lördag 14 november 2015

ก้าวต่อไปของการเมืองเมียนมาร์..“ประชาธิปไตยแบบมีวินัย”...

บีบีซีไทย - BBC Thai har lagt till 4 nya foton.
บีบีซีไทย - BBC Thais foto.
นางซูจี
ก้าวต่อไปของการเมืองเมียนมาร์ หลังพรรคเอ็นแอลดีชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้น
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซู จี ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ขณะนี้พรรคเอ็นแอลดีได้ที่นั่งมากพอสำหรับจัดตั้งรัฐบาลและเลือกประธานาธิบดี โจนาห์ ฟิเชอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่เมียนมาร์ วิเคราะห์ถึงชัยชนะของพรรคเอ็นแอลดีในครั้งนี้ รวมทั้งการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกประธานาธิบดี โดยนำเสนอในรูปแบบท่านถามเราตอบ
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ?
ผู้สื่อข่าวบีบีซีชี้ว่า ทุกฝ่ายยอมรับว่ามีเรื่องตุกติกอยู่ไม่น้อย แต่ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งเห็นว่า เป็นการเลือกตั้งที่ค่อนข้างเป็นธรรม โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้

การเลือกตั้งไม่ได้เปิดพื้นที่ให้แข่งขันชิงที่นั่งในสภาทั้งหมด ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้สงวนที่นั่ง 25% ไว้ให้กับผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ นอกจากนั้นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งนี้สามารถใช้สิทธิยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ นี่เป็นประชาธิปไตยที่บรรดานายพลในเมียนมาร์เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบมีวินัย”
มีการคาดการณ์มาก่อนหรือไม่ว่าพรรคเอ็นแอลดีจะทำคะแนนได้ดีแบบนี้ ?
ผู้สื่อข่าวชี้ว่าไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจว่า พรรคเอ็นแอลดีจะได้ที่นั่งเท่าไร เพราะว่าในเมียนมาร์ไม่มีการทำสำรวจความคิดเห็นที่น่าเชื่อถือ นักวิเคราะห์เพียงแต่ประเมินจากผลการเลือกตั้ง 2 หนที่ผ่านมา โดยในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2533 พรรคเอ็นแอลดีชนะเลือกตั้ง กวาดได้ 392 ที่นั่งจาก 492 ที่นั่ง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกรัฐบาลทหารประกาศให้เป็นโมฆะ ส่วนในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อปี 2555 พรรคเอ็นแอลดีกวาดไป 43 ที่นั่งจาก 45 ที่นั่ง และในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเอ็นแอลดีก็ชนะการเลือกตั้งอีก กวาดไปได้ 2 ใน 3 ของที่นั่ง ทำให้ทางพรรคมีเสียงข้างมากในสภาและในการเลือกประธานาธิบดี ด้านพรรคยูเอสดีพีที่เป็นพรรครัฐบาลและมีทหารหนุนหลัง ได้ที่นั่งไป 40 ที่นั่ง

การเลือกประธานาธิบดีจะมีขึ้นในรูปแบบไหน ?
จะเป็นการเลือกแบบอ้อม ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2551 กำหนดกระบวนการไว้ค่อนข้างซับซ้อน แม้ว่าการเลือกตั้งมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน แต่คาดว่าการเลือกประธานาธิบดีจะมีขึ้นในเดือนมีนาคมปีหน้า โดยในรัฐสภาเอง จะมีการแบ่งผู้แทนออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มสส. ที่มาจากการเลือกตั้ง, กลุ่มสว. ที่มาจากการเลือกตั้ง และตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ แต่ละกลุ่มต่างเสนอบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมมากลุ่มละหนึ่งคน จากนั้นจะมีการลงคะแนนในการประชุมร่วมกันของทั้ง 3 กลุ่ม ผู้ชนะจะขึ้นเป็นประธานาธิบดี ส่วนผู้แพ้อีก 2 คน จะรับตำแหน่งรองประธานาธิบดี

นางออง ซาน ซู จี จะเป็นประธานาธิบดีได้หรือไม่ ?
นางซูจี นำพรรคเอ็นแอลดีกวาดที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่นางจะเป็นประธานาธิบดีไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติห้ามบุคคลที่มีเครือญาติเป็นต่างชาติ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ทั้งนี้บุตรชายทั้ง 2 คนของนางซูจีถือสัญชาติอังกฤษ

ถ้าไม่ใช่ประธานาธิบดีซูจี แล้วใครจะเป็นประธานาธิบดี ?
ผู้สื่อข่าวบอกว่าเรื่องนี้มีข่าวลือมากมาย ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่า ได้มีการทำข้อตกลงกันแล้วระหว่างนางซูจีกับนายอู ฉ่วย มาน ประธานสภา ทั้งนี้เพื่อสานรอยร้าวระหว่างกองทัพกับนางซูจี โดยนางซูจีจะสนับสนุนนายฉ่วย มาน หากเขารับปากจะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่นายฉ่วย มานประเมินสถานการณ์พลาดไปและไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เขาถูกปลดจากตำแหน่งประธานพรรคยูเอสดีพี และเมื่อขาดแรงสนับสนุนจากกองทัพ เขาจึงไม่น่าจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนางซูจี และที่สำคัญนายฉ่วย มาน สอบตกในครั้งนี้ด้วย

ในการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง นางซูจีเผยว่านางมีบุคคลที่เป็นพลเรือนไว้ในใจอยู่แล้ว ที่จะผลักดันให้รับตำแหน่งประธานาธิบดี หากพรรคของนางชนะการเลือกตั้ง นอกจากนั้นก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งนี้ นางซูจียังประกาศด้วยว่านางจะเป็นผู้นำรัฐบาลและมีบทบาทอยู่เหนือประธานาธิบดี ซึ่งทำให้มองได้ว่าคนที่จะเป็นประธานาธิบดี จะเป็นประธานาธิบดีหุ่นเชิดที่ไม่มีบทบาทอย่างแท้จริง
ตัวเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้คือนายทิน อู อดีตนายพลในกองทัพเมียนมาร์ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดี ขณะนี้เขามีอายุ 88 ปีแล้ว ผู้สื่อข่าวชี้ว่าหากนางซูจีเสนอนายทิน อู ก็คงจะเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างแปลก แต่หากมองว่าเขาภักดีกับนางซูจีมาหลายสิบปี ก็ถือได้ว่าเขามีคุณสมบัติที่นางซูจีให้ความสำคัญมาก
ตัวเลือกอีกคนคือนายอู วิน เท่ง วัย 74 อดีตทหารในกองทัพเมียนมาร์ เป็นคนใกล้ชิดที่นางซูจีไว้ใจมากคนหนึ่ง แต่มีรายงานว่าเขามีสุขภาพไม่ค่อยดี ผู้สื่อข่าวรายงานว่ายังมีข่าวลืออีกด้วยว่าได้มีการทำข้อตกลงกันแล้วกับทางกองทัพ โดยนางซูจีเคยได้รับคำเตือนว่านายฉ่วย มาน จะไปไม่รอด และได้มีข้อเสนอจากฝ่ายกองทัพว่าให้นางสนับสนุนนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ให้เป็นผู้นำไปอีก 2 ปี แลกกับคำรับปากจากนายเต็ง เส่ง ว่าเขาจะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างนางซูจีกับประธานาธิบดีเต็ง เส่งเย็นชาลง นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขาโน้มน้าวให้นางซูจี ลงรับสมัครเลือกตั้งเมื่อปี 2555 อย่างไรก็ตามคงต้องขึ้นอยู่ว่านางซูจียังไว้ใจปธน. เต็ง เส่งอยู่อีกหรือไม่
ท้ายที่สุด คนของพรรคเอ็นแอลดีอาจไม่ได้เป็นประธานาธิบดี เพราะที่นั่ง 1 ใน 4 ในสภายังเป็นของกองทัพ และยังมีพรรคที่ต่อต้านพรรคเอ็นแอลดีที่จับมือเป็นพันธมิตรกัน โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้ ต้องการเสียงเพียงแค่ 1 ใน 3 ของที่นั่งในสภาในการกำหนดตัวบุคคลที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่ผู้สื่อข่าวชี้ว่าเรื่องนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ง่าย ๆ แต่ถ้าหากเกิดขึ้น บุคคลที่กองทัพจะเสนอขึ้นเป็นประธานาธิบดีคือ ปธน. เต็ง เส่ง นั่นเอง
มีข่าวลือด้วยว่า ตัวปธน. เต็ง เส่งต้องการจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกหนก่อนหน้าจะเกษียณเนื่องจากเหตุผลด้านสุขภาพในอีกปีหรือ 2 ปี ข้างหน้า จากนั้นเขาจะปล่อยให้พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รับไม้ต่อ

บีบีซีไทย - BBC Thais foto.
นายทิน อู,
บีบีซีไทย - BBC Thais foto.
ปธน. เต็ง เส่ง
บีบีซีไทย - BBC Thais foto.
นายฉ่วย มาน

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar