måndag 21 september 2020

เกาะติดสถานการณ์ "ถอนหมุด" และปฏิกิริยาหลังชุมนุมใหญ่ "ทวงอำนาจคืนราษฎร”

Live: บีบีซีไทยรายงานสดเกาะติดสถานการณ์ "ถอนหมุด" และผลที่ตามมาหลังสิ้นสุดการชุมนุม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร"

รายงานสด

รองโฆษก ตร.: ไม่รู้ว่าใครถอนหมุด แต่หมุดเป็นของกลางในคดีอาญาที่ตำรวจต้องดูแลรักษา

ในการแถลงข่าวรอบเดียวกันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตอบคำถามสื่อที่ว่าใครคือคนรื้อถอนหมุด "คณะราษฎร 2563" ออกไป โดยบอกว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ถอนหมุดออกไป แต่หมุดถือเป็นของกลางในคดีอาญา

"ผู้ที่ถอนไม่ทราบอ่ะนะครับ แต่โดยหลักแล้ว พยานหลักฐานลักษณะแบบนี้เป็นพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนต้องเก็บเอาไว้เป็นเรื่องปกติ เพราะถือว่าเป็นของกลางในคดีอาญา และคำตอบก็คือว่าหมุดเป็นของกลางในคดีอาญา ก็ต้องอยู่ในการดูแลรักษาของพนักงานสอบสวน" รองโฆษก ตร. กล่าว

"ผู้ที่ดำเนินการอันกระทบกระเทือนต่อสถาบันฯ เราจะไม่ปล่อยไว้เป็นอันเด็ดขาด"

พล.ต.ท. ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า ขั้นตอนทางเอกสารของ “จดหมายเปิดผนึก” ว่าด้วยข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ว่า ทาง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ได้เสนอไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของฝ่ายกฎหมายถึงเนื้อหาและประเด็นขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อดำเนินการให้ผู้รับผิดชอบต่อไป

ช่วงสายวานนี้ (20 ก.ย.) น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำนักศึกษาในนามกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานองคมนตรี ผ่าน ผบช.น. ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ในการชุมนุม 19 กันยา ก่อนที่แกนนำจะพากัน “ประกาศชัยชนะ” และยุติการชุมนุมหลังจากนั้น

ในระหว่างการเปิดแถลงข่าวที่ ตร. เมื่อเวลา 15.30 น. พล.ต.ท. ปิยะชี้ว่านอกจากการละเมิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะของแกนนำจัดการชุมนุม จากการเคลื่อนย้ายมวลชนและไม่ได้แจ้งขออนุญาตจัดการชุมนุม ยังมีอีกหลายกรณีที่เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา อาทิ กรณีที่ตำรวจภูธรภาคที่ 1 ตรวจยึดเอกสารหนังสือของผู้จัดชุมนุมได้ รวมถึงเนื้อหาการปราศรัยยบางส่วนของบรรดาแกนนำ ซึ่งหมิ่นเหม่ตอนการกระทำผิดกฎหมาย

"ได้มีการใช้ถ้อยคำไม่สมควรต่อสถาบันที่เป็นเคาพรักของคนไทยทุกคน ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์... เราอยู่ในฐานะผู้รักษากฎหมาย ต้องรักษากฎหมายบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ดำเนินการอันกระทบกระเทือนต่อสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชน เราจะไม่ปล่อยไว้เป็นอันเด็ดขาด ใครทำอะไรต้องรับผิดชอบที่ตัวเองกระทำไว้" ผช.ผบ.ตร. กล่าว

พล.ต.อ. ปิยะระบุอีกว่า การดำเนินคดีจะแยกเป็นส่วน ๆ เนื่องจากมีหลายกรรมหลายวาระ การอภิปรายบนเวที "คนแต่ละคนก็ต้องรับผิดชอบคำพูดของตัวเอง" แต่ปฏิเสธตอบคำถามว่าจะเป็นความผิดอาญามาตราใด แต่ถ้าเข้าลักษณะความผิดกลุ่มไหนก็ต้องดำเนินการ

หมุดหาย ไปไกลถึงสื่อนอก

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานข่าวเช้าวันนี้ (21 ก.ย.) ว่าหมุดคณะราษฎรที่ผู้ชุมนุมได้ฝังไว้ที่พื้นสนามหลวงได้ถูกรื้อถอนออกไปแล้ว โดยอัลจาซีราได้บรรยายถึงความสำคัญและประวัติศาสตร์ของหมุดคณะราษฎรปี 2475 ที่เคยถูกรื้อถอนและหายไปอย่างปริศนาจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อ 3 ปีก่อน

สื่อต่างประเทศหลายสำนักยังได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมของนักศึกษาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะไฮไลต์ของกิจกรรมในช่วงที่มีการฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 และการที่แกนนำยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์มีการปฏิรูป

สื่อจากอังกฤษอย่างเดอะการ์เดียนพาดหัวข่าวชูประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นข้อเรียกร้องของนักศึกษากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

นิวยอร์กไทมส์อธิบายว่าการชุมนุมเมื่อ 19-20 ก.ย. เป็นการดันเพดานการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นหัวข้อ “ต้องห้าม” ของประเทศไทยมาเนิ่นนาน และเป็นประเด็นที่น้อยคนจะหยิบมาพูดในที่สาธารณะ

ผู้สื่อข่าวนิวยอร์กไทมส์ยังรายงานว่าการชุมนุมในครั้งนี้มีความตึงเครียดมากกว่าการชุมนุมที่จัดโดยคณะประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 16 ส.ค.

วอยซ์ออฟอเมริกา บลูมเบริ์ก รอยเตอร์ และอีกหลายสื่อรายงานตรงกันว่าการชุมนุมครั้งนี้ว่าผู้ชุมนุมมีความกล้าที่จะท้าทายกฎหมายแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ตร.-กทม. สรุปคดีและความเสียหายจากการ "บุกสนามหลวง"

เวลา 15.00 น. พล.ต.ต. จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ได้แถลงสรุปความคืบหน้าทางคดีและการสำรวจความเสียหายของทรัพย์สินต่าง ๆ ในระหว่างกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” บุกยึดสนามหลวง” เมื่อ 19-20 ก.ย. โดยระบุว่าพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษเอาไว้ใน 2 กรณีแล้ว

  • 20 ก.ย. ผอ.เขตพระนคร ได้เข้าร้องทุกข์ว่ามีกลุ่มบุคคลทำลายรั้วเหล็ก ขุดเจาะถนนคอนกรีตซีเมนต์ซึ่งมีไว้ให้ประชาชนใช้ร่วมกัน เป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหาย จึงได้แจ้งความฐานทำให้เสียทรัพย์ และความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด
  • 21 ก.ย. ผอ.กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้เข้าแจ้งความ หลังเข้าตรวจสอบพื้นที่ พบการฝังหมุดในสนามหลวงอันเป็นโบราณสถาน เข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน มาตรา 10

พล.ต.ต. จิรพัฒน์ยังเปิดเผยผลการตรวจสอบพื้นที่ท้องสนามหลวงร่วมกับ กทม. กรมศิลปากร เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และเจ้าหน้าที่จีโอดี พบทรัพย์สินราชการเสียหายหลายรายการ และมีการขุดพื้นซิเมนต์เป็นหลุมกว้างขนาดกว้าง 1 ฟุต ยาว 1 ฟุต ลึก 2.5 ซม. โดยเจ้าหน้าที่ “ได้ตรวจยึดหมุดไว้เป็นของกลางในคดี และนำส่งกองพิสูน์หลักฐานตรวจสอบ”

ส่วนความผิดอื่น ๆ อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน แต่เบื้องต้นฐานความผิดในการจัดการจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้แจ้งนั้น มีผู้เกี่ยวข้อง 16 คนโดยประมาณ และยังมีการสั่งให้ถอดเทปคำปราศรัยว่ามีการกระทำผิดหรือไม่อย่างไร ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปใช้พื้นที่ ยังไม่ไม่ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์แต่อย่างใด

ด้าน พล.ต.ท. โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการ กทม. ได้เปิดเผยผลการสำรวจความเสียหายในท้องสนามหลวง ไว้ดังนี้

  • รั้วเหล็กสีเขียวโดยรอบ เสียหายจากการพังและล้ม จำนวน 7 แผง
  • กุญแจคล้องรั้ว ถูกตัดทำลาย 92 ดอก
  • พื้นปูนซีเมนต์กลางสนามหลวง ได้รับความเสียหาย ขนาดประมาณ กว้าง 1 ฟุต ยาว 1 ฟุต

ด้าน พล.ต.ท. โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการ กทม. ได้เปิดเผยผลการสำรวจความเสียหายในท้องสนามหลวง ไว้ดังนี้

  • รั้วเหล็กสีเขียวโดยรอบ เสียหายจากการพังและล้ม จำนวน 7 แผง
  • กุญแจคล้องรั้ว ถูกตัดทำลาย 92 ดอก
  • พื้นปูนซีเมนต์กลางสนามหลวง ได้รับความเสียหาย ขนาดประมาณ กว้าง 1 ฟุต ยาว 1 ฟุต

ชาวทวิตเตอร์รณรงค์ #ยกเลิก 112

การรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เกิดขึ้นอีกครั้งทางทวิตเตอร์ หลังมีการแจ้งความดำเนินคดีกับ 3 แกนนำจัดการชุมนุม ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), และ น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง)

ในเวลาราว 1 ชม. แฮชแท็ก #ยกเลิก112 ได้ขึ้นเป็นเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์ไทย ด้วยยอดทวีตและรีทวีตกว่า 1.2 แสนครั้ง 

หมุดคณะราษฎรเกิดใหม่ใน “โลกเสมือนจริง”

หมุดคณะราษฎร 2563 ที่ถูกรื้อถอนออกไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ “กลับมาเกิดใหม่”เป็น “แคมเปญศิลปะ”ในสื่อสังคมออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ให้ผู้ใช้งานนำภาพหมุดไปใช้เป็นภาพโปรไฟล์ หรือภาพปก หรือฝังหมุดเสมือนจริงบนสถานที่ใดก็ได้ด้วยเทคโนโลยีเออาร์

ภาพหมุดจะมีลวดลายแตกต่างกันไปตามแต่ความสร้างสรรค์ ความชื่นชอบ และประเด็นที่ศิลปินต้องการสื่อสาร ทว่ามีจุดร่วมกันคือสัญลักษณ์การ “ชู 3 นิ้ว”และข้อความของ “คณะราษฎร 2563”

ผู้รณรงค์ให้ศิลปินและคนรุ่นใหม่​ร่วมกัน​สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ แล้ว​โพสต์ลงใน​เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม และทวิตเตอร์​ ก็คือศิลปินที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า “Fan Art”

พวกเขาได้นำ “หมุดออนไลน์” ออกแจกจ่ายและเผยแพร่เป็นการทั่วไป พร้อมย้ำว่าผู้สนใจหยิบฉวนไปผลิตซ้ำได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีเออาร์ในอินสตาแกรมเพื่อให้ประชาชนฝังหมุดที่ใดก็ได้

ถ้าย้อนกลับไปในช่วงเดือน มิ.ย. แฮชแท็กนี้เคยทยานขึ้นสู่อันดับ 1 มาแล้ว โดยมีผู้ทวีตเกือบ 5 แสนครั้งในรอบ 24 ชม. หลังเกิดเหตุนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยชาวไทยหายตัวไปอย่างลึกลับในประเทศกัมพูชา

เป็นผลให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกมาประกาศ "คำสำคัญ" ต่อสาธารณะเมื่อ 15 มิ.ย. โดยขอให้สังคมไทยตระหนักว่าในรอบ 2-3 ปีมานี้ ไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมเฉลยเหตุผลไว้ว่า...

"มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว แล้วคุณก็ละเมิดกันไปเรื่อยเปื่อยแบบนี้ หมายความว่ายังไง ต้องการอะไรกัน วันนี้ผมจำเป็นต้องพูด เพราะต้องการให้บ้านเมืองสงบ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ว่ามี 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารต่อสังคมว่าการบังคับใช้มาตรา 112 นั้นเกิดปัญหาอย่างไร นั่นคือ "ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์" นำโดยนักวิชาการที่เรียกตัวเองว่า "คณะนิติราษฎร์" และปรากฏการณ์ “ตอบโจทย์” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

อ่านเพิ่มเติมที่นี่“ปรากฏการณ์ 112 ริกเตอร์” ความพยายามแก้ไข กม.หมิ่นสถาบันที่ยังไม่มีเสียงตอบรับจากรัฐ

"พ่อหมอ" ผู้ประกอบพิธีฝังหมุด เผยความหมายสาปแช่งผู้รื้อ-ผู้บงการให้ถอนหมุด

อรรถพล บัวพัฒน์ ชายวัย 30 ปี จากกลุ่ม "ขอนแก่นพอกันที" รับหน้าที่เป็น "พ่อหมอ" ประกอบพิธีสวดมนต์ อัญเชิญเหล่าเทพเทวดา ดวงวิญญาณคณะราษฎรและวีรชนประชาธิปไตย มาเป็นสักขีพยานให้กับ "การปักหมุดหมายแห่งประชาธิปไตย แห่งชัยชนะของประชาชน" ในพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 ในช่วงเวลาก่อน 7 นาฬิกาโดยประมาณของวันอาทิตย์ที่ 20 ก.ย.

เขาเปิดเผยถึงเบื้องหลังคำสาปแช่งของผู้ที่รื้อถอนหมุด ซึ่งปรากฏข้อความที่น่าสนใจ คือ ขอให้ “เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ” ว่าเพื่อเป็นการบอกว่า "ถ้าคุณทำลายความสุขของประชาชน ความสุขส่วนตัวของคุณก็ควรถูกทำลายไปเช่นกัน"

อ่านเพิ่มเติม เบื้องหลังพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 จาก "พ่อหมอ" กลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที

 

นายกฯ ขอบคุณเจ้าหน้าที่อดทนอดกลั้นต่อการชุมนุม

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวแสดงความรู้สึก “ยินดีที่ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บ้านเมืองมีความสงบ สันติ” ภายหลังเสร็จสิ้นการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา

นายกฯ ยังขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานด้วยความเสียสละ อดทน อดกลั้น ซึ่งหากบ้านเมืองสงบสุขแบบนี้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้หลาย ๆ อย่าง จึงอยากฝากไปประชาชนให้คิดด้วยว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ

ส่วนที่แกนนำจัดการชุมนุมนัดหมายชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 24 ก.ย. ที่หน้าอาคารรัฐสภา ย่านเกียกกาย เพื่อติดตามการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภานั้น พล.อ. ประยุทธ์บอกเพียงว่า “ขอให้ติดตามต่อไป”

2 วันก่อนการชุมนุมใหญ๋ พล.อ. ประยุทธ์ ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เตือนว่าการชุมนุมประท้วง “กำลังเพิ่มความเสี่ยงอย่างมหาศาล”ที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ พร้อมวิงวอนประชาชนให้ตั้งการ์ดสูง และเอาชนะโควิดก่อนค่อยกลับมาประเด็นการเมือง 

พริษฐ์: “ดึงไปได้ ก็หล่อใหม่ได้”

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หนึ่งในผู้นำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ว่าทางกลุ่มพร้อมจะจัดทำหมุดขึ้นมาใหม่

"หมุดมันไม่ได้ปักไว้แค่ที่พื้นสนามหลวง แต่มันปักไว้ในใจคน...คุณดึงไปได้เราก็หล่อใหม่ได้" พริษฐ์ หรือ “เพนกวิน” กล่าว

ทั้งนี้ นายพริษฐ์ เดินทางมาที่สำนักงานอัยการฯ พร้อมด้วยนายอานนท์ นำภา นายปิยรัฐ จงเทพ น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก และนายภาณุพงศ์ จาดนอก เพื่อรายงานตัวตามหมายนัดของ สน.นางเลิ้ง ในคดีกรณีจัดการชุมนุมปราศรัยหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง

หมอตุลย์แจ้งความดำเนินคดี 112 อานนท์-เพนกวิน-รุ้ง

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เสื้อหลากสี” เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ 3 แกนนำจัดการชุมนุม 19 กันยา ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), และ น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

เขาได้หอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ พร้อมนำประชาชนส่วนหนึ่งไปยัง สน.ชนะสงคราม เพื่อเอาผิด “2 นักศึกษา 1 นักกฎหมาย” ที่ “ทำร้ายจิตใจคนทั้งชาติ” และทำให้ “คนไทยเป็นทุกข์” ด้วยการกล่าวอ้างว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำการไม่เหมาะสม ไม่เห็นแก่ความทุกข์ยากของประชาชน และมีการเรียกร้องให้ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์

“ที่มาในวันนี้ ไม่ได้อยากให้แกนนำทั้ง 3 คนต้องติดคุก… แต่ที่ต้องมาในวันนี้เพราะหลายคนในประเทศไม่อยากให้การชุมนุมมีการล่วงละเมิด มีการดูหมิ่นดูแคลนพระองค์ท่านด้วยความเท็จ” นพ.ตุลย์กล่าว

นพ.ตุลย์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ขึ้นเวทีการชุมนุมของกลุ่ม “ไทยภักดี” องค์กรกลางที่จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. โดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เพื่อแสดงพลังปกป้องสถาบันหลักของชาติ

เขาบอกว่า หากจะมีการเรียกร้องทางการเมืองว่าไม่เห็นด้วยกับนายกฯ ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องใด ๆ สามารถทำได้ แต่การพาดพึงสถาบันกษัตริย์ก็ขอร้องให้อย่าชุมนุม หรือกล่าวปราศรัยผ่านสื่ออย่างโจ่งแจ้งแบบนี้

นี่ไม่ใช่คดี 112 คดีแรกของเพนกวิน-นายพริษฐ์ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ส.ค. นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. รายนี้เคยถูกช่างตัดผมที่ จ.เลย เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเลย ให้ดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยที่ตำรวจอยู่ระหว่างสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน ยังไม่ออกหมายเรียกและหมายจับแต่อย่างใด

แฮชแท็ก #คณะราษฎร2563 ขึ้นเทรนดิ้งอันดับ 4 ในทวิตเตอร์

ปฏิบัติการ “รื้อหมุด” ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์พากันตามหาและตอบโต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เวลา 13.45 น. แฮชแท็ก #คณะราษฎร2563 ได้ขึ้นเทรนดิ้งอันดับ 4 ในทวิตเตอร์ประเทศไทย ควบคู่กับ #หมุดคณะราษฎร ด้วยจำนวน 4.50 แสนทวีต

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กบางส่วนได้แจกจ่ายไฟล์ Ai หมุดคณะราษฎร 2563 สู่สาธารณะ โดยผู้จัดทำกล่าวว่า “สามารถนำไปผลิตซ้ำแจกจ่ายต่อสกรีนเสื้อ ฯลฯได้เต็มที่”

สารพัดกลุ่มเข้าแจ้งความแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ บุกสนามหลวง

ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา มีบุคคลหลายกลุ่มเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ และแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำจัดการชุมนุม 19 กันยา

หนึ่ง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมศิลปากร ที่กรมศิลปากร วังหน้าพระลาน เพื่อขอให้เอาผิด 18 แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 กรณีบุกรุกเข้าใช้พื้นที่สนามหลวงโดยไม่ได้ขออนุญาต โดยมีการตัดทำลายรั้วและเจาะพื้นเพื่อปักหมุด “คณะราษฎร หมุดที่ 2” ซึ่งทำให้ทรัพย์สินของทางราชการได้รับความเสียหาย

“ถือเป็นกรรมหนัก ที่จะปล่อยให้ลอยนวลต่อไปมิได้” นายศรีสุวรรณกล่าว

สอง นายสถาพร เที่ยงธรรม ผอ.กองโบราณคดี กรมศิลปากร เข้าแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อให้เจ้าหน้าที่สืบสวนหาผู้กระทำผิด ตามมาตรา 10 พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้าไปยังพื้นที่ แล้วได้ทำการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ขุดค้น ในพื้นที่โบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทโทษสูงสุดตามมาตรา 35 คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เขาปฏิเสธไม่รู้รายละเอียดว่าการขุดหมุดเป็นการกระทำของหน่วยงานใด แต่ขั้นตอนการซ่อมแซมพื้นที่ จะอยู่ในความรับผิดชอบของกทม.

สาม ตัวแทนกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานเขตพระนคร เข้าแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม ตามการรายงานข่าวของเว็ปไซต์โพสต์ทูเดย์

ทว่าก่อนหน้านี้ นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ปฏิเสธกับบีบีซีไทยว่าการหายไปของหมุด "ไม่เกี่ยวกับ กทม." แต่ยอมรับว่าสนามหลวงแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนคือ ครึ่งที่เป็นพื้นปูนหรือส่วน "พื้นที่แข็ง" อยู่ในความดูแลของ กทม. ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่อยู่ทางด้านวัดพระแก้ว เรียกว่าส่วน "พื้นที่สีเขียว" เป็นสนามหญ้า

"หมุดหาย" ในมุมมองของ เกษียร-ประจักษ์

นักวิชาการส่วนหนึ่งได้ออกมาให้ความเห็นต่อกรณี "หมุดคณะราษฎร 2563" หาย

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่าการขุดถอนหมุดคณะราษฎร 2563 ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย และมองว่าการที่หมุดถูกขุดถอนไปแสดงว่าหมุดนั้นถูกเห็น ถูกตีค่า และส่งผลจริงมากพอที่จะทำให้อำนาจสถาปนาเดือดเนื้อร้อนใจ

เขาอธิบายว่า การต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมด้วยสัญลักษณ์ คือความพยายามจินตนาการความสัมพันธ์แบบใหม่ที่เป็นไปได้ระหว่างผู้คนและสถาบันในสังคมขึ้นมา เพื่อให้คนคิดได้ นึกออกได้ และเห็นจริงถึงความเป็นไปได้ของมัน

"การที่หมุดถูกขุดถอนไปแสดงว่าหมุดนั้นถูกเห็น ถูกตีค่า และส่งผลจริงมากพอที่จะทำให้อำนาจสถาปนาเดือดเนื้อร้อนใจ ต้องมาขุดหมุดออกไป ซึ่งนั่นแปลว่า อำนาจสถาปนาเห็นหมุด ให้ค่าหมุด และเห็นหมุดเป็นเรื่องจริงจัง จนต้องลงมือขุดถอน อันเป็นประจักษ์พยานด้านกลับให้ว่า "หมุด" นี้มีอยู่จริง ต่อให้ขุดหายไปแล้ว การมีอยู่จริงของมันก็ได้รับการยืนยันให้คงอยู่ในภาพจำและจินตนาการของสาธารณชนยืนนานไป จากปฏิกิริยาของอำนาจสถาปนานั้นเอง" ศ.เกษียรเขียนบนเฟซบุ๊ก

ขณะที่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าสังเกตการณ์บริเวณที่หมุดคณะราษฎร 2563 ถูกรื้อถอนไปจากบริเวณท้องสนามหลวง หลังจากนั้นได้ทวิตข้อความตอนหนึ่งว่า "หมุดอาจถูกทุบถอนทำลายได้ แต่จิตสำนึกของราษฎรที่ 'ตื่น' ขึ้นมาแล้วในวันนี้จักไม่อาจมีใครมาลบทำลายได้อีกต่อไป"

สำหรับสนามหลวงมีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 2520 ทั้งนี้นอกจากมาตรา 10 ที่กรมศิลปากรแจ้งความไว้แล้ว ยังมีบทบัญญัติในมาตรา 32 เอาผิดกับผู้บุกรุก ที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อมาในปี 2555 กทม. ได้ออกระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการใช้ บำรุงและการดูแลพื้นที่ท้องสนามหลวง กำหนดการใช้สอยพื้นที่จัดงานได้เพียง 4 ประเภทได้แก่ งานพระราชพิธี, งานรัฐพิธี, งานประเพณีสำคัญของชาติโดยหน่วยงานของรัฐ และการจัดการแข่งขันกีฬาไทยประจำปี โดยห้ามจัดกิจกรรม “ที่ไม่เหมาะสม ขัดกฎหมาย หรือในลักษณะเป็นการดูหมิ่นชาติ ศาสนาหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยหรือของประเทศอื่น” และต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีและประเพณีไทย และ “ไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ว่าด้วยประการใด และไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”

ดร.ประจักษ์ถ่ายรูปจุดที่เคยมีหมุดคณะราษฎร 2563 อยู่

รอง ผบช.น. รับ “เจ้าหน้าที่ถอนหมุด” เอง

ไม่กี่ ชม. หลังหมุด “คณะราษฎร 2563” ถูกทำให้หายไปจากสนามหลวงอย่างปริศนา ปรากฏว่ารองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ออกมายอมรับว่า “เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทำการรื้อถอดหมุดดังกล่าว ส่งมอบให้ทางพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม”

เว็บไซต์ข่าวสดรายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. เมื่อ 10.00 น. โดยระบุว่า หลังจากเจ้าหน้าที่กรมศิลปกร กรุงเทพมหานคร (กทม.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม และเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานได้ลงพื้นที่ทำการตรวจสอบบริเวณหมุดดังกล่าว “เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทำการรื้อถอดหมุด” อีกทั้งจะมีการแจ้งความดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก่ผู้เกี่ยวข้อง

รอง ผบช.น. รับ “เจ้าหน้าที่ถอนหมุด” เอง

ไม่กี่ ชม. หลังหมุด “คณะราษฎร 2563” ถูกทำให้หายไปจากสนามหลวงอย่างปริศนา ปรากฏว่ารองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ออกมายอมรับว่า “เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทำการรื้อถอดหมุดดังกล่าว ส่งมอบให้ทางพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม”

เว็บไซต์ข่าวสดรายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. เมื่อ 10.00 น. โดยระบุว่า หลังจากเจ้าหน้าที่กรมศิลปกร กรุงเทพมหานคร (กทม.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม และเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานได้ลงพื้นที่ทำการตรวจสอบบริเวณหมุดดังกล่าว “เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทำการรื้อถอดหมุด” อีกทั้งจะมีการแจ้งความดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก่ผู้เกี่ยวข้อง

ประชาชนเข้าสำรวจ “หมุดหาย”

ข่าว “หมุดหาย” ที่แพร่สะพัดออกไปตามสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ตลอดช่วงเช้ามีประชาชนบางส่วนรุดเดินทางไปยังสนามหลวง เพื่อสำรวจจุดที่หมุด “คณะราษฎร 2563” เคยฝังเอาไว้ ปรากฏว่ามีร่องปูนซีเมนต์เทกลบทับไว้ โดยที่ปูนยังเปียกชื้นเล็กน้อย

ขณะที่บางส่วนก็ได้นำสื่อสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไปวาง เพื่อแสดงความไว้อาลัย

คำสาปแช่งผู้รื้อ-ผู้บงการให้ถอนหมุด ขอให้ “เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ”

หมุด “คณะราษฎร 2563” ที่หายไป ทำมาจากทองเหลือง 100% มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 11.6 นิ้ว สื่อสัญลักษณ์ถึงมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ที่มักนำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชน และหนา 2.563 นิ้ว ตรงกับตัวเลขปี พ.ศ. 2563

บนหมุดปรากฏ “สัญลักษณ์แห่งยุคสมัย” เป็นภาพชูสามนิ้ว หมายถึงเสรีภาพ, เสมอภาพ และภราดรภาพ และมีอักขระสลักข้อความว่า "ณ ที่แห่งนี้ ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง"

การประกอบพิธีกรรม "ฝังหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2" เกิดขึ้นเวลา 06.39 น. ของวันที่ 20 ก.ย. โดยมีนายอรรถพล บัวพัฒน์ จากกลุ่ม "ขอนแก่นพอกันที" รับหน้าที่เป็น "พ่อหมอ" นำสวดมนต์อัญเชิญเหล่าเทพเทวดา ดวงวิญญาณคณะราษฎร และวีรชนประชาธิปไตยมาเป็นสักขีพยาน

เมื่อฝังหมุดลงพื้นแล้ว แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งเรียกตัวเองด้วยชื่อใหม่ว่า “คณะราษฎร 2563” ได้ร่วมกันแตะที่หมุดและกล่าวว่า "นี่คือการปักหมุดหมายแห่งชัยชนะของประชาชน ศักดินาจงพินาศ ทรราชจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”

ผลที่ตามมาหลังสิ่นสุดการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร”

บีบีซีไทยขอนำท่านเข้าสู่การรายงานสด “เกาะติดสถานการณ์ ‘ถอนหมุด’และผลที่ตามมาหลังสิ่นสุดการชุมนุม ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’

ผ่านไปไม่ถึง 24 ชม. หมุดทองเหลืองของ “คณะราษฎร หมุดที่ 2” ซึ่งจัดทำโดยแกนนำจัดการชุมนุมที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และประกอบพิธีปักหมุดเมื่อช่วงรุ่งเช้าวันที่ 20 ก.ย. ได้หายไปจากพื้นที่

ขณะที่บรรดาแกนนำจัดการชุมนุมที่นำประชาชนบุก “ยึดสนามหลวง” และเรียกขานด้วยชื่อใหม่ว่า “สนามราษฎร” ต้องเผชิญกับการแจ้งความดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ และ “นักร้องการเมือง”

นี่คือปฏิกิริยาแรก ๆ ที่เกิดขึ้น ทว่าไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายของสังคม

นอกจากนี้ยังมีการสาปแช่งให้ผู้รื้อถอนหมุดนี้ ทั้งผู้กระทำการและผู้สั่งการ “จงพบกับความวิบัติฉิบหาย เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสื่อมฐานันดรศักดิ์ เสื่อมสรรเสริญ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ”

นายอานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ร่วมทำพิธีฝังหมุด “คณะราษฎร 2563” ได้สื่อสารไปยังผู้อยู่เบื้องหลังการขุดหมุดออกไปว่า ขอให้ผู้กระทำผู้สั่งการได้รับผลตามคำสาปแช่งที่ระบุไว้ตอนพิธีกรรมฝังหมุด

"เราได้สาปแช่งไว้แล้วว่าใครขโมยหมุดก็โดนไปตามนั้น"

ถึงขณะนี้หมุด “คณะราษฎร 2563” ที่ยังหลงเหลืออยู่ จึงเป็นหมุดจำลองที่จัดทำไว้ 800 ชิ้น เปิดให้ผู้สนใจสั่งซื้อเพื่อสมทบทุนในการจัดกิจกรรมการชุมนุมเท่านั้น

 

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar