10 ข้อเสนอ 10 สิงหาคม บนเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ขยับเพดานการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับการสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนที่เห็นต่าง เริ่มมีการกล่าวหาว่าเป็นการ ‘ล้มล้างสถาบัน’ ซึ่งไชยันต์ ไชยพรยืนยันว่า ไม่ใช่ แต่เป็นการจำกัดพระราชอำนาจตามแนวคิดระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ภาพการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา
- ข้อเรียกร้องของอานนท์ นำภาและข้อเสนอ 10 สิงหาคมของนักศึกษาไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน แต่วิธีการนำเสนอไม่ถูกต้อง
- หัวใจของการถกเถียงเรื่องระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคือการจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
- การปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ของไทยไม่อาจเป็นไปได้อย่างราบรื่นจนเกิดเป็นบรรทัดฐานได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งจากการทำรัฐประหาร
- รัฐสภาจะต้องมีความเข้มแข็งและกล้าหาญในการทัดทานอำนาจของกษัตริย์
การชุมนุม 'เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย' ที่จัดโดยกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและมอกะเสด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่อานนท์ นำภา ขึ้นปราศรัยเกี่ยวพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์พร้อมกับเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนมาถึงการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งมีการยื่นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ถือว่าเป็นการขยับเพดานครั้งใหญ่ในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามในที่สาธารณะต่อสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ปฏิกิริยาที่ตามมาแทบจะทันที ทั้งจากสื่อบางสำนัก คอลัมนิสต์บางคน จนถึงประชาชนที่ไม่เห็นด้วย คือการกล่าวหานักศึกษาและผู้ชุมนุมว่ากำลัง ‘ล้มล้างสถาบัน’ ทำให้เกิดความกังวลขึ้นมาว่าจะซ้ำร้อยประวัติศาสตร์ความรุนแรงในอดีต
ไชยันต์ ไชยพร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการที่ศึกษาประเด็นสถาบันกษัตริย์กับการเมือง
‘ประชาไท’ จึงสนทนากับไชยันต์ ไชยพร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการที่ศึกษาประเด็นสถาบันกษัตริย์กับการเมือง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร? กระดูกสันหลังของปรากฏการณ์นี้อยู่ตรงไหนกันแน่? ล้งล้างหรือปฏิรูป? และสถาบันกษัตริย์กับการเมืองเกี่ยวพันกันอย่างไร?
ข้อเสนอ 10 สิงหาคม ไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน แต่วิธีการนำเสนอไม่ถูกต้อง
แน่นอนว่าข้อกล่าวหาที่ถูกโหมกระพือว่า ‘ล้มล้างสถาบัน’ นั้นร้ายแรง เราจึงตั้งฐานการสนทนาเลยว่าอยู่ในกรอบของ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ คำถามแรกคือข้อเสนอ 10 สิงหาคมถือเป็นการล้มล้างสถาบันหรือไม่? ซึ่งไชยันต์ตอบทันทีว่า
“ไม่ครับ เพราะเขาไม่ได้บอกว่าไม่ให้มีสถาบันกษัตริย์ เพียงแต่สถาบันกษัตริย์ในความคิดของพวกเขาจะมีพระราชอำนาจแค่ไหน คือถ้าไม่มีเลย ก็จะเป็นสัญลักษณ์ทางประเพณีการปกครองเท่านั้น”
ไชยันต์อธิบายอีกว่า การที่เรื่องสถาบันกษัตริย์ถูกพูดถึงในที่สาธารณะในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นพัฒนาการทางสังคมที่ผู้คนคิดอย่างมีเหตุผลมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสมัยใหม่ คำอธิบายที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล เช่น เรื่องสมมุติเทพ ในสมัยหนึ่งคนอาจจะเชื่อและสามารถอธิบายได้ แต่สมัยใหม่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องของเหตุผล ถ้าอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ ย่อมต้องตั้งคำถาม
“และต้องขึ้นอยู่กับแต่รัชสมัยด้วยว่า ในแต่ละรัชสมัยมีประเด็นอะไรเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ทำให้คนตั้งข้อสงสัย มีอะไรที่อธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ กลายเป็นความคลุมเครือ ถึงจุดหนึ่งคนที่โตมากับการเรียนวิทยาศาสตร์ การอธิบายอย่างมีเหตุมีผล และภายใต้โซเชียลมีเดีย ที่กว้างขวางทั่วโลกมีสิ่งที่เขาเรียนรู้ได้เอง ไม่ได้ถูกยัดเยียดแค่ช่องทางเดียว มันจึงเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ไชยันต์เห็นว่าวิธีการนำเสนอของนักศึกษาในครั้งนี้ยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร
“แต่ผมรู้สึกว่าวิธีการนำเสนอมันไม่ถูกต้อง เช่น มีการพยายามหมิ่นประมาท ลดทอน แต่ผมก็เข้าใจว่าถ้าไม่ใช่เรื่องความบังเอิญก็เป็นเรื่องที่เขาเตรียมการกันมาเพื่อจะทำให้คนรู้สึกว่าไม่ต้องกลัวอีกต่อไปแล้ว แต่การที่จะทำให้คนไม่กลัว มันจะกลายเป็นล้ำเส้น ทำให้เป็นการเหยียดหยาม เพราะเส้นแบ่งมันจาง”
ด้วยวิธีการแบบนี้จะทำให้ความรู้สึกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกลบตัวเนื้อหาสาระที่นักศึกษาพยายามนำเสนอ
หัวใจคือการจำกัดพระราชอำนาจ
ประเด็นจริงๆ ของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน? แน่นอนว่าไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน แต่การปฏิรูปสถาบันหมายความว่าอะไร? ไชยันต์กล่าวว่าภายใต้ระบอบที่เรียกว่า constitutional monarchy หรือระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หัวใจสำคัญอยู่ที่การจำกัดพระราชอำนาจ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจกว้างขวาง (ไม่ใช่มีพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ซึ่งเป็นเพียงอุดมคติ) การจำกัดพระราชอำนาจทำโดยรัฐธรรมนูญ
“แต่สิ่งที่ต้องศึกษามากกว่านั้นก็คือใครเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ เป็นของคณะราษฎรกำหนด เป็นของประชาชนกำหนด เป็นการกำหนดร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน อันนี้จะเป็นส่วนที่บอกว่าตกลงแล้วการจำกัดพระราชอำนาจลงตัวไหม
“ผมคิดว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงวันนี้ มันยังไม่ลงตัว ซึ่งผมเขียนและพูดเรื่องนี้มานาน จนการชุมนุมของนักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ท่านก็บอกว่าเราไม่ต้องไปพูดถึงอย่างอื่นแล้ว พูดแค่ว่าเราเห็นตรงกันตรงนี้คือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่จินตนาการต่อระบอบมันต่างกัน พูดง่ายๆ ก็คือพระราชอำนาจจะมากน้อยแค่ไหน ยังเห็นไม่ตรงกัน ทำให้พระราชอำนาจขึ้นๆ ลงๆ ตามรัฐธรรมนูญที่มีมาหลายฉบับ”
พระราชอำนาจจึงผันผวนตลอดระยะวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะฉะนั้นเหตุการณ์คราวนี้ก็คือเหตุการณ์ที่ผู้คนตั้งคำถาม เพราะต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องการให้ทุกอย่างตอบคำถามได้ เช่นยกเลิกมาตรา 112 ก็จะทำให้ตั้งคำถามได้ เป็นต้น ซึ่งในประวัติศาสตร์มีให้เห็นมาโดยตลอดและไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ
กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในต่างประเทศ
ไชยันต์อธิบายประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษว่า แม้จะมองว่าอังกฤษเป็นตัวแบบของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทว่า สงครามกลางเมืองในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสภา ต่อมารัฐสภาเป็นฝ่ายชนะ พิพากษาว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ว่าเป็นกบฏและตัดสินประหารชีวิต สถาบันกษัตริย์จึงหายไปจากอังกฤษเป็นเวลา 10 หลังปี 1649 แต่สุดท้าย สภาและกองทัพที่เคยล้มล้างสถาบันกษัตริย์ก็กราบบังคมทูลพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ให้ขึ้นครองราชย์และฟื้นฟูระบอบกษัตริย์กลับมา และแน่นอนว่าสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษย่อมต้องปรับตัวและตระหนักว่าไม่สามารถมีพระราชอำนาจเช่นเดิมได้
“แต่ของไทยไม่เคยมีประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้ เราจึงต้องไปดูของสวีเดน ในปี 1718 สวีเดนมีการยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ไม่มีการนองเลือด เป็นความบังเอิญที่ว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 12 ของสวีเดนสวรรคตโดยกระทันหันและไม่มีองค์รัชทายาท ขณะที่ครองราชย์ท่านก็เป็นนักรบ โปรดปรานการทำสงครามเพื่อความเป็นมหาอำนาจในยุโรปของสวีเดน คนก็เบื่อกับสงครามเพราะมีการเก็บภาษี ผู้คนต้องล้มตายไป 1ใน 3 ของประชากร คนจึงเบื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ไม่ได้เบื่อกษัตริย์
“พระมหากษัตริย์ของสวีเดนเองก็มีความสัมพันธ์กับคนระดับล่างเยอะมากจึงมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยตัวน้องสาวของพระเจ้าชาร์ลที่ 12 ต้องการขึ้นครองราชย์ แต่ประเพณีการปกครองของสวีเดนคือถ้าไม่มีคนสืบราชสันตติวงศ์ที่เป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ อำนาจจะกลับคืนมาที่สภาว่าจะเลือกใคร ดังนั้นสภาจึงยื่นเงื่อนไขว่าถ้าน้องสาวของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 12 ต้องการขึ้นครองราชย์ก็จะต้องยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบนี้ก็เปลี่ยนโดยการออกรัฐธรรมนูญ
“แต่เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วสมเด็จพระราชินีปรับตัวกับระเบียบใหม่ไม่ได้จึงต้องสละราชสมบัติ สภาก็ลงมติเลือกพระสวามีของพระนางขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ว่ามีพระราชอำนาจน้อยเพราะเป็นเจ้าชายต่างแดน แต่ระบอบใหม่นี้ก็อยู่มาได้ประมาณ 50 กว่าปีก็กลับไปเป็นระบอบที่กษัตริย์มีอำนาจมากอีก”
ดังที่ไชยันต์กล่าวก่อนหน้านี้ว่า พระราชอำนาจของกษัตริย์มีขึ้นและลงเสมอมา
การปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ไทย
“การจะปรับตัวให้เข้ากับระบบก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญไม่นิ่ง ความไม่นิ่งไม่ใช่ปัญหาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ปี 2475 ถึงปี 2500 ความไม่นิ่งของรัฐธรรมนูญอยู่ที่ความขัดแย้งในคณะราษฎรที่แก่งแย่งอำนาจกัน เมื่อรัฐธรรมนูญไม่นิ่ง คุณจะให้คนคนหนึ่งปรับตัวกับอะไร เพราะฉะนั้นถ้าคิดถึงการเลือกอย่างมีเหตุผล (rational choice theory) สถาบันกษัตริย์ย่อมไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพราะว่าเปลี่ยนทีหนึ่งลำบากพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญจึงต้องนิ่ง”
จุดนี้นำมาสู่ประเด็นว่า ในยุครัชกาลที่ 9 แม้พระราชอำนาจในทางกฎหมายจะถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ แต่พระราชอำนาจที่เกิดจากบารมีส่วนพระองค์ก็เรียกว่าสูงเกินรัฐธรรมนูญ ไชยันต์เห็นว่าพระราชอำนาจไม่ได้สูงขึ้นโดยทันที แต่ค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นบวกกับสถานการณ์สร้างวีรบุรุษจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เพราะเวลานั้นไม่มีสถาบันหรือองค์กรใดที่จะยุติความขัดแย้งได้ จึงทำให้รัชกาลที่ 9 มีอิทธิพลสูง แต่เขาย้ำว่าการจะมีอิทธิพลสูงย่อมขึ้นอยู่กับความประพฤติ
“ประเด็นคือหลังปี 2500 เริ่มมีพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นความร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ผมบอกนิดหนึ่งว่าในช่วงที่มีสงครามเย็น ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทำอะไรเลย โอกาสที่จะไปสูงมาก เพราะประชาชนสมัยนั้นยังย่ำแย่อยู่ และหลังปี 2500 ถึงปี 2512 ไม่มีตัวแทนประชาชน เพราะจอมพลสฤษดิ์ร่างรัฐธรรมนูญยาวนานมาก เพราะฉะนั้นการที่ท่านเสด็จไปยังที่ต่างๆ ในแง่หนึ่งเป็นการลงไปช่วยคนชายขอบ คนยากไร้ในชนบท แน่นอนมีฝรั่งนักวิชาการเดนมาร์กเขียนว่าถ้าเป็นกษัตริย์เดนมาร์กจะไม่ทำแบบนี้ เพราะถือว่าเป็นการทําเกินเลย ผมก็บอกว่าถ้ากษัตริย์ไทยไม่ทำตอนนั้นก็เสร็จคอมมิวนิสต์แน่นอน
“ผมจึงต้องไปศึกษาเดนมาร์กหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 1849 พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 7 มีบทบาทในการทำอะไรบ้าง เขาก็มีเยอะแยะตามรัฐธรรมนูญหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีอำนาจแต่งตั้งคนจากสภาเป็นคณะรัฐมนตรีโดยไม่ต้องคำนึงถึงเสียงข้างมากในสภา เวลามีสงครามก็มีบทบาทโดดเด่นในการนำประเทศ ถามว่านั่นเกินเลยพระราชอำนาจหรือไม่ เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าพระราชอำนาจสูง เพราะบางทีมันไม่ได้สูงเพราะความตั้งใจ มันเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นและวิกฤตการเมืองก็เกิด ทำให้มีพระราชอำนาจสูงและเป็นพระราชอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ จะเรียกว่าอำนาจตามประเพณีการปกครองหรืออะไรก็แล้วแต่ อันนี้เป็นเรื่องปกติตามหลักสังคมวิทยาและรัฐศาสตร์ที่มีอำนาจซ้อน 2 อำนาจ อำนาจตามกฎและอำนาจจากประเพณีและบุคลิกลักษณะ ผมก็เขียนลงไปในงานวิจัยว่าเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ ตรงนี้คุณจะไปปิดกั้นให้ไม่มีไม่ได้ แต่ถ้าพฤติกรรมไม่ดีก็ช่วยไม่ได้ ซึ่งคำว่าพฤติกรรมไม่ดี คุณต้องเข้าใจว่าในอังกฤษ เดนมาร์ก สวีเดน พระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชสมัยก็มีลักษณะเฉพาะของพระองค์ เข้มแข็งบ้าง อ่อนแอบ้าง เป็นที่ไม่พอใจบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ”
ภาพอานนท์ นำภา ขึ้นปราศรัยเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญ 2560 กับพระราชอำนาจ
อานนท์ นำภา ตั้งข้อสังเกตในการปราศรัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์เป็นการขยายพระราชอำนาจที่อาจกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไชยันต์แสดงทัศนะว่าเรื่องนี้ก็กลับไปสู่ประเด็นที่ว่าใครเป็นผู้ออกรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือความเข้มแข็งของรัฐสภา
“อย่างเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นกฎหมายที่ออกมา ประเด็นคือสภาผู้แทนราษฎรหรือ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) จะต้องมีความเข้มแข็ง สภาผู้แทนราษฎรจะต้องตั้งคำถาม ถ้าคุณหวังสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ก็แย่
“อย่าลืมที่ผมพูดว่าอังกฤษมีปัญหาตอนศตวรรษที่ 17 คือรัฐสภาตั้งคำถาม ยื่นเงื่อนไข สภาจะต้องถ่วงดุลอำนาจกับกษัตริย์ คุณจะให้ประชาชนถ่วงดุล มันยุ่งเหยิงทีเดียว แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรของเราไม่เข้มแข็ง ซึ่งก็ไปเชื่อมโยงกับการเกิดรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประเด็นคือสภาต้องชัดเจน เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ให้พระราชอำนาจเกี่ยวกับศาสนาหรืออะไรก็ตาม เพราะเมื่อเป็นกฎหมายหมดมันจึงไม่ผิดระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ”
ไชยันต์อ้างอิงนักวิชาการรัฐศาสตร์ด้านการเมืองเปรียบเทียบ 3 คน ได้แก่ Alfred Stepan, Juan J. Linz, and Juli F. Minoves ซึ่งเขียนบทความลง Journal of democracy เรื่อง Democratic Parliamentary Monarchies (2014) ที่บอกว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญยังมีขอบเขตกว้างและมีลูกเล่นได้หลายอย่างที่ทำให้พระมหากษัตริย์ยังได้ชื่อว่าอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายที่ออกมากลับไปเพิ่มอำนาจให้พระมหากษัตริย์
“ทั้งสามคนนี้มองว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญยังไม่เพียงพอและเป็นแนวคิดที่คลุมเครือ ทำให้บางครั้งพระราชอำนาจมีเยอะเกินไป แต่ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เขาจึงเสนอว่าต้องขยับตัวแบบให้มีความชัดเจนขึ้น โดยเรียกว่า democratic parliamentary monarchy คือยังมีกษัตริย์อยู่ แต่สภาต้องเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง แต่สภาต้องเป็นประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้ง ที่แน่นอนว่าจะต้องเสรีและเป็นธรรม และมีความเป็นพหุนิยม เป็นตัวแทนเพียงพอ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเรื่องราวต่างๆ พระราชอำนาจของกษัตริย์จะถูกจำกัดมากขึ้นและไม่สามารถแทรกแซงการออกกฎหมายของสภาได้
“เขาไปถึงขนาดที่เรียกว่าถ้าสภาเสนอชื่อใครให้เป็นนายกฯ กษัตริย์มีหน้าที่อย่างเดียวคือประทับตรายาง เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่ใช่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แล้วพระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ ถามว่าตัวแบบนี้เป็นคำตอบของประเทศไทยเราแล้วหรือยัง พร้อมหรือยัง ?”
อย่างกรณี พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ไชยันต์ กล่าวว่า โดยปกติแล้วไม่จำเป็นต้องโอนไปเช่นนั้น
“ในบริบทสังคมไทยการโอนกำลังไปคืออะไร ผมเองยังไม่รู้เลย คุณ (สภา) อธิบาย อภิปรายให้ผมฟังสิ นี่เป็นเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมยอมรับสิ่งที่คุณอานนท์พูดว่าอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผู้กล้า ผมเห็นด้วย ผมอยากรู้ ผมอยากทราบเหตุผล ถ้ามีเหตุผลที่ดี อย่าลืมว่าเรื่องนี้สภาจะไม่ผ่านกฎหมายก็ได้ คุณต้องโทษสภาผู้แทนราษฎร คุณไปโทษกษัตริย์ได้อย่างไร เพราะสภาไม่มีความกล้าหาญ”
ภาพการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา
ข้อเสนอ 10 สิงหาคม
สำหรับข้อเสนอ 10 สิงหาคม ไชยันต์กล่าวว่าพลเมืองย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะเสนอการแก้ไขกฎหมาย เพียงแต่ว่าการแก้จะยากหรือไม่ต้องทำประชามติและว่าไปตามกระบวนการ
“ผมบอกว่าไม่ต้องช็อก เป็นเรื่องปกติในประวัติศาสตร์การเมืองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงแต่ว่าอธิบายเหตุผล คุยกัน อย่างเช่นมาตรา 112 ในปี 2554 ผมเสนอให้ยกเลิก เหตุผลก็คือเพื่อให้คนที่วิพากษ์วิจารณ์สามารถเปิดข้อมูลออกมาได้ ไม่อย่างนั้นเหมือนกับว่าฝ่ายที่ปกป้องพูดได้ฝ่ายเดียว ส่วนฝ่ายที่จะวิพากษ์วิจารณ์ก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อ้อมค้อม เสนอว่าถ้าจะยกเลิกมาตรา 112 ต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์จะมีมากน้อยแค่ไหน และเมื่อทำประชาพิจารณ์แล้ว ตกผลึกมาอย่างไร ถ้าจะไม่แก้ก็คือไม่แก้ ก็จบไป แต่ถ้าแก้ ส.ส. ไม่เหนื่อยแล้ว เพราะทำประชาพิจารณ์แล้ว แต่ส.ส. อาจจะมีอีกดอกหนึ่งก็ให้เหตุผลมา แบบนี้จะยกระดับวุฒิภาวะของผู้คนด้วยว่าจะพูดอะไรได้บ้าง พูดอะไรไม่ได้บ้าง แต่ช่วงที่จะทำประชาพิจารณ์ต้องมีเสรีภาพ ไม่ใช่ไปแก้ในสภาเฉยๆ”
แต่ข้อที่ไชยันต์เห็นว่าเป็นประเด็นใหญ่คือ ‘ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก’ เขาอธิบายว่า
“ถ้าพระมหากษัตริย์มีอำนาจมาก การไม่ลงพระปรมาภิไธย รัฐประหารเจ๊งเลย แต่ที่กรีซพระมหากษัตริย์พยายามต่อต้านรัฐประหารในปี ค.ศ. 1967 แต่ล้มเหลว พระมหากษัตริย์ต้องเสด็จหนีออกไป ล้มเลย คุณต้องอย่าลืมว่าบุคคลคนเดียวที่อยู่ตรงนั้น ประเด็นนี้จึงสำคัญว่าตกลงแล้วประชาชนจะอยู่ข้างกษัตริย์ใช่ไหม ทุนจะอยู่ข้างกษัตริย์ใช่ไหม เพราะการทำรัฐประหารถ้าไม่มีทุน ทำไม่ได้ ต่างชาติจะเอายังไง มหาอำนาจเบื้องหลังการทำรัฐประหารก็มี เพราะฉะนั้นคุณต้องเข้าใจว่าจะให้พระมหากษัตริย์ทำอย่างไร ผมบอกแล้วว่าผมไม่ต้องการให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญเพราะไม่อย่างนั้นสถาบันกษัตริย์จะปรับตัวให้เข้ากับรัฐธรรมนูญและสร้างบรรทัดฐานของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ได้”
ไชยันต์อธิบายว่าก่อนรัชกาลที่ 9 ประเทศไทยยังไม่มีบรรทัดฐานของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากทั้งรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8 ต่างครองราชย์เพียงไม่นาน รัชกาลที่ 9 จึงเป็นปฐมกษัตริย์องค์แรกที่จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
“เวลาบอกว่าทำไมพระมหากษัตริย์ที่สวีเดนต้องสาบานว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็เพราะเขามีประเพณีมา แต่ในทางปฏิบัติ ก็ไม่ได้จะพิทักษ์อยู่ดีอย่างในกรณีที่กุสตาฟที่ 3 ยึดอำนาจในปี ค.ศ.1772 คุณไปดูสวีเดน อังกฤษ เดนมาร์กหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 88 ปีมันไม่ได้เป็นอย่างที่คุณเข้าใจ แต่คุณไปเอาจากปัจจุบันของเขามาตั้ง เราไม่จำเป็นต้องช้าแบบเขาหรอก คุณจะไปเร่งแบบนั้นก็ไม่ได้ เเต่จะช้าสองร้อยสามร้อยปีก็ไม่ใช่ ประเด็นเรื่องรัฐประหารจึงเป็นประเด็นที่ต้องคิดหนักมาก ปัจจัยเรื่องประชาชน ทุน ราชการ และมหาอำนาจแค่นี้ก็อ่วมอรทัยแล้ว ลองไปนับวันลงพระปรมาภิไธยหลังการรัฐประหารว่าช้าหรือเร็ว มันจะสะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง”
ลดแรงปะทะ
ต้องยอมรับว่าข้อเสนอ 10 สิงหาคมสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่คิดต่าง ทั้งยังมีปัจจัยการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงจากสำนักข่าวบางค่ายหรือคอลัมนิสต์บางคนว่า นักศึกษาต้องการล้มล้างสถาบัน
“อย่างน้อยตัวผมเองก็ต้องบอกว่าไม่ควรที่จะออกไปใช้กำลัง กับไม่ควรจะให้เกิดการซ้ำรอยแบบ 6 ตุลาคม 2519 ถึงแม้หลายคนจะบอกว่าไม่เหมือน 6 ตุลาคมอะไรก็แล้วแต่ แต่การที่ประชาชนฝ่ายหนึ่งไม่พอใจอีกฝ่ายหนึ่ง 6 ตุลาคมก็เป็นเช่นนั้น ก็ต้องบอกว่าอย่าทำ สอง-ถ้าไม่พอใจกลุ่มนักศึกษาก็ใช้กฎหมายฟ้องร้องไปหรือจะแสดงจุดยืนเพื่อการชุมนุมก็อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุม ก็แสดงความคิดเห็นได้”
แต่สิ่งที่ไชยันต์เป็นห่วงคือมือที่สามซึ่งอยู่คู่กับการเมืองไทยมาตลอด ซึ่งอาจเกิดขึ้นและทำให้สถานการณ์บานปลาย เขาเสนอว่ารัฐจะต้องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการทำร้ายแกนนำอย่างเคร่งครัด หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นรัฐจะต้องรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ไชยันต์แนะให้นำข้อเสนองไปเสนอกับพรรคการเมืองหรือสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ดำเนินไปตามกระบวนการ ในส่วนของประชาชนทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก เพราะเป็นเพียงการขอแก้กฎหมาย หากมีเหตุผลที่ดี แก้แล้วสถาบันกษัตริย์สามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง มีเสถียรภาพ ย่อมถือเป็นเรื่องดี ส่วนฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรแก้ก็ให้เหตุผลโต้แย้ง
“ที่จริงมาถึงตอนนี้ ผมคิดว่าไม่ต้องชุมนุมแล้ว ผมคิดว่าเหตุผลมีและให้ตัวแทนนักศึกษาไปยื่น ตอนนี้เรารู้วาระแล้วและผมคิดว่าไม่ได้ล้มล้าง และบอกกับฝ่ายรอยัลลิสต์ว่าอย่าตื่นตระหนกเลย ถ้าบอกว่าการกระทำอย่างนี้เป็นการล้มล้าง อธิบายให้ผมฟังซิว่าล้มล้างยังไง ผมไม่คิดว่าเป็นการล้มล้าง แต่อย่าลืมว่าอำนาจมีขึ้น มีลงตามประวัติศาสตร์การเมืองและวิวัฒนาการของการปกครองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญต้องเข้าใจตรงนี้ร่วมกัน”
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar