สำรวจความเคลื่อนไหวแนวร่วม "ประชาชนปลดแอก" กับ "ประชาชนปกป้องสถาบันฯ" ในรอบเดือน ก่อนชุมนุมใหญ่ 16 ส.ค.
แม้นายกรัฐมนตรีออกมาเรียกร้องให้หยุดการแบ่งฝักฝ่ายทางการเมือง แต่ประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันยังเดินหน้านัดหมายจัดการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 16 ส.ค. นี้
ฝ่ายประท้วงต่อต้านรัฐบาล นำโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" จะใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน จัดกิจกรรมในวาระครบเดือน หลังมีการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในจุดเดียวกันนี้เมื่อ 18 ก.ค. เพื่อยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย หยุดคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา 2 หลักการคือต้องไม่มีการทำรัฐประหาร และไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝันในการมี "ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ"
ส่วนฝ่ายที่ประกาศตัวเป็นผู้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในนาม "เยาวชนช่วยชาติปกป้องสถาบันฯ" เลือกสวนลุมพินี ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 8 กม. เป็นพื้นที่ประกาศความคิด โดยแจ้งผ่านเพจขององค์กร หลังก่อนหน้านี้ตัวแทนกลุ่มเคยระบุกับสื่อมวลชนว่าจะใช้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นสถานที่ชุมนุม
ทว่า 1 วันก่อนจัดกิจกรรม พวกเขาแจ้งเปลี่ยนสถานที่อีกครั้ง โดยจะใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอ่านแถลงการณ์ในนามกลุ่ม "อาชีวะช่วยชาติ" "เยาวชนช่วยชาติปกป้องสถาบันฯ" และ "ศูนย์กลางประสานนักศึกษาอาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบัน" หรือ ศอปส. โดยนัดหมายจัดกิจกรรม 4 ชม. ก่อนที่ "ประชาชนปลดแอก" จะเริ่มชุมนุมในจุดเดียวกัน
แถลงการณ์ฉบับที่ 3 ของ ศอปส. ที่เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ได้อ้างถึงการประชุมของตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ รวม 21 กลุ่ม เมื่อ 14 ส.ค. ที่เห็นสอดคล้องกันว่าควรเข้าร่วมสังเกตุการณ์ในวันที่ 16 ส.ค. ด้วย "แนวทางสันติวิธี" และถ้ามีการกระทำที่พาดพิงต่อสถาบันฯ จะมีมวลชน "ทำการเก็บหลักฐานทั้งภาพและเสียงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ" โดยเข้ายื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในวันที่ 17 ส.ค.
นี่ถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบเดือน ที่ผู้เห็นต่าง 2 กลุ่มกำหนดแผนเคลื่อนไหวในวันเดียวกัน
ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ 30 ก.ค. โดยกลุ่ม "อาชีวะช่วยชาติ" นัดรวมพลที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่ออ่านแถลงการณ์โจมตีการชุมนุมของกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ว่าเป็นไปเพื่อ "ท้าทาย ต่อต้าน หรือกระทั่งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์..." ขณะที่เย็นวันเดียวกันศิษย์เก่าอาชีวะอีกกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "อาชีวะเพื่อประชาชน" ได้เข้าร่วมการชุมนุมกับนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ย่านธนบุรี โดยที่แกนนำอาชีวะกลุ่มหลังให้เหตุผลกับบีบีซีไทยว่าต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์ "นักศึกษาและฝ่ายประชาธิปไตย" ที่ถูกยัดเยียดข้อหาจาบจ้วงสถาบันฯ
ครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อ 10 ส.ค. ที่รัฐสภา ย่านเกียกกาย โดย "คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" (ครช.) เป็นฝ่ายนัดหมายจัดกิจกรรมก่อน เพื่อเรียกร้องให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทว่าประชาชนในชุดเสื้อสีน้ำเงินและเสื้อสีเหลืองในนาม ศอปส. ได้เดินทางไปรัฐสภาแบบฉับพลัน โดยใช้เวลานัดหมายกันไม่ถึง 24 ชม. เพื่อยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้รัฐสภาปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก่อนเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าได้จัดตั้ง ศอปส. ทุกจังหวัดเพี่อเปิดเผยตัวตน "คนชังชาติ" และเร่งเอาผิดทางกฎหมายต่อบุคคลที่หมิ่นสถาบันฯ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสกัดกันกั้นไม่ให้มวลชน 2 กลุ่มที่จัดกิจกรรมห่างกันเพียง 50 เมตร ต้องเผชิญหน้ากัน
ประยุทธ์วอนหยุดแบ่งฝ่ายทางการเมือง
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวในรายการพิเศษที่ออกอากาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เมื่อ 13 ส.ค. เรียกร้องให้หยุดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง ซึ่งกีดขวางการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวของคนไทยในการแก้ปัญหาต่างๆ พร้อมระบุว่า แนวคิดแบบ "พวกเขา-พวกเรา" ไม่ควรจะมีที่ยืนอีกต่อไปในโลกปัจจุบัน ควรจะมีแต่คำว่า "คนไทยด้วยกัน"
"ผมขอพูดต่อหน้าประชาชนคนไทยทุกคนว่ากรุณาปฏิเสธความเกลียดชัง และการแบ่งแยกทางการเมือง ขอให้ปฏิเสธการเมืองแบบเก่าที่แพร่กระจายเชื้อโรคของความแตกแยกระหว่างความเชื่อที่แตกต่าง คนรุ่นใหม่-คนรุ่นเก่า คนรวย-คนจน หรือความแตกต่างอะไรก็ตามที่ถูกใส่เข้ามาในสังคมของเรา" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
49 จังหวัดผุดม็อบต้านรัฐบาล 11 จังหวัดเคลื่อนไหวป้องสถาบันฯ
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนรอบใหม่ เกิดขึ้นภายหลังการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า "เยาวชนปลดแอก" ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเครือข่ายขึ้นเป็น "ประชาชนปลดแอก" มีนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเลขาธิการของทั้ง 2 กลุ่ม
ผลจากการชุมนุมใหญ่ครั้งนั้น ทำให้เกิดการชุมนุมย่อย ๆ เพื่อประท้วงรัฐบาล หรือที่รู้จักในชื่อ "แฟลชม็อบ" ภาค 2 ตามมาอย่างน้อย 49 จังหวัด ตามการรวบรวมข้อมูลในรอบเดือนของบีบีซีไทย โดยหลายจังหวัดมีการชุมนุมเกิดขึ้นหลายครั้ง
- ภาคอีสาน 17 จังหวัด - อุบลราชธานี, มหาสารคาม, ขอนแก่น, สกลนคร, อุดรธานี, นครราชสีมา, ร้อยเอ็ด, ชัยภูมิ, ศรีสะเกษ, หนองบัวลำภู, หนองคาย, เลย, นครพนม, ยโสธร, กาฬสินธุ์, บุรีรัมย์, สุรินทร์
- ภาคเหนือ 9 จังหวัด - เชียงใหม่, แพร่, เพชรบูรณ์, ลำพูน, เชียงราย, ลำปาง, พะเยา, พิษณุโลก, น่าน
- ภาคกลาง 9 จังหวัด - กรุงเทพฯ, ปทุมธานี, นครปฐม, พระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ, สุพรรณบุรี, นครสวรรค์, นนทบุรี, สมุทรสาคร
- ภาคใต้ 7 จังหวัด - ปัตตานี, พัทลุง, กระบี่, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, ภูเก็ต
- ภาคตะวันออก 5 จังหวัด - ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา
- ภาคตะวันตก 2 จังหวัด - ราชบุรี, กาญจบุรี
ขณะเดียวกันทำให้ประชาชนอีกกลุ่มออกมาแสดงจุดยืนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์นัดหมายกระจายข่าวก่อนออกมาแสดงพลังอย่างน้อย 11 จังหวัดทั่วไทย
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar