fredag 20 november 2015

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ กรณี"ทุ่งใหญ่ นเรศวร" ในอดีต.เมื่อปี พ.ศ.2515...

matichononline





























กรณี "ทุ่งใหญ่นเรศวร" เมื่อปี พ.ศ.2515 เป็นกรณีประวัติศาสตร์ อันมากด้วย "ความละเอียดอ่อน" ยิ่งในทางการเมือง

เป็นเรื่องเกิดในบรรยากาศ "รัฐประหาร"

เป็นเรื่องเกิดโดยมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่บทบาทของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร แสงแห่งสปอตไลต์จึงฉายจับอย่างเป็นพิเศษ

เพราะว่า 1 เป็นบุตรของ จอมพลถนอม กิตติขจร

ขณะเดียวกัน เพราะว่า 1 เป็นลูกเขยของ จอมพลประภาส จารุเสถียร

ไม่ว่ามองในทาง "การเมือง" ไม่ว่ามองในทาง "การทหาร" นี่คือ "ทายาท" ที่จะต้องสืบทอดอำนาจแห่ง "ระบอบถนอม-ประภาส" อย่างไม่ต้องสงสัย

โดยเฉพาะบทบาทภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514

พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เข้าไปมีตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (กตป.) ทำให้ตกเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์แทบไม่เว้นแต่ละวัน

เมื่อมี "กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร" เข้ามาเสริม จึงยิ่งดังเป็น "พลุ"

เป็นความดังที่ไม่น่ายินดีเท่าใดนัก เป็นความดังที่มีส่วนอย่างสำคัญส่งให้ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร อยู่ในสภาพเหมือนกับ "ผีพุ่งใต้"

มาอย่าง "เร็ว" และจากไปอย่าง "เร็ว"

แก่นแกนของ "กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร" 

อยู่ที่การใช้อำนาจหน้าที่ในทางราชการไปสู่ทิศทางอันมิชอบและไม่ควรประพฤติปฏิบัติ

เพราะว่าใช้ "เฮลิคอปเตอร์" นำพวกออกไป "ล่าสัตว์"

เป็นการล่าสัตว์ป่า ณ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อ.ทุ่งใหญ่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็น "อุทยานแห่งชาติ" เท่ากับเป็นการใช้ทรัพย์สินทางราชการไปในทาง "ส่วนตัว"

เหตุที่เกิดเรื่องอื้อฉาวเพราะเฮลิคอปเตอร์ "ตก"

ไม่เพียงแต่เฮลิคอปเตอร์อันเป็นทรัพย์สินทางราชการตก หากภายในกระบวนการตกนั้นได้มีเนื้อของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการล่าบรรทุกมาด้วย

หนังสือพิมพ์ทุกฉบับทำเป็นข่าวหน้า 1 อย่างอึกทึกครึกโครม

สร้างความสะเทือนใจอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง เพราะ 1 เป็นการใช้ยุทโธปกรณ์ทางทหารอันเป็นของราชการเป็นเครื่องมือ

1 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างเด่นชัด โจ๋งครึ่ม

ที่สำคัญเป็นอย่างสูงเพราะว่า 1 เป็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่โดย พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และคณะทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน และดารายอดนิยม

ยิ่งกว่านั้น เพราะว่า 1 รัฐบาลพยายามปิดและระงับการรายงาน "ข่าว"

แน่นอนโดยอำนาจของคณะปฏิวัติ โดยอำนาจของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ย่อมสามารถโยงเข้าไปในแต่ละกลไกแห่งอำนาจรัฐได้

เป็นอำนาจผ่าน "เจ้าพนักงานการพิมพ์"

เป็นคำสั่งจากเจ้าพนักงานการพิมพ์แห่งกรุงเทพมหานคร ไปยังสื่อหนังสือพิมพ์ทุกฉบับมิให้นำเสนอข่าวอันเกี่ยวกับกรณี "ทุ่งใหญ่นเรศวร"

คำสั่งนี้ได้รับการปฏิเสธจากแวดวงวิชาชีพ "หนังสือพิมพ์"

ไม่เพียงแต่ปฏิเสธด้วยการนำเสนอข่าวไปตามปกติ หากยังได้นำเอาคำสั่งของ "เจ้าพนักงานการพิมพ์" ตีพิมพ์บนหน้า 1

เหมือนกับเป็น "การประท้วง" เหมือนกับ เป็น "การประจาน"

นี่จึงเป็นการแข็งขืนต่ออำนาจของ "คณะปฏิวัติ" เป็นการแข็งขืนต่ออำนาจจากปาก "กระบอกปืน" โดยตรงจาก "สื่อมวลชน"

เรื่องที่อยากจะให้ "จบ" กลับ "ไม่จบ"

ยิ่งกว่านั้นในเดือนพฤษภาคม 2515 เมื่อ "ชมรมคนรุ่นใหม่" แห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง นำเอากรณี "ทุ่งใหญ่นเรศวร" ไปโยงเข้ากับการต่ออายุราชการ จอมพลถนอม กิตติขจร ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ยิ่งระเบิดเถิดเทิงเมื่อมีการ "ลบชื่อ" นักศึกษาออกจาก "มหาวิทยาลัย"

บทเรียนอันเนื่องแต่ "กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร" เป็นบทเรียนอันทรงคุณค่ายิ่งในทางการเมือง ในทางการทหาร

ที่หวังจะ "ปิดข่าว" กลับไม่สามารถปิดข่าวได้ ตรงกันข้าม กลับทำให้เรื่องบานปลายและขยายออกไปอย่างไม่สิ้นสุด

นี่คือ "ชนวน" 1 ซึ่งปูพื้นให้กับสถานการณ์ "เดือนตุลาคม 2516"


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar