söndag 27 september 2020

ใบตองแห้ง: ม็อบทุบเศรษฐกิจ ?

2020-09-27 01:07

รัฐบาลและเครือข่ายใช้ปฏิบัติการจิตวิทยา ทั้งข่มขู่ให้ร้ายปล่อยข่าว ม็อบจะสร้างความรุนแรง จะเกิดความวุ่นวาย จะปะทะกัน จะเกิด 6 ตุลา จะเกิดรัฐประหาร ฯลฯ เพื่อให้เกิดความกลัวความตึงเครียด เพื่อให้คนไม่กล้าไปม็อบ พ่อแม่ห้ามลูกหลาน นักเรียนนักศึกษา เกรงจะเป็นอันตราย

พอดูท่าจะสกัดไม่ได้ ก็หันมาซัดว่าถ้าม็อบวุ่นวายมาก รัฐบาลบริหารไม่ได้ คน 60 ล้านเดือดร้อน ใครรับผิดชอบ

หรือโทษว่าม็อบจะทำให้คนตกงาน เศรษฐกิจกำลังจะฟื้น ถ้ารัฐบาลอยู่ไม่ได้ โครงการจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง เด็กจบใหม่ 2.6 แสนคน ใครจะรับผิดชอบ

เป็นข้ออ้างแบบกุ๊ย อันธพาล รัฐบาลได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรม ด้วยกติโกง ตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตตัวเอง ดันทุรังไม่ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญ แล้วอ้างคน 60 ล้านเป็นตัวประกัน

รัฐบาลบริหารงานไร้ประสิทธิภาพ ล้มเหลวกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่รัฐประหาร พอเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ผสมพันธุ์นักการเมือง ก็มัวแต่แก่งแย่งเก้าอี้กัน ทีมเศรษฐกิจลาออก ตั้งรัฐมนตรีคลังใหม่ 27 วันลาออก จนป่านนี้ยังหาคนไม่ได้ ไม่ยักเคยมีความรับผิดชอบต่อประชาชน

แก้ปัญหาเศรษฐกิจ กี่ปีกี่ชาติก็คิดได้แค่ชิมช้อปใช้ เพิ่มวันหยุด ยุให้ข้าราชการหลังยาว

5 ปีรัฐประหารคุยโอ่ผลงานปราบลอตเตอรี่เกินราคา งวดนี้เท่าไหร่ล่ะ คู่ละ 220 แล้วจะให้คนซื้อไปแจ้งจับแม่ค้า ซึ่งถูกกินหัวคิวมาเป็นทอด ๆ ปัญหาแค่นี้ยังแก้ไม่ได้ ไม่เคยรับผิดชอบต่อประชาชน ยังโทษว่าม็อบจะทำให้เศรษฐกิจพัง

ข้อแรก ม็อบจะทำให้เศรษฐกิจพังได้อย่างไร ในเมื่อไม่ใช่ม็อบมีเส้นยึดทำเนียบยึดสนามบินปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้งเพื่อให้เกิดรัฐประหาร ม็อบนักศึกษาม็อบคนรุ่นใหม่อย่างมากก็ค้างคืนเดียวเพราะต้องไปเรียนไปทำงาน

จุดประสงค์ของม็อบครั้งนี้คือการ “ยกระดับ” แสดงพลังช่วงชิงพื้นที่ ที่เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยมาตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันถูกห้าม ธรรมศาสตร์ถูกห้าม สนามหลวงถูกกั้นรั้ว (ไม่มีกระทั่งที่รอรถเมล์) ทำเนียบรัฐบาลก็ห้ามเข้าใกล้ 50 เมตร

เขาจึงจะชุมนุมค้างคืนแล้วเดินขบวน เพื่อทวงพื้นที่ของประชาชนคืน แล้วก็จบ เป็นการแสดงพลังโดยสงบ ถ้าตำรวจทหารไม่ใช้กำลังขัดขวาง ไม่ใช้ความรุนแรง ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น

ข้อสอง ม็อบทำให้เศรษฐกิจพังไม่ได้หรอก เพราะมันพังแล้วด้วยฝีมือประยุทธ์ ก่อนโควิดก็แย่อยู่แล้ว พอเกิดโควิดใช้วิธีคิดแบบทหาร ยึดเป้าหมายทำให้ตัวเลขเป็นศูนย์ เศรษฐกิจฉิบหายเท่าไหร่ช่างมัน “ฉุกเฉินชั่วชาติ” สร้าง Mindset แห่งความหวาดกลัว ศูนย์ ๆ ๆ อยู่บนความหวาดผวาว่าจะระบาดรอบสอง ๆ ๆ “ภูเก็ตโมเดล” จึงล่มเพราะคนยังจมอยู่ในความกลัว ไม่มีทางเปิดรับทัวร์ต่างชาติได้จนกว่าจะมีวัคซีน ปีหน้าตอนบ่าย ๆ หรือชาติหน้าตอนบ่าย ๆ สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ที่คงจะตายหมดก่อน

ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่อาจจะ “เพดานสูง” แต่ข้อเรียกร้องขั้นต้น ก็เป็นจุดร่วมของคน 60 ล้านด้วยซ้ำ คือแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง สสร.ขึ้นมายกร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งใช้เวลา แต่ระหว่างนี้ก็แก้เฉพาะหน้า ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ แก้ระบบเลือกตั้ง เพื่อให้ได้รัฐบาลที่ชอบธรรม ที่คน 60 ล้านเลือกมา ซึ่งถ้าประยุทธ์ชนะ พปชร.ชนะ ตามกติกาประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับ

แต่รัฐบาลและ 250 ส.ว.ดันทุรัง จะงอกรากอยู่อย่างนี้ไม่ยอมไป

อันที่จริง 6 ปีรัฐประหาร ปัจจัยการเมืองก็สร้างความวิตกต่อนักลงทุนต่างชาติมาตลอด เพราะเขาไม่เชื่อว่าระบอบที่ไม่ชอบธรรมนี้จะดำรงอยู่ได้ สืบทอดอำนาจได้อย่างราบรื่น จะต้องเกิดแรงต้านปะทุขึ้นสักวัน เขาจึงยั้งมือไม่ลงทุนระยะยาว (หรือย้ายหนีเสียเลย)

แล้วระบอบนี้ก็ถึงจุดหัวคะมำจนได้ แต่กลับไปโทษคนต่อต้านว่าต้องรับผิดชอบ มีความผิดฐานไม่ยอมจำนนเผด็จการ

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/388902

 

การชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาประชาชน 19 กันยา จะเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ใช้ความรุนแรง แต่แสดงเจตจำนงไม่ยอมรับกฎหมาย คำสั่ง ข้อห้าม ที่ไม่ชอบธรรม ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ขัดขวางการแสดงออกตามวิถีประชาธิปไตย ถูกใช้เป็นเครื่องมือรัฐประหารสืบทอดอำนาจ

ม็อบประกาศว่า จะเริ่มชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ถ้ามีคนมากจะค้างคืนสนามหลวง แล้วเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล

นั่นคือการแสดงเจตจำนงฝ่าฝืนข้อห้ามใช้สนามหลวง ข้อห้ามเข้าใกล้ทำเนียบ 50 เมตร ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แต่พอ ผู้บริหารธรรมศาสตร์ออกคำสั่งห้าม ให้ความร่วมมือฝ่ายความมั่นคง สั่งปิดประตูมหาวิทยาลัย

ม็อบก็จะต้องฝ่า 3 ด่านคือ ยึดพื้นที่ธรรมศาสตร์ ยึดพื้นที่สนามหลวง เดินขบวนไปหน้าทำเนียบ ยื่นข้อเรียกร้องแล้ว สลายตัว

 

ถามว่าการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ที่สนามหลวง เดินขบวนไปทำเนียบ เป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ ไม่เห็นทำผิดคิดร้ายตรงไหนเลย เป็นเรื่องปกติ เป็นประเพณีประชาธิปไตยที่ม็อบทุกฝ่ายทำมาหลายสิบปี ตราบใดที่ไม่เข้าไปยึดทำเนียบ 193 วัน

อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่างหาก มาออกกฎหมายข้อห้าม ทำให้การเคลื่อนไหวตามประเพณีประชาธิปไตยกลายเป็น “ผิดกฎหมาย”

ธรรมศาสตร์เป็นของประชาชน ไม่ใช่ของผู้บริหารไม่กี่คน ที่ใช้อำนาจสั่งปิดกั้น การยึดธรรมศาสตร์จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเพื่อทวงคืนธรรมศาสตร์ ให้กลับมาเป็นของประชาชน เป็นพื้นที่เสรีภาพ ตามเจตจำนง อ.ปรีดี

นี่ต่างจากการบุกยึดสถานที่ราชการของ กปปส. ซึ่งมีเจตจำนงให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ ปูทางไปสู่รัฐประหาร ม็อบยึดธรรมศาสตร์เพื่อชุมนุม 2 วัน เป็นสัญลักษณ์ทวงคืน ไม่ได้มุ่งทำลายทรัพย์สินหรือยุติการเรียนการสอน

เช่นเดียวกับประกาศว่าถ้าคนมากก็จะยึดสนามหลวง ทวงคืนสนามหลวง “ของประชาชน” พื้นที่ทางการเมืองตั้งแต่ยุคก่อนกึ่งพุทธกาล พื้นที่สันทนาการที่ไม่ควรถูกปิดกั้น พื้นที่รอรถเมล์ของคนหาเช้ากินค่ำ ฯลฯ

ซึ่งเป็นตลกร้าย หลังม็อบประกาศ “อาจยึด” กทม.ก็รีบคืนพื้นที่ให้ใช้สันทนาการใช้ออกกำลังกายได้ แต่ยังยืนยันห้ามชุมนุม

ทำเนียบรัฐบาล ทุกยุคสมัยก็เป็นจุดที่ประชาชนไปเรียกร้อง เพราะเป็นศูนย์กลางอำนาจบริหารที่มาจากเลือกตั้ง มีม็อบต่างๆ ไปประท้วง แสดงพลัง เพื่อให้รัฐบาลสนใจความเดือดร้อน แล้วก็จะเจรจากัน ถ้ายืดเยื้อก็จัดที่ให้อยู่ อย่างม็อบสมัชชาคนจน

ทุกยุคสมัยก็จะล้นถนน หรือปิดถนนเป็นพักๆ แต่ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบ เพราะไม่ได้บุกยึดทำเนียบยึดสนามบินแบบม็อบมีเส้น

พึงเข้าใจว่า การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญชุมนุมโดยสงบ จำต้องละเมิดกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เสมอ เช่นม็อบเกษตรกรกีดขวางจราจร ใช้เครื่องขยายเสียง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสนใจ

ปัดโธ่ ม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯ เป็นอัมพาต บีบคอขัดขวางคนไปเลือกตั้ง ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ

ม็อบ 19 กันยาจึงเป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่จะฝ่าฝืนกฎหมายคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ เช่นที่วิษณุขีดเส้น ห้ามเข้าใกล้ทำเนียบ 50 เมตร ซึ่งไม่มีเหตุผลเลย

พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะออกโดยรัฐบาลเผด็จการ ตั้ง สนช.มาโหวตผ่าน กำหนดข้อห้ามไม่เป็นประชาธิปไตย ถูกใช้เป็นเครื่องมืออำนาจ จะม็อบด่ารัฐบาลต้องไปขออนุญาตตำรวจ

อย่างไรก็ตาม การฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุม มีโทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน ปรับหนึ่งหมื่นบาท ฉะนั้นถามว่าถ้าม็อบไม่หยุดที่สะพานมัฆวาน บุกเข้าไปตั้งเวทีปราศรัยประชิดทำเนียบ ตำรวจที่ระดมกันมาเป็นหมื่นๆ จะสลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา โล่กระบอง กระสุนยาง ฯลฯ หรือไม่

หรือถ้าม็อบบุกยึดธรรมศาสตร์ ที่ผู้บริหารปิดประตู เอาตำรวจเข้าไปตั้งมั่น จะสั่งลุยเลยหรือไม่ ถ้าทำเช่นนั้นก็เหมือน 6 ตุลากลับด้าน ผู้บริหารธรรมศาสตร์คงได้จารึกประวัติศาสตร์ตรงข้าม อ.ป๋วย

เช่นเดียวกับสนามหลวง ที่มีข้ออ้าง บุกรุกโบราณสถาน คุกสิบปีปรับหนึ่งล้าน เฮ้ยนั่นมันใช้กรณีมีคนถือขวานบุกเข้าไปทุบเจดีย์วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ไม่ใช่เข้าไปม็อบในสนามหลวงที่มี แต่หญ้า

การที่ม็อบประกาศฝ่า 3 ด่าน ก็คือแกนนำพร้อมต่อสู้คดี พร้อมให้มีหมายเรียกตามหลัง จากการชุมนุมโดยสงบ ยึดพื้นที่สัญลักษณ์ประชาธิปไตย โดยไม่ใช้ความรุนแรง เพียงใช้คนจำนวนมากร่วมแรงร่วมใจ

ฉะนั้น หากจะเกิดความรุนแรง ก็มาจากการตัดสินใจของรัฐ ของตำรวจ หากใช้กำลังขัดขวาง หากสลายการชุมนุม ซึ่งกระทำเกินกว่าเหตุ เมื่อเทียบกับ “ความผิด” ของการฝ่าฝืนดังกล่าว

ทำไมม็อบต้องฝ่าฝืน “กฎหมาย” ก็เพราะรัฐประหารใช้อำนาจเถื่อนฉีกกฎหมายสูงสุด เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ตัวเองสืบทอดอำนาจ ยัดเยียดลงประชามติ แล้วบอกว่าต้องยอมรับกติกา

รัฐประหารออกคำสั่งเป็นกฎหมาย ตั้ง สนช.พวกญาติยกมือผ่านกฎหมาย แล้วใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือค้ำอำนาจ ใช้กฎหมายตีความกฎหมายโดยองค์กรที่รัฐประหารตั้ง หรือใช้อำนาจเกินขอบเขตโดยตำรวจทหาร

แล้วยังบอกประชาชนต้องเคารพกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายเสื่อมหมดแล้วเพราะรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ เหลือแต่กฎที่เลี้ยวไปเลี้ยวมาเพื่ออำนาจ 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/newspaper-column/news_4936357

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar