lördag 19 september 2020

ชุมนุม 19 กันยา: มวลชนยึดสนามหลวงเป็นที่ชุมนุมได้สำเร็จ ตร. ตรึงกำลังห้ามเข้าใกล้เขตพระราชฐาน..

ผู้ชุมนุมยึดสนามหลวงเป็นที่ชุมนุม
คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมยึดสนามหลวงเป็นที่ชุมนุมท่ามกลางฝนที่ตกปรอย ๆ

ห้าชั่วโมงหลังจากกดดันให้เจ้าหน้าที่เปิดประตูให้เข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้สำเร็จ แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมผู้จัดกิจกรรม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" ได้พามวลชนเคลื่อนออกจาก มธ. มายึดพื้นที่ครึ่งหนึ่งของสนามหลวง โดยไม่สนใจคำสั่งของตำรวจที่ให้เลิกชุมนุมภายใน 1 ชั่วโมง

ประชาชนเริ่มร่วมตัวกันตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. โดยมี น.ส.ปนัสนา สิทธิจิรวัฒนกุล และนายภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำผู้ชุมนุม เดินทางมาด้วยและปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงโจมตีผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ไม่อนุญาตให้ใช้มหาวิทยาลัยเป็นที่ชุมนุม

จากนั้นผู้ชุมนุมได้ไปรวมตัวกันบริเวณประตู มธ. และกดดันให้เจ้าหน้าที่เปิดให้เข้าไปได้ ขณะที่แกนนำส่งตัวแทนไปเจรจาก่อนจะกลับออกมาบอกผู้ชุมนุมว่าจะเปิดให้เข้าไปได้ในเวลา 13.00 น.

แต่ผู้ชุมนุมยังคงกดดันโดยมีการดันประตูเป็นระยะ ๆ เจ้าหน้าที่จึงเปิดให้เข้าได้ในเวลาประมาณ 12.05 น. จากนั้นแกนนำได้ขึ้นรถปราศรัยที่จอดอยู่บริเวณสนามฟุตบอลเชิญชวนให้ผู้คนมารวมตัวกันในสนามฟุตบอล

คำบรรยายวิดีโอ,

ภาพเหตุการณ์ตอนผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามธ.

เวลาประมาณ 15.00 น. แกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุม "เตรียมเคลื่อนพล" ไปสนามหลวง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งเริ่มตั้งเวทีใหญ่บริเวณสนามหลวงในส่วนที่เป็นพื้นปูนฝั่ง มธ.

ขณะที่สนามหลวงเริ่มมีประชาชนมารวมตัวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงครามมาเจรจาให้ยุติการชุมนุมเนื่องจากการชุมนุมครั้งนี้ "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

ตำรวจแจ้งกับผู้ชุมนุมว่าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชม.

"แต่การชุมนุมครั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง...ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่การรักษาความสงบเรียบร้อย และความสะดวกของประชาชนในการดูแลชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบ และไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย อาศัยตามอำนาจมาตรา 27 (1) แห่งพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จึงให้ผู้ชุมนุมเลิกชุมนุมภายใน 1 ชม.นับจากนี้" ตำรวจกล่าว

หลังจากนั้นไม่นาน รถแกนนำใน มธ. ก็ได้นำมวลชนเคลื่อนที่ออกจากมหาวิทยาลัยมุ่งหน้าสนามหลวง โดยมีนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ปราศรัยนำขบวน

"วันนี้จะเป็นนาทีประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การเมืองไทยในวันพรุ่งนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป" นายพริษฐ์กล่าวขณะที่มวลชนกลุ่มหนึ่งพยายามฝ่าแนวกั้นและแผงเหล็กของตำรวจเข้าไปในสนามหลวง

"เราไม่มีอาวุธ ใช้สันติวิธี มามือเปล่า...เราขอเจรจา ถ้าไม่ต้องการให้เกิดการปะทะเกิดขึ้น คุณก็ควรสั่งตำรวจควบคุมฝูงชนถอยไปซะ" พริษฐ์กล่าวก่อนจะบอกให้มวลชนผลักรั้วกั้นและดันแนวตำรวจเพื่อเข้าไปในสนามหลวงได้ในเวลาประมาณ 15.30 น.

ภาณุพงศ์ จาดนอก เดินเข้าไปใน มธ.
คำบรรยายภาพ,

นายภาณุพงศ์ จาดนอก หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุม เป็นคนแรกที่เดินเข้าไปใน มธ. หลังจากผู้ชุมนุมกดดันให้เจ้าหน้าที่เปิดประตู

แกนนำนักศึกษาบนรถบรรทุก
คำบรรยายภาพ,

พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปราศรัยบนรถบรรทุกที่เคลื่อนเข้าสู่สนามหลวง

ผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่เข้าไปในบริเวณสนามหลวง
คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่เข้าไปในบริเวณสนามหลวง

150 เมตร เขตห้ามชุมนุม

หลังจากเข้าในสนามหลวงได้แล้ว มวลชนได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มพื้นที่ครึ่งหนึ่งของสนามหลวงที่เป็นพื้นปูนหรือ "พื้นที่แข็ง" ซึ่งตาม กทม.ได้จัดให้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ระหว่างเวลา 05.00-22.00 น. แต่ห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง

ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นสนามหญ้า ได้มีเจ้าหน้าที่ตั้งแถวพร้อมเหล็กกั้น และมีป้ายข้อความติดไว้ว่า "ระยะ 150 เมตร เขตห้ามชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ" ซึ่งกำหนดไว้ว่าห้ามชุมนุมในระยะ 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน

พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม ได้ประจำการที่แนวตำรวจและแนวรั้วแผงเหล็ก ซึ่งติดป้ายประกาศว่าเป็นระยะ 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง โดยถือเป็นเขตห้ามชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

"ที่ผ่านมา ตำรวจได้ยอมมาแล้วยอมมามากแล้ว และถ้าหากพิจารณาพื้นที่สนามหลวงขนาดนี้ ก็เพียงพอที่จะใช้จัดกิจกรรมได้แล้ว" ผกก.สน.ชนะสงคราม กล่าว

เจ้าหน้าที่หลังแผงกั้น

ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่เคลื่อนรถฉีดน้ำมาเตรียมพร้อมในพื้นที่ ก็มีคำประกาศจากหน้าเวทีให้ประชาชนกลับไปรวมตัวกันที่หน้าเวที ซึ่งอยู่กลางของท้องสนามหลวง

ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า ทางตำรวจนครบาลได้สั่งปิดการจราจร 5 จุดตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ประกอบด้วย ถนนพระอาทิตย์ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, แยกผ่านพิภพ, สะพานช้างโรงสี, วงเวียน รด., แยกท่าเตียน

ปักหลักพักค้างที่สนามหลวง

การชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 2 ภายใน มธ. นับจากเคยสร้าง "ปรากฏการณ์ 10 สิงหา" ในการจัดชุมนุมที่ มธ. ศูนย์รังสิต มาแล้ว แต่เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่มีการเชิญชวนประชาชนให้ปักหลักค้างคืน

เวลาประมาณ 17.40 น. พิธีกรบนเวทีประกาศว่าผู้ชุมนุม "แตะหลักแสนคน" แล้ว และกิจกรรมบนเวทีจะมีต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยจะมีแกนนำผลัดการขึ้นปราศรัย ก่อนที่จะมีกิจกรรมและเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ที่ไม่เปิดเผยในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.)

คำบรรยายวิดีโอ,

ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจาก มธ. มาสนามหลวง

"ไม่ลดเพดาน"

การชุมนุมในวันนี้ เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่อดีตนักการเมืองสังกัดพรรคอนาคตใหม่ประกาศเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ แต่ไม่ขึ้นปราศรัย ขณะที่ก่อนการชุมนุมสองวัน นายกฯ แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ เตือนว่าการชุมนุมครั้งนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

ด้านแกนนำนักศึกษายืนยัน "ไม่ลดเพดาน" ตามที่เคยประกาศ 10 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ ในการชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อวันที่ 10 ส.ค.

โดยข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ประกอบด้วย

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก

6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

"คนเสื้อแดง" ร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัย

จากการสังเกตการณ์และพูดคุยของบีบีซีไทย ตั้งแต่ช่วงบ่ายภายใน มธ. พบว่า มีกลุ่มแนวร่วมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ "คนเสื้อแดง" มาร่วมรวมตัวที่ มธ. อย่างน้อย 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ลพบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี บางส่วนสวมเสื้อแดงและมีอุปกรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์คนเสื้อแดงมาใช้ในการชุมนุม

หนึ่งในคนเสื้อแดงจากสำโรง จ.สมุทรปราการ บอกถึงเหตุผลถึงการออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ว่า เห็นด้วยกับทั้งข้อเสนอ 3 ข้อ และ 1 ความฝัน ของกลุ่มประชาชนปลดแอก รวมทั้งข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์

"พวกเราใจเดียวกัน ความคิดเดียวกัน เราเคยสู้มาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ พอเด็กเขาออกมา เราต้องมาช่วยเขา"ส่วนหญิงวัย 73 ปี คนเสื้อแดงเชียงใหม่ ซึ่งเคลื่อนไหวมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 บอกว่าออกมาเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา และคาดหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไม่เกินปีหน้า"ตอนนี้ทุกคนตาสว่างกันหมดแล้ว ทุกข้อเรียกร้องตรงใจ เราต้องการสิ่งนี้มานานแล้ว"

ช่วงค่ำ นายธานี สะสม แนวร่วม นปช. ได้ขึ้นเวทีสนามหลวงและปราศรัยวิจารณ์การรัฐประหารปี 2557 และการสืบทอดอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่าน ส.ว. สรรหา

สำหรับนายธานี เป็น 1 ใน 14 บุคคลที่ถูกออกหมายจับจากการชุมนุมใหญ่ของ "เยาวชนปลดแอก" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 18 ก.ค.

ธานี สะสม ขึ้นปราศรัยที่เวทีสนามหลวง
คำบรรยายภาพ,

นายธานี สะสม แนวร่วม นปช. ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ขึ้นปราศรัยที่เวทีสนามหลวง

ครบรอบ 14 ปีรัฐประหาร

นอกจากนี้ วันนี้ ยังเป็นวันครบรอบ 14 ปีเต็มการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ด้วย

โดย เฟซบุ๊กของนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการโพสต์ ภาพตั้งคำถามว่า "14 ปีรัฐประหาร 19 กันยา ประเทศไทยก้าวเดินถึงไหน" และภาพข้อความที่เขียนด้วยลายมือของนายนายทักษิณ ซึ่งมีใจความช่วงหนึ่งว่า "เด็กๆ ที่อายุระหว่าง 20 ถึง 30 ในปัจจุบัน 14 ปีที่แล้วเขาได้ยินได้เห็นพ่อแม่เขาคุยกันว่าเขากำลังมีงาน/มีธุรกิจ มีรถ มีบ้าน แต่วันนี้เขาได้ยินว่าเขากำลังตกงาน/ธุรกิจอยู่ไม่ได้ กำลังเสียรถ เสียบ้าน และตัวเขายังมองไม่เห็นอนาคตตัวเองถึงจะมีการศึกษาที่ดี เพราะวิธีคิดของเรากำลังถูกเอาเปรียบโดยทุนนิยมโลกที่เรารู้ไม่เท่าทัน เราล้าสมัยในหลายด้าน"

"ถึงเวลาหรือยังที่เราจะปรับวิธีคิดใหม่ ทั้งฝ่ายบริหารบ้านเมืองและการเมือง เพราะที่ผ่านมา 14 ปีแล้ว เราไม่ทันโลกจริงๆ มีแต่ถูกเอาเปรียบ โลกไม่เหมือนเดิม คิดแบบเดิมไม่ได้ นโยบายที่เคยใช้ได้ในอดีตปัจจุบันยิ่งใช้ยิ่งแย่ โดยเฉพาะโลกหลังโควิดจะเป็นโลกที่เห็นแก่ตัวมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อนที่แสนดีจะหายากขึ้น ผมหมายถึงการเมืองระหว่างประเทศ" นายทักษิณ ระบุเพิ่มเติม

ในโพสต์ดังกล่าว นายทักษิณไม่ได้กล่าวถึงการชุมนุมของนักศึกษา-ประชาชนที่ มธ.ในวันนี้ ซึ่งเลือกจัดขึ้นในวันครบรอบ 14 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.

ข้าม Facebook โพสต์ , 1

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์, 1

นักวิชาการและนักกิจกรรมการเมืองที่เรียกตัวเองเป็น "ฝ่ายประชาธิปไตย" หลายคนเห็นว่า 19 ก.ย. 2549 คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองที่ลึกซึ้งยาวนานที่สุดในสังคมไทย

เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 14 ปีก่อน ไม่เพียงเปลี่ยนชีวิตนายทักษิณ นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ไปตลอดกาล แต่ยังเป็นอดีตที่ตามหลอกหลอน พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ถูกตราหน้าว่า "รัฐประหารเสียของ"

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar