söndag 18 oktober 2015

สู่ยุค"อำนาจผสม" ..ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจ . เพื่อใคร?. เพื่อชาติเพื่อประชาชน? หรือ เพื่อพวกพ้องและตนเอง ?


มติชนออนไลน์
สู่ยุค"อำนาจผสม"
โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ


คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป/มติชนรายวัน 18 ต.ค.2558


เพราะเชื่อว่าหากปล่อยให้การเมืองไทยกลับไปสู่การเลือกตั้งแบบเดิมๆ

ในรูปแบบ "เจ้าของพรรคการเมืองเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง จากนั้นผู้สมัครไปหาหรือไปสร้างเครือข่ายหัวคะแนน ให้หัวคะแนนไปกะเกณฑ์ให้ประชาชนมากาบัตร ได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรภายใต้การบงการของเจ้าของพรรคการเมือง"

จะทำให้การเมืองไทยไม่มีทางหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ไปได้คือ "นักการเมืองเข้ามามีอำนาจ ใช้อำนาจแสวงผลประโยชน์ เอาเงินไปซื้อเสียงให้ได้รับการเลือกตั้งกลับมา แล้วโกงอีก ที่สุดเกิดการยึดอำนาจเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลทหาร ซึ่งจะต้องถูกกดดันให้กลับไปเลือกตั้ง และเลือกตั้งเสร็จจะกลับสู่วงจรเดิมวนเวียนอยู่อย่างนี้"

จึงมีความจำเป็นจะต้องสร้างกลไกไปหยุดวงจรนี้

และกลไกนั้นคือ "องค์กรพิเศษ" ที่จะไปมีอำนาจจัดการคนที่นำพาการเมืองให้มีแนวโน้มกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ได้

คนที่จะมาใช้อำนาจขององค์กรนี้จะไม่ใช่คนที่มาจากการเลือกตั้งหรือเป็นเครือข่ายของนักการเมือง

ถ้าเข้าใจให้ง่ายคือสร้าง "ระบบผสม" ขึ้นมา

แต่ในวงจรอุบาทว์นั้น "นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง" กับ "นักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" จะผลัดกันขึ้นมาควบคุมอำนาจรัฐ ตามแรงกดดันของสังคมในแต่ละช่วง

เมื่อนักการเมืองจากการเลือกตั้งมีอำนาจ อีกฝ่ายก็จะสร้างแรงกดดันให้เห็นความไม่ชอบธรรมเพื่อให้พ้นอำนาจไป และเป็นเหตุผลให้มีความชอบธรรมที่จะขึ้นมาแทน

ข้อกล่าวหาที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งถูกทำให้ไม่ชอบธรรมก็ซ้ำๆ เดิมๆ ใช้กันมาทุกยุคทุกสมัย

เช่นเดียวกันเมื่ออีกฝ่ายขึ้นมามีอำนาจ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องหาทางทำลายความชอบธรรมของฝ่ายนี้ ข้อกล่าวหาก็เดิมๆ เหมือนกัน

การเมืองไทยได้สร้างวัฒนธรรมเชิงทำลายล้างซึ่งกันและกันมาเป็นเครื่องมือหนักในการต่อสู้

เป็นวัฒนธรรมการเมืองที่สร้างความขัดแย้ง แตกแยก ใช้ความรุนแรงเข้าใส่กันไม่รู้จบรู้สิ้น

และนี่เป็นเหตุผลที่ทุกฝ่ายเห็นดีเห็นงามร่วมกันว่าจะต้องปฏิรูปเพื่อทำให้ "วัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ" เช่นนี้หมดไป สร้างการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

วิธีการของผู้นิยมความรุนแรงเห็นว่า จะเกิดขึ้นได้เมื่อขจัดฝ่ายตรงกันข้ามให้สิ้นซาก ล้างให้สิ้นเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งชนะอย่างเด็ดขาด ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น เพราะอีกฝ่ายถูกทำลายไปหมดแล้ว

แต่กลุ่มที่นิยมการประนีประนอมเห็นว่า ความเป็นหนึ่งเดียวควรจะมีความหมายว่าอยู่ร่วมกันได้แม้จะมีความคิดความเห็นที่แตกต่าง เพียงแต่ต้องสร้างระบบที่เคารพกติการับฟังเหตุผลของกันและกันขึ้นมา

ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าจะเป็นวิธีที่คลี่คลายวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ ที่เน้นใช้การทำลายล้างมาเป็นเครื่องมือ

รัฐธรรมนูญที่พยายามจะร่างกันขึ้นมาย่อมต้องมีกลไกที่จะสะสางวัฒนธรรมนี้ออกไป

และรูปธรรมที่ว่าคือ "องค์กรที่เคยเรียกว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ" หรือ "คปป." ซึ่งหัวใจหลักอยู่ที่ "ผนึกสองอำนาจเข้าด้วยกัน"

ขณะที่มี "รัฐบาลจากการเลือกตั้ง" มีอำนาจ "กลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" เป็นอีกส่วนหนึ่งของอำนาจอยู่ด้วย

ว่ากันง่ายๆ คือ แทนที่จะ "ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจ" ต่างฝ่ายก็ต่างเข้ามามีอำนาจเสียพร้อมๆ กันเลย เพื่อจะได้ไม่ต้องทำลายอีกฝ่ายเพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองเหมือนที่ผ่านมา

ความเป็นหนึ่งเดียวเกิดขึ้นจากการสร้างกติกาที่ทำให้กลไกซึ่งมีที่มาต่างกัน สามารถทำงานร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องทำลายกันเหมือนที่ผ่านมาได้

โดยมีความเชื่อว่านี่จะเป็นโมเดลของ "ประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย"

ส่วนจะเป็น "ประชาธิปไตย" ที่นานาชาติยอมรับหรือไม่

ถ้าคิดเสียว่า "เดี๋ยวก็ยอมรับไปเอง" ก็จบ

เพราะถ้าจะมาพูดถึงแล้วประชาชนได้อะไร

คำตอบก็คือ คนจำนวนหนึ่งไม่ได้คิดมากว่าประโยชน์สูงสุดของประชาชนควรมาจากการปกครองในรูปแบบไหน

เสียงที่สะท้อนกันออกมาเป็นไปในทางที่ว่า ขอเพียงคนชั้นผู้มีอำนาจเลิกที่จะทะเลาะกัน ทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุข ก็เป็นบุญนักหนาแล้ว




Inga kommentarer:

Skicka en kommentar