วันนี้ แฮชแท็ก #ยกเลิก112 กลับมาอีกครั้ง ขึ้นเป็นเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์ไทย จนถึงเวลาราว 20.30 น. มียอดทวีต 3.5 แสนครั้งแล้ว อ่านมุมมองเรื่องนี้ของเลขาธิการคณะก้าวหน้า
ปิยบุตร แสงกนกกุล: "สังคมอารยะไม่ควรเอาคนเข้าคุกเพียงเพราะถูกด่า ถูกหมิ่นประมาท"
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้"
นายปิยบุตรกล่าวถึงเรื่องนี้ในระหว่างการเสวนาหัวข้อ "#ถ้าการเมืองดี เราจะคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์กันอย่างไร" ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.
"พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่มีต่อการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อันนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในที่สาธารณะ ที่ประจักษ์ชัดแน่นอน ที่นี้ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็คิดว่าถ้าอย่างนั้นทำไมเราถึงไม่ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปเลย ก็ในเมื่อตัวพระมหากษัตริย์ทั้งสองรัชกาล ติดต่อกันไม่พึงประสงค์จะให้มีการใช้กฎหมายมาตรานี้ ถ้าแบบนี้จะคงอยู่ไว้ทำไม ยกเลิกไปเลยครับ"
นายปิยบุตร ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า แม้จะไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทที่นำมาใช้ได้
- “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อแก้ปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ นัดชุมนุมอีกครั้ง 12 ส.ค.
- ธรรมศาสตร์จะไม่ทน: "อันตรายต่อประเทศ-เกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาต" บางปฏิกิริยาต่อ 10 ข้อเรียกร้องจากเวที มธ.
- เปิดบทสนทนาของนักศึกษากลุ่ม “ไทยภักดี” กับ “ประชาชนปลดแอก” ว่าด้วยท่อน้ำเลี้ยง-เพดาน-สิ่งศักดิ์สิทธิ์
เมื่อกลาง มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เรียกร้องให้คนไทยสำนึกในพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไม่ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาดำเนินคดีกับผู้ที่ล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์
นายกฯ กล่าวเตือนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการอุ้มหายผู้ลี้ภัยไทยว่าอาจจะ "เสียอนาคต-หางานทำไม่ได้"
"สิ่งที่อยากจะบอกคนไทยทุกคน มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะอะไรรู้มั้ย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว แล้วคุณก็ละเมิดกันไปเรื่อยเปื่อยแบบนี้ หมายความว่ายังไง ต้องการอะไรกัน วันนี้ผมจำเป็นต้องพูด เพราะต้องการให้บ้านเมืองสงบ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายปิยบุตรเสนอที่เวทีเสวนาที่ มธ. ด้วยว่า อยากให้ยกเลิกโทษอาญาสำหรับความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาททุกชนิด
"ตัวผมเองผมอาจเห็นไปไกลกว่าเดิมด้วย มันอยู่ที่ถกเถียงกัน ผมเห็นว่าความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นทั้งหมดเนี่ย ไม่ว่าจะประมุขของรัฐ ทูต เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ศาล คนธรรมดาทั้งหมด ความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ควรมีโทษทางอาญา…โลกอารยะปัจจุบันการใช้เสรีภาพในการว่ากันไปว่ากันมา มันไม่ควรเอาไปถึงเข้าคุก คุณไม่พออกไม่พอใจ คุณรู้สึกว่าถูกละเมิดก็ไปหาทางร้องค่าสินไหมทดแทน สังคมอารยะไม่ควรเอาคนเข้าคุกเพียงเพราะถูกด่า ถูกหมิ่นประมาท"
นายปิยบุตรยังกล่าวถึงข้อเรียกร้อง 10 ประการเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของนักศึกษาในการชุมนุมที่ มธ. เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ด้วยว่าอยากให้สังคมพิจารณาเนื้อหามากกว่าท่าทีที่อาจมีอารมณ์ร่วม ซึ่งเขามองว่าเนื้อหาของข้อเรียกร้องและการปราศรัยนั้นไม่ได้มีการยุยงปลุกปั่น และเห็นว่าการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นจะเกิดขึ้นได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ ปัญญาชนฝ่ายนิยมเจ้า (รอยัลลิสต์) นักวิชาการ และทุกภาคส่วน
กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ "ด้วยความเคารพ"
นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และอดีตแกนนำ "กลุ่มเสื้อหลากสี" ผู้ร่วมเสวนาอีกคนกล่าวว่า หากจะถามหาการเมืองที่ดีคงไม่มีวันนั้น เพราะคงไม่มีใครถูกใจการเมืองไปเสียทุกอย่าง และหากเจาะจงไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถืออำนาจตามที่ประชาชนมอบให้ ก็ขอให้กล่าวถึงด้วยความเคารพ
"ก็จะมีการตั้งขึ้น เจริญขึ้น เสื่อมลง แล้วอาจจะกลับขึ้นมาใหม่ หรืออาจจะสูญหายไปก็ขึ้นอยู่กับคุณงามความดี หรือความไม่ดีของสถาบันนั้น ๆ ของประเทศนั้น เป็นวัฏจักรของความเจริญ...ถ้าเกิดสถาบันกษัตริย์ทำอะไรที่ผิดรัฐธรรมนูญ สถาบันก็อยู่ไม่ได้"
นพ.ตุลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การพูดถึงสถาบันกษัตริย์สามารถทำได้ตามความเชื่อของแต่ละคน แต่ต้องมีการตรวจสอบเนื้อหา อีกทั้งใช้ความเป็นสุภาพชนในการถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล และหากมีการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะไม่ว่าจะทางใดก็ตามก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา
แนะไล่นายกฯ ก่อนแก้รธน.
ด้านนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหาร กล่าวว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นแตกต่างออกไปจากพระมหากษัตริย์ ดังที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ต้องเป็นการพูดคุยในพื้นที่ที่เหมาะสม
สำหรับกระแสข่าวว่าจะมีการรัฐประหารในอนาคตนั้น นายธีรภัทรประเมินว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะก่อนหน้านี้กำลังพลหลักที่ออกมาสนับสนุนการรัฐประหารมักมาจากกรมทหารราบที่ 1 และ 11 ซึ่งในขณะนี้ขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์ ดังนั้นพระองค์คงไม่เห็นด้วย
"ไม่ว่าจะยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องไล่ พล.อ.ประยุทธ์ออกไปก่อน ผมสนับสนุนเต็มที่ และสิ่งนี้ต้องทำให้ตรงประเด็นว่าปัญหาอยู่ที่รัฐบาล ถ้าไม่แก้ที่รัฐบาลก่อนก็จบ ผมเสนอให้มีรัฐบาลแห่งชาติ ให้มีคนกลาง แต่นักศึกษาก็ไม่เอาด้วย ผมก็ไม่ว่าอะไร" ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าว
ทั้งนี้นายธีรภัทร์เสนอแนะว่า ควรมีการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองทั้งหมด คล้ายกับการมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในอดีต และให้ผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างประเทศกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้
ในขณะที่ผู้ร่วมเสวนาอีกคน คือ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่าคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งมองว่า สถาบันกษัตริย์ในขณะนี้มีอำนาจล้นเกินกว่าที่กฎหมายจะควบคุมได้
น.ส.ปนัสยายังได้อธิบายถึงข้อเรียกร้องที่ประกาศในเวทีชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่ มธ. ศูนย์รังสิต ว่ามีเป้าหมายก็เพื่อยกระดับให้การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และกระทำได้โดยปกติ
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar