แม้ว่าเจ้าหนี้บางรายจะคัดค้านแผนฟื้นฟูดังกล่าวเพราะไม่เชื่อมั่นบริษัทผู้ทำแผนฯ แต่การบินไทยบอกว่ามีเจ้าหนี้กว่า 50% ของมูลหนี้ หนุนแผนดังกล่าว
การบินไทย : ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนเพิ่มเติม
ศาลล้มละลายกลางเริ่มไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งแรก วันนี้ (17 ส.ค.) แต่ยังต้องสืบพยานเพิ่มเติมอีก ด้านเจ้าหนี้ 16 ราย ประกอบด้วย เจ้าหนี้รายย่อยอย่างน้อย 10 ราย สหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล และบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้ร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการเนื่องจากไม่เชื่อมั่นในบริษัทผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าว ขณะที่เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่คัดค้าน
ศาลล้มละลายกลางกำหนดวันนัดไต่สวนเพิ่มเติมอีก 2 วัน คือวันที่ 20 ส.ค. และวันที่ 25 ส.ค. ก่อนจะกำหนดวันอ่านคำพิพากษาอีกครั้งว่าจะมีคำสั่งให้บริษัท การบินไทยเริ่มกระบวนการฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามการบินไทยเสนอมาหรือไม่
ในการนัดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทยครั้งแรกในวันนี้มีผู้ขึ้นเบิกความ 3 ปาก ประกอบด้วย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการ บมจ. การบินไทย และ นางสาวชุติมา ปัญจโภคากิจ ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย
ศาลล้มละลายกลางเห็นว่ายังต้องมีการสืบพยานเพิ่มเติมทั้งฝั่งทนายเจ้าหนี้ ผู้คัดค้านแผนฟื้นฟูฯ และ ฝั่งลูกหนี้ โดยเฉพาะประเด็นการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งในวันที่ 20 ส.ค. จะเรียกผู้บริหาร บมจ. การบินไทยมาอธิบายมาชี้แจงงบการเงิน ที่เพิ่งจัดทำแล้วเสร็จเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนในวันที่ 25 ส.ค. จะเรียกพยานฝ่ายคัดค้านที่เหลือมาเบิกความอีกครั้ง และทนายความฝ่ายเจ้าหนี้ที่คัดค้านสามารถเบิกความได้ในวันที่ 20 ส.ค.
ส่วนการนัดวันอ่านคำพิพากษาจะมีขึ้นหลังการไต่สวนแล้วเสร็จ
เจ้าหนี้การบินไทยไม่เชื่อมั่น บ. ผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ
ประเด็นที่ทนายฝ่ายเจ้าหนี้ผู้ยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยซักถามผู้บริหารการบินไทย และบริษัทผู้ทำแผนฯ ประกอบด้วย ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของกรรมการบริหาร 4 คน ของบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท ทั้งยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการการบินและธุรกิจที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทและบริษัทที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจมาก่อน
ประเด็นถัดมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เด็ดขาด หลังจากแผนฟื้นฟูฯ ผ่านการเห็นชอบจากศาลฯ แล้ว จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารการบินไทยและ บริษัท อีวายฯ หรือไม่ เพราะทั้งสองบริษัทต้องลงนามในเอกสารร่วมกัน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ
นอกจากนี้ยังมีการสอบถามเรื่องการกำหนดค่าจ้างทำแผนฟื้นฟูกิจการ แผนธุรกิจการบินในอนาคต รวมทั้งการปรับลดเงินปันผลค้างจ่าย
นายปิยสวัสดิ์ ซึ่งขึ้นเบิกความเป็นรายที่สองตอบตอบข้อซักถามเกี่ยวกับบริษัทอีวายฯ ว่า เป็นบริษัทที่มีเครือข่ายในต่างประเทศ ส่วนเรื่องประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการสายการบินนั้น เขาอธิบายว่าการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยถือเป็นกรณีแรกในประเทศไทย จึงไม่มีบริษัทรายใดมีประสบการณ์ในลักษณะนี้
ขณะที่นางสาวชุติมา ที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทอีวายฯ กล่าวต่อศาลว่า ไม่เคยทำงานในบริษัทจำกัดมหาชน และธุรกิจที่มีมูลค่าแสนล้านบาท และการฟื้นฟูการบินไทยถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการบินของไทย
ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดทำแผนนั้น นายปิยะสวัสดิ์กล่าวว่า ยังไม่มีการจ่ายค่าทำแผนแก่บริษัทอีวายฯ
"แต่ได้กำหนดค่าทำแผนเบื้องต้นไว้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ อัตราค่าตอบแทนตามสัญญา 22 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรายเดือน ๆ ละ 15 ล้านบาทตลอดระยะเวลาทำแผน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนฯ จนกระทั่งเห็นชอบ"
นายปิยะสวัสดิ์ เห็นว่าค่าตอบแทนดังกล่าวเหมาะสมแล้ว
แจงมีเจ้าหนี้กว่า 50% ของมูลหนี้หนุนแผนฟื้นฟู
แม้ว่าเจ้าหนี้บางรายจะคัดค้านแผนฟื้นฟูดังกล่าว แต่นายชาญศิลป์ เปิดเผยภายหลังจากการไต่สวนในวันนี้ว่า มีเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างน้อย 100 ราย รวมทั้งกระทรวงการคลัง ที่ได้ลงนามในหนังสือให้การสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการการบินไทยและไม่คัดค้านคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอ
"เจ้าหนี้จำนวน 100 กว่ารายดังกล่าว คิดเป็น 50% ของจำนวนหนี้ตามงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2563 ของการบินไทย" นายชาญศิลป์กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวว่าหากกระบวนการไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลจะมีคำสั่งให้การบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการพร้อมทั้งแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนฯ และได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วกรมบังคับคดีจะดำเนินการแจ้งเจ้าหนี้ทุกรายให้ทราบถึงขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้
รายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการมีใครบ้าง
ตามแผนการฟื้นฟูของ บมจ. การบินไทย ประกอบด้วย บริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับกรรมการการบินไทย 6 คน คือ
1.พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน
2.นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล
3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
4.นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์
5. นายบุญทักษ์ หวังเจริญ
6.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
การบินไทยครึ่งปีแรกขาดทุนกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา บมจ. การบินไทย ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรก ( 1 ม.ค.- 30 มิ.ย. 2563) ซึ่งขาดทุนสุทธิ 28,030 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้นกว่า 336% การระบาดโรคโควิด-19 ทำให้สายการบินต้องหยุดทำการบินเที่ยวบินประจำทั้งหมดชั่วคราวนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นมา
ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 2562
1. หนี้สินหมุนเวียน 62,636 ล้านบาท
2. หนี้สินระยะยาวจากหุ้นกู้ 74,108 ล้านบาท
3. หนี้สินระยะยาวภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน46,456 ล้านบาท
4. หนี้สินจากเงินกู้ยืมระยะยาว 23,288 ล้านบาท
5. หนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น ๆ 38,411 ล้านบาท
ส่วนรายได้รวมลดลงจากช่วงเดียวกันขอปีที่แล้ว 56.1% มาอยู่ที่ 40,493 ล้านบาท ในขณะที่มีหนี้สินรวม 332,199 ล้านบาท โดยมีจำนวนหนี้สินเพิ่มขึ้นจากทั้งปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 243,042 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 89,157 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 36%
28,030 ล้านบาทขาดทุนสุทธิ ( 1 ม.ค. - 30 มิ.ย. 2563)
เพิ่มขึ้น 336.5%จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว
รายได้รวม40,493 ล้านบาท
ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อน56.1%
หลังจากแจ้งผลประกอบการไม่นานตลาดหลักทรัพย์ได้ขึ้นเครื่องหมาย SP หรือถูกพักการซื้อขาย เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินของการบินไทย ทั้งไตรมาสที่ 1 และ 2
ต่อมาในวันนี้ตลาดหลักทรัพย์ได้ขึ้นเครื่องหมาย C ซึ่งหมายความว่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะทำได้ต่อเมื่อมีการวางเงินสดไว้ล่วงหน้าเต็มจำนวนก่อน
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar