จากสนามหลวงสู่สนามหวง: เมื่อการเมืองถูกไล่ออกจากพื้นที่สาธารณะ https://prachatai.com/journal/2020/09/89468
หลังแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยพริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) รวมทั้งภาณุพงศ์ จาดนอก ประธานกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ประกาศชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในชื่อ "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" เตรียมพร้อมเคลื่อนขบวนยึดพื้นที่สนามหลวงปักหลักค้างคืน หากมวลชนล้นพื้นที่มหาวิทยาลัย นำมาสู่การตั้งคำถามว่า พื้นที่สนามหลวงเป็นของใคร และใช้ในการชุมนุมทางการเมืองได้หรือไม่
แม้สนามหลวงจะเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ตั้งแต่ 13 ธ.ค. 2520 หากสถานะโบราณสถานนี้ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษา แต่ไม่กระทบต่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน เห็นได้จากระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการใช้ การบํารุง และการดูแลรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2555 ยังกำหนดให้สนามหลวงเป็นพื้นที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย รวมถึงใช้เพื่อจัดงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานประเพณีสำคัญของชาติโดยหน่วยงานของรัฐ และการจัดการแข่งขันกีฬาไทยประจำปี
เดิมสนามหลวงเป็นพื้นที่สาธารณะ เปิดให้ประชาชนเข้าใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทว่าหลังการปิดปรับปรุงภูมิทัศน์ตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้งบกว่า 181 ล้านบาท สนามหลวงโฉมใหม่ก็มาพร้อมรั้วเหล็กล้อมรอบ และกำหนดเวลาเปิด-ปิด ตามมาด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณทางเท้าอีกครั้งในเดือน ธ.ค. 2562 จนประชาชนแสดงความไม่พอใจที่ไม่สามารถใช้ทางเท้ารอบสนามหลวงได้ แต่ ผอ.เขตพระนคร ชี้แจงผ่านเดลินิวส์ว่า จริงๆ แล้วบริเวณทางเท้ารอบสนามหลวงนั้นไม่ได้เปิดให้ผู้คนสัญจร และมีการวางแผงกั้นมานานแล้ว เพราะพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการทำกิจกรรมพระราชพิธีต่างๆ จึงต้องทำการกั้นไว้ อีกทั้งป้องกันคนจรจัดที่จะเข้าไปนอนในพื้นที่สนามหลวงอีกด้วย
แสดงให้เห็นว่า แม้สนามหลวงจะยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ กรุงเทพมหานครกำลังจำกัดการใช้ประโยชน์สนามหลวงของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการปรับปรุงภูมิทัศน์
นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพแล้ว ในแง่ของการเป็นพื้นที่ทางการเมือง สนามหลวงเคยเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงไม่กี่ปีมานี้ เช่น
- 2 มี.ค. 2500 ประชาชนรวมตัวประท้วงการเลือกตั้งสกปรก
- 3 ก.พ. 2518 ศูนย์นิสิตฯ เปิดอภิปรายเรื่องถังแดง เรียกร้องให้รัฐบาลยุบ กอ.รมน. ยุติการสังหารประชาชน
- 4 ต.ค. 2519 ประชาชนชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศไทยของพระถนอม
- 17 พ.ค. 2535 ประชาชนชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรัฐประหาร
- 26 ก.พ. 2549 กลุ่มพันธมิตรชุมนุมไล่ทักษิณ ชินวัตร และต่อต้านระบอบทักษิณ
- 10 ธ.ค. 2549 เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร และกลุ่มอิสระอื่นๆ จัดชุมนุมทุกวันอาทิตย์ ต่อต้านการรัฐประหารของ คมช.
- 23 มี.ค. 2550 นปก. (ภายหลังคือ นปช.) ชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร
- 17 ส.ค. 2552 คนเสื้อแดงชุมนุมเพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ทักษิณ ชินวัตร
- 31 ม.ค. 2552 นปช. ชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภา
ทั้งกรุงเทพมหานครยังส่งเสริมให้ใช้พื้นที่เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ความรับผิดชอบ และจิตสำนึกในเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการขอใช้พื้นที่สนามหลวงเพื่อการจัดกิจกรรม พ.ศ. 2543 ก่อนระเบียบนี้จะถูกแก้ไขในยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และห้ามใช้จัดงานที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ก.ย. 2555
อย่างไรก็ตาม แม้ระเบียบจะห้าม แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่สนามหลวงอีกหลายครั้ง บางครั้งปักหลักเป็นเวลาหลักเดือน โดยยังไม่พบข้อมูลการดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกโบราณสถานแต่อย่างใด เช่น
- 7 พ.ค.-12 ก.ค. 2556 แนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดินชุมนุมต่อต้านการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลก และไล่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
- 17 มิ.ย. 2556 กลุ่มคนไทยรักชาติรักแผ่นดินและกลุ่มพลังธรรมาธิปไตยชุมนุมขอนายกพระราชทาน
- 24 พ.ย. 2556 กปปส. ชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
- 6 ต.ค. 2558 ประชาชนจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
- 1 พ.ค. 2559 จัดวันแรงงานแห่งชาติปีล่าสุดที่สนามหลวง
ทั้งนี้ ประชาไทใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ทำหนังสือสอบถามข้อมูลไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับสถานภาพและเงื่อนไขการใช้พื้นที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2563 และอยู่ระหว่างรอความชัดเจนในเรื่องนี้
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar