torsdag 15 oktober 2015

3 ทหารเสือ กรรมการร่างฯ "รธน.มีชัย" เอาไว้คุมกำเนิดประชาธิปไตย???

วิเคราะห์/ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
3 ทหารเสือ กรรมการร่างฯ เปิดสูตรปรองดอง "รธน.มีชัย"http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1444910949

ในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมามีความพยายามค้นหาหนทางเพื่อนำไปสู่การปรองดองหลายครั้งหลายครา ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา

หลายครั้งการพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง คือการเขียนรัฐธรรมนูญ

หลังการรัฐประหาร 2549 ก็มีการพูดถึงความปรองดอง กลไกที่ใช้ดับไฟขัดแย้งก็คือรัฐธรรมนูญ 2550

ระหว่างบรรทัดที่มีการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 กลับไม่ได้นำมาสู่หนทางปรองดอง กลับถูกวิจารณ์จากทุกขั้วข้างการเมืองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย


ภายหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 มีความพยายามเรื่องการปรองดองทั้งในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่บรรจุรวมอยู่มาตรา 35 ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" เป็นประธาน ได้นำมาปฏิบัติ

เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญภาค 4 หมวดปฏิรูปและการปรองดอง โดยครั้งแรกได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติขึ้นมา ก่อนจะถูกแก้เป็นคณะกรรมการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) โดยมีต้นขั้วจากข้อเสนอของรัฐบาลและ คสช.

นั่นคือจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญต้องตกไปในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และใน Process ยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุด โดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี "มีชัย ฤชุพันธุ์" เป็นประธาน ได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาด้านความปรองดองขึ้นอีกคณะหนึ่ง

มี กรธ.ที่ถูกดึงเข้ามาเป็นคณะอนุฯ ประกอบด้วย 3 ทหารเสือใน กรธ.คือ พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และ พล.ต.วิระ โรจนวาศ อดีตผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญทหารบก รวมถึง อมร วาณิชวิวัฒน์ นักวิชาการรัฐศาสตร์จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาแนวทางการปรองดอง ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบันอีกครั้ง

"อมร" กล่าวว่า คณะอนุฯจะนำสิ่งที่แต่ละฝ่ายได้ศึกษามาในอดีตเอามาดูอย่างละเอียดอีกครั้ง เช่น คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่แล้ว นอกจากนี้สิ่งที่ละเลยไม่ได้คือ แนวทางปรองดองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา


แม้ว่าคณะอนุฯปรองดองยังไม่มีการนัดประชุมนัดแรก และยังไม่มีการตั้งใครเป็นประธาน แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณครั้งใหม่ถึงการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่หนทางปรองดอง

อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันกฎหมายปรองดองมาแล้วหลายฉบับ ที่เห็นเด่นชัดคือพยายามเสนอกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติในยุคพรรคเพื่อไทยอีก 5 ฉบับในช่วงที่เป็นเสียงข้างมากในสภา

1.ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน มีทั้งหมด 8 มาตรา ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ทั้งนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือมวลชน ไม่มีความผิดจากกระทำที่เกิดขึ้น แกนหลักสำคัญในการดึง พล.อ.สนธิเข้ามาร่วมเสนอร่างกฎหมายคือ พ.ต.อานันท์ วัชโรทัย สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อครั้งยังสวมเสื้อคลุมพรรคเพื่อไทย

2.ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนายสามารถ แก้วมีชัย และคณะ มีทั้งหมด 8 มาตรา เนื้อหาหลัก ๆ คล้ายกับ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ให้นิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกคน ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 พร้อมกับคืนสิทธิทางการเมืองให้กับผู้ที่ถูกตัดสิทธิในคดีที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร


3.ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนายนิยม วรปัญญา และคณะ มีทั้งหมด 5 มาตรา เนื้อหาสำคัญคือ ให้นิรโทษกรรมผู้ถูกกระทำ ผู้กระทำ รวมทั้งคนที่ได้รับผลกระทบหลังเหตุการณ์รัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ให้นิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร รวมทั้งบุคคล หรือองค์กรที่ทำตามคำสั่ง คมช.

4.ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และคณะ มีทั้งหมด 7 มาตรา เนื้อหาสำคัญคล้ายกับร่าง พ.ร.บ.ของ พล.อ.สนธิ และนายสามารถ คือให้นิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขัง โดยถือว่าไม่มีความผิด แต่ส่วนที่แตกต่างก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดในฐานก่อการร้ายและความผิดต่อชีวิต ซึ่งน่าจะหมายถึงบรรดาแกนนำ รวมทั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

5.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ และคณะ ที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้นมองว่าเป็นช่องทางนำไปสู่ปรองดอง เพราะไม่รวมแกนนำและผู้สั่งการที่เป็นตำรวจ และทหาร กระทั่งมีการเปลี่ยนหลักการของร่างกฎหมายจากไม่นิรโทษบุคคล แต่นิรโทษเป็นเหตุการณ์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร 2549

เป็นปฏิบัติการเปิดสูตรปรองดองรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย









Inga kommentarer:

Skicka en kommentar