"หมู่อาร์ม" ขึ้นศาลทหาร ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
.
วันนี้ (8 ก.ย.) ศาลทหารกรุงเทพฯ
นัดตรวจคำให้การในคดีที่อัยการศาลทหารสั่งฟ้อง ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ
"หมู่อาร์ม" อดีตทหารชั้นประทวน สังกัดกรมสรรพาวุธ กองทัพบก
ในข้อหาขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาและหนีราชการ
.
การดำเนินคดีกับหมู่อาร์มมีขึ้นหลังจากเขาออกมาเปิดโปงการทุจริตเบี้ยเลี้ยงทหารในหน่วยงานต้นสังกัด
ความเคลื่อนไหวของเขาทำให้แฮชแทก #saveหมู่อาร์ม ติดอันดับยอดนิยมในทวิตเตอร์อยู่ช่วงหนึ่ง
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง
ซึ่งหมู่อาร์มปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ
นัดต่อไปศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 5 พ.ย.
.
หมู่อาร์มคือใคร และเกิดอะไรขึ้นกับเขา หาคำตอบได้จากรายงานชิ้นนี้
หมู่อาร์ม : จากผู้เปิดโปงทุจริตเบี้ยเลี้ยงทหาร ถึง “ทหารผิดวินัย” และ “คนเถื่อน”
ไม่กี่ชั่วโมงหลังกองทัพบก (ทบ.) ออกมาไล่เลียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือหมู่อาร์ม โดยชี้ให้เห็นว่านายทหารชั้นประทวนรายนี้กระทำ "ผิดวินัยทหาร" ล่าสุดผู้ถูกพาดพิงได้ร่วมเวที "ปฏิรูปกองทัพ" ที่หอประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว พร้อมเปิดใจกับบีบีซีไทยว่าเหตุที่ลุกขึ้นมาเปิดโปงกรณีทุจริตเพราะ "ความน้อยใจส่วนตัว"
"ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีที่อยู่ หางานทำไม่ได้ เหมือนคนเถื่อนคนหนึ่ง" คือสถานะล่าสุดของ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือหมู่อาร์ม ที่เขานิยามให้บีบีซีไทยฟัง หลังออกมาเปิดเผยเรื่องราวการทุจริตเบี้ยเลี้ยงทหารในหน่วยงานต้นสังกัดของเขา
หมู่อาร์มเข้ารับราชการตั้งแต่ปี 2554 มีตำแหน่งล่าสุดเป็นเสมียนงบประมาณแผนกโครงการและงบประมาณ กองแผนและโครงการ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์ กรมสรรพาวุธทหารบก
ด้วยตำแหน่งที่รับผิดชอบ ทำให้เอกสารเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ ผ่านมือ-ผ่านตาของเขา โดยที่เจ้าตัวต้องแปลกใจเมื่อมีชื่อตัวเองปรากฏในรายการ "เบิกค่าเดินทางไปราชการ" ทั้งที่ไม่ได้ไปไหน ทว่าสิ่งที่ทำได้คือ "ตกใจ" แต่ "ขัดไม่ได้"
"ถ้าขัดปุ๊บ จะโดนดำเนินการทางวินัย ไม่ดื้อดึงขัดขืนบ้าง ก็อาจจะโดนเหมือนผมน่ะครับ ถ้าป่วยก็ไม่ให้ลาป่วย ลาป่วยก็จะลงขาดราชการ ก็ผิดวินัยทหาร" ส.อ.ณรงค์ชัยกล่าว และขอสงวนสิทธิที่จะพูดถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตดังกล่าวโดยบอกเพียงว่า "ผมพูดไม่ได้"
อย่างไรก็ตามเขายอมรับเป็นครั้งแรกว่าฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ลุกขึ้นมา "พลีชีพ" คือ "ความน้อยใจส่วนตัว" ที่พัฒนาสู่ "ความเก็บกด" จากการถูกเลือกปฏิบัติ โดยหมู่อาร์มเล่าว่าต้องขับแท็กซี่เป็นอาชีพเสริม เนื่องจากเงินเดือนทหาร 1.4 หมื่นบาทไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ทำให้บางวันที่ไปรวมแถวในช่วงเช้าไม่ทันและถูกจำหน่ายว่าขาดแถว ซึ่งส่งผลต่อการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี
"เราก็ยอมรับในสิ่งนั้น พอยอมรับสิ่งนั้น อ้าว.. แล้วเด็กนายล่ะ ทำไมเขาไม่มารวมแถว ทำไมเขาทำได้ แต่งานผมรีบทำให้จบ ให้เสร็จ ให้ดี งานในหน้าที่ไม่เคยขาดตกบกพร่อง แค่นี้ผู้บังคับบัญชาให้กันไม่ได้ แต่เวลาเอาเงินทหารชั้นผู้น้อย ทุจริต เอาได้ ผมว่ามันไม่แฟร์แล้ว เป็นการกดขี่ข่มเหงโดยที่ผู้บังคับบัญชาไม่ใส่ใจล่ะ" ส.อ.ณรงค์ชัยกล่าว
เมื่อ 4 มิ.ย. กองทัพบกออกมาแถลงชี้แจงว่า ส.อ.ณรงค์ชัยถูกดำเนินคดีจากการหนีราชการบนฐานความผิดวินัยทหาร ไม่ใช่จากเหตุนำข้อมูลการทุจริตไปเผยแพร่ ส่วนประเด็นทุจริต ทบ. ได้สั่งสอบสวนทันที ขณะนี้ส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว
"บางบุคคลเข้าใจว่า ผบ.ทบ. ทราบเรื่องข่าวการทุจริตแล้ว ยังสั่งให้มีการดำเนินคดีกับ ส.อ.ณรงค์ชัย ฐานหนีราชการ ทั้งที่ ส.อ.ณรงค์ชัยเป็นคนนำเรื่องมาเปิดเผยให้ ทบ. นั้น ในข้อเท็จจริง ผบ.ทบ. ไม่ได้มีการสั่งการเกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อกำลังพลดังกล่าว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการดำเนินการตามสายการบังคับบัญชาของหน่วยต้นสังกัด" โฆษก ทบ. ระบุ
ลั่น "ไม่เหลือความกลัวอะไร-ไม่ต้องสั่งเสียครอบครัว"
ขณะนี้นายทหารชั้นประทวนวัย 33 ปีอยู่ระหว่างการ "หนีทหาร" หลังขาดราชการเกิน 15 วันนับจาก 18 มี.ค. 2563 โดยต้นสังกัดมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลทหารพิจารณาออกหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ฐานหนีราชการในเวลาปกติ ต้องระวางโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 7 ปี นอกจากนี้คณะกรรมการสอบสวนผิดวินัยร้ายแรงของ ทบ. ยังสรุปความเห็นว่านายทหารชั้นประทวนรายนี้ "ผิดจริงต้องถูกลงทัณฑ์" ด้วยการปลดออกจากราชการ
"ผมไม่เหลือความกลัวอะไรแล้ว ถ้าจะออกหมายจับมา ออกมาเลยครับ รีบออกมาเลย เดี๋ยวผมไปมอบตัว ผมไม่หนีไปไหนครับ" เขาบอก
ด้วยสถานะ "ชายโสด" ซึ่งมีเพียงลุงกับป้าเป็นพ่อเลี้ยงและแม่เลี้ยง ทำให้หมู่อาร์มไม่มีห่วงใด ๆ หลังออกมาท้ารบกับผู้บังคับบัญชา ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบุตรชายบุญธรรมย่อมส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างไม่อาจปฏิเสธ
"เขาก็ตกใจที่มีทหารไปที่บ้าน บอกว่าผมหนี จะตามตัวผมกลับไปรับโทษ แต่คือท่านไม่ได้ทราบความจริงทั้งหมดว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร พอผมไล่เรียงไปหมดแล้ว ท่านเลยรับทราบว่าอ๋อมันเป็นอย่างนี้ ก็ยังบอกว่าแล้วมึงไปยอมทำไมตั้งแต่แรก นี่คือคนเป็นพ่อเป็นแม่ผมนะ... ไม่ต้องสั่งเสียหรอกครับ คือพ่อแม่ผม ประชาชนได้รู้แล้ว วันหนึ่งผมตายไป ไม่ต้องโทษใครเลยครับ ประชาชนรู้อยู่แล้ว และผมก็ได้สร้างสิ่งหนึ่งที่มันยิ่งใหญ่แล้วคือกองทัพบกออกมายอมรับแล้วว่ามันมีการทุจริตจริง"
สิ่งที่นายสิบทหารตั้งใจจะทำหลังจากนี้คือการพิสูจน์ว่าการกดขี่ข่มเหงผู้ใต้บังคับบัญชามีอยู่จริง แต่ถึงกระนั้นเขายอมรับว่าไม่มีหลักฐานในมือ หลังโลกออนไลน์เผยแพร่คลิปวิดีโอ พล.ต.อภิชาติ อาจสันเทียะ ผู้บังคับบัญชาการศูนย์ซ่อมสร้างฯ กำลังกล่าวอบรมหมู่อาร์ม โดยที่เจ้าตัวระบุว่าคลิปดังกล่าวอัดในห้องผู้บังคับบัญชาเมื่อ 13 มี.ค. ขณะที่นายสิบอย่างเขาไม่ได้รับอนุญาตแม้กระทั่งการนำโทรศัพท์เข้าไปขณะยกพานดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมานาย
"จะบอกว่าข่มขู่ไหม ต้องบอกว่ามันเป็นคำพูดที่ทำให้ผมรู้สึกไม่สบายใจ และก็เป็นคำพูดที่ทำให้ผมรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เหมือนเป็นการคุกคามผมทางอ้อมด้วยคำพูดที่ว่า 'กูเคยขังคนมาคนหนึ่งแล้ว ปัจจุบันมันตายไปแล้ว มึงจะเป็นคนที่สอง กูไม่อยากให้มึงเป็นคนที่สอง' แต่ข้อความเหล่านี้ถูกตัดออกจากคลิป" หมู่อาร์มอ้าง พร้อมเรียกร้องให้นำคลิปเวอร์ชั่นเต็ม-ไม่ตัดต่อมาเปิดเผยต่อสาธารณะ
ไม่มีเนื้อหานี้
ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.สิ้นสุด Facebook โพสต์, 1
ทบ. บอกเข้าใจความรู้สึก
อย่างไรก็ตามในการชี้แจงของ ทบ. เมื่อ 4 มิ.ย. ระบุว่าเข้าใจความรู้สึกของ ส.อ.ณรงค์ชัยที่อาจมีความวิตกกังวลและเครียดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่ปลอดภัย หากมีหลักฐานองค์ประกอบหรือถูกกระทำก็สามารถใช้ช่องทางการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายบ้านเมืองปกติได้ น่าจะเหมาะสมที่สุด ในส่วนของ ทบ. พร้อมให้ความร่วมมือในทางคดีตามความเป็นจริง
ส่วนเรื่องคลิป ฝ่ายเสนาธิการได้พิจารณาแล้ว "เป็นการอบรมและขอขมากัน" ในประเด็นผิดวินัยระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย เมื่อเดือน ก.ย. 2562 และในบทสนทนาก็ "ไม่ใช่เรื่องคดี เรื่องการทุจริต และไม่มีลักษณะการขู่อาฆาตแต่อย่างใด"
ซัด"สายตรง ผบ.ทบ." คือการ "ฆ่าผู้น้อยทางอ้อม"
ภาพ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ปาดน้ำตา พร้อมเอ่ยคำขอโทษต่อโศกนาฏกรรมกราดยิงที่โคราชเมื่อ 8 ก.พ. เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 30 ราย และบาดเจ็บ 58 ราย อาจยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน
มูลเหตุของเรื่องนี้เกิดจากการที่ "มือปืน" คือ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา นายทหารชั้นประทวนสังกัดกรมสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาระดับ "นายพัน" กรณีซื้อขายที่ดิน เป็นผลให้ "แม่ทัพบก" ประกาศเปิด "สายตรง ผบ.ทบ." ให้กำลังพลร้องทุกข์ร้องเรียนได้ ภายใต้คำขวัญ "ทุกเรื่องคือความลับ ทุกเรื่องถึง ผบ.ทบ."
ทว่า "ความลับที่ถูกเปิดเผย" ทำให้ ส.อ.ณรงค์ชัยรู้สึกว่า "ทำดี ไม่ได้ดี" จึงตำหนิ พล.อ.อภิรัชต์ว่า "ไม่จริงใจ" ในการรับฟังและช่วยเหลือนายทหารข้างล่าง
"ทหารผู้น้อยหลายคนหลังไมค์กับผม ภายในวันเดียวพันกว่าคน นายสิบทั้งประเทศ ย้ำนะครับว่าทั้งประเทศส่งข้อมูลมาว่าผมถูกปลดบ้าง ผมต้องลาออกบ้าง ผมต้องอะไรบ้าง ผมอึดอัด โดนกลั่นแกล้งบ้าง ท่านเคยได้รับเรื่องเหล่านี้ไหมครับ 600 เรื่องที่ท่านบอกยังไม่เท่ากับที่ผมได้รับเลย เพราะอะไรครับเพราะความจริงใจมันต้องกัน บอกท่านไป ผมตาย แต่บอกผม ผมก็ยังไปบอกต่อได้ ผมยังสามารถเดินช่วยแก้ปัญหาตรงนี้มันน่าจะดีกว่า" นายทหารที่โทรติดต่อ "ช่องทางลับ" ของ ผบ.ทบ. ถึง 4 ครั้งระบุ
เขายังกล่าวในเชิงประชดประชันว่าพร้อมเป็นทีมงาน "สายตรง ผบ.ทบ." เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและสอบสวนทางลับโดยแท้จริง ไม่ใช่ทำแบบปัจจุบัน ซึ่งเป็นการ "ฆ่าผู้น้อยทางอ้อม" เนื่องจากผู้ร้องทุกข์ต้องระบุชื่อ-ตำแหน่ง จึงถูกเช็คบิลได้โดยง่ายโดยคนข้างบน
เผยมีแนวคิดโอนไปสังกัดท้องถิ่น แต่ติดหนี้สหกรณ์ 3.5 แสน
ย้อนกลับไปปี 2548 ณรงค์ชัยสมัครเป็นทหารเกณฑ์ผลัด 1 สังกัดกองทัพอากาศ เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือสังคม จากนั้นได้เข้าศึกษาหลักสูตรจ่าอากาศตรีกองประจำการ ก่อนย้ายมาสมัครเป็นนายทหารสังกัดกองทัพบกในปี 2554
ถึงวันนี้ ทัศนคติต่อกองทัพของชายผู้รับราชการทหารมา 9 ปีเปลี่ยนไปมาก หลังพบว่าสวัสดิการไม่ดีจริง และยังเกิดกรณีทุจริต จึงไม่มีอะไรต้องเสีย
เขายังสารภาพด้วยว่ามีแนวคิดย้ายโอนไปเป็นข้าราชการท้องถิ่นนานแล้ว แต่ติดระเบียบของทางราชการที่ว่าต้องใช้หนี้คงค้างให้หมด ถึงจะลาออกจากราชการหรือโอนตัวได้ โดยที่หมู่อาร์มได้กู้หนี้สหกรณ์กองทัพบกไว้ 3.5 แสนบาทเพื่อเป็นสารพัดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ซื้อเครื่องแบบ, ขนย้ายของเข้าแฟลตทหาร, ค่ากินอยู่รายวัน กระทั่งเงินดาวน์รถยนต์
"พอเป็นหนี้แล้ว เราไม่สามารถออกได้ ต้องหาเงินมาโปะให้หมด แล้วผมจะเอาเงินที่ไหน มันก็เลยกลายเป็นประเด็นว่าออกก็ออกไม่ได้ หวานอมขมกลืนอยู่อย่างนี้ มันก็อึดอัด"
เขาระบุด้วยว่า ท้ายที่สุดหากต้นสังกัดไม่มีคำสั่งปลดเขาออกจากราชการ และให้กลับเป็นทหารเหมือนเดิม "ผมนี่ล่ะครับจะขอรับบริจาคจากประชาชน เพราะพ่อแม่ผมไม่ได้มีเงิน ขอแค่เงินใช้หนี้สหกรณ์ เสร็จแล้วผมจะรีบโอนย้ายหนี ผมไปกู้หน่วยงานใหม่มาคืนประชาชนก็ได้ เพราะผมไม่อยากอยู่แล้ว"
ที่มาที่ไปจาก "ผู้ร้องทุกข์" กลายเป็น "ผู้ทำลายกองทัพ" ?
ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะ, คำแถลงของโฆษก ทบ. เมื่อ 4 มิ.ย. และคำแถลงของ ส.อ.ณรงค์ชัยเมื่อ 5 มิ.ย.
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar