tisdag 29 september 2020

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่ง สันติบาล-สมช. ส่งข้อมูลให้ ณฐพร โตประยูร นำไปประกอบสำนวนคดีล้มล้างการปกครองฯ..

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่ง สันติบาล-สมช. ส่งข้อมูลให้ ณฐพร โตประยูร นำไปประกอบสำนวนคดีล้มล้างการปกครองฯ

ธรรมศาสตร์จะไม่ทน : เปิดคำร้องคดี 10 สิงหา กับข้อกล่าวหา อานนท์-ไมค์ ภาณุพงศ์-รุ้ง ปนัสยา ล้มล้างการปกครองฯ

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ทนายความของ 3 ผู้ปราศรัยหลักบนเวที "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อ 10 ส.ค. ซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เตรียมยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอขยายเวลาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปอีก 30 วัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีสั่งหน่วยงานความมั่นคงให้นำพยานหลักฐานส่งมอบแก่ "นักร้องการเมือง" เพื่อนำไปประกอบสำนวนคดี

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ทำหนังสือ "ด่วนที่สุด" ตอบกลับนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงวันที่ 24 ก.ย. 2563 ภายหลังเจ้าตัวดอดส่งหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในช่วง 7 วันก่อนหน้านั้น แจ้งขอพยานหลักฐานของส่วนราชการ ได้แก่ กองบังคับการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคดีที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนญ

"นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีบัญชาให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บช.ส. และ สมช. ดำเนินการต่อไป" ข้อความจากหนังสือของ สลน. ระบุตอนหนึ่ง และยังบอกด้วยว่า ได้แจ้งให้ทั้ง 2 หน่วยงานรับทราบแล้ว

เอกสารตีตรา "ลับ" ฉบับนี้ลงนามโดย น.ส.ปราณี ศรีประเสริฐ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการนายกฯ

นายณฐพรเป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง หลังเกิดปรากฏการณ์ "ทะลุเพดาน" อันหมายถึงการประกาศ 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในระหว่างการชุมนุมภายใต้ชื่อ "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. จัดโดยกลุ่มนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม"

โปรยกระดาษ
คำบรรยายภาพ,

น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โปรยกระดาษที่มีเนื้อหา 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ บนเวที 10 ส.ค. หลังอ่านข้อความจนจบ

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยเมื่อ 16 ก.ย. พร้อมกำหนดให้ผู้ถูกร้อง 3 คน ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำกลุ่ม "เยาวชนภาคตะวันออก" และ น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง และมีคำสั่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) แจ้งผลการดำเนินการและส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเช่นกัน

น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความสิทธิมนุษยชน เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ลูกความของเธอทั้ง 3 คนเพิ่งได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 19 และ 22 ก.ย. ซึ่งในการจัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต้องดำเนินการเป็นรายบุคคล จึงเตรียมยื่นหนังสือเพื่อขอขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน

ทนายความหญิงรายนี้ยังแสดงความประหลาดใจที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีนี้ไว้พิจารณา เพราะความมุ่งหมายของมาตรา 49 คือการขอศาลสั่งให้ยกเลิกการกระทำ แต่การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ได้จบสิ้นไปแล้วพร้อมกับการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค.

เล็งใช้คำวินิจฉัยศาล รธน. เป็นฐานเอาผิดอาญา-วินัย-ปิดปากปม 10 ข้อปฏิรูปสถาบันฯ

ความคาดหวังของนายณฐพรคือ "การเปิดโปงเบื้องหลังขบวนการนักศึกษา" และใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นฐานในการดำเนินคดีอาญาและเอาผิดทางวินัยกับ "ผู้ร่วมขบวนการ 10 สิงหา" ทุกระดับ

นายภาณุพงศ์ จาดนอก เป็น 1 ใน 3 บุคคลที่ปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันฯ บนเวทีเมื่อ 10 ส.ค.
คำบรรยายภาพ,

นายภาณุพงศ์ จาดนอก เป็น 1 ใน 3 บุคคลที่ปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันฯ บนเวทีเมื่อ 10 ส.ค.

เขากล่าวกับบีบีซีไทยว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค. เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ศาลก็จะสั่งให้ยกเลิกการกระทำ นั่นเท่ากับว่ากลุ่ม "ผู้สมรู้ร่วมคิด" หรือ "ผู้สนับสนุน" จะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายทันที

  • พรรคการเมือง ต้องถูกตั้งคดียุบพรรคต่อไป เพราะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง มาตรา 92
  • นักวิชาการ 105 คนที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนการชุมนุมของนักศึกษา มีความผิดตามประมวลจริยธรรมข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งกำหนดให้ "ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" มีโทษถึงขั้นไล่ออก
  • โรงพิมพ์ที่รับพิมพ์หนังสือ "สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย" และหนังสือ "ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า" ที่นำออกแจกจ่ายในสถานที่ชุมนุมต่าง ๆ มีความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

ก่อนหน้านี้ นายณฐพรได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค. ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เอาไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา พนักงานสอบสวนก็จะเดินหน้าเอาผิดทางอาญาได้ทันที ซึ่งเขาคาดการณ์ว่าความชัดเจนจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้

"ธรรมศาสตร์จะไม่ทน

"นักร้องการเมือง" วัยเฉียด 70 ปียัง "ตีความอย่างกว้าง" ว่า คำสั่งให้ยกเลิกการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ของศาลรัฐธรรมนูญ จะครอบคลุมถึงการชุมนุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และทำให้การพูดถึง 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

เปิดคำร้อง ณฐพร เอาผิด 7 เวที 8 นักปราศรัย

บีบีซีไทยตรวจสอบคำร้องของนายณฐพรจำนวน 38 หน้าที่ยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 พบว่า ได้อ้างถึงการชุมนุม 6 ครั้ง พร้อมระบุชื่อบุคคลที่ปราศรัยเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันฯ 8 คน ดังนี้

  • วันที่ 3 ส.ค. - เวที "เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย" อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กทม. อ้างถึงคำปราศรัยของนายอานนท์ นำภา
  • วันที่ 9 ส.ค. - เวที "เชียงใหม่จะไม่ทน" จ.เชียงใหม่ อ้างถึงคำปราศรัยของนายอานนท์ นำภา
  • วันที่ 10 ส.ค. - เวที "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" มธ. ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี อ้างถึงคำปราศรัยของนายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก, น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
  • วันที่ 20 ส.ค. - เวที "ขอนแก่นพอกันที่" จ.ขอนแก่น อ้างถึงคำปราศรัยของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์
  • วันที่ 21 ส.ค. - เวที "อยุธยาไม่สิ้นประชาธิปไตย" จ.พระนครศรีอยุธยา อ้างถึงคำปราศรัยของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์
  • วันที่ 30 ส.ค. - เวที "สมุทรปรากาธ์ดีดนิ้วไล่เผด็จการ" จ.สมุทรปราการ อ้างถึงคำปราศรัยของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์, น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, น.ส.สิริพัชระ จึงธีรพานิช, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ น.ส.อาทิตยา พรพรม
นายอานนท์ นำภา ขึ้นบนเวทีของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ อีกครั้งเมื่อ 19 ก.ย.
คำบรรยายภาพ,

นายอานนท์ นำภา ขึ้นปราศรัยบนเวทีของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ อีกครั้งเมื่อ 19 ก.ย.

ทว่ามีเพียงเหตุการณ์เดียวที่นายณฐพรเคยยื่นคำร้องผ่าน อสส. เมื่อ 18 ส.ค. เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทำให้ศาลรับคำร้องเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10 ส.ค. ไว้พิจารณาวินิจฉัยกรณีเดียว

อย่างไรก็ตามนายณฐพรเปิดเผยว่า เขาได้เข้ายื่นคำร้องต่อ อสส. เพิ่มเติมในทุกกรณี รวมถึงการชุมนุมวันที่ 19-20 ก.ย. ด้วย เพราะมีพฤติกรรมที่เข้าองค์ประกอบล้มล้างการปกครองฯ อย่างชัดเจน และเป็นสิ่งที่ อสส. ต้องรวบรวมทั้ง 7 เหตุการณ์การชุมนุมเพื่อนำส่งศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่ง

"การตีความว่าล้มล้างหรือไม่ ต้องดูที่พฤติกรรม คนเหล่านี้เขาไม่ได้ต้องการปฏิรูปอย่างที่ปากว่า แต่ต้องการปฏิวัติคือพลิกเลย เช่น ประกาศให้งดยืนถวายความเคารพ หรือการปักหมุดคณะราษฎร 2563 มันปฏิรูปที่ไหน" นายณฐพรกล่าว

ยกคำวินิจฉัยศาล รธน. คดียุบไทยรักษาชาติ เทียบพฤติกรรม "เซาะกร่อน บ่อนทำลาย"

คำร้องของนายณฐพรระบุว่า การปราศรัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีเนื้อหาบิดเบือน จาบจ้วง ล้อเลียน และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนไทยผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่ได้รับทราบและเห็นภาพการกระทำที่บังอาจเหิมเกริมของคนกลุ่มผู้ชุมนุมนี้แล้ว มีความรู้สึกห่วงใยและกังวลใจอย่างยิ่งที่เยาวชนของชาติกลุ่มนี้มีทัศนคติและการแสดงออกที่จาบจ้วงบังอาจเช่นนี้ เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างระบอบการปกครองฯ

นักกฎหมายฝ่ายอนุรักษนิยมรายนี้ยังยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 7 มี.ค. 2562 ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จากกรณีนำเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรค ที่เคยตีความคำว่า "ล้มล้าง" และ "ปฏิปักษ์" มาเทียบเคียงด้วย

  • ล้มล้าง หมายถึงการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลาย หรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไป ไม่ให้ธำรงอยู่ หรือมีอยู่ต่อไปอีก
  • ปฏิปักษ์ ไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวาง หรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย จนเกิดความชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะการกระทำเป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว

เหตุผลอีกด้านของ "นักร้อง" ที่โต้กลับ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ

คำร้องของนายณฐพรยังระบุด้วยว่า 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ คือข้อเสนอที่รับเอาความคิดที่เสนอโดยนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับอดีตนักการเมืองพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และผู้ไม่ประสงค์ดีต่อสถาบันฯ มา อีกทั้งยังเป็นการเสนอโดยไม่ได้ศึกษาความเป็นมาของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในหลายเรื่อง

นายณฐพร โตประยูร
คำบรรยายภาพ,

นายณฐพร โตประยูร อ้างมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ "พิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย" ในการยื่นคำร้องยุบพรรคอนาคตใหม่ และอ้างถึงข้อกฎหมายเดียวกันในการฟ้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ 10 สิงหา

เขายังร่ายเหตุผลส่วนตนตอบโต้เอาไว้ สรุปใจความสำคัญได้ ดังนี้

ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันฯ อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

การบริจาคหรือการให้นั้น ถือเป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงเจตนาโดยอิสระของแต่ละบุคคลที่ย่อมมีเสรีภาพที่จะเลือกให้หรือไม่ให้กับใครก็ได้ ทั้งนี้การบริจาคให้กับสถาบันฯ หรือการร่วมบริจาคทำบุญโดยเสด็จพระราชกุศลนั้น "ถือเป็นความเชื่อของประชาชนชาวไทยจำนวนมากที่มีมายาวนานหลายสิบปีที่เชื่อกันว่าการทำบุญกับในหลวงหรือร่วมบุญกับในหลวง ตนเองจะได้บุญมากขึ้น ไม่ต่างจากการทำบุญกับพระ เพราะคติที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญเพียรในชาตินี้"

ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันฯ แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

เป็นข้อเสนอที่ตั้งบนสมมติฐานว่าประชาชนชาวไทยถูกล้างสมองในความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ จากสื่อมวลชนต่าง ๆ ที่เป็นความเชื่อตามทฤษฎีของนักวิชาการที่เป็นฝ่ายตรงข้ามสถาบันฯ โดยขาดหลักคิดตามหลัก "กาลามสูตร" ขณะเดียวกันหลักของสื่อสารมวลชนย่อมนำเสนอข่าวที่ประชาชนสนใจและอยากรับรู้เป็นปกติธรรมชาติ "ข่าวพระราชสำนักคือข่าวที่คนไทยตั้งแต่รุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อยากรับรู้รับทราบว่าท่านเป็นอย่างไร อยากได้เห็นภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชวงศ์ อยากได้ยินพระสุรเสียงเพราะพระองค์เปรียบเสมือนพ่อของแผ่นดินที่ชาวไทยผูกพันกับพระองค์มายาวนาน"

แนวร่วมของกลุ่ม "ไทยภักดี" ได้แสดงพลังปกป้องสถาบันฯ เพื่อตอบโต้ขบวนการนักศึกษา
คำบรรยายภาพ,

แนวร่วมของกลุ่ม "ไทยภักดี" ได้แสดงพลังปกป้องสถาบันฯ เพื่อตอบโต้ความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา

สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความข้องเกี่ยวใด ๆ กับสถาบันฯ

เป็นการเชื่อข้อมูลข่าวลือข่าวลวงในโลกออนไลน์ และทำการกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยโดยไร้ความรับผิดชอบในพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ

ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

เป็นความไม่เข้าใจในบทบาทพระราชสถานะในความเป็นกลางทางการเมือง การที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็น "ผู้ปกเกล้า แต่ไม่ได้ปกครอง" และ "ไม่มีครั้งใดที่พระองค์ทรงรับรองการรัฐประหาร นับเป็นความเข้าใจผิดของคณะบุคคลที่ร้ายแรง เพราะเป็นการนำพระองค์ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยในความเป็นจริงที่ภายหลังการทำรัฐประหารสาเร็จ คณะผู้ก่อการย่อมจะต้องเข้าเฝ้าฯ พระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของราชอาณาจักรไทย การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ให้คณะผู้ทำการรัฐประหาร ไม่ใช่การรับรองการรัฐประหาร แต่เป็นการทำให้บุคคลเหล่านั้นเข้าสวมบทบาทหน้าที่ในทางการเมืองที่ตนได้ยึดอำนาจเป็นรัฎฐาธิปัตย์แล้วเท่านั้น"

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar