onsdag 23 september 2020

“ผมไม่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะนำมาซึ่งความพอใจโดยรวมของประชาชน” เสียงแรกของ ส.ว. คนแรกในระหว่างการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ

รัฐธรรมนูญ 2560 : รัฐสภาเริ่ม “เปิดสวิตช์” ถกร่างแก้ไข รธน. ส่วนกลุ่ม “ไทยภักดี” ยื่น 1.3 แสนชื่อคัดค้าน

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ไทยภักดีนำรายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.
คำบรรยายภาพ,

นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่พลาดหวังในการเลือกตั้งหนล่าสุด ได้หวนกลับมายังรัฐสภาในฐานะแกนนำกลุ่ม "ไทยภักดี" เพื่อนำรายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน. ยื่นต่อประธานรัฐสภา

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. มีวาระสำคัญคือการพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม รวม 6 ฉบับ นำเสนอโดยรัฐบาล 1 ฉบับ และฝ่ายค้าน 5 ฉบับ ซึ่งถือเป็น "เรื่องด่วน" สุดท้ายที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 24 ก.ย.

ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ใช้วิธีพิจารณารวมในคราวเดียวกัน โดยสมาชิกรัฐสภาสามารถอภิปรายได้ทุกญัตติ แต่ในการลงมติ จะแยกเป็นรายฉบับ ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของวุฒิสภา หรือ 84 เสียงขึ้นไป

ขณะที่ ส.ส. รัฐบาลบางส่วนจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และทั้งหมดของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ได้ประกาศจุดยืนต่อสาธารณะว่าไม่ขอร่วมลงมติ "เห็นชอบ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาล บ้างก็ให้เหตุผลว่า "เป็นคนรณรงค์ให้ชาวบ้านรับร่างรัฐธรรมนูญ หากวันนี้มาขอให้มีการแก้ไขก็จะย้อนแย้งกันเอง และตอบคำถามชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้" บ้างก็ยกมติดั้งเดิมของพรรค รปช. ที่มองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็น "รัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่ง"

ขณะเดียวกันกลุ่มประชาชนที่ใช้ชื่อว่ากลุ่ม "ไทยภักดี" หลายสิบคน นำโดย นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้เดินทางมายังอาคารรัฐสภา ย่านเกียกกาย เพื่อเข้ายื่นรายชื่อประชาชนที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จำนวน 1.3 แสนรายชื่อต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ภายหลังใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ในการรณรงค์ภายใต้ชื่อ "ถามประชาชนหรือยัง" พร้อมเปิดให้ร่วมแสดงเจตนารมณ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

ไทยภักดีนำรายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.

นพ. วรงค์ให้เหตุผลว่า คนเรือนแสนนี้เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการแสดงพลังปกป้องสิทธิของประชาชนกว่า 16.8 ล้านคนที่ร่วมลงประชามติรับรัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อ 7 ส.ค. 2559

ร่างแก้ไข รธน. 6 ฉบับ เป็นของใคร มีเป้าหมายอย่างไร

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สมาชิกสภาสูงและสภาล่างจะพิจารณาระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย. ถูกนำเสนอโดยคน 2 กลุ่มหลัก ฝ่ายค้านนำทีมโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา กับคณะ และฝ่ายรัฐบาลนำโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กับพวกรวม 239 คน

  • ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล
  • ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางตั้ง ส.ส.ร. เสนอโดย 5 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยกเว้นพรรคก้าวไกล
  • ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 เพื่อตัดสิทธิ ส.ว. ในการร่วมลงมติเลือกนายกฯ เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน
  • ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 270, 271 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตามแผนปฏิรูปประเทศ เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน
  • ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 279 เพื่อยกเลิกการรับรองความชอบธรรมของบรรดาประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน
  • ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมระบบเลือกตั้ง โดยให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยะระหว่าง ส.ส.เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และยกเลิกการคำนวณ "ส.ส. พึงมี" เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ไอลอว์นำรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนกว่าแสนคนยื่นต่อประธานรัฐสภา
คำบรรยายภาพ,

ไอลอว์นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พร้อมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนกว่าแสนคน ยื่นต่อประธานรัฐสภา เมื่อ 22 ก.ย

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จัดทำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) บรรจุเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาไม่ทันในคราวเดียวกันนี้ โดยประธานรัฐสภาให้เหตุผลว่า "ต้องใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ" หลังภาคประชาชนเข้าส่งมอบร่างพร้อมแนบรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนกว่า 1 แสนคน เมื่อ 23 ก.ย.

หากพิจารณา 2 ร่างหลักที่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเสนอประกบกัน หนีไม่พ้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 มีเป้าหมายสำคัญคือการ "ปลดล็อก" ขั้นตอนการรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การจัดตั้ง ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากร่างกฎหมายนี้คลอดออกมาได้จริง ก็ยังต้องใช้เวลาถึง 307 วันตามร่างของฝ่ายค้าน หรือ 457 วันตามร่างของรัฐบาล ในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21

CG

ขั้นตอนการ "เปิดสวิตช์แก้ไข รธน." ในรัฐสภา

แต่กว่าจะถึงตรงนั้น คนการเมืองต้องร่วมกันประกอบพิธีกรรม "เปิดสวิตช์แก้ไขรัฐธรรมนูญ" เสียก่อนในระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภาซึ่งกินเวลา 22 ชม.

ผลหารือร่วมกันของ 3 ฝ่าย ได้แก่ ส.ส. รัฐบาล, ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ได้ข้อสรุปว่าจะให้เวลาแต่ละฝ่ายได้อภิปราย 7 ชั่วโมง 20 นาที

  • วันที่ 23 ก.ย. เริ่มอภิปรายเวลา 10.30 น. และเปิดให้อภิปรายจนถึงเวลา 01.30 น. ก่อนพักการประชุม
  • วันที่ 24 ก.ย. เริ่มประชุมต่อเวลา 09.30 น. และปิดอภิปรายเวลา 18.00 น.
  • ต่อมาเริ่มลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ โดยวิธีขานชื่อสมาชิกเรียงลำดับตามตัวอักษร แล้วให้ลงมติด้วยวาจาว่า "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทีละฉบับจนครบ 6 ฉบับ ซึ่งสมาชิกคนแรกที่จะได้ลุกขึ้นลงมติก็คือนายกนก ลิ้มตระกูล ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย และปิดท้ายที่ พล.ต. โอสถ ภาวิไล ส.ว. ทั้งนี้ประธานรัฐสภาคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาราว 4 ชม.
  • หากรัฐสภามีมติ "รับหลักการ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 45 คน มาจากจากสัดส่วนวุฒิสภา 15 คน พรรคการเมืองขนาดใหญ่ 8 คน และลดหลั่นกันไปตามยอด ส.ส. ในสภาของแต่ละพรรค เพื่อพิจารณาเนื้อหาก่อนกลับมาเสนอรัฐสภาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป

ต้องใช้เสียงในสภาเท่าไร ถึงจะรื้อ รธน. ได้

รัฐสภาถกร่างแก้ไข รธน

แม้สมาชิกทั้ง 2 สภากำลังเปิดถกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอยู่ ทว่ามาตรา 256 ที่นักเลือกตั้งสังกัดรัฐบาลและฝ่ายค้านจ้องแก้ไข "ยังมีผลบังคับใช้อยู่" นั่นหมายความว่าลำพังสมาชิกสภาล่างย่อมไม่อาจผลักดันให้เกิดการแก้อย่างแท้จริง

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติในครั้งนี้ "เป็นไปได้ยาก" เพราะยังจะต้องใช้เสียง ส.ว. ถึง 84 เสียงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ก็ยังไม่ทราบผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น"

ในการผ่านวาระแรก ต้องได้คะแนนเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา "ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง" ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 369 จาก 737 เสียง (ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้มี 487 คน ส.ว. มี 250 คน) และต้องได้รับคะแนนเห็นชอบจาก ส.ว. "ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3" ของวุฒิสภาที่มีอยู่ หรือ 84 คน

วาระสอง ผ่านได้ด้วย "เสียงข้างมาก"

วาระสาม ต้องได้คะแนนเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา "มากกว่ากึ่งหนึ่ง" ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 369 เสียง แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือต้องเป็นเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน 20% หรือ 48 เสียง และ ส.ว. ได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. 84 คนดังเดิม

รัฐสภาถกร่างแก้ไข รธน

ท่าทีสภาสูง คู่ขนานความเคลื่อนไหว "ปิดสวิตช์ ส.ว."

แม้รู้ในเงื่อนไขต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. และในระหว่างการอภิปราย ส.ส.หลายคนก็เอ่ยปากขอการสนับสนุนจาก ส.ว. ในการลงมติ อย่างไรก็ตามนักการเมืองฝ่ายค้านก็ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนอำนาจของพวกเขา หรือที่ถูกเรียกว่า "ปิดสวิตช์ ส.ว."

นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว. คนแรกที่ลุกขึ้นอภิปราย ระบุว่าเขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ "เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น" มาวันนี้เมื่อมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เขายืนยันว่า "ไม่ขอเป็นอุปสรรค" แต่อยากให้แก้ไขเป็นรายประเด็นมากกว่ารื้อทั้งฉบับ

"ผมไม่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะนำมาซึ่งความพอใจโดยรวมของประชาชน" ส.ว. กล่าว

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar