lördag 19 december 2015

"รำลึกเบน แอนเดอร์สัน" ...อาจารย์เบนผู้ซึ่งทำให้นักศึกษาสูญเสียความรู้สึกถือตัวถือว่าชาติของตนเหนือกว่าผู้อื่น พร้อมกันนั้นได้ซึมซับแนวคิดเรื่องความรักความดีงามและเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะมีพื้นฐานมาจากเชื้อชาติใดเนื่องจากทฤษฎีของนักวิชาการผู้นี้ได้ทำลายความอวดดีอันเกิดจากชาตินิยมให้สลายไป หากแต่สร้างบางสิ่งที่มากกว่านั้นคือความเป็นคนธรรมดาที่ไม่อ้างความเป็นชาติมาทำร้ายผู้อื่น กล่าวคือ เหนือชาติ ยังมีมนุษยชาติ .....

matichononline

เมื่อวันที่19 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เมืองสุราบายา ทางตะวันออกของอินโดนีเซีย มีการจัดพิธีฌาปนกิจศพนายเบนหรือ "อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน" ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประจำม.คอร์แนล สหรัฐอเมริกา ที่เสียชีวิตลงอย่างสงบที่เมืองบาตุ ใกล้กับเมืองสุราบายา เมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 11 ต่อเนื่องเช้าวันที่ 12 ธันวาคม ขณะอายุได้ 79 ปี  โดยมีญาติสนิทและนักวิชาการจากทั่วโลกเดินทางมาร่วมงานกว่า 200 คน  อาทิ อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการไทยซึ่งเดินทางไปร่วมพิธีปิดฝาโลงตั้งแต่คืนวันที่ 18 ธันวาคม เช่น นายชาญวิทย์  เกษตรศิริอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายทักษ์ เฉลิมเตียรณ อดีต ผอ.โครงการอุษาคเนย์ศึกษา ม.คอร์แนล และนางเชลี แบรี่  นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน  ภรรยานายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นต้น

ส่วนญาติสนิทเดินทางมาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้แก่ นายเพอรี่ แอนเดอร์สัน อดีตบรรณาธิการนิตยสารการเมือง ‘นิวเลฟรีวิว’ ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ รวมถึงหลานสาว และ นาย Wahyu Yudistira บุตรบุญธรรมชาวอินโดนีเซีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธีการเริ่มต้นเวลาประมาณ 09.30 น. ที่อาดีจาซาฟูเนอรัลโฮม บาทหลวงจากโบสถ์คาทอลิกทำพิธีสวดจากนั้นมีการอ่านข้อความไว้อาลัยจากญาติและลูกศิษย์ เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงคุณูปการของอาจารย์เบนซึ่งทำให้นักศึกษาสูญเสียความรู้สึกถือตัวถือว่าชาติของตนเหนือกว่าผู้อื่นพร้อมกันนั้นได้ซึมซับแนวคิดเรื่องความรักความดีงามและเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะมีพื้นฐานมาจากเชื้อชาติใดเนื่องจากทฤษฎีของนักวิชาการผู้นี้ได้ทำลายความอวดดีอันเกิดจากชาตินิยมให้สลายไป หากแต่สร้างบางสิ่งที่มากกว่านั้นคือความเป็นคนธรรมดาที่ไม่อ้างความเป็นชาติมาทำร้ายผู้อื่น กล่าวคือ เหนือชาติ ยังมีมนุษยชาติ ซึ่งแม้อาจารย์เบนจะล่วงลับไปแล้วแต่แนวคิดเหล่านี้จะยังคงอยู่ตลอดไป

ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. ได้เคลื่อนย้ายหีบศพไปยังฌาปนสถาน Eka Praya เพื่อทำการฌาปนกิจซึ่งเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 12.30 น.จากนั้นมีการนำเถ้ากระดูกไปโปรยยังทะเลชวา บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ผู้ร่วมงานหลายรายพากันร่ำไห้ด้วยความอาลัย

นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเดินทางเข้าร่วมพิธีฌาปนกิจกล่าวว่า การบรรยายครั้งสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซีย  มีผู้จัดงานมาเล่าให้ฟังว่า นักศึกษาหญิงคนหนึ่งซึ่งไม่ได้รู้จักไม่เคยอ่านงาน ไม่แม้แต่เคยได้ยินชื่ออาจารย์เบน ได้มาฟังการบรรยายในครั้งนี้เมื่อบรรยายจบก็เดินมาหาอาจารย์เบน แล้วบอกว่า ไม่เคยฟังอะไรที่สั่นสะเทือนความเชื่อแบบนี้มาก่อน เธอบอกว่า อาจารย์เบนทำให้รู้ว่าชาติเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ไม่มี แต่มันเหมือนกับแม่ของเรา ที่บางทีก็ขี้บ่นชอบบังคับให้ทำนั่นทำนี่ ถ้าเราเป็นลูกที่ดี เราก็ทำตาม แต่บางทีเราก็เบื่อ และรำคาญ แต่ยังไงเราก็ต้องอยู่กับแม่ อยู่กับชาติ ประเด็นคือ จะอยู่อย่างไร ที่จะเข้าใจแม่และพยายามเป็นตัวของตัวเองด้วย นักศึกษาคนนั้นทำให้เรารู้ว่าอาจารย์เบน มีความหวังกับเยาวชนคนหนุ่มสาวที่จะพาชาติไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดี ไม่บังคับข่มขู่ ไม่ละเมิดสิทธิ ไม่ก้าวก่ายชีวิตของเรามากจนเราไม่สามารถแสดงความคิดความฝัน และเลือกทางเดินของชีวิตของตัวเองได้ สำหรับบรรยากาศในแวดวงวิชาการไทย จะมีการจัดงาน "รำลึกเบน แอนเดอร์สัน" ในวันที่ 20 ธันวาคม ที่ร้านหนังสือบุ๊ครีพับลิก อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เวลา 17.30 น. วิทยากร ได้แก่ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ,นายอานันท์ กาญจนาคพันธุ์ และนางมาลินี คุ้มสุภา ดำเนินรายการโดย นางสาวปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และในวันที่ 22 ธันวาคม มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ จะจัดงานรำลึก “เบน แอนเดอร์สัน กับชุมชนจินตกรรมและอื่นๆ ” ตั้งแต่เวลา 13.30 น. วิทยากรได้แก่ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์, นางผาสุก พงษ์ไพจิตร, นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, นายเกษียร เตชะพีระ ดำเนินรายการโดย นายชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

ทั้งนี้ นายเบน แอนเดอร์สัน เกิดเมื่อ ค.ศ.1936 มีชื่อเต็มว่า เบเนดิก ริชาร์ด โอ กอร์แมน แอนเดอร์สัน (BenedictRichard O Gorman Anderson) เป็นนักรัฐศาสตร์ที่มีผลงานการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีแนวคิดที่ส่งผลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและอุษาคเนย์เป็นอย่างยิ่ง  ผลงานสำคัญที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดคือ อิเมจินด์ คอมมูนิตี้ส์ (Imagined Communities) แปลเป็นภาษาต่างๆทั่วโลกกว่า 30 ภาษารวมถึงภาษาไทยในชื่อว่าชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาทางวิชาการของนิตยสารศิลปวัฒนธรรมในเครือมติชนจนถึงวาระสุดท้าย

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar