onsdag 4 november 2015

เดือนสิบสองน้ำไม่นองตลิ่ง น้ำในเขื่อนวิกฤติ สัญญาณเตือนว่า. มหาภัยแล้ง..กำลังจะมาเยือน ..










โดยปกติเมื่อย่างเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ร่องมรสุมหรือร่องฝนก็จะเลื่อนลงมาทางใต้ของประเทศไทยหรือหายจากไป ซึ่งบ่งบอกว่าฤดูฝนของประเทศไทยตอนบน (นับจากภาคกลางขึ้นไป) ได้สิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ฤดูฝนของทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยกลับจะมีฝนชุกยิ่งขึ้นไปจนถึงเดือนมกราคมจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่ทวีกำลังแรงขึ้นในช่วงนี้ 

ในปี พ.ศ.2557 อาจนับได้ว่าเป็นปีที่มีปริมาณฝนต่ำสุดในรอบ 20-30 ปี แต่สำหรับปี พ.ศ. 2558 นี้กลับมีปริมาณฝนโดยรวมต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเสียอีก ซึ่งนั่นทำให้อาจกล่าวได้ว่าปีนี้ฝนแล้งที่สุดในรอบ 50 ปี หรือมากกว่านั้น

เมื่อตรวจสอบปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ (เขื่อนที่มีความจุของอ่างเก็บน้ำมากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร) ทั้งประเทศ จำนวน 33 เขื่อน พบว่ามีเขื่อนที่เก็บกักน้ำได้ไม่ถึงร้อยละ 30 จำนวน 4 เขื่อน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งได้แก่ เขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวงในจังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลมและเขื่อนกิ่วคอหมาในจังหวัดลำปาง และเมื่อตรวจสอบเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมดในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 7 เขื่อน ก็พบว่ามีเขื่อนที่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เกินร้อยละ 50 เพียงเขื่อนเดียวคือ เขื่อนสิริกิติ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ และที่เหลืออีก 2 เขื่อนก็เก็บกักน้ำไว้ได้ไม่ถึงร้อยละ 50 นั่นคือ เขื่อนภูมิพลในจังหวัดตาก และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนในจังหวัดพิษณุโลก

โดยภาพรวมของเขื่อนขนาดใหญ่ทุกเขื่อนในภาคเหนือมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี คาดว่าสิ้นฤดูฝนนี้ ปริมาณน้ำใช้การของทั้ง 7 เขื่อนรวมกันจะไม่ถึง 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรอย่างแน่นอน (ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั่วภาคเหนืออีก 70 อ่างรวมกันคงมีน้ำไม่เกิน 400 ล้านลูกบาศก์เมตร) และที่สำคัญกว่านั้นคือ เขื่อนขนาดใหญ่ทุกเขื่อนในภาคเหนือมีปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุดของทุกเขื่อนด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อกิจกรรมการใช้น้ำตามปกติในช่วงฤดูแล้งของปี 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ฤดูแล้งปีนี้จะเกิดภัยแล้งขั้นรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน และน่าจะเป็นภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี หรือมากกว่านั้น ดังนั้น ถ้าจะเรียกภัยแล้งปีนี้เป็น "มหาภัยแล้ง" ก็คงไม่ผิด 


สำหรับพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากมหาภัยแล้งในปีนี้ ซึ่งนอกเหนือจากภาคอีสานที่เกิดภัยแล้งซ้ำซากทุกปีอยู่แล้ว ปีนี้จะมีพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง (โดยเฉพาะภาคกลางตอนบน) ซึ่งล้วนต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนใหญ่ในภาคเหนือนั่นเอง เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งด้วย ทั้งนี้ นอกจากจะไม่มีน้ำสำหรับทำนาปรังหรือเพาะปลูกพืชอื่นๆ ในช่วงฤดูแล้งนี้แล้ว แม้แต่น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคก็อาจจะมีปัญหาด้วย และในบางพื้นที่จะต้องมีปัญหารุนแรงถึงขั้นแย่งชิงน้ำกันอย่างแน่นอน ส่วนภาคกลางตอนล่างและกรุงเทพฯนั้นอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะยังมีน้ำสำรองจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณที่ตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ที่ยังคงเก็บกักน้ำไว้ได้มากกว่าร้อยละ 50 ของความจุสูงสุด ซึ่งทั้ง 2 เขื่อนนี้มีความจุสูงสุดรวมกัน 29,850 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าเขื่อนภูมิพลรวมกับเขื่อนสิริกิติ์ด้วย ซึ่งนับเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย 

นอกจากปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคแล้ว ปัญหาความเสียหายของระบบนิเวศในลำน้ำสายรองและลำน้ำสายหลักก็จะเกิดขึ้นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งลุ่มเจ้าพระยา แม่ปิง แม่วัง และน่าน ส่วนลุ่มน้ำยมนั้นเสียหายมาช้านานเพราะขาดเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำจนกลายเป็นระบบนิเวศใหม่มานานแล้ว


สถานการณ์ภัยแล้งครั้งนี้ นับว่าสาหัสเป็นอย่างยิ่ง แม้รัฐบาลจะตระหนักมาแต่ต้นและได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว แต่ยังไม่แน่ว่าจะป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพราะในอดีตที่ผ่านมามีหลายครั้งหลายคราที่ความช่วยเหลือไม่ตรงเป้าหมายตามความจำเป็นอย่างแท้จริง ดังนั้น มาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้ควรได้ตระหนักในสิ่งต่อไปนี้

ประการแรก ภาครัฐต้องให้ความสำคัญและช่วยเหลือเกษตรกรที่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากความสำเร็จของมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือของเกษตรกรกลุ่มนี้ และที่สำคัญ เกษตรกรเหล่านี้คือผู้เสียหายจากมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐโดยตรง เช่น การงดทำนาปรัง การปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือการประหยัดน้ำในรูปแบบต่างๆ ตามที่ภาครัฐกำหนด เป็นต้น 

นอกจากนี้ ภาครัฐควรต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มอื่นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งด้วย แม้คนกลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการของรัฐบาลก็ตาม ทั้งเกษตรกรผู้ทำประมง เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงประชาชนผู้ทำกิจการอื่นที่ต้องอาศัยน้ำในการประกอบกิจการ คนกลุ่มนี้ควรได้รับการช่วยเหลือดูแลแต่ต้องเป็นลำดับรองลงมา 

ประการที่สอง ภาครัฐต้องไม่เข้าไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ฝ่าฝืนมาตรการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล เพราะเกษตรกรกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ทำให้เกิดความสูญเปล่าของน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝ่าฝืนทำนาปรังแล้วขาดน้ำ (สูญเสียน้ำปริมาณมากโดยไร้ประโยชน์) เนื่องจากเกษตรกรกลุ่มนี้ได้ฉวยโอกาสใช้น้ำบนความเสียสละของเกษตรกรกลุ่มอื่นไปแล้ว และคนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่ทำให้การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐเกิดความยุ่งยากและอาจถึงขั้นล้มเหลวได้ ซึ่งควรมีมาตรการลงโทษคนกลุ่มนี้แทนการให้ความช่วยเหลือด้วย

ประการที่สาม ภาครัฐต้องเข้มงวดต่อมาตรการทุกอย่างที่ออกมาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะมาตรการประหยัดน้ำที่ต้องเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่บัดนี้ โดยยึดหลักการว่าต้องประหยัดน้ำก่อนไม่มีน้ำให้ประหยัด โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำปริมาณมากๆ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมแก่เกษตรกรที่ต้องเสียสละงดทำนาปรัง หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งในด้านผลผลิต การตลาด และราคา ซึ่งอาจทำให้ขาดทุนหรือมีรายได้ไม่มากเท่าการทำนาปรัง 

ประการสุดท้าย รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการขั้นวิกฤตไว้บังคับใช้ในการจัดสรรน้ำด้วย เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าวิกฤตภัยแล้งในปีนี้อาจถึงขั้นต้องมีการแบ่งปันน้ำอุปโภคและบริโภคในบางพื้นที่ การห้ามใช้น้ำสำหรับกิจกรรมบางประเภท การห้ามสูบน้ำ และการห้ามกักตุนน้ำคงต้องนำมาใช้ในยามวิกฤต ที่สุดอาจต้องใช้มาตรการทางกฎหมายตามความจำเป็นด้วย

นับจากนี้เป็นต้นไปประมาณ 6 เดือน โอกาสที่จะได้น้ำมาเพิ่มคงไม่มี จะมีแต่การใช้น้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้หมดไปเรื่อยๆ ซึ่งน้ำต้นทุนที่มีอยู่คงจะเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคเท่านั้น และหวังว่าฝนแรกในปีหน้าจะมาเร็ว หากฝนมาล่าช้าเหมือนปีที่ผ่านมา เชื่อว่าศึกแย่งชิงน้ำจะเกิดขึ้นให้เห็นทั่วไปในช่วงเดือนพฤษภาคมปีหน้าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงสูงอย่างภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางตอนบน 

ขอพระสยามเทวาธิราชจงดลบันดาลให้ชาวไทยรอดพ้นจากสงครามแย่งชิงน้ำด้วยเถิด 











Inga kommentarer:

Skicka en kommentar