บีบีซีไทย - BBC Thai
หมุดใหม่
นายอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นเวทีปราศรัยประกาศว่า จะนำ "หมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2" ทำจากทองเหลือง ขนาด 11 นิ้ว ไปปักลงที่ "สนามราษฎร"
"ย่ำรุ่งของวันที่ 20 กันยายน 2563 เราจะประกาศร่วมกันว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งผอง ไม่ใช่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่เขาหลอกลวง วันนี้คณะราษฎร 2563 ได้ก่อเกิดอย่างเป็นทางการ ที่สนามราษฎรแห่งนี้แล้ว... "หมุดจะถูกปักลง ประกาศคณะราษรฎรฉบับที่ 2 จะถูกอ่านขึ้น พวกเราจะเป็นไท"
นายอานนท์เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และอื่น ๆ รวม 8 ข้อหา จากการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 18 ก.ค.
บนเวทีปราศรัยกลางดึกวันเสาร์ เขาปรากฏตัวด้วยสภาพผมเกรียน ชี้แจงต่อผู้ชุมนุมว่าเป็นเพราะไปติดคุกมา 5 วัน หลังถูกศาลถอนประกันเพราะพูดเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
นายอานนท์เล่าด้วยว่า ระหว่างถูกจองจำภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้แวะไปเยี่ยมเขา ก่อนมารู้ที่หลังว่าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง
"ถ้ารู้ล่วงหน้า จะฝากท่านไปถามคนในสถาบันฯ ว่าข้อเสนอ 10 ข้อของน้อง ๆ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ 1 ความฝันของกลุ่มประชาชนปลดแอก สถาบันฯ จะเอาด้วยหรือไม่ เพื่อให้สถาบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง" นายอานนท์กล่าวบนเวที
เขายังปราศรัยตอกย้ำและขยายรายละเอียดของ 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ ของนักศึกษา ทั้งเรื่องการปรับลดงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันฯ, การนำทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เช่น วัดพระแก้ว กลับมาเป็นของประชาชนทุกคน, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ว่าผู้ใดจะฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้ โดยให้กลับไปใช้เนื้อหาแบบรัฐธรรมนูญปี 2475 ที่ว่าหากกษัตริย์ทำผิด ต้องรับโทษ พร้อมถามถึงความเป็นไปได้ในการเปิดไต่สวนสาธารณะ เหตุการณ์สังหารโหดเมื่อ 6 ต.ค. 2519 และเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8
ทนายความวัย 34 ย้ำว่า การปราศรัยของเขาอยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยากเห็นบ้านเมืองอยู่ภายใต้ระบอบนี้ ไม่ได้คิดเป็นอื่นเลย แต่ขณะนี้มีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาว่า พฤติกรรมของขบวนการประชาชนรอบนี้เป็นการล้มล้างการปกครองฯ และศาลได้รับคำร้องไว้แล้ว
"ถ้าท่านตัดสินว่าสิ่งที่เราทำเป็นการปฏิรูปสถาบันฯ มันก็จะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าตัดสินว่าสิ่งที่เราทำเป็นการล้มล้าง มันก็จะเป็นอย่างนั้นเช่นกัน ปากกาอยู่ที่ท่าน ท่านจะเขียนอนาคตบ้านเมืองไปทางไหน ท่านเลือกเอา" นายอานนท์กล่าว
ตลอดชีวิตที่ผ่านมา นายอานนท์รู้สึกว่าตัวเองถูกปกครองมาด้วยความกลัว ไม่กล้าพูดถึงสถาบันฯ
"ผมยอมรับว่ากลัว ไม่กล้าคิดฝันถึงบ้านเมืองที่สวยงามกว่านี้ นั่นคือความละอายใจ ทำให้ผมเสียใจ หากเสรีภาพของผมแลกมาด้วยว่าการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันฯ แม้ต้องติดคุกเพื่อยืนยันเรื่องนี้ก็ตาม"
"นำความกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง"
น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ขึ้นปราศรัย เมื่อเวลา 00.05 น. โดยอ้างว่าเป็นการ "นำความกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง" ตอกย้ำ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ได้ประกาศในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. น.ส.ปทัสยา ขยายความข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เดิม และเหตุผล ดังนี้
- ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร เพราะ "มนุษย์เท่ากันจึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน"
- ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคนเพราะ "นี่คือวิถีทางที่พระมหากษัตริย์อันทรงเกียรติทั่วโลกจะทรงทำในระบอบประชาธิปไตย"
- ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของกษัตริย์อย่างชัดเจน
- ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจาก "ราษฎรกำลังอยู่ในภาวะทุกข์ยาก"
- ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก เพราะ "ที่ปรึกษาเดียวที่ทรงสดับรับฟังคือราษฎรของพระองค์"
- ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด เพราะ ผู้บริจาคส่วนหนึ่ง "เป็นทุนผูกขาด"
- ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เพราะ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของราษฎรทุกฝ่าย
- ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด เพราะ จะถูกครหาถึงการสร้างภาพลักษณ์
- สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใด ๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพื่อพิสูจน์ว่าสถาบันฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
- ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก เพราะราษฎรอยากได้พระมหากษัตริย์ที่ทรงปกป้องประชาธิปไตย จึงขอให้พระองค์ทรงห้ามปรามมิให้ทหารทำการรัฐประหาร เพราะเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar