เมื่อคืนที่ผ่านมาเธอนำความกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์บนเวทีชุมนุม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร"
ชุมนุม 19 กันยา : “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำนักศึกษาผู้ยืนกรานปฏิรูปสถาบันฯ
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำนักศึกษาในนามกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ขึ้นเวที "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเป็นการนำความกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง ย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ได้ประกาศในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม
ย้อนไปวันนั้น ปนัสยารู้ตั้งแต่ก่อนจะก้าวขึ้นเวทีปราศรัยในการชุมนุมของนักศึกษา มธ.แล้วว่าสิ่งที่กำลังจะทำจะเปลี่ยนอนาคตตัวเอง
ก่อนการชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" จะยุติลงในคืนนั้น แกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) วัย 21 ปี อ่าน "ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1" เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ต่อหน้าผู้ชุมนุมราว 2,500 คน
อดีตเด็กนักเรียนชั้นประถมที่ขี้อาย เคยถูกเพื่อนแกล้งแถมไม่กล้าสู้ ได้กลายมาเป็นนักศึกษาผู้ทำในสิ่งที่ถูกเรียกขานตามมาว่าเป็นการ "ทะลุทะลวงเพดาน" การพูดถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีคนในวัยเดียวกันกับเธอทำมาก่อน นั่นก็คือการเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่ยำเกรงของคนไทยจำนวนมาก
"หนูขอแอมโมเนียทุกชั่วโมงตั้งแต่สี่โมงเย็น จะเป็นลมหลายรอบมาก มันเครียดและมีความกลัวอยู่ กลัวว่าเราพูดแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง รู้แล้วว่าพูดไปแล้วชีวิตจะไม่เหมือนเดิม"
ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของปนัสยาและกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีเป้าหมายเพื่อทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้ปรับลดงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปลอดจากการเมือง
เป็นที่ทราบกันดีว่าคนไทยได้รับการบ่มเพาะความรู้เรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าเป็นเสาหลักของประเทศ เป็นสถาบันที่เสริมสร้างความเป็นชาติ คนไทยยังถูกสอนให้เทิดทูน จงรักภักดี และเกรงกลัวผลกระทบที่จะเกิดตามมาจากการเอ่ยถึงสถาบันฯ
ไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่บังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา) ซึ่งกำหนดโทษผู้ที่ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"
นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีนักกิจกรรมการเมืองคนไทยอย่างน้อย 9 คน ที่ลี้ภัยในต่างประเทศ และส่วนใหญ่เคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไทย หายตัวไปลึกลับ โดย 2 คนถูกพบเป็นศพลอยอยู่ในแม่น้ำโขง
รัฐบาลไทยยืนกรานมาตลอดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการหายตัวไปของบุคคลเหล่านั้น
"คนเท่ากัน"
"มนุษย์ทุกคนมีเลือดสีแดงไม่ต่างกัน ไม่มีใครในโลกนี้เกิดมาพร้อมเลือดสีน้ำเงิน คนบางคนอาจเกิดมาโชคดีกว่าคนอื่น แต่ไม่มีใครเกิดมาสูงส่งกว่าใคร ทุกคนต่างอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน" ปนัสยา กล่าวตอกย้ำสิ่งที่เชื่อบนเวทีชุมนุมเมื่อเดือนสิงหาคม
เธอได้รับต้นฉบับข้อเรียกร้อง 10 ประการ ก่อนจะขึ้นพูดบนเวทีธรรมศาสตร์เพียงไม่นานนัก
"เพื่อนส่งมาให้หนูดูตอนตีหนึ่งกว่า มันถามหนูว่าจะอ่านไหม ทุกคนรู้สึกว่ามันแรงมาก ตัวเองก็รู้ว่ามันแรงมาก ๆ แต่หนูรู้สึกว่ามันต้องพูด…หนูเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดม็อบครั้งนั้น แล้วเรื่องสถาบันเป็นหนึ่งในความคิดหลักของหนูตลอดมา เลยอยากขึ้นไปพูด เรียกว่าขอขึ้นไปพูดก็ได้ ขอพูดเอง"
"ต้องนั่งจับมือทั้งสองข้างกับเพื่อนแล้วถามว่าเราทำถูกใช่ไหม นี่คือสิ่งที่เราต้องทำใช่ไหม คำตอบคือใช่ มันคือสิ่งที่ทั้งถูกต้องและต้องทำ เลยนั่งสูบบุหรี่ตัวหนึ่ง แล้วก็ขึ้นไปพูดในสิ่งที่คิดทั้งหมด รวมทั้งข้อเรียกร้องด้วย"
คำประกาศของเธอในวันนั้นเรียกทั้งเสียงตอบรับกึกก้องจากนักวิชาการสายก้าวหน้า และเสียงก่นด่าจากสื่อมวลชนที่สนับสนุนกองทัพและรัฐบาล ส่วนคนทั่วไปไม่น้อยตกตะลึงกับสิ่งที่ได้ยิน
บนหน้าเฟซบุ๊กของนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนสถาบันฯ เต็มไปด้วยเนื้อหาโจมตีปนัสยา บ้างก็กล่าวหาว่ามีนักการเมืองหนุนหลัง ซึ่งเธอปฏิเสธ
นับตั้งแต่คืนวันที่ 10 สิงหาคม หลังอ่านประกาศข้อเรียกร้อง ปนัสยาถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทางการทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งที่มหาวิทยาลัย และหอพักนักศึกษา
"แม้จะมาในชุดนอกเครื่องแบบ แต่หนูรู้ว่าพวกเขาเป็นตำรวจ เพราะทุกคนตัดผมเกรียนเหมือนกัน ตำรวจถ่ายรูปหนูในที่สาธารณะ"
ปนัสยา เชื่อว่าตัวเองถูกออกหมายจับจากเหตุการณ์ในวันนั้น แต่ยังไม่ได้ถูกจับกุม และไม่ได้ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำไม่ให้รัฐบาลใช้กฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ 2-3 ปีก่อน
อย่างไรก็ดี เธออาจถูกตั้งข้อหา "ยุยงปลุกปั่น"ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี และ/หรือ ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ร่วมกันกระทำการซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะไม่ถูกสุขลักษณะและอาจเป็นแหล่งให้เกิดโรคระบาด
รัฐบาลไทยยืนยันว่าไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่นักศึกษาต้องใช้สิทธิ์ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและไม่เป็นภัยต่อความมั่นคง
ในเวลาเดียวกันนักศึกษาและผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวให้รัฐบาลลาออก แก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กลับถูก พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เสียดสีอย่างเปิดเผยว่าเป็น "โรคชังชาติ โรคที่รักษาไม่หาย"
"เด็กช่างสงสัย"
ปนัสยา บอกว่า ตอนเป็นเด็กเธอเคยสงสัยและตั้งคำถามถึงสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อคนไทย
เพราะวันหนึ่ง จู่ ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่มาขอให้คนในครอบครัวออกไปนั่งลงกับบนฟุตบาทท่ามกลางแดดร้อนระอุหน้าบ้านที่อยู่ติดริมถนนในเขตชานเมืองหลวง เพื่อรอขบวนเสด็จฯ
"หนูถามแม่ว่าทำไมเราจะอยู่ในบ้านนั่งกินข้าวไม่ได้ ทำไมต้องออกมาตากแดดตั้งครึ่งชั่วโมง เพื่อดูเขาขับรถผ่านไป ตอนนั้นไม่เข้าใจเลยว่าคืออะไร ก็ดื้อไม่ไปรับเสด็จฯ"
เปลี่ยนเพราะไปอเมริกา
หากสายรุ้งเกิดจากการหักเหของแสงอาทิตย์ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ "รุ้ง"ปนัสยาก็มีช่วงเวลาและเหตุการณ์ที่เปลี่ยนตัวตนจากเด็กขี้แหย กลายเป็นมั่นใจ
ปนัสยาไปอเมริกาตามโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนตอนที่เธอเรียนอยู่ชั้น ม.4 และอยู่ที่นั่นเพียง 5 เดือน
"กว่าจะก้าวข้ามความขี้อายนานมาก ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะทำได้ ที่ทำได้จริง ๆ คือตอนไปอเมริกา พลิกเลย กลับมาเป็นคนละคน กล้าพูดกล้าทำ อะไรที่เห็นว่าผิดคือผิด อะไรที่แบบน่าด่าต้องด่า เราอยากพูดอะไรก็จะพูด"
สนใจการเมืองไทยตั้งแต่ในวัย 15 ปี
"ตอนนั้นเห็นข่าวรัฐประหารก็สงสัยและกลัวหน่อย ๆ รู้สึกว่ามันผิดปกติ รู้สึกว่าเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของบ้านเมือง กลัวว่าเมื่อไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มันเป็นการยึดอำนาจเข้ามา มันต้องรุนแรง ข่มขู่คุกคาม เป็นทหารอยู่ดี ๆ ก็มายึดอำนาจ บอกว่าจะเข้ามาดูแลพวกคุณ แต่ไม่รู้สึกว่าเขาจะมาดูแลเลย ไม่รู้ว่าทำไมถึงรู้สึกแบบนั้น"
ความสนใจเรื่องการเมืองมีมากขึ้นไปอีกเมื่อเธอคิดจะเรียนด้านวารสารศาสตร์ การอ่านข่าวหนังสือพิมพ์และดูข่าวทีวีทำให้รู้มากขึ้น แต่ไม่ลึกเท่าตอนที่ได้เข้าเรียนในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอร่วมชุมนุมเชียร์ เป็นแกนนำทำพาเหรดล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ทำให้ต้องค้นคว้าข้อมูลทางการเมืองไทยในเชิงลึกมากขึ้น
อยากเป็นนายกรัฐมนตรี
ความสนใจทางการเมืองมีมากถึงขั้นที่เธอพูดคุยกับเพื่อนสนิทว่าหากทำงานมีรายได้มากพอเมื่อใด เธอจะชวนเพื่อนตั้งพรรคการเมือง เพราะอาชีพที่เธอใฝ่ฝันสูงสุดคือการเป็นนายกรัฐมนตรี อีกอาชีพที่เธอสนใจคือสื่อมวลชนแม้จะเห็นว่าการต้องให้สัมภาษณ์กับนักข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่านับตั้งแต่เธอสร้างปรากฏการณ์ "ช็อก" สังคมไทย เป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลามากที่สุดอย่างหนึ่ง
ถ้าไม่คุยกับนักข่าว ทุกวันนี้ ปนัสยาใช้ชีวิตของเธอไปตามปกติ ไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เธอเรียนอยู่ในชั้นปีที่ 3 ไปชอปปิง บ่อยครั้งก็มีคนมาขอถ่ายรูปด้วย เธอเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ดูซีรีส์เกาหลี เช่น It's okay to not be okay และเล่นกับเจ้าเทา แมวตัวน้อยที่อยู่ด้วยกันที่หอพักนักศึกษา
อยากให้แม่ภูมิใจ
หลังพูดต่อหน้าฝูงชนกว่าสองพันคนในคืนวันที่ 10 ส.ค. ปนัสยาไม่ได้พูดกับแม่ตัวเองไป 5 วัน พี่สาวของเธอคือตัวกลางที่เธอส่งไปหยั่งท่าทีและ "เคลียร์" กับแม่ ที่รู้ว่าห้ามลูกไม่ได้
"แม่ห่วงมาก แต่จะไม่แสดงให้เห็น ต่อหน้าจะเป็นปกติ แต่พอคุยกับพี่สาว บางครั้งแม่ก็จะร้องไห้… แต่แม่ก็ต้องเข้าใจนะว่าเราไม่ได้ทำเพื่อเอาสนุกนี่คือเรื่องจริงจังที่เราต้องทำ เรามองว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ… หนูรู้สึกว่าอยากให้แม่ภูมิใจว่าลูกกำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อยู่"
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar