tisdag 22 december 2015

คดี112เหตุแอบอ้าง“สมเด็จพระเทพฯ”เรียกหาประโยชน์ที่ศาลกำแพงเพชร จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธข้อหา

TLHR @TLHR2014 


   Kamphangphet-headline
คดี112เหตุแอบอ้าง“สมเด็จพระเทพฯ”เรียกหาประโยชน์ที่ศาลกำแพงเพชร จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธข้อหา
คดีแอบอ้าง “สมเด็จพระเทพฯ” ที่ศาลกำแพงเพชร จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธข้อหา      
21 ธ.ค.58 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดสอบคำให้การในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร กับนางอัษฎาภรณ์ และพวก รวม 4 คน ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ความผิดในการร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และความผิดในการสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ
ในคดีนี้ ทางฝ่ายโจทก์ระบุว่าระหว่างวันที่ 8 ส.ค.56 ถึงเดือนมี.ค.58 วันใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสี่ ได้แก่ นางอัษฎากรณ์, นายกิตติภพ, นายวิเศษ และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ได้ร่วมกันปลอมเอกสารราชการทั้งฉบับ โดยปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้นำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมกับผู้เสียหายอีกหลายคน และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย
ต่อมา ทางเจ้าอาวาสวัดไทรงามได้ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี จำเลยทั้งสี่ได้ทยอยถูกควบคุมตัวในช่วงเดือนส.ค.58 และถูกคุมขังในเรือนจำมานับแต่นั้น โดยในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสี่ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนที่อัยการจะมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 5 พ.ย.58 (คลิกดูรายงานข่าวก่อนหน้านี้)
ในคดีนี้ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับจำเลยที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างทนายความส่วนตัว ขณะที่จำเลยที่ 2 และ 3 ได้ให้ทนายความขอแรงจากศาลช่วยเหลือทางกฎหมาย
จำเลยทั้งสี่ได้ยื่นคำให้การต่อศาล ปฏิเสธข้อกล่าวหาตามฟ้องของโจทก์ และคู่ความได้ขอตรวจพยานหลักฐานในนัดต่อไป ศาลจึงได้นัดหมายวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 9.00 น.
นอกจากนั้นในส่วนของจำเลยที่ 4 ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ในประเด็นสถานะของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่าเป็นบุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ อย่างไร และการกระทำตามฟ้องของโจทก์เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ โดยระบุถึงหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความโดยเคร่งครัด และหลัก “ไม่มีความผิด และไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” คำร้องได้ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์ในความผิดนี้ และให้จำเลยที่ 4 พ้นข้อหาไป
ในคำร้องยังได้แนบเอกสารกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ รวมทั้งพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารด้วย
แต่ศาลได้ให้ยกคำร้องฉบับนี้ โดยระบุสั้นๆ ว่า “ชั้นนี้ยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย ตามคำร้องของจำเลยที่ 4”
ภายหลังการพิจารณาของศาล ญาติของจำเลยที่ 4 ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง ใช้หลักประกันเป็นที่ดินราคาประเมินจำนวน 1.4 ล้านบาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” ครั้งนี้ถือเป็นการยื่นขอปล่อยตัวชั้วคราวเป็นครั้งที่ 3 ของจำเลยที่ 4
สำหรับจำเลยที่ 4 คือนายนพฤทธิ์ อายุ 28 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี นายนพฤทธิ์ระบุว่าตนทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และได้รู้จักกับนายวิเศษ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ ในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน และนายวิเศษได้มาชวนไปร่วมทำบุญ โดยอ้างว่าให้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ที่วัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ในช่วงเดือนเม.ย.58
จำเลยที่ 4 ยืนยันว่าไม่เคยรู้จักกับนางอัษฎาภรณ์ จำเลยที่ 1 และนายกิตติภพ จำเลยที่ 2 มาก่อน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างในครั้งนี้หรือก่อนหน้านั้น ไม่ทราบเรื่องการไปกล่าวอ้างกับทางวัด ไม่ทราบเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ตามที่มีการฟ้องคดี โดยเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับกุมที่บริษัทในวันที่ 21 ส.ค. ก็ไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน และไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด
คลิกดูเพิ่ม-https://tlhr2014.wordpress.com/2015/12/22/112kampangpetch_2/ 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar