torsdag 15 oktober 2015

คนตุลา "ปาราชิก" 42 ปีย้อนแย้งน่าขัน วันรำลึก "โค่นเผด็จการ" กลับมีตัวแทนรัฐบาลทหารมาให้โอวาท 14 ตุลาเป็นวันอะไร ไม่ทราบ วันประชาธิปไตยแบบไทย? วันตอแหล" ของคนแก่ๆ กลุ่มหนึ่งซึ่ง ยกอดีตการต่อสู้ของตนมาข่มลูกหลาน กลบเกลื่อนพฤติกรรมในปัจจุบัน

khaosod
ข่าวสดออนไลน์
คอลัมน์ ใบตองแห้ง
คนตุลา "ปาราชิก" คอลัมน์ ใบตองแห้ง
วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 23:27 น.
จำนวนคนอ่านล่าสุด 314 คน


14 ตุลา 2516 "วันประชาธิปไตย" 42 ปีผ่านไป กลับกลายเป็น "วันตอแหล" ของคนแก่ๆ กลุ่มหนึ่งซึ่ง ยกอดีตการต่อสู้ของตนมาข่มลูกหลาน กลบเกลื่อนพฤติกรรมในปัจจุบัน

42 ปีย้อนแย้งน่าขัน วันรำลึก "โค่นเผด็จการ" กลับมีตัวแทนรัฐบาลทหารมาให้โอวาท 14 ตุลาเป็นวันอะไร ไม่ทราบ วันประชาธิปไตยแบบไทย? เจตนารมณ์นักศึกษาประชาชนที่พลีชีพขับไล่เผด็จการถูกบิดให้เป็น "มวลมหาประชาชน" ตั้งแต่เมื่อไหร่

มันน่าคิดนะว่ารัฐบาลทุก ยุคทุกสมัย ไม่ยักรำลึก 6 ตุลา 2519 ทั้งที่เป็นบทเรียนการปลุกความเกลียดชังฆ่าคน เห็นต่างอย่างโหดร้าย ไม่ควรเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย

แต่อย่าว่าอื่นไกล คนเดือนตุลาบางคน พักหลังก็ไปแต่งาน 14 ตุลา ไม่ยักร่วมรำลึก 6 ตุลา ไม่ทราบว่าตะขิดตะขวงใจอะไรหรือเปล่า

ผม "เกิด" ไม่ทัน 14 ตุลา เพราะยังเรียน ม.ศ.5 ไม่สนใจสังคมการเมือง จนเข้าธรรมศาสตร์ปีต่อมา แต่คารวะทั้ง 14 และ 6 ตุลา เพราะ 14 ตุลาเปิดกะโหลกให้พบคำตอบของชีวิตที่แสวงหา คือเสรีภาพ ประชาธิปไตย ซึ่งตอกย้ำอีกครั้งหลังเข้าป่าและออกป่า ไม่ว่าเผด็จการข้างไหนล้วนไม่ใช่ คำตอบของชีวิตและสังคม

เสรีภาพต่างหาก สำคัญกว่าสังคมที่เป็นธรรม เสรีภาพต่างหาก สำคัญกว่าศีลธรรม เพราะถ้าเสรีภาพถูกจำกัด ก็ไม่เกิดความเป็นธรรม และไม่นำไปสู่ศีลธรรมที่เป็นจริง

อุดมการณ์เดือนตุลาอยู่ตรง ไหน ถ้ารำลึกถึงผู้พลีชีพไปตั้งแต่ 14 ตุลาถึง 6 ตุลา หรือในป่า ถ้าย้อนอดีตขบวนการนักศึกษาตั้งแต่ "ฉันจึงมาหาความหมาย" ถึงวันนี้คนเขียนอาจยังหาไม่เจอ หลังอุดมการณ์สังคมนิยมล่มสลาย หลังมองกันว่า "ประชาธิปไตยฝรั่ง" มีปัญหา สังคมอุดมคติอาจ มองไม่เห็น หรือเห็นต่างกันได้ ไม่แปลกอะไร

เรื่องใหญ่คือเสรีภาพต่าง หาก เสรีภาพที่อยากคิด พูด เขียน แสดงออก ชุมนุม ประท้วง กระทั่งเกิด 14 ตุลา เสรีภาพที่จะมีความเห็นต่าง กระทั่งถูกปราบปรามเมื่อ 6 ตุลา เสรีภาพที่จะโต้แย้งพรรค กระทั่งถูกใส่หมวก "นายทุนน้อย" ออกจากป่า

นั่นต่างหากคือลมหายใจคนเดือนตุลา ไม่ว่าวันนี้อยู่ที่ไหน รวยๆ จนๆ ชั่วๆ ดีๆ มีชีวิตส่วนตัวอย่างไร ครั้งหนึ่งเราได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อเสรีภาพ แม้พ่ายแพ้สักกี่ครั้ง แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ...

ที่ไหนได้ ใครจะคิดว่า 30-40 ปีผ่านไป คนที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตย กลับเห็นดีเห็นงามกับรัฐประหาร คนที่เคยต่อสู้เพื่อเสรีภาพ กลับเชียร์การใช้อำนาจกวาดจับนักศึกษารุ่นลูกรุ่นหลาน คนที่เคยต่อต้าน ม.17 กลับไชโยโห่ร้องรับ ม.44 หลอกตัวเองว่านี่คือระบอบ "จงทำดี จงทำดี จงทำดี" ที่จะปราบปราม "เลว ชั่ว โกง" สร้างสังคมเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ แทบถึงจุดสปัสซั่มได้โค่นล้มสังคมทราม

ไม่ทราบว่าแกล้งไร้เดียงสาทั้งที่ผ่านโลกมาขนาดนี้ หรือว่าแก่แล้วเลอะเลือนเห็นขี้มูกเป็นสลิ่ม

ใครเลยจะคิดว่า 30-40 ปีผ่านไป คนที่เคยถูกกระทำ เห็นเพื่อนตาย เลือดเพื่อนเปื้อน รอดตายมาได้ กลับเกลียดชังคนเห็นต่าง เชียร์ให้ใช้ "กระสุนจริง" กวาดล้างมวลชนฝ่ายตรงข้าม เพียงเพราะมันมี "ชายชุดดำ" มันเผาบ้านเผาเมือง ไม่ใช่พลังบริสุทธิ์เหมือน 14 ตุลา สมควรตาย!

บางคนอาจเถียงว่า เฮ้ยไม่ได้เชียร์ แค่นอนดูอยู่บ้านเฉยๆ แต่ลืมตาข้างหลับตาข้าง ที่ม็อบขัดขวางเลือกตั้งละก็ท่องคาถาปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

บางคนอาจแย้งว่า มันก็ปลุกเกลียดชังกันทั้งสองฝ่าย อาจใช่ แต่ถ้าผมมีอำนาจจากเลือกตั้ง ผมก็เรียกคำนูณ สิทธิสมาน, ประสาร มฤคพิทักษ์ ไปปรับทัศนคติในห้องสี่เหลี่ยมไม่ได้ เพราะ "ประชาธิปไตยฝรั่ง" มันมีกติกาให้อดทน อดกลั้น

42 ปีผ่านไปคนเดือนตุลาไม่จำเป็นต้องดีเด่กว่าใคร พวกเมากลิ้งไร้อนาคตก็ถมไป พวก "อาบัติ" ในชีวิตส่วนตัวก็มากมาย แต่ตราบใดที่ลมหายใจยังคำนึงถึงเสรีภาพ ก็ไม่ถึงกับ "ปาราชิก" แบบพวกยกตนเป็นคนดีทำเพื่อสังคมแต่โค่นล้มประชาธิปไตย

บางคนยังมีหน้าพูดนะว่า "ไม่เป็นไร เราเห็นต่างกันได้ คุณอยากเลือกตั้ง เราอยากปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็ยังเป็นเพื่อนกันได้ ยังนึกถึงสมัยร่วมอุดมการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายด้วยกันเสมอ"

พูดในขณะที่เพื่อนบางคนต้องหลบลี้หนีภัยหรือต้องไปปรับทัศนคตินี่นะ แหม ต้องนับ 1-1,000 อดทนอดกลั้น ไม่ตะโกนว่า "อยากเอารองเท้ายัดปากจัง (โว้ย)"



Inga kommentarer:

Skicka en kommentar