lördag 26 september 2020

๊Update : ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า จะแทนที่ระบอบ คสช หรือการเมืองแบบกษัตริย์นิยม-ทหารนิยม ด้วยอะไร? - "การเมืองแบบทักษิณ"?

ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า จะแทนที่ระบอบ คสช หรือการเมืองแบบกษัตริย์นิยม-ทหารนิยม ด้วยอะไร? - "การเมืองแบบทักษิณ"?

ผู้ที่เรียกกันว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" คงตอบทำนองว่า ก็แทนที่ด้วย "ประชาธิปไตย"

แต่ "ประชาธิปไตย" ในหมู่คนที่คัดค้านรัฐประหาร คัดค้านระบอบ คสช มีความแตกต่างกันไม่น้อย และจริงๆแล้วก็เป็นอะไรที่นามธรรมเกินไป ปัญหายังอยู่ที่ว่าในทางรูปธรรม "ประชาธิปไตย" ที่ต้องการให้มาแทนที่ มีลักษณะหรือความหมายอย่างไรบ้าง?

หลายคนคงตอบเพิ่มเติมว่า ก็ให้มีการเลือกตั้ง และรัฐบาลเลือกตั้งมีอำนาจนำ

แต่อันนี้ ก็มีปัญหาต่อว่า - ยังไง? เหมือนก่อน 2549 ใช่หรือไม่? พูดอีกอย่างคือ เหมือนสมัยยุคทักษิณ นันคือแทนที่ด้วยการเมืองแบบสมัยทักษิณ?

แต่การเมืองแบบก่อน 2549 หรือ "การเมืองแบบทักษิณ" (ผมจงใจหลีกเลี่ยงใช้คำว่า "ระบอบทักษิณ" แต่ขณะเดียวกัน ผมเห็นว่า การเมืองช่วงนั้น มีลักษณะพิเศษบางอย่างที่กำลังจะกล่าว ที่มีคาแร็กเตอร์สำคัญบางอย่างเกี่ยวกับทักษิณ-ไทยรักไทย จริง)

มีลักษณะบางอย่างที่ควรตั้งคำถามว่า สมควรกลับไปจริงหรือ?

"การเมืองแบบทักษิณ-ไทยรักไทย ก่อน 2549" (ที่แม้แต่ช่วงยิ่งลักษณ์หรือปัจจุบัน ก็ยังมีลักษณะดังกล่าวบางอย่างอยู่) เป็นการเมืองแบบที่ฝ่ายบริหารสามารถควบคุมกลไกต่างๆได้ในระดับที่การถ่วงดุลย์-ตรวจสอบ ไม่อาจมีประสิทธิภาพอะไร (ทีสำคัญคือคุมทั้งสภาล่าง-สภาสูง ... แม้แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็คุมทั้งสภาล่าง-สภาสูง) ผลคือ ในทีสุด เมื่อระบบตรวจสอบ-ถ่วงดุลย์ ตามระบบมีปัญหา ฝ่ายที่ต่อต้านเลย "จุดชนวน" หรือ "เปิดสวิช" activate ให้กลไกส่วนอื่นๆ ออกมาทำการ "ควบคุม" หรือจริงๆคือ "ล้ม" เลย

(อันนี้ ยังไม่พูดถึงว่า เอาเข้าจริง การเมืองแบบทักษิณก่อน 2549 ไม่ได้แตะต้องหมวดกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ ไม่แตะต้อง 112 ไม่แตะต้องเรื่องทรัพย์สินฯ เป็นต้น ไม่ได้แตะต้องบรรดาระบบการอบรมเรื่องสถาบันฯ ฯลฯ)

ปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือ กลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐประหารใหญ่ทีสุด คือ พรรคเพื่อไทย-เสื้อแดง ยังคงตั้งเป้าหมายอยู่ที่การแทนที่ระบอบ คสช ด้วย "การเมืองแบบทักษิณ ก่อน 2549" (เรื่องนี้มีรายละเอียดซับซ้อนลงไป ที่ไม่สามารถอภิปรายละเอียดในที่นี้ คือในหมู่ผู้สนับสนุน ทักษิณ-เพื่อไทย-เสื้อแดง นั้น มีส่วนที่เพียงต้องการกลับไปที่ "การเมืองแบบทักษิณ ก่อน 2549" ที่ไม่แตะเรื่องสถาบันฯ - ที่ผมเขียนในวงเล็บย่อหน้าก่อน - กับพวกทีเรียกว่า "เปลี่ยนระบอบ" คือต้องการให้จัดการเรื่องสถาบันฯด้วย #แต่ทั้งสองฝ่ายมีจุดร่วม #ตรงที่ยังไงก็ไม่ได้คิดอะไรหรือเสนออะไรที่ไกลเกินกว่าการเมืองแบบทักษิณ คือการเมืองที่พรรคการเมืองที่จะเป็นรัฐบาล คือพรรคทักษิณ ยังอยู่ในการควบคุมของทักษิณ-ครอบครัว ในลักษณะที่ผมเรียกว่า "บริษัทชินวัตรการเมืองจำกัด" อยู่ และในระดับกลไกรัฐส่วนกลาง ไม่มีการตรวจสอบ-ถ่วงดุลย์ที่มีประสิทธิภาพ)

ในความเห็นผม ที่เคยเข้าไปเถียงกับพวก "ใต้ดิน" หลายครั้งว่า ตราบใดที่พวกเขาและผู้สนับสนุนทักษิณ-เพื่อไทย ("เสื้อแดง") ในวงกว้างออกไป ยังมีเป้าหมายเพียงแค่กลับไปสู่การเมืองแบบทักษิณ (ก) โอกาสที่จะ "ชนะ" เป็นไปได้ยากมากๆ และ (ข) สมมุติว่า เกิด "ชนะ" ขึ้นมาจริงๆ #ก็เป็นอะไรที่ไม่ดีต่อการเมืองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ปล. และถึงจุดนี้ ผมก็ยังมองไม่เห็นว่า ฝ่ายต้านระบอบ คสช ที่เรียกกันว่า "เสรีนิยม" หน่อย - คือไม่ใช่ฝ่ายที่เชียร์ทักษิณ-เพื่อไทยโดยตรง - ซึ่งเป็นกำลังรองมากๆในกำลังต่อต้าน คสช มีข้อเสนออะไรชัดเจนว่า ต้องการเอาอะไรมาแทนที่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมากเหมือนกัน กลุ่มที่ว่านี้ ซึ่งมีนักวิชาการและแอ๊คติวิสต์ปัญญาชนหลายคน ควรจะสามารถ "ทำการบ้าน" หรือมีข้อเสนอเรื่องนี้ได้ดีกว่านี้

ทักษิณ กับการ "เปลี่ยนระบอบ"

(ช่วงท้ายของกระทู้จะเรสปัญหาเชิงทฤษฎีบางอย่าง เรื่อง democratization, bourgeois revolution ซึ่งอาจจะยากนิด ถ้าใครไม่สนใจก็ผ่านไปได้)

เมื่อเร็วๆนี้ ในวงสนทนากับมิตรสหายจำนวนหนึ่งที่นี่ ผมเสนอขึ้นว่า

ความจริง ทักษิณ ถ้าได้ไปเป็นนายกฯของประเทศอย่างจีนหรือสิงคโปร์ คง "ไปได้สวย"

นั่นคือ เขา "เหมาะ" หรือสอดคล้องที่จะไปเป็นผู้นำในประเทศที่ระบบการเมืองมัน settled หรือ "ลงตัว" แล้ว

เพราะในบรรดาอีลึตไทยทั้งหลาย ต้องยอมรับว่า เขามีวิสัยทัศน์หรือเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาในแง่เศรษฐกิจของประเทศในปริบทของเศรษฐกิจโลกมากกว่าคนอื่นๆ

แต่ - และนี่เป็นประเด็นสำคัญมาก - โดยที่ประเทศที่ระบบต่างๆ "ลงตัว" แล้วที่ว่า (จีน สิงคโปร์) ไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย

อันที่จริง เขาอาจจะเหมาะกว่าด้วยซ้ำ กับประเทศดังกล่าว ที่มีลักษณะไปในทาง authoritarian อย่างจีน สิงคโปร์

เพราะเอาเข้าจริง ทักษิณไม่ได้มีวิสัยทัศน์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอะไร วิสัยทัศน์ทางการเมืองของทักษิณ (ยิ่งโดยเปรียบเทียบกับเรื่องวิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจที่กล่าวข้างต้น) ต้องนับว่าเป็น "ศูนย์" เลย ทักษิณไม่มีความเข้าใจหรือไม่มีไอเดียว่า ถ้าจะ "สร้างระบอบประชาธิปไตย" ต้องทำอย่างไรบ้าง หรือ "ระบอบประชาธิปไตย" จะต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง (นอกเหนือจากไอเดียประเภทที่เรียกว่า populism คือ เรื่องเลือกมาจากเสียงส่วนใหญ่ - จบ)

เอาเข้าจริง ทักษิณสามารถ fit in หรือเข้าได้กับ (เคยเข้าได้มาแล้วกับ) สิ่งที่เรียกว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ปัญหาว่า ทำไม ทักษิณจึงเกิดปัญหากับ "ระบอบ" ที่ว่านี้ เป็นประเด็นใหญ่ที่ไม่สามารถพูดได้ในทีนี้ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ผมนำเสนอในการสัมมนาที่นี่เมื่อเดือนก่อน ภายใต้หัวข้อ "แฝดสยามแยกร่าง" Siamese Twin Separated ไอเดียคือทักษิณกับกษัตริย์นิยมนั้น ความจริงเป็น "แฝดสยาม" ที่ติดกันมาอย่างแนบแน่นมาก่อน จนถึงปี 2006

เรื่องนี้นำไปสู่ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือ เอาเข้าจริง ประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกหรือสนับสนุนทักษิณ ("เสื้อแดง") แท้จริงแล้วสนับสนุนด้วยเหตุผลในเชิงวิสัยทัศน์ในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าว ไม่ใช่ด้วยเหตุผลในเชิงความเป็นประชาธิปไตยหรือการมีวิสัยทัศน์หรือข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างระบอบประชาธิปไตย เพราะเอาเข้าจริงทักษิณไม่มี ไม่เคยเสนอ หรือมีท่าทีจะมี หรือจะเสนอว่าจะ "เปลี่ยนระบอบ" ในแง่ทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างไร (ตั้งแต่ปัญหาสถานะสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ไปถึงเรื่องกฎหมายต่างๆ เช่น ๑๑๒ เรื่องสิทธิ เสรีภาพ ไปจนกระทั่งแม้แต่เรื่องทำให้ศาสนาสอดคล้องประชาธิปไตย ด้วยการเอาออกจากรัฐ (อันที่จริง เสื้อแดงเป็นขบวนการเมืองเดียวที่เคยเสนอข้อเสนอลักษณะถอยหลังเข้าคลองเรื่องทำให้ศาสนาพุทธเป็น "ศาสนาประจำชาติ" ด้วยซ้ำ)

ในแง่นี้ ความเป็นขบวนการเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตยของผู้สนับสนุนทักษิณ ("เสื้อแดง") มีลักษณะจำกัดอย่างมาก คือจุดสำคัญแทบจะจุดเดียวที่โฟกัสคือเรื่องว่า ขอให้คนที่เลือกจากเสียงส่วนใหญ่เป็นรัฐบาล - นี่คือเนื้อหาของ "ประชาธิปไตยในความหมายของคนเสื้อแดง" - "เป้าหมายประชาธิปไตย" ในแง่นี้ เป็นอะไรที่ขึ้นต่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น คือต้องการให้ได้รัฐบาลทักษิณ (ด้วยเหตุที่เชื่อในเชิงวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ)

...............

เรื่องนี้ (ที่ประชาชนสนับสนุนทักษิณมาจากเรื่อง "วิสัยทัศน์เศรษฐกิจ" เป็นหลัก ไม่ใช่มาจากเรื่องทางหลักการประชาธิปไตย หรือการจะสร้างให้ระบอบประชาธิปไตยออกมาแบบไหน) ยังเรสปัญหาสำคัญในเชิงทฤษฎีที่น่าสนใจ

คือถ้ามองให้กว้างออกไป เอาเข้าจริง สิ่งที่เรียกว่า "คลื่นลูกที่สาม" (และสี่) ของการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย (Third Wave Democracy) คือการที่ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ตะวันตก เป็นอดีตประเทศ "โลกที่สาม" หรือ "ค่ายคอมมิวนิสต์" เริ่มเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยในทศวรรษ 1980 และ 1990 เป็นต้นมา โดยเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรียกว่า "การปฏิวัติประชาธิปไตย" (หรือ "การปฏิวัติกระฎุมพี") สมัย "คลาสสิค" จากศตวรรษที่ 16 ถึงศตวรรษที่ 19 ถึงครึ่่งแรกของศตวรรษที่ 20 - จะเห็นว่า "คลื่นลูกที่สามประชาธิปไตย" ที่ว่านี้ (ซึ่งรวมถึงกรณีประเทศไทย) แรงผลักดันแทบจะทั้งหมดมาจากเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ในความหมายที่คล้ายๆกับที่เราเห็นในไทยนี้ คือ ประชาชนต้องการผู้นำหรือการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ในแง่จะพัฒนาเศรษฐกิจที่แข่งกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก (ความล้มเหลวของผู้นำเผด็จการ ไม่ว่าจะลาตินอเมริกา มาถึงอินโดนีเซีย หรือกระทั่งล่าสุดพม่า ล้วนมาจากเรื่องนี้เป็นสำคัญ) .... คือไม่ใช่ปัญหาเชิงหลักการการเมืองหรืออุดมการแบบ "เสรีนิยม" ในแบบที่เราเห็นในช่วง "การปฏิวัติกระฎุมพีคลาสสิค"* (เรื่องใหญ่สุดคือเสรีภาพส่วนบุคคล ความเสมอภาค และ ระบบการเมืองที่มี check and balance) และผู้นำที่กลายมาได้รับความสนับสนุนจาก "ประชาธิปไตยเกิดใหม่-ประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สาม" ในประเทศเหล่านี้ ก็เป็นผู้นำที่ดูเหมือนจะสนองความต้องการเรื่องวิสัยทัศน์เศรษฐกิจมากกว่าเรื่องในเชิงอุดมการหรือวิสัยทัศน์เรื่องเสรีภาพประชาธิปไตยเหมือนในสมัยคลาสสิคของตะวันตก

[* อันที่จริง ตามข้อเสนอของ Perry Anderson ในซีรีส์ของสิ่งที่เรียกว่า "การปฏิวัติกระฎุมพี" เอง ก็มีลักษณะแบ่งเป็นสอง "วงจร" วงจรแรก จากการปฏิวัติดัชท์ อังกฤษ อเมริกัน ถึงฝรั่งเศส ที่เน้นเรื่องไอเดีย "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" กับวงจรหลัง จากการปฏิวัติเยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น ที่เน้นเรื่องชาตินิยมและอุตสาหกรรม]

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar