lördag 20 oktober 2012

........เรื่องจริงไม่อิงนิยายของราชสำนักกัมพูชา ........“เมื่อข้าพเจ้าโตเป็นหนุ่ม พ่อมักจะกล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นเพล์บอย แต่จริงๆแล้วพระองค์เป็นเพล์บอยมากกว่าข้าพเจ้า” “ข้าพเจ้ายอมรับว่าข้าพเจ้าเคยเป็นเพล์บอย ข้าพเจ้ามีลูก 14 คน และไม่รู้ว่ามีหลานอีกกี่คน แต่ข้าพเจ้ามีผู้หญิงในชีวิตนับได้ไม่เกิน 20 คน พ่อของข้าพเจ้าก็เป็นเพล์บอยเหมือนกัน และมีผู้หญิงเกือบ 200 คน และปู่ของข้าพเจ้ามีสนม 360 คน ซึ่งเหลือเวลาว่างให้ตัวเองเพียงห้าวันในหนึ่งปี แต่ตอนนี้ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นเพล์บอยอีกต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าแก่แล้ว และข้าพเจ้าก็มีภรรยาสวย” คำพูดของเจ้ารณฤทธิ์แห่งกัมพูชา .....เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเรื่องราวของราชสำนักไทยแล้วก็ไม่แตกต่างกันพระเจ้าข้า ถ้าเรื่องราวความจริงของ" King of the King"แห่งราชสำนักไทยเปิดเผยได้ เรื่องราวของราชสำนักกัมพูชาชิดซ้ายเลยพระเจ้าข้า!


เรื่องจริงไม่อิงนิยายของราชสำนักกัมพูชา (1): เรื่องเล่าของเจ้าชายน้อย กับชีวิตที่พลัดพราก

- 1 -
เจ้าชายน้อย กับชีวิตที่พลัดพราก

ราชนิกูลน้อยแห่งราชสกุลนโรดม นาม “รณฤทธิ์” ต้องเผชิญกับความพลัดพรากเพียงหลังลืมตาขึ้นดูโลกได้ไม่นาน ด้วยมีมารดาเป็นสามัญชน เจ้ารณฤทธิ์ผู้เป็นโอรสองค์โตของพระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุ จึงถูกส่งไปอยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้าย่า  ชีวิตที่ถูกพรากจากอกแม่ที่เป็นนางรำเอกในราชสำนัก ทำให้เจ้าชายน้อยโหยหาความเอื้อเอ็นดูจากผู้เป็นบิดามาทดแทน  หากสิ่งที่ได้มาคือความผิดหวัง
เจ้าชายรณฤทธิ์ประสูติในปี พ.ศ.2487  สามปีหลังที่พระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุขึ้นครองราชย์  หากพระราชยศแห่งองค์กษัตริย์นั้นได้สร้างระยะห่างกางกั้นโอรสออกไปจากความสัมพันธ์ฉันท์บิดาและบุตร เจ้ารณฤทธิ์จึงเติบโตมากับความรู้สึกอ่อนไหว เปราะบางทางอารมณ์ของวัยเยาว์ที่ซ่อนเร้นไว้เบื้องลึก
เจ้ารณฤทธิ์ประสูติในอาณาบริเวณของบ้านหลังใหญ่ที่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่บนถนนสุธารถในกรุงพนมเปญ  ถนนเลียบแม่น้ำสายนี้ถูกตั้งชื่อตามพระนามของเจ้าสุธารถ พระอัยกาของกษัตริย์สีหนุ  เจ้าสุธารถถูกสกัดกั้นไม่ให้ขึ้นสู่ราชบังลังก์กัมพูชา ด้วยอิทธิพลของฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมที่เข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งกษัตริย์และร่วมเล่นการเมืองในราชสำนักกัมพูชาที่เป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น  เจ้าชายรณฤทธิ์ประสูติที่บ้านตามธรรมเนียมโบราณ ความทรงจำทั้งหมดในวัยเด็กของเจ้ารณฤทธิ์อยู่ที่บ้านหลังนี้ บ้านที่ถูกครอบครองโดยสถานทูตรัสเซียภายหลังโศกนาฏกรรมของชาวกัมพูชาในช่วงทศวรรษ 1980 (1980s)ของสงครามประชาชน และเจ้ารณฤทธิ์ไม่เคยได้สมบัติชิ้นนี้กลับคืนมาอีกเลย
เจ้าชายน้อยเติบโตมากับความปวดร้าวในวัยเด็กกับชีวิตที่ถูกพรากจากมารดาที่เป็นสามัญชน ราชนิกูลน้อยถูกส่งให้มาอยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้าหญิงรัศมีโสภา (Princess Rasmi Sobhana) พระกนิษฐาภคินีของเจ้าสุรมฤต (Norodom Suramarit) พระบิดาของกษัตริย์สีหนุ  เมื่อพระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุประกาศสละราชบังลังก์ในปี พ.ศ.2498  เจ้านโรดม สุรมฤตได้รับการสถาปนาให้ขึ้นครองราชบังลังก์กัมพูชาสืบต่อจากพระโอรส
 “ตอนที่ข้าพเจ้าเกิด พ่อมีภรรยาอยู่ 3 คน แม่ข้าพเจ้าเป็นนางรำเอกในราชสำนัก พ่อมองเห็นนางรำมีเสน่ห์ทุกคน”
ปี 2485 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุ ทรงวุ่นวายอยู่กับชีวิตสมรส พระองค์สมรสกับสุภาพสตรี 2 คน คือ นักนางพัต กันฮอล (Neak Moneang Phat Kanhol) มารดาของเจ้ารณฤทธิ์ และเจ้าหญิงสีสุวัตถิ์ พงสานมุนี (Princess Sisowath Pongsanmoni)
ชีวิตวัยเด็กของเจ้ารณฤทธิ์ถูกแวดล้อมด้วยสตรีเพศในตำหนักของเจ้าหญิงรัศมีโสภาที่ครองตัวเป็นโสดตลอดชนม์ชีพ เจ้าหญิงรัศมีโสภาสิ้นพระชนม์ พ.ศ.2514
พี่สาวร่วมบิดรมารดาของเจ้ารณฤทธิ์ คือ เจ้าหญิงบุปผาเทวี (Buppha Devi) ถูกส่งไปอยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จย่า คือ พระนางสีสุวัตถิ์ กุสุมะ นารีรัตน์ (Sisowath Kossamak Nearireath) ราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งกัมพูชาองค์ที่ 3
เจ้าหญิงบุปผาเทวีนั้นสืบสายเลือดศิลปินมาจากมารดา และกลายเป็นนางรำที่โดดเด่นเช่นเดียวกับมารดา
ราชนิกูลสองพี่น้องตระหนักดีว่า ราชประเพณีโบราณแห่งราชสำนักไม่มีที่เหลือให้กับการทำตามความพอใจส่วนตัว ชีวิตที่ต้องถูกพรากจากอกแม่ผู้เป็นสามัญชนนั้น เป็นไปตามราชประเพณีที่ทั้งสองไม่มีทางเลือก
“ตามประเพณีของเรานั้น เราไม่สามารถจะต่อต้านขัดขืนต่อความต้องการของพระราชินีและเจ้าป้าใหญ่ได้ ข้าพเจ้าไม่มีทางเลือกอื่น เมื่อสมเด็จย่า (พระนางสีสุวัตถิ์ กุสุมะ)  ได้ปรึกษากับโหรหลวงเกี่ยวกับอนาคตของข้าพเจ้า และพวกเขาทำนายว่าข้าพเจ้าจะต้องเติบโตเป็นนายทหาร”
คำทำนายของโหรหลวงเป็นที่มาของนาม “รณฤทธิ์” แต่เมื่อเติบโตขึ้น เจ้ารณฤทธิ์กลับพบว่าความเป็นทหารนั้นมิใช่สิ่งที่ตัวเองปรารถนา แต่กลับเป็นสิ่งที่ท่านไม่ชอบเลย แม้แต่การเป็นนายทหารฝ่ายวิชาการ
คำทำนายเริ่มเป็นความจริงในปี พ.ศ.2526 เมื่อพระราชบิดาขอให้เจ้าชายเข้ามาบริหารพรรคฟุนซินเปก (Funcinpec Party) และฝ่ายกองกำลังทหารของพรรค เจ้ารณฤทธิ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการ Sihanoukist army และต่อมาในปี พ.ศ.2533 (1990s) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาการร่วมของกองทัพหลวงแห่งกัมพูชา (Royal Cambodian Armed Forces)
บรรยากาศอบอุ่น เอื้ออาทร ณ ที่พำนักบนถนนสุธารถนั้นขัดแย้งแตกต่างกับความอ้างว้างที่แผ่คลุมวังหลวง กษัตริย์สีหนุประทับอยู่ในพระราชวัง แต่โปรดให้บรรดาสนมของพระองค์พำนักแยกในบ้านพักในตัวเมือง ยามใดที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้สนมคนใดถวายงาน จึงจะทรงโปรดเรียกให้เข้าเฝ้าที่วังหลวง
 ความสำราญของกษัตริย์สีหนุกับนางกำนัลในราชสำนักนั้น เป็นความคุ้นเคยที่เจ้ารณฤทธิ์เห็นมาตั้งแต่เยาว์วัย
“เมื่อข้าพเจ้าโตเป็นหนุ่ม พ่อมักจะกล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นเพล์บอย แต่จริงๆแล้วพระองค์เป็นเพล์บอยมากกว่าข้าพเจ้า”
คำกล่าวหาตอบโต้ของเจ้ารณฤทธิ์ต่อพระบิดานั้น ดูเหมือนจะยืนยันได้จากพระโอษฐ์ของกษัตริย์สีหนุเอง ซึ่งตรัสเล่าอย่างสนุกสนานถึงเรื่องราวส่วนพระองค์และความสำราญในราชสำนัก ให้บรรดาข้าราชบริพารที่ติดตามพระองค์ฟัง เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2528
“ข้าพเจ้ายอมรับว่าข้าพเจ้าเคยเป็นเพล์บอย ข้าพเจ้ามีลูก 14 คน และไม่รู้ว่ามีหลานอีกกี่คน แต่ข้าพเจ้ามีผู้หญิงในชีวิตนับได้ไม่เกิน 20 คน พ่อของข้าพเจ้าก็เป็นเพล์บอยเหมือนกัน และมีผู้หญิงเกือบ 200 คน และปู่ของข้าพเจ้ามีสนม 360 คน ซึ่งเหลือเวลาว่างให้ตัวเองเพียงห้าวันในหนึ่งปี แต่ตอนนี้ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นเพล์บอยอีกต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าแก่แล้ว และข้าพเจ้าก็มีภรรยาสวย”
ชาวเขมรนั้นยอมรับกับธรรมเนียมปฏิบัติของราชสำนักที่กษัตริย์จะมีสนมหลายคน เพื่อแสดงถึงความเป็นชายและบารมีของพระองค์  มารดาของเจ้ารณฤทธิ์เป็นสนมคนแรกที่กษัตริย์สีหนุลงพระนามในเอกสารแสดงการสมรส
“ไม่มีพิธีแต่งงานระหว่างพระบิดาและมารดาของข้าพเจ้า แต่ทั้งสองท่านได้ลงนามในเอกสารแสดงการสมรส แม่ของข้าพเจ้าเป็นภรรยาคนแรก เราไม่มีคำเฉพาะที่ใช้เรียกภรรยาคนแรก หรือคนที่สอง เราเรียกว่าเป็นสนมคนโปรด พ่อไม่เคยแต่งงานกับผู้หญิงคนไหน นอกจากพระราชินีโมนิก (Queen Monique) การมีคู่สมรสหลายคน เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในเวลานั้น”
เจ้าชายน้อยไม่มีโอกาสบ่อยนักที่จะได้ไปเยี่ยมมารดาของท่าน เพราะเจ้าย่าไม่โปรด จริงๆแล้วเจ้าหญิงรัศมีโสภาไม่ต้องการให้เจ้ารณฤทธิ์ทราบด้วยซ้ำว่าใครคือมารดาที่แท้จริงของท่าน
“ตอนแรก ทุกคนต้องการให้ข้าพเจ้าเชื่อว่ามารดาที่แท้จริงของข้าพเจ้าคือเจ้าหญิงรัศมีโสภา ตอนที่ข้าพเจ้ายังเล็ก ข้าพเจ้ามีแม่นมประจำตัว เมื่อโตขึ้นมาหน่อย ข้าพเจ้าถึงได้รับอนุญาตให้ไปหาแม่ได้บ้าง”
 ในสายตาของเจ้ารณฤทธิ์ ราชนิกูลของกัมพูชามีความเป็นเสรีนิยมมาก เป็นเรื่องปกติที่กษัตริย์จะมีสนมคนโปรดหลายคน แต่ผลที่ตามมาคือ คือบรรดาพระสนม และลูกๆ ที่มีจำนวนมากนั้นต่างเข้าถึงกษัตริย์ได้ยากนัก
 “ข้าพเจ้าไม่เคยมีผู้ปกครองที่แท้จริงเลย ไม่มีทั้งพ่อและแม่ที่แท้จริง พ่อในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์นั้นอยู่ห่างไกลจากข้าพเจ้ามากเหลือเกิน”
 ความรู้สึกโหยหามารดานั้น ทำให้เจ้ารณฤทธิ์ต้องการความสนใจจากพระบิดาเป็นพิเศษ แต่ท่านก็ไม่มีโอกาสบ่อยนักที่จะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว
“เป็นเรื่องยากมากที่ลูกๆจะได้เข้าเฝ้าพระบิดาในพระราชวังในบรรยากาศที่ไร้พิธีรีตอง พ่อเคยเรียกให้ลูกๆไปหาพร้อมๆกัน ตอนที่พระองค์ยังหนุ่มอยู่ พระองค์ทรงโปรดการเล่นเทนนิสและขี่ม้า พระองค์เคยเรียกข้าพเจ้าว่า ‘ทับ’ (Thab) ข้าพเจ้าไม่ทราบว่ามันมีความหมายอย่างไร แต่นั่นคือชื่อเล่นของข้าพเจ้า พวกเราจะมีโอกาสได้พบกับพระบิดาเดือนละครั้ง ในวาระพิเศษจริงๆ”
 บรรดาโอรสและธิดาถูกวาดกรอบให้อยู่ในความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับพระบิดา กษัตริย์สีหนุจะร่วมเสวยพระกะยาหารกลางวันกับลูกๆทั้ง 14 คนและพระญาติพร้อมๆกัน ไม่เคยมีครั้งใดที่พระบิดากับบรรดาโอรสและธิดาจะได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างอบอุ่นเป็นส่วนตัว
แต่พฤติกรรมห่างเหินเย็นชาเช่นนี้ของบิดา กลายเป็นความคุ้นเคยที่มิอาจซ้ำเติมความรู้สึกโหยหาของเจ้ารณฤทธิ์ได้อีกต่อไป ท่านสรุปความรู้สึกนี้ว่า  “เป็นเพราะความเข้มแข็งในตัวข้าพเจ้า”
 เจ้ารณฤทธิ์ในวัยที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ พยายามกลบฝังความร้าวรานแห่งอดีตของชีวิตที่ถูกพรากจากมารดาไว้เบื้องหลัง
 “ข้าพเจ้าเป็นคนอิสระ ที่แทบจะไร้ความรู้สึก ข้าพเจ้าไม่คิดถึงแม่ และไม่ได้รู้สึกคิดถึงพ่อมากนักด้วย ข้าพเจ้าเติบโตมากับเจ้าย่า รักท่านเสมือนแม่ อีกท่านหนึ่งที่ข้าพเจ้าผูกพัน คือเจ้าป้า เจ้าหญิงเกศกันยา (Princess Ketkanya Mam) ซึ่งเลี้ยงดูข้าพเจ้ามาเหมือนกับเป็นมารดาแท้ๆของข้าพเจ้า”
หากเงาอดีตแห่งความขมขื่นยังฉายชัดอยู่ในแววตา ยามที่เจ้ารณฤทธิ์พูดถึงพ่อ ความรู้สึกของคนถูกหักหลังนั้นหลั่งไหลผ่านถ้อยคำ
“ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างพ่อและข้าพเจ้าคือสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดถึงความเหินห่างระหว่างเรานับตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมพ่อจึงไม่เคยเลือกที่ยืนอยู่ข้างข้าพเจ้าเลย”
สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ กับพระบาทสมเด็จนโรดม สีหมุนี พระอนุชาต่างมารดา
เจ้าหญิงบุปผาเทวี พี่สาวร่วมพระชนกและมารดาสามัญชน

หมายเหตุผู้เขียน: เรียบเรียงจาก WARRIOR PRINCE เขียนโดย HARISH C. METHA (First published in 2001 by Graham Brash (Pte) Ltd., Singapore

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar