söndag 20 september 2020

ผู้ชุมนุม "ทวงอำนาจคืนราษฎร" ประกาศชัยชนะ-ยุติการชุมนุม

บีบีซีไทย - BBC Thai 

ชุมนุม 19 กันยา: "รุ้ง ปนัสยา" ยื่นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ผ่าน ผบช.น. ก่อนยุติการชุมนุม

บรรดาแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ชูสามนิ้วร่ายรำอย่างรื่นเริงหลังประกาศชัยชนะ
คำบรรยายภาพ,

บรรดาแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ชูสามนิ้วร่ายรำอย่างรื่นเริงหลังประกาศชัยชนะ

แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศชัยชนะและยุติการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. วันนี้ (20 ก.ย.) หลังจากที่ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นตัวแทนยื่นจดหมายเปิดผนึกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นการยุติการชุมนุมใหญ่ที่ลากยาวเกือบ 24 ชั่วโมงเต็ม

ข้อความส่วนหนึ่งในจดหมายเปิดผนึกระบุว่าการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ในครั้งนี้เป็นการแสดงความตั้งใจของมวลราษฎรนับแสนคนที่จะนำพาประเทศไทยให้เป็นประเทศประชาธิปไตยอันไม่มีอำนาจนอกระบบใดเข้าแทรกแซง โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ

1.ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี และกลุ่มเครือข่ายผลประโยชน์ที่ถูกแต่งตั้งมาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจของระบบเผด็จการ ลาออกทั้งหมด

2.ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจะต้องมีการตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และต้องร่างใหม่ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา โดยเฉพาะหมวดพระมหากษัตริย์

3.ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ตามแนวทางที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้เรียกร้อง 10 ข้อ

"ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีข้อใดมีเนื้อหาล้มล้างสถาบันกษัตริย์ หากแต่เป็นไปเพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์" จดหมายเปิดผนึกระบุ และลงท้ายว่า "ด้วยความเคารพ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึงมวลราษฎรที่มิยอมเป็นฝุ่นธุลี"

เดิมที ผู้ชุมนุมตั้งใจว่านำจดหมายเปิดผนึกนี้ไปยื่นที่ทำเนียบองคมนตรี แต่เมื่อถูกตำรวจสกัดที่บริเวณศาลฎีกา ถ.ราชดำเนินใน ผู้ชุมนุมจึงได้เจรจากับตำรวจและยินยอมที่จะยื่นหนังสือผ่าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์แทน จากนั้นจึงเคลื่อนขบวนกลับที่ชุมนุมบริเวณสนามหลวง ซึ่งแกนนำได้ประกาศชัยชนะและยุติการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 9.30 น.

ฝังหมุดคณะราษฎร

แกนนำผู้ชุมนุมเริ่มกิจกรรมในวันนี้ด้วยการประกอบพิธีกรรม "ฝังหมุดคณะราษฎรครั้งที่ 2" โดยมีนายอรรถพล บัวพัฒน์ จากกลุ่ม "ขอนแก่นพอกันที" รับหน้าที่เป็น "พ่อหมอ" นำการประกอบพิธีสวดมนต์ อันเชิญเหล่าเทพเทวดา ดวงวิญญาณคณะราษฎรและวีรชนประชาธิปไตยมาเป็นสักขีพยานให้กับชัยชนะของประชาชน

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ กล่าวว่าเหตุที่เลือกฝังหมุดที่สนามหลวงเพราะในช่วงหลัง พื้นที่แห่งนี้ถูกปิดไม่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ อันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้อำนาจล้นเกิน พร้อมกับอธิบายถึงความหมายของการฝังหมุดว่า หมุดคณะราษฎรปี 2475 คือการเอาอำนาจออกจากสถาบันกษัตริย์ แต่ต่อมาอำนาจเหล่านั้นได้กลับไปอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ การปักหมุดใหม่วันนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ว่ากอำนาจจะกลับมาที่ราษฎรอีกครั้ง

ผู้ชุมนุมได้ใช้อุปกรณ์ขุดเจาะพื้นปูนเพื่อฝังหมุดคณะราษฎร ซึ่งทำมาจากทองเหลือง 100% มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 11.6 นิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมาตรา 116 ของกฎหมายอาญาที่มักนำมาใช้ดำเนินคดีประชาชน และหนา 2.563 นิ้ว ตรงกับตัวเลขปี พ.ศ. 2563 บนหมุดมีลวดลายเป็นรูปชูสามนิ้ว มีอักขระสลักข้อความว่า "ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง"

เมื่อฝังหมุดลงพื้นแล้ว แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ได้ร่วมกันแตะที่หมุดและกล่าวว่า "นี่คือการปักหมุดหมายแห่งชัยชนะของประชาชน ศักดินา จงพินาศ ทรราชจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ...ขอให้มันผู้ใดที่รื้อถอนหมุดนี้ ทั้งผู้กระทำการและผู้สั่ง จงพบกับความวิบัติฉิบหาย..."

แกนนำผู้ชุมนุมยังได้นำหมุดคณะราษฎรหมุดที่สองจำลองซึ่งเป็นตัวแบบและที่จัดทำเป็นเหรียญที่ระลึกขนาด 3 นิ้ว จำนวน 800 ชิ้น พร้อมประกาศชวนมวลชนร่วมสมทบทุนบริจาคอีกด้วย

แกนนำร่วมกันแตะที่หมุดคณะราษฎรที่จัดทำโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
คำบรรยายภาพ,

แกนนำร่วมกันแตะที่หมุดคณะราษฎรที่จัดทำโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

ในช่วงท้าย แกนนำเชิญชวนให้มวลชนร่วมชูสามนิ้วเป็นเวลา 6 วินาที เพื่อรำลึกถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และประกาศให้ผู้ชุมนุมหันหน้าไปทางศาลหลักเมือง เพื่อกล่าวบทแผ่เมตตาให้ผู้ที่เกาะกินประเทศนี้อยู่ เลิกจองเวรกับประชาชน

ต่อมาเวลา 06.55 น. ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ได้อ่านประกาศของกลุ่ม มีใจความสำคัญว่า "ราษฎรทั้งหลาย นับจากคณะราษฎรได้ก่อการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราษฎรทั้งหลายหวังว่าประเทศจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่เหนือระบอบการเมืองอย่างแท้จริง แต่การณ์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เนื่องด้วยกษัตริย์ยังทรงอำนาจแทรกแซงการเมือง"

นายพริษฐ์ ผู้อ่านประกาศฉบับนี้ได้ยกหลายเหตุผลมาประกอบ อาทิ กรณีที่กษัตรย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหาร,​ ทรงใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายกำลังพลและถ่ายโอนงบประมาณของแผ่นดินไปเป็นของสถาบันฯ รวมถึงการใช้พระราชอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติแล้ว พร้อมคาดว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่กับสถาบันราษฎรได้

จากนั้น น.ส. ปนัสยา ได้อ่าน 10 ข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถาบันฯ ซึ่งพวกเธอเคยนำเสนอไว้ในเวทีการชุมนุมวันที่ 10 ส.ค. และ 19 ก.ย. โดยย้ำว่า "ข้อเรียกร้องหาได้เสนอเพื่อล้มล้างสถาบันฯ ไม่ หากแต่ให้สถาบันดำรงอยู่เป็นมิ่งขวัญของประชาราษฎร์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยต่อไป"

เคลื่อนขบวนไปทำเนียบองคมนตรี

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีฝังหมุดคณะราษฎร แกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศเคลื่อนขบวนไปทำเนียบองคมนตรีเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเรียกร้องให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ส่งตัวแทนมารับหนังสือจากผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเป้าหมายจากทำเนียบรัฐบาลที่ประกาศไว้ก่อนหน้า

นายพริษฐ์ย้ำให้ผู้ชุมนุมใช้สันติวิธี ไม่มีการปะทะ ให้ควบคุมอารมณ์หากมีการเผชิญหน้ากับตำรวจ และ "ต้องกลับบ้านอย่างปลอดภัย"

เวลาประมาณ 08.15 น. รถปราศรัยที่มีแกนนำผู้ชุมนุมคุมขบวนอยู่ได้เคลื่อนที่ออกจากสนามหลวง มุ่งหน้าไปทางพระบรมมหาราชวัง โดยระหว่างทาง แกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบว่าจะมุ่งหน้าไปทำเนียบองคมนตรี ซึ่งตั้งอยู่ที่พระราชอุทยานสราญรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

แต่เมื่อเคลื่อนขบวนมาถึงบริเวณหน้าศาลฎีกาได้มีแนวตำรวจกั้นทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถผ่านไปได้ จึงได้ส่งตัว น.ส.ปนัสยาเป็นตัวแทนไปเจรจากับตำรวจซึ่งมี พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์

ผลการเจรจาสรุปว่า พล.ต.ท.ภัคพงศ์จะรับจดหมายเปิดผนึกของผู้ชุมนุมไปยื่นที่ทำเนียบองคมนตรีให้ตามความประสงค์ของผู้ชุมนุม ซึ่ง น.ส.ปนัสยาได้ยินยอม และได้อ่านเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกให้ ผบช.น. ฟังก่อนส่งมอบจดหมาย และนำมวลชนกลับมาที่สนามหลวง

ผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจบน ถ.ราชดำเนินใน
คำบรรยายภาพ,

ผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจบน ถ.ราชดำเนินใน

น.ส.ปนัสยา แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ อ่านจดหมายเปิดผนึก
คำบรรยายภาพ,

น.ส.ปนัสยา แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ อ่านจดหมายเปิดผนึกก่อนส่งมอบให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลนำไปส่งที่ทำเนียบองคมนตรี

ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลรับจดหมายเปิดผนึกจาก น.ส.ปนัสยา
คำบรรยายภาพ,

ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลรับจดหมายเปิดผนึกจาก น.ส.ปนัสยา

ประกาศชัยชนะ-อารยะขัดขืน-ยุติการชุมนุม

เมื่อกลับมาถึงจุดชุมนุมที่สนามหลวง แกนนำต่างพากันประกาศ "ชัยชนะ" บนความเคลื่อนไหวตลอด 2 วันที่ผ่านมานายอานนท์ นำภา กล่าวว่า "ประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่าวันนี้เราได้ยื่น 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ แล้ว"

ขณะที่ น.ส. ปนัสยากล่าวว่า ถือเป็นความสำเร็จของผู้ชุมนุมที่สามารถยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ ยึดสนามหลวงกลับมาเป็น "สนามราษฎร" และเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกผ่านตำรวจราชองครักษ์"วันที่ 10 ส.ค. หนูไม่มั่นใจเลยว่ามีคนเห็นด้วยไหม แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ มีแนวร่วมเพิ่มขึ้นมากมาย แสดงว่า 10 ข้อเสนอของเรา เป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง" น.ส. ปนัสยากล่าว

พริษฐ์ปราศรัยบนรถบรรทุก
คำบรรยายภาพ,

"ชัยชนะที่สำคัญที่สุดคือการจุดประกายความกล้าหาญ" พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวก่อนประกาศยุติการชุมนุมเวลาประมาณ 09.30 น.

ส่วนนายพริษฐ์กล่าวว่า "ชัยชนะที่สำคัญที่สุดคือการจุดประกายความกล้าหาญ" และได้เผยแนวทางการเคลื่อนไหวของผู้สนับสนุนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เช่น เคารพธงชาติพร้อมกับการชูสามนิ้วเชิงสัญลักษณ์, ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ และให้ชูสามนิ้ว, ผูกโบว์ขาวหน้าบ้านหรือของใช้อื่น ๆ เพื่อแสดงความรักประชาธิปไตย, เขียนป้ายประณามเผด็จการตามที่ชุมชน, เมื่อเจอขบวนของเจ้าหน้าที่หรือขบวนเสด็จฯ ให้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการบีบแตร, เชิญชวนให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษาหยุดเรียนและหยุดทำงานในวันที่ 14 ต.ค. และไม่สนับสนุนธนาคารไทยพาณิชย์

นายพริษฐ์ได้นัดมวลชนมารวมตัวที่รัฐสภาในวันที่ 24 ก.ย. เพื่อจับตาการประชุมของสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นได้นำมวลชนตะโกน "เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ" และประกาศยุติการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 09.30 น.

ตร. แถลงสรุปสถานการณ์การชุมนุม

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แถลงข่าวภายหลังแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ประกาศยุติการชุนนุมว่าเหตุการณ์ผ่านไปด้วยดี ไม่มีการกระทำผิดเพิ่มเติม นับเป็นความสำเร็จในการเจรจาทั้งทางฝั่งเจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุม

หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรวจสอบว่าระหว่างการชุมนุมมีบุคคลใดทำผิดกฎหมายหรือไม่ หรือบุคคลที่ถูกออกหมายจับและหมายเรียกซึ่งมีมากกว่า 30 หมาย ทั่วประเทศ กระทำผิดระหว่างเงื่อนไขการประกันตัวหรือไม่

พ.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. กล่าวว่าเจ้าหน้าที่จะเปิดการจราจรโดยรอบพื้นที่อย่างเร็วที่สุด โดยจะเริ่มรื้อสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ออกภายในเย็นวันนี้

ส่วนการที่ผู้ชุมนุมใช้พื้นที่สนามหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่โบราณสถานและพื้นที่สาธารณะที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้นพ.ต.ต.ปิยะระบุว่าได้ประสานกับทาง กทม. เพื่อพิจารณาว่ามีความผิดใดหรือไม่ ทั้งการใช้พื้นที่โดยไม่ขออนุญาตล่วงหน้า การพักค้างคืนและการฝังหมุด

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar