måndag 2 november 2015

Chaturon Chaisang

Chaturon Chaisang
เมื่อวานสื่อมวลชนมาสัมภาษณ์เรื่อง เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ..
ตามนี้ครับ

'จาตุรนต์' ซัดสูตร ลต.21 อรหันต์ เปิดช่องนายกฯ คนนอกhttp://www.thairath.co.th/content/536315

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 1 พ.ย. 2558 14:45

"จาตุรนต์" ซัดระบบจัดสรรปันส่วนผสม หวังกันบางพรรคเข้าสู่อำนาจ สร้างเงื่อนปูทางนายกฯ คนนอก ส่วนองค์กรอิสระขอให้แก้ที่มา พร้อมระบุหลังมี รธน.ใหม่ ต้องโละทิ้งคนที่"คสช.-รบ.-สนช."สรรหามา กันครหารักษาอำนาจ
เมื่อวันที่ 1 พ.ย.58 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวคิดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้นำคะแนนของผู้แพ้เลือกตั้ง ส.ส.เขตไปคำนวณเป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม" ว่า ดูเหมือนพยายามเสนออะไรใหม่ๆ แต่เป็นลักษณะที่นึกอะไรได้ก็เสนอขึ้นมา โดยไม่มีการศึกษาตัวอย่างจากทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยเองมาเป็นพื้นฐาน อยู่ภายใต้กรอบที่สำคัญคือ การป้องกันพรรคการเมืองบางพรรคไม่ให้เข้าสู่อำนาจ และการทำให้พรรคการเมืองโดยรวมอ่อนแอ และเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้ประโยชน์ในการได้คนนอกมาเป็นนายกฯ การใช้บัตรใบเดียวแล้วให้นับคะแนนผู้ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งมาคำนวณบัญชีรายชื่อ เป็นการลดความสำคัญพรรคเมือง ทำให้กระบวนการแข่งขันนโยบาย ตอบสนองความต้องการของประชาชนในการเลือกตั้งลดน้อยลงไปอย่างมาก สวนทางการพัฒนาพรรคเมืองในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นั้น แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะปัญหาของ กกต.คือเรื่องที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กกต.ที่ทำให้ได้ผู้ที่ไม่มีความฝักใฝ่ประชาธิปไตย ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ไม่มีประสิทธิภาพในการทำให้เลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม จะสังเกตเห็นว่าคนเชื่อว่ามีการซื้อเสียงกันมาก สามารถให้ใบเหลือง โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐาน แต่ กกต.ก็จะให้ใบเหลืองน้อยมาก ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ดังนั้น การปรับเปลี่ยนกติกาไม่แก้จุดสำคัญ จะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ทั้งที่ปัญหาขององค์กรอิสระโดยรวม ความจริงอยู่ที่มามามากกว่า ที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ตรวจสอบไม่ได้

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่มาองค์กรอิสระที่กำลังจะเขียนในร่างรัฐธรรมนูญ ก็คงจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป แต่ว่าก็ยังมีปัญหาร้ายแรงกว่านั้นคือ ระบบกติกาเกี่ยวกับที่มาขององค์กรอิสระทั้งหลายก็จะยังไม่ได้ใช้ไปอีกนานเพราะจะมีการสรรหาในระบบที่ คสช.และรัฐบาลปัจจุบัน ยังมีบทบาทอย่างสำคัญ อย่างการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ผ่านมาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)กำลังพิจารณา ดังนั้นองค์กรอิสระจะได้รับการสรรหาจากคณะบุคคลที่เชื่อมโยงกับ คสช.และรัฐบาลปัจจุบัน เท่ากับว่าองค์กรอิสระเหล่านี้ จะทำหน้าที่ต่อไปอีกหลายปี ไม่ใช่องค์กรอิสระตามชื่อแต่อย่างใด

"เพราะฉะนั้น โดยรวมแล้ว เท่าที่ฟังแนวความคิดการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งจาก กรธ. รัฐบาลและ คสช.เข้าใจว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นคงมีปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย ใกล้เคียงกับร่างของชุด นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มาตบแต่งปรับเปลี่ยนให้ดูเหมือนแตกต่าง แต่สาระสำคัญยังเป็นการรักษาอำนาจไว้กับผู้ที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาองค์กรอิสระจริงๆ ควรกำหนดที่มาใหม่ ให้มีการถ่วงดุลของหลายฝ่าย แล้วเมื่อได้องค์กรอิสระมาแล้ว ขอให้เป็นอิสระจริง ต้องตรวจสอบได้ โดยรัฐสภาและประชาชน ถ้ามีปัญหาผิดกฎหมายต้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม โดยมีศาลเป็นผู้ตัดสินสุดท้าย หากเราต้องการให้มีองค์อิสระที่ยุติธรรม และเป็นกลาง นอกจากกำหนดที่มาให้ถูกต้อง องค์กรอิสระต้องตรวจสอบได้แล้ว ยังต้องเริ่มใช้กติกานั้นกันใหม่ทั้งหมด หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ องค์กรอิสระที่มีการสรรหาหรือแต่งตั้ง โดย คสช.รัฐบาล หรือ สนช.เกี่ยวข้องควรสรรหาใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่ให้ใช้องค์กรอิสระนี้ไปอีก 7-9 ปี อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลังรัฐประหารปี 49" นายจาตุรนต์ กล่าว.

-----------------------


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar