ้าว อย่างนั้นมันหลอกด่าเด็กนี่"
แม้สวมเสื้อหลากสีมาร่วม "ปลดแอก" แต่ชายชาวนครปฐมผู้นี้ยอมรับว่าเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เคยไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงมาหลายครั้ง และเห็นว่าเพดานการปราศรัยของแกนนำ นปช. เมื่อ 10 ปีก่อน ต่ำกว่าเพดานของนักศึกษาในปัจจุบันมาก โดย นปช. จงใจหยุดอยู่ที่แค่คำว่า "ไพร่-อำมาตย์" ขณะที่นักศึกษา "แทงทะลุฝ้าเพดาน" ไปแล้ว ทำให้มี 10 ข้อออกมา
"ผมคิดเองนะว่าคนที่มาอยู่ตรงนี้ (ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ก็เห็นด้วยกับ 10 ข้อทั้งนั้นล่ะ แต่ใครจะเห็นด้วยมาก น้อย หรือบางข้อ อันนี้แล้วแต่ ที่แน่ ๆ คือทุกคนเห็นปัญหาถึงออกมา รุ่นแก่ ๆ อย่างผมอาจไม่กล้าพูด แต่เด็กเขากล้า" ผู้ผ่านประสบการณ์การชุมนุม นปช. กล่าว
เข็มนาฬิกาบอกเวลาสามทุ่มแล้ว แต่ชายคนนี้ยังนั่งอยู่คนเดียวบนบาทวิถีชิดที่วงเวียนอนุสาวรีย์ฯ
"เพื่อนผมกลับไปนานแล้วล่ะ แต่เราอยากอยู่ให้มันเหล่ายัวะ (คับคั่ง คึกคัก) ให้มันครึกครื้นหน่อย"
กระทั่งมีเสียงเจื้อยแจ้วดังขึ้นจากเยาวชนหญิง 3 คน "ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของค่าจัดกิจกรรมของประชาชนปลดแอกได้นะคะ" เขาจึงลุกขึ้นควักเงินในกระเป๋าสตางค์ นำไปหย่อนใส่กล่องอย่างพึงใจ ก่อนเดินจากไปจากจุดที่ปักหลักอยู่นาน 6 ชม.
"เราเป็นห่วง เอา 3 ข้อก่อนได้ไหม"
ขณะที่บาทวิถีอีกฝั่ง บริเวณหน้าร้านอาหารเมธาวลัย ศรแดง ถ.ราชดำเนินกลาง มีแนวร่วม นปช. อีก3 คนตั้งใจสวมใส่เสื้อสีแดงมาร่วมชุมนุม ภายหลังกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนอีกขั้วความคิดที่เรียกตัวเองว่า "ศูนย์กลางประสานนักศึกษาอาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบันฯ" หรือ ศอปส. เสร็จสิ้นลง พวกเขาก็เข้ายึดพื้นที่แทนและปักหลักอยู่ตรงจุดนั้น
นายสงคราม ลับเงิน ชาวนครพนม วัย 62 ปี และนายชัยระวี สีหไตรย์ ชาวนนทบุรี วัย 63 ปี ยืนกระพือ "ตีนตบ" สัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารปี 2549 และอุปกรณ์ตอบโต้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ใช้ "มือตบ" เป็นอาวุธขับไล่ "ระบอบทักษิณ"
เสียงป๊อกแป๊ก ๆ ที่ดังขึ้นจากแรงเขย่า เร่งเร้าความสนใจของผู้ชุมนุมรุ่นเยาว์ที่เดินผ่านไปมา จนต้องขอเข้าบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอ อีกทั้งยังมีแนวร่วม นปช. แวะเวียนมาทักทายทั้งคู่อย่างมิขาดสาย
"คนเสื้อแดงเรามาเสริมทัพ มาให้กำลังใจหลาน ๆ มาเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้ ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา พวกเขาจะได้อุ่นใจและรู้ว่าพวกเราอยู่ตรงนี้" นายสงครามกล่าวกับบีบีซีไทย
ขณะที่นายชัยระวีเสริมว่า ลุง ป้า น้า อา ที่เข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงแทบทั้งนั้น คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่ เพียงแต่ไม่ได้สวมเสื้อแดงออกจากบ้าน
ไม่ถึงสัปดาห์หลังรัฐประหารปี 2557 นายสงครามและนายชัยระวีปรากฏตัวที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในชุดเสื้อแดงที่มีข้อความว่า "โค่นอำมาตย์ ทรราชย์" ชุดเดียวกับที่สวมใส่มาร่วมชุมนุมกับ "ประชาชนปลดแอก" แม้ไม่เคยหยุดใส่เสื้อแดง แต่ทั้งคู่ก็ไม่เคยถูกจับกุม ตั้งข้อหา หรือเรียกไปปรับทัศนคติ
ในทัศนะของแนวร่วม นปช. คู่นี้ การแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่จำเป็นต้องผ่านทำคำพูด หรือทำเป็นลายลักษณ์อักษรเสมอไป แต่อาภรณ์ที่ห่อหุ้มกายก็สามารถสะท้อนความคิดเห็นได้ และทำให้ผู้สื่อสารปลอดภัยกว่า
"มีคนชอบประดิษฐ์วาทกรรม ชอบกล่าวหาคนเสื้อแดงว่าเป็นพวกล้มล้างไม่ใช่หรือ" นายชัยระวีพูดพลางชี้ไปที่เสื้อของตัวเอง
แนวร่วม นปช. วัย 60 ปีเศษพูดตรงกันว่ารู้สึก "กังวลใจ" ต่อคำประกาศ 10 ข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับสถาบันฯ เพราะเห็นประสบการณ์มามากจากแกนนำเสื้อแดงหลายคนที่ต้องลี้ภัยไปต่างแดน หรือถูก "อุ้มหาย" ไปเฉย ๆ
"ไม่ว่าหลาน ๆ จะพูดถึง 10 ข้อเรียกร้อง หรือข้อเสนอ 0 หรือใช้คำว่าความฝัน มันก็คือเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่เราไม่เห็นด้วยนะ แต่เราเป็นห่วง เอา 3 ข้อก่อนได้ไหม ทุกคนจะได้ร่วมกันได้ อย่าเพิ่งได้คืบจะเอาศอก" นายชัยระวีบอก
"นศ. กำลังทำในสิ่งที่น่ากลัว มีความเสี่ยง แต่ไม่ได้บอกว่ามันไม่จริง"
ในขณะที่ผู้ชุมนุมรุ่นใหญ่กำลังคิดถึงการสื่อสารแบบไร้เสียง นักศึกษาจากหลายสถาบันในนามกลุ่ม "การละครที่ไม่เป็นทางการ" ได้ลงมือทำแล้ว โดยเปิดการแสดงกลางฝูงชนบนท้องถนนคู่ขนานกับกิจกรรมบนเวทีใหญ่
การแสดงเริ่มต้นจากการปรากฏตัวของ "เทวดา" ที่ฉุดกระชากลากหญิงสาวผู้เป็น "ทาส" 2 นางเข้ามา และพยายามชักจูงให้เดินไปตามทิศทางที่ต้องการ กระทั่งเด็กนักเรียนหญิงผู้มีการศึกษาลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อพฤติกรรมของเทวดา ทาสทั้ง 2 นางก็เกิดอาการ "ตาสว่าง" ก่อนที่ทั้งหมดจะช่วยกันจับเทวดาให้คว่ำคะมำลงกับพื้น
ละครฉากนี้จบลงในเวลาราว 10 นาที ทว่านักแสดงผู้รับบททาสเฉลยกับบีบีซีไทยว่าไม่ว่ายุคก่อนหรือตอนนี้ สังคมไทยก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นี่คือสารหลักที่พวกเขาต้องการสื่อถึงผู้ชม
นักแสดงทั้ง 5 คนใช้เวลาซักซ้อมคิวเพียง 1 คืน ก็สามารถแสดงกันได้อย่างเข้าขา เนื่องจากทั้งหมดเป็นนักศึกษาและอดีตนักศึกษาสาขาการละคร ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้เปิดการแสดงบน ถ.ราชดำเนิน เพราะเห็นว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมของประชาชน พวกเขาจึงมีสิทธิสื่อสารโดยตรงในฐานะประชาชน และไม่มีข้อจำกัดว่าต้องขึ้นไปแสดงบนเวทีใหญ่เท่านั้น
"การพูดผ่านละครทำให้ปลอดภัยขึ้น เพราะศิลปะเปิดโอกาสให้ตีความได้ ไม่ได้ผูกมัดความจริงไว้เพียงหนึ่งเดียว" นักแสดงหญิงวัย 25 ปีกล่าว
การ "ยกเพดาน" ข้อเรียกร้องของนักศึกษาบางส่วนสู่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ทำให้การชุมนุมวันที่ 16 ส.ค. ถูกจับตามองว่าจะมีแนวร่วมมากน้อยแค่ไหน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมาชิกกลุ่มการละครที่ไม่เป็นทางการวัย 21 ปีให้ความเห็นว่า "มีคนบอกว่าสังคมเรายังไม่พร้อมที่จะพูดเรื่องนี้ นักศึกษากำลังทำในสิ่งที่น่ากลัว มีความเสี่ยง แต่ไม่ได้บอกว่ามันไม่จริง" และยอมรับว่ารู้สึกกังวลใจที่เห็นแกนนำบางส่วนถูกออกหมายจับ เรารู้ว่ามันจะเกิด แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐควรทำให้มันเกิด
เช่นเดียวกับสมาชิกอีกคนวัย 25 ปีที่มองว่า การตั้งคำถามว่าเพดานสูงไปหรือไม่ สุดโต่งไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่มาพูดคุยมาต่อรองในเชิงอำนาจกันได้โดยใช้ข้อเท็จจริงและเหตุผล
10 ข้อเรียกร้องเพื่อตอบโจทย์ 1 ความฝัน
ถึงขณะนี้ความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปรากฏใน "แฟลชม็อบ" ถูกสื่อสารเอาไว้อย่างน้อย 3 ระดับ
- ข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เสนอรายละเอียดโดยนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 3, 9 และ 10 ส.ค.
- ประกาศกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ฉบับที่ 1 เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ อ่านโดย น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง โฆษกสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ในการชุมนุมที่ มธ. เมื่อ 10 ส.ค.
- แถลงการณ์ "คณะประชาชนปลดแอก" เสนอ 1 ความฝันคือการมี "ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 16 ส.ค.
น.ส.ปนัสยายืนยันว่า "เราได้ดันเพดานขึ้นแล้ว และเราจะไม่ลดเพดานของเราลงอย่างแน่นอน" แต่ถึงกระนั้นเธอได้ปฏิเสธความขัดแย้งระหว่างนักกิจกรรม 2 กลุ่ม "ข้อเรียกร้อง 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ตอบโจทย์กับ 1 ความฝันของคณะประชาชนปลดแอก"
ส่วนนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการคณะประชาชนปลดแอก กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ไม่สามารถระบุได้ว่าประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมทุกคนเห็นด้วยกับ 10 ข้อเรียกร้อง ส่วนการไม่พูดถึงประเด็นนี้บนเวที "ก็ไม่ใช่เพราะได้เราไม่เห็นด้วย แต่ 10 ข้อนั้น ขอกันเอาไว้เป็นข้อเสนอของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม"
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar