fredag 18 september 2020

ผบ.ทบ. คนใหม่ กับภารกิจรับไม้ต่อ "ฉก.คอแดง"

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ โดยมี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายทหาร รับราชการสนองพระเดชพระคุณ จำนวน 792 นาย มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. ศกนี้ ชื่อของ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ อยู่ในอันดับที่ 273 จากตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็น ผู้บัญชาการทหารบก

วันนี้ 18 ก.ย. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ โดยมี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายทหาร รับราชการสนองพระเดชพระคุณ จำนวน 792 นาย มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. ศกนี้

ชื่อของ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ อยู่ในอันดับที่ 273 จากตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็น ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

แม้โค้งสุดท้ายของการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปีนี้มีข่าว "โผพลิก" ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศและ ผู้บัญชาการทหารเรือ แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก นิ่งที่ชื่อของ พล.อ. ณรงค์พันธ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ

มีเพียงบางช่วงที่เกิดกระแสข่าวว่า พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) จะมาเบียดแทรกด้วยแรงหนุนจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ที่ต้องการให้พิจารณาบุคคลใน "5 เสือ ทบ." ที่มีลำดับอาวุโสเข้าไปด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

แต่สุดท้ายแล้ว พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ที่ประกาศทางราชกิจจานุเบกษา ในวันนี้ ก็ยืนยันว่า พล.อ. ณรงค์พันธ์ก็ถูกเลือกขึ้นเป็น ผบ.ทบ. คนที่ 42 ต่อจาก "บิ๊กแดง" พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่จะเกษียณอายุราชการในปลายเดือน ก.ย. นี้

พล.อ. ณรงค์พันธ์ หรือ "บิ๊กบี้" ตามชื่อเล่นที่พรรคพวกเรียกขาน มีชื่อเดิมว่า "มณเฑียร" และไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ แต่หลังจากเปลี่ยนชื่อมาเป็น "ณรงค์พันธ์" เขาก็เริ่มฉายแววถูกวางตัวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) ต่อด้วยตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1 ก่อนขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และเข้าเส้นทาง "5 เสือ ทบ." อย่างต่อเนื่อง

ผบ ทบ

รหัส "คอแดง 60"

ช่วงดำรงตำแหน่ง ผบ.พล.1 รอ. พล.อ. ณรงค์พันธ์เข้ารับการฝึกในหลักสูตรทหารรักษาพระองค์ 3 เดือน เป็นการฝึกขั้นพื้นฐาน 2 เดือน และฝึกปฏิบัติ 1 เดือน ที่โรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในปี 2560 ปีเดียวกับ พล.อ.อภิรัชต์ และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ในปีนี้) เมื่อจบหลักสูตร ทหารทุกคนต้องติดเครื่องหมายบอกเลขรุ่นและปีที่จบบนเครื่องแบบที่หน้าอก โดยใช้สีแสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มที่ฝึก

จากนั้นเขาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (รอง ผบ.ฉก.ทม.รอ. 904) หรือที่เรียกว่า "ทหารคอแดง" จากเสื้อยืดชุดฝึกสีขาวขลิบแดงที่คอและแขนเสื้อ ซึ่งทหารเหล่านี้ต้องใส่ไว้ด้านในก่อนสวมทับด้วยเครื่องแบบทหารสีเขียว และติดเครื่องหมายแสดงตนอย่างละเอียด ตามระเบียบของทหาร ฉก.ฯ

หลักสูตร 3 เดือนนอกจากการฝึกภาคสนามแล้ว ยังต้องมีการเรียนในชั้นเรียน เพื่อให้รู้ถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของสถาบันหลักของชาติ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้รับทราบแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนของทหารรักษาพระองค์ การถวายความปลอดภัย ถวายพระเกียรติ การฝึกอบรมให้รู้ในหน้าที่ การวางตัว กริยา มารยาท ท่าทำความเคารพ เครื่องแต่งกาย ต้องมีความถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว

นอกจากนั้นยังต้องท่องบทราชสวัสดิ์ คาถา ธรรมเนียมต่าง ๆ ให้ขึ้นใจ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึก เตือนใจและสติในการทำหน้าที่ของทหารรักษาพระองค์ให้ครบถ้วน สมบูรณ์ เข้ารับการฝึกทางทหาร ความพร้อมทางร่างกาย เมื่อจบหลักสูตรไปแล้วในทุกปีก็จะมี "ระยะปัดฝุ่น" เพื่อให้คนที่จบหลักสูตรไปแล้วกลับมาทบทวนการฝึกให้ถึงพร้อมด้วยความแข็งแรงทางร่างกาย และจิตใจตลอดเวลา

พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้
คำบรรยายภาพ,

ฉายา "ทหารคอแดง" มาจากเสื้อยืดชุดฝึกสีขาวขลิบแดงที่คอและแขนเสื้อ ซึ่งทหารหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ต้องใส่ไว้ด้านในก่อนสวมทับด้วยเครื่องแบบทหารสีเขียว

"พลิกผัน" ก่อนจรัสแสง

พล.อ.ณรงค์พันธ์เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์ จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 22 นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 33 เป็นทหาร "ลูกผสม" ระหว่าง "บูรพาพยัคฆ์" และ "วงศ์เทวัญ" เข้ารับราชการตั้งแต่ยศร้อยตรีที่กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี ในยุคที่ พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับกองพันฯ

วงศ์เทวัญ เป็นทหารที่เติบโตในหน่วยทหารรักษาพระองค์คุมกำลังในกทม. ต้นกำเนิดคือ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1รอ.) ร.11 รอ. หมายรวมถึงหน่วยระดับกองพลคือกองพลที่1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.)

ที่ผ่านมา ทหารสายบูรพาพยัคฆ์มีบทบาทอย่างสูงหลังการรัฐประหารปี 2549 มีการแต่งตั้งโยกย้ายให้นายทหารสายดังกล่าวขึ้นตำแหน่ง ทำให้นายทหารสายวงศ์เทวัญไม่ได้เติบโต

จากนั้นย้ายเข้ามาที่กองร้อยปฏิบัติการพิเศษ พล.1 รอ. ก่อนไปศึกษาหลักสูตรชั้นนายพันที่ฟอร์ตเบนนิงสหรัฐอเมริกาหนึ่งปี ในช่วงครองยศพันตรีเขาเข้ารับการศึกษาหลักสูตรเสนาธิการ ในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกอีกหนึ่งปี เมื่อจบหลักสูตรก็เลือกบรรจุลงหน่วยกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) จ.ลพบุรี หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วหรืออาร์ดีเอฟ ขึ้นตรงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.)

ต่อด้วยตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารที่ 1 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 1 รอ.) ก่อนชีวิตจะหักเหเล็กน้อย แต่ก็กลับคืนสู่เส้นทางด้วยการดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 1 รอ.) แล้วเป็น ผบ. ร. 31 พัน 3 รอ. จากนั้นมาดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.พล.1 รอ. และย้ายไปกองทัพภาคที่ 1 ก่อนกลับมาเป็น ผบ.พล.1 รอ.

เส้นทางรับราชการของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ บางช่วงจังหวะของชีวิตมีการสะดุด หยุดลงบ้าง ชีวิตต้องไปอยู่นอกเส้นทางเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าหรือศูนย์การทหารราบ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ด้วย "โชคชะตาฟ้าลิขิต"

พล.อ.ณรงค์พันธ์ไม่ได้เป็น "ดาวจรัสแสง" หรือถูกมองว่าจะได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.เหมือนอดีต ผบ.ทบ. หลาย ๆ คน แต่เพิ่งเริ่มเห็นความชัดเจนว่าจะได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.อภิรัชต์ ก็เมื่อทำหน้าที่ใน ฉก.ทม.รอ. 904 และการขึ้นสู่ตำแหน่งจาก ผบ.พล.1 รอ. รองแม่ทัพภาคที่ 1 และแม่ทัพภาคที่ 1 ตามลำดับอย่างราบรื่น

ผบ ทบ
คำบรรยายภาพ,

ผบ.ทบ. คนที่ 42 กับ ป้ายติดอก "ทหารมหาดเล็กฯ ๙๐๔"

ยุคของหมวกแดง "ร.31 รอ."

หากตรวจแถวย้อนกลับไปในอดีตช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีนายทหารคนไหนจาก ร.31 รอ. ทะลุขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ได้สำเร็จ จะมีเพียง พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี อดีต ผช.ผบ .ทบ. เตรียมทหารรุ่น 16 เท่านั้นที่เข้ามาอยู่ใน "5 เสือ ทบ."

แต่หลังยุคของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ซึ่งมีอายุราชการถึง 3 ปีกว่าจะเกษียณอายุราชการในปี 2566 น่าจะเป็นยุคที่ ร.31 รอ. "ทหารหมวกแดง" พล.1 รอ. มีบทบาทโดดเด่นมากขึ้น เช่น พล.ต.ทรงพล สาดแสงเงิน ผบ.พล.1 รอ. และ พล.อ.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (ผบ.มทบ.11) ซึ่งก็เป็นทหารที่ผ่านหลักสูตรทหารรักษาพระองค์ และทำหน้าที่ใน ฉก.ทม.รอ. 904 เช่นเดียวกัน

แนวคิดในการจัดหน่วยให้ ร.31 รอ. เป็นหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว มีสถานะเป็นหน่วยทหารราบส่งทางอากาศ ทำให้นายทหารที่จบการศึกษาจากโรงเรียนหลักที่มีคะแนนลำดับต้น ๆ และเป็นทางเลือกของคนชอบบู๊-ชอบรบ ก็มักจะมาเลือกลงในหน่วยนี้ และยังได้ "ค่าปีก" หรือ ค่าตอบแทนจากการใช้ร่มในการฝึกและการปฏิบัติด้วย ต่างจาก "ทหารวงศ์เทวัญ" ที่เป็นลูกทหารชั้นผู้ใหญ่หรือ "ทหารเมืองกรุง" ที่จะเลือกลง ร.1 รอ. หรือ ร.11 รอ. ซึ่งถือเป็นเส้นทางสายหลักที่จะเข้าสู่ตำแหน่ง ผบ.พล.1 รอ. ในอดีตและเติบโตในชีวิตรับราชการราบรื่นกว่า

ผบ ทบ

จาก "ฉก.ใต้" ถึง "ฉก.ทม."

ช่วงหนึ่งของชีวิต พล.อ.ณรงค์พันธ์เคยไปปฏิบัติภารกิจในกองกำลังรักษาสันติภาพ 972 ไทย-ติมอร์ตะวันออกในกรอบของสหประชาชาติ และเคยไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 โดยกองทัพภาคจะส่งกำลังพลลงไปสนับสนุนกองทัพภาคที่ 4 ในการจัดหน่วยเฉพาะกิจลงไปรักษาความสงบเรียบร้อย เช่นเดียวกับกองทัพภาคที่ 1

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ. ร. 31 พัน 3 รอ. เขาได้ลงไปปฏิบัติหน้าที่ใน จ.ยะลา ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ พล.อ.อภิรัชต์ ที่ขณะนั้นสังกัดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ลงไปทำหน้าที่ใน ฉก. 14 รับผิดชอบพื้นที่ อ.เบตง และ อ.ธารโต นับเป็นการออกสนามปฏิบัติหน้าที่ด้วยกันในช่วงที่เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีความรุนแรง

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพบกคนที่ 41
คำบรรยายภาพ,

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพบกคนที่ 41 ในพิธีรับมอบหน้าที่ ผบ.ทบ. ที่กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก เมื่อปี 2561

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ณรงค์พันธ์เดินตามจังหวะย่างก้าวของ พล.อ.อภิรัชต์ และยังทำหน้าที่เป็นรองผบ.ฉก.ทอ.รอ. 904 ทำงานคู่กับ พล.อ.อภิรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ฉก. ทอ. 904 มาอย่างใกล้ชิด ภายใต้กรอบงานของหน่วยกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยหลัก และงานใน ฉก.ทม.รอ. 904 ที่มีกองบัญชาการและสำนักงานอยู่ที่ พล.1 รอ. ไปพร้อมกัน

"จงรักภักดี-พิทักษ์สถาบัน"

ในสายตาของคนใกล้ชิด พล.อ. ณรงค์พันธ์เป็นนายทหารที่พูดน้อย แต่ความทุ่มเทเกินร้อย ทำงานไม่เสร็จไม่กลับชนิดที่เรียกว่า "บี้" ทุกงานจนสำเร็จสมชื่อ มีความเข้มแข็ง อดทน แข็งแกร่งทั้งกายและใจ เชื่อมั่นในตัวเองและมุ่งมั่นทำงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นนายทหารที่มีความจงรักภักดี ปฏิบัติงานในภารกิจสำคัญต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ตัวเองจนเป็นที่ประจักษ์ในที่สุด

ที่ผ่านมา พล.อ.ณรงค์พันธ์ไม่เคยถูกจัดว่าเป็น "เด็กใคร" หรือ "สายไหน" การรับราชการก็เติบโตมาตามลำดับขั้น กลุ่มเพื่อนที่สนิทสนมก็อยู่ในวงจำกัด เป็นคนที่ชอบธรรมะและศึกษาข้อมูลเรื่องพระเครื่อง ภรรยาของเขาเป็นอดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ชื่อ พ.อ.หญิง พิมพ์พิศา จิตต์แก้วแท้ มีบุตรสาวหนึ่งคน เป็นครอบครัวที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย

พล.อ. ณรงค์พันธ์ชอบศึกษาข้อมูลและวิทยาการด้านการทหาร เป็น "ทหารอาชีพ" ที่มี "นาย" ตามสายการบังคับบัญชา จนทำให้มีการมองว่า เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์พ้นจากเก้าอี้ ผบ.ทบ. ไปแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็จะไม่มี "กองทัพ" ไว้พิงหลัง เพราะ พล.อ.ณรงค์พันธ์อาจทำงานในกรอบของกลไกรัฐที่สนับสนุนงานตามนโยบายรัฐบาลเท่านั้น ไม่ข้ามเส้นไปสู่สมรภูมิทางการเมือง

แต่น่าสนใจว่าในสถานการณ์ที่มีการชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พล.อ.ณรงค์พันธ์จะวางท่าทีและมีแนวทางอย่างไร ในฐานะที่เป็น "ทหารคอแดง" ที่มีความจงรักภักดีในสายเลือดอย่างเข้มข้นเกินร้อย

และด้วยบุคลิกที่นิ่ง-เงียบ จึงยากคาดเดาว่าการอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ทบ. 3 ปีของเขาจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar