ชุมนุม 19 กันยา : แก้วสรร อติโพธิ หนุนอธิการบดี งดใช้ธรรมศาสตร์เป็น “ฐานทัพละเมิดรัฐธรรมนูญ-ซ่องสุมม็อบ”
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กลุ่มหนึ่งประกาศจุดยืนสนับสนุนผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้ปฏิเสธการใช้พื้นที่ มธ. ท่าพระจันทร์ จัดชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. โดยให้เหตุผลว่า "ไม่ต้องการให้ใช้มหาวิทยาลัยเป็นที่ซ่องสุม แล้วเทม็อบใส่ทำเนียบฯ"
วงหารือของศิษย์เก่า มธ. ราว 30 คน เกิดขึ้นที่ห้องประชุมคณะศิลปศาสตร์ มธ. ในเวลาไม่ถึง 4 ชั่วโมง หลังจากแกนนำนักศึกษาในนามกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" เปิดแถลงข่าวยืนยันว่าจะใช้ มธ. ท่าพระจันทร์ เป็นสถานที่จัดการชุมนุม พร้อมเปิดปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
นายแก้วสรร อติโพธิ ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ รุ่นปี 2512 กล่าวว่า การออกมาเคลื่อนไหวของศิษย์เก่า มธ. ครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับว่าประเด็นการพูดถึงหรือไม่พูดถึงการปฏิรูปสถาบันฯ และไม่เกี่ยวกับการรักหรือไม่รัก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แต่เป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับสิทธิการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
"ในฐานะที่เราเป็นชาวธรรมศาสตร์ เราไม่ต้องการเห็นธรรมศาสตร์เป็นฐานทัพของการละเมิดรัฐธรรมนูญ และทำให้บ้านเมืองฉิบหาย" นายแก้วสรรอธิบายที่มาที่ไปที่ทำให้ศิษย์เก่า มธ. ราว 30 คนมารวมตัวกันในวันนี้ (11 ก.ย.)
- ชุมนุม 19 กันยา: "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ยืนยัน 2 เงื่อนไข จัดชุมนุมใน มธ. และปราศรัยปฏิรูปสถาบันฯ
- ชุมนุม 19 กันยา: "แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ" ประกาศเคลื่อนขบวนยึดสนามหลวง หากมวลชนล้น มธ.
- ไทยภักดี : วรงค์ลั่นไม่มี "ม็อบชนม็อบ" ประกาศล่าชื่อประชาชนป้องขบวนการ "ล้มประชามติ" รัฐธรรมนูญ 2560
- "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" : นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ "ขยับเพดาน"
- 85 ปีปฏิวัติสยาม: 83 ปีเปลี่ยนผ่านของ "มรดกคณะราษฎร" ที่ธรรมศาสตร์
นายแก้วสรรเป็นอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยคณะรัฐประหารปี 2549 เพื่อตรวจสอบคดีทุจริตในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร
มาวันนี้เขาสวมบท "ผู้พิทักษ์ธรรมศาสตร์" จากกลุ่มคนที่เขามองว่าเป็น "เผด็จการ" ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องมาในรูปทหารเท่านั้น แต่สามารถมาในรูปนายกฯ เลือกตั้ง และในรูปม็อบก็ได้ด้วย หากไม่ยอมรับสิทธิของคนอื่น และไม่รู้จักสถาบัน เห็นว่าจะทำอะไรก็ได้ โดยลืมคำว่าส่วนรวมไป
"เพนกวิน (นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม) และน้อง ๆ กำลังใช้สิทธิเกินส่วน คุณเป็นเผด็จการ เราไม่ยอมรับ" ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์วัย 69 ปีกล่าว
ก่อนปิดห้องพูดคุยกับบรรดาพี่ เพื่อน น้องร่วมสถาบัน นายแก้วสรร ผู้เคยเป็นอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดี มธ. ได้แวะไปพบปะ รศ. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. เพื่อกำหนดวันนัดหมายเข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัย ขอให้ระงับการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.
"อธิการบดีนั่งอยู่คนเดียว ดูกลัดกลุ้มมาก แต่พอได้คุยกัน สุ้มเสียงเขาก็ดูมีกำลังใจขึ้น ดังนั้นเราต้องการบอกเขาว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียว จึงเชิญอธิการบดีให้มารับกำลังใจในวันที่ 16 ก.ย. นี้ ในฐานะคนที่ยืนอยู่เพื่อส่วนรวม" นายแก้วสรรเล่าให้ศิษย์เก่า มธ. ฟัง
วานนี้ (10 ก.ย.) มธ. ได้เผยแพร่เอกสารระบุว่าทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ใช้พื้นที่ มธ. ท่าพระจันทร์ จัดกิจกรรม โดยให้เหตุผลว่า "หนังสือที่ขออนุญาตไม่ตรงกับเงื่อนไขให้จัดการชุมนุมได้"
นายแก้วสรรได้ขอฉันทามติจากที่ประชุม ต่อร่างหนังสือเปิดผนึกที่ใช้ชื่อว่า "ปิด...มธ. พอกันทีวีรชน"ที่จะยื่นต่อ รศ. เกศินี และ ศ.พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัย ในสัปดาห์หน้า พร้อมชี้แจงแสดงเหตุผลไว้ ดังนี้
1. เป้าประสงค์ของการชุมนุม ผู้จัดระบุว่าจะชุมนุม 1 วัน 1 คืน จากนั้นจะเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล พร้อมประมาณการผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นคน นายแก้วสรรเรียกว่าเป็น "การระดมคนเข้ามาตั้งไว้ แล้ววันรุ่งขึ้นก็เทม็อบใส่ทำเนียบฯ" ซึ่งไม่ใช่การใช้สิทธิชุมนุมที่เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
2. การอ้างถึงความสงบ กลุ่มศิษย์เก่า มธ. มองว่าคุณภาพของผู้ชุมนุมเป็น "มวลชนแห่งความจงเกลียดจงชังที่ผ่านการปลุกปั่นในโลกไซเบอร์ เมื่อออกจากทวิตเตอร์มารวมตัวกันจริง ๆ บนท้องถนนแล้วก็ยิ่งก้าวร้าว"
นายแก้วสรรบอกเล่าประสบการณ์ในเชิงเปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 กับการนัดหมายชุมนุมของนักศึกษารุ่นน้อง 19 ก.ย. 2563 โดยชี้ว่าการประท้วงเมื่อ 47 ปีก่อนเกิดขึ้นเพราะมีการจับผู้นำนักศึกษา 13 คน ส่วนตัวคิดว่านายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาในเวลานั้น "ไม่ได้นึกว่าพอได้ที เราจะเทออกไปข้างนอก แต่ที่ออกไปคือเพื่อประท้วง ไม่ได้พุ่งเป้าว่าต้องการไปแสดงพลังอะไรทั้งสิ้น"
ชายวัย 69 ปียังอ้างถึงบทสนทนากับ "รุ่นพี่" คนหนึ่งที่ไม่ได้เปิดเผยนาม ซึ่งให้ความเห็นไว้ว่าในยุคก่อนชุมนุมอยู่ตั้งนานถึงออกไปบนถนน แต่ยุคนี้นัดวันเดียวแล้วออกไปเลย เพราะมีการชุมนุมในไซเบอร์เป็นปี ๆ เพื่อสร้างข้อถกเถียง สร้างคนหนุ่มสาวให้เลือกพรรคการเมือง แต่ครั้งนี้สร้างความเกลียดชัง และทำให้เกิดความเป็นพวกเป็นหมู่
"ถ้าทำเก่ง ๆ ก็เป็นเรดการ์ด (ยุวชนแดงในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน) หรือยุวชนนาซี (เยาวชนที่จัดตั้งโดยพรรคนาซีของเยอรมัน เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์แบบอดอล์ฟ ฮิตเลอร์) ได้ ดังนั้นไม่ต้องจัดตั้งมาก เพราะเป่านกหวีดในโซเชียลอยู่แล้ว ทำให้เกิดความดุร้าย นี่คือสิ่งที่เรียกว่าสงบแต่ปาก" นายแก้วสรรกล่าว
3. ความสุ่มเสี่ยง กลุ่มศิษย์เก่า มธ. มองไม่เห็นความสามารถในการนำ ควบคุม จัดการ และคุ้มครองผู้ชุมนุมของบรรดาแกนนำ
นายแก้วสรรยกอีกโศกนาฏกรรมทางการเมืองไทยมาขย่มขวัญ โดยชี้ว่าเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ปี 2535 เกิดขึ้นเพราะแกนนำประกาศเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบฯ ในเวลา 19.00 น. จนเกิดการปะทะและบาดเจ็บล้มตายของ "วีรชน" ศิษย์เก่า มธ. จึง "ไม่ต้องการให้ใช้มหาวิทยาลัยเป็นที่ซ่องสุม แล้วเทม็อบใส่ทำเนียบฯ"
4. ความไม่น่าไว้วางใจ กลุ่มศิษย์เก่า มธ. ไม่เชื่อว่านักศึกษากลุ่มนี้มีการนำและการจัดการโดยอิสระลำพังกลุ่มตนเอง แต่แทนที่ "คนข้างหลัง" จะกล้าประกาศตัวอย่างโปร่งใส กลับดันให้เด็กนักศึกษาไม่กี่คนมาออกหน้า อีกทั้งยังวิจารณ์ว่ามีพฤติกรรม "ลับ ๆ ล่อ ๆ" โดยอาศัยพื้นที่ มธ. เป็นฐานที่ตั้ง เพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ ก่อนออกไปอาละวาดข้างนอกทั้งยึดสนามหลวงและทำเนียบฯ ซึ่งนายแก้วสรรชี้ว่าเป็นการ "หนีอำนาจตามกฎหมายมาอยู่ใต้อำนาจของ มธ. ซึ่งมีแต่อาจารย์เกศินีและอาจารย์นรนิตินั่งปกครองอยู่"
ร่างหนังสือของศิษย์เก่า มธ. กลุ่มนี้ระบุในช่วงท้ายว่า มธ. จะมีส่วนร่วมด้วยไม่ได้ เพราะ "คำขอจัดชุมนุมครั้งนี้ไม่สุจริต ไม่โปร่งใส ไม่มีความสามารถและความรับผิดชอบที่ต่ำกว่ามาตรฐานประชาธิปไตย จนไม่อาจรับรองให้ชุมนุมโดยอิสระในสถานศึกษาได้"
การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ
ในวันที่ 19 ก.ย. ถือเป็นการจัดกิจกรรมครั้งที่ 2
หลังจากทางกลุ่มเคยจัดการชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่ มธ.
ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งมีการประกาศ 10
ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
โดยแกนนำจัดการชุมนุมต่างยืนยันว่า "จะไม่ลดเพดาน" และ "จะไม่หยุดพูด
เพียงเพราะใครมาห้ามไม่ให้พูด"
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar