fredag 29 april 2016

คอลัมน์ ใบตองแห้ง

kaosod 
คอลัมน์ ใบตองแห้ง

วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559 เวลา 19:20 น.
จำนวนคนอ่านล่าสุด 11603 คน
กก ต.สมชัย ศรีสุทธิยากร แจ้งจับประธานกองทุนเพื่อสิทธิเด็กออทิสติก ฐานโพสต์เฟซบุ๊กผิด พ.ร.บ.ประชามติ ตำรวจไทยโชว์ประสิทธิภาพ จับจากขอนแก่นมาแถลงคืนนั้นทันที แบบนี้ถ้าใครก็แจ้งจับได้ตามที่กกต.สมชัยว่า และถ้าตำรวจฉับไวทุกครั้งที่มีการกล่าวหา ผู้ต้องขังประชามติคงล้นโรงพัก

กระนั้นยังมีข้อสงสัย ใครก็แจ้งจับได้จริงหรือ เพราะอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ.เห็นแย้งกกต.สมชัย ว่าอำนาจวินิจฉัยควรเป็นมติกกต.

กรณีนี้กรธ.น่าจะถูกนะครับ เพราะถ้าเทียบกฎหมายเลือกตั้ง การร้องเรียนคนทำผิดต้องร้องกกต. ไม่ใช่ใครก็ร้องได้ ใครก็จับได้ วุ่นวายไปหมด

กฎหมายประชามติน่าจะอยู่ในหลักเดียวกับกฎหมายเลือกตั้ง คือห้ามซื้อเสียง ห้ามใช้สินจ้างรางวัล ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐไม่เป็นกลาง ห้ามให้ร้ายป้ายสี แต่พอร่างมาบังคับใช้ไหง “ห้ามรณรงค์” ซึ่งก็คล้าย “ห้ามหาเสียง” เพียงบอกว่าประชาชนมีเสรีภาพแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ได้โดยสุจริตใจ นอกจากเพิ่มข้อห้ามยังมีการตีความหลากหลาย โดยไม่รู้ใครมีอำนาจชี้ขาดกันแน่

เช่นบอก “ไม่รับ” ได้ แต่ใช้สำนวน “คว่ำ” ไม่ได้ “ชี้นำ” ไม่ได้ “จูงใจ” ไม่ได้ คนเราพูดชี้แจงแสดงเหตุผลก็ต้องหวังผลจูงใจชักนำความคิดไม่ใช่หรือ ถ้าจะผิดก็ต้องจูงใจโดยอามิสสินจ้าง หรือใช้อำนาจบังคับ แม้แต่พูดคำหยาบหรือปลุกระดม ประชาชนคนฟังก็มีสติคิดได้เอง

ยกตัวอย่าง คุณจีรพันธ์ ตันมณี เท่าที่มีสื่อก๊อบข้อความมาลง ก็พบว่าใช้คำหยาบด่ากราดสับสน ตั้งแต่กรธ. คสช. ไปจนยิ่งลักษณ์ ทักษิณ (เธอเป็นเสื้อเหลืองไม่ใช่เสื้อแดง ไม่พอใจเรื่องรัฐสวัสดิการและมาตรา 178) ถามว่าถ้อยคำ อย่างนี้จูงใจใครได้ ถ้าจะผิดก็ฐานหมิ่นประมาท ไม่เห็นต้องถึงขั้นคุก 10 ปี

แต่การตีความตอนนี้สับสนไปหมด โดยแต่ละท่านที่พูดก็มีอำนาจ จนประชาชนไม่รู้จะฟังใครดี กกต.สมชัยบอกโพสต์ เฟซบุ๊กได้ ส่งไลน์ได้ ติดป้ายหน้าบ้านยังได้ สื่อ มหาวิทยาลัย จัดเวทีได้ (แต่ไม่ยักบอกว่าใส่เสื้อ Vote No, Vote Yes ได้ไหม) กรณี อ.มหิดลแจกใบปลิวท่านว่าทำได้ แต่คสช.ยังยืนกรานว่าผิด ชาวบ้านก็งง ไม่รู้ใครมีอำนาจชี้ขาด แต่ที่แน่ๆ กกต.สมชัยยอมรับว่าถึงไม่ผิดพ.ร.บ.ประชามติก็อาจขัดประกาศคำสั่งคสช. ซึ่งกกต.ไม่รับรู้ด้วยนะ ไปเสี่ยงกันเอง

อ้าว พูดอย่างนี้ใครจะกล้าจัดแสดงความเห็นต่าง ขาข้างหนึ่งอาจแหย่เข้าคุก ซ้ำยังเกิดเหตุการณ์บุกจับประชาชน 10 คน โดยวันแรก โฆษกคสช.พูดให้งงว่าผิดพ.ร.บ.คอมพ์ ส่วนจะผิดกฎหมายประชามติไหม ต้องสอบสวนก่อน จนวันที่สองค่อยไปขอหมายศาลว่าผิดความมั่นคงพร้อมเปิดเผย “ผังล้มรัฐบาล”

ใครผิดใครถูกเป็นอีกเรื่อง แต่หมุนเวลาย้อนไป ถ้าท่านขอหมายศาลก่อน (ก็ศาลทหารนั่นแหละ) จับกุมแล้วรีบแถลงข่าวเปิดเผยข้อกล่าวหา อย่างน้อยก็ไม่ทำให้ประชาชนวิตกกังวลว่าจู่ๆ ทหารบุกบ้านจับคนโดยไม่มีหมายศาล โดยไม่แจ้งข้อหาได้อย่างไร อย่างน้อยก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์น้อยกว่านี้ อย่างน้อยพลเมืองโต้กลับก็คงไม่ไปยืนเฉยๆ ให้ถูกจับอีก

นี่พอข่าวตอนแรกออกไปว่าอาจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้คนหวาดหวั่นว่าใช้ ม.44 จัดการคนไม่รับร่างหรือเปล่า

คสช. รัฐบาล กรธ. กกต. ควรตกลงกำหนดให้ชัด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ถ้ามีปัญหาก็ต้องแก้กฎหมาย เปิดกว้างให้แสดงความเห็น ประเด็นสำคัญคือไม่ควรใช้ ม.44 กับคนเห็นต่างระหว่างทำประชามติ เพราะจะทำให้ประกาศคำสั่งคสช. “ใหญ่กว่า” กฎหมายประชามติ และจะทำให้ประชามติสูญเสียความน่าเชื่อถือ

แหมอุตส่าห์ทำประชามติ “ขอเวลาอีก 5 ปี” ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านมาบังคับใช้แล้วไม่ศักดิ์สิทธิ์ จะมีความหมายอะไร เดี๋ยวก็วุ่นวายใหม่

ถ้าเชิญองค์กรระหว่างประเทศสังเกตการณ์ได้ก็เชิญสิครับ “เจตนาบริสุทธิ์” จะต้องกลัวอะไร ไม่จำเป็นต้องเปิดพจนานุกรม เพราะแค่เริ่มต้น สมาชิกสภาอาเซียนก็กังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ การทำประชามติปิดกั้นความเห็นต่าง แล้วแทนที่รมว.ต่างประเทศจะปฏิเสธว่าไม่ได้ปิดกั้น กลับพูดว่าร่างรัฐธรรมนูญทำให้ใครเสียหายหรือเจ็บปวดนักหรือถ้าไม่ได้แสดง ความคิดเห็น เป็นงั้นไป

วิษณุ เครืองาม พูดหน้าตาเฉยว่าประชามติไม่มีการแข่งขัน ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่ต้องมาสังเกตการณ์ แหม ก็จริงอย่างท่านว่า ไม่มีการแข่งขัน ใช้คน 3 แสน “พูดข้อดี” ไม่ได้บอกให้รับ แต่อาจารย์คนเดียวแจกใบปลิว “ไม่รับ” จะถูกจับ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบจริงๆ

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar