มติชนรายวัน 14 ธันวาคม 2558
นายทุนกับนายพล (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
คลิกอ่านทั้งหมด-นายทุนกับนายพล (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
นายทุนกับนายพลไทยนั้นสนิทสนมกันมานานเมื่อรัฐประหาร 2490 นำนายพลเข้ามาคุมการเมืองเต็มตัว นายทุนก็รีบปลีกตัวออกจากกลุ่มพลเรือนในคณะราษฎร หันมารับใช้นายพลอย่างเต็มที่ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการคุ้มครองและอภิสิทธิ์ทางการค้าที่นายพลมอบให้ พันธมิตรระหว่างนายทุนและนายพลกลายเป็นรูปแบบความสัมพันธ์สืบมาอีกเกือบ 3 ทศวรรษ
แม้นายพลจะแย่งอำนาจกันเอง และทุนขยายตัวขึ้นอย่างมาก พร้อมทั้งมีนายทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากหลัง 2500 แต่รูปแบบของพันธมิตรระหว่างนายทุนและนายพลก็ยังเหมือนเดิม
รูปแบบนั้นก็คือการเชื้อเชิญนายพลให้มานั่งเป็นกรรมการบริษัท หรือประธาน พร้อมทั้งให้หุ้นลมแก่นายพลเพื่อทำให้ผลประโยชน์ของบริษัทกับผลประโยชน์ของนายพลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริงทั้งหมดนี้เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวางนโยบายสาธารณะทางเศรษฐกิจที่ไม่กระเทือนผลประโยชน์ของนายทุนหรือเอื้อประโยชน์แก่นายทุน เช่น ระหว่างที่นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจยังเน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า รัฐบาลของนายพลก็จะตั้งกำแพงภาษีแก่สินค้าอุปโภคบริโภคไว้สูง ออกกฎหมายป้องกันมิให้แรงงานเคลื่อนไหวต่อรองกับนายทุนได้ และเพื่อช่วยให้แรงงานที่ได้ค่าจ้างราคาถูกต่อเนื่องกันเป็นสิบปีพอซื้อข้าวกินได้ (และมีแรงผลิตแรงงานราคาถูกได้ต่อไป) ก็กดราคาข้าวภายในประเทศให้ต่ำด้วยภาษีที่เรียกว่าพรีเมียมข้าว
อย่างไรก็ตาม ลักษณะพันธมิตรระหว่างนายทุนและนายพลเปลี่ยนไปด้วยเหตุสองอย่างในทศวรรษ 2510
หนึ่ง คือการปฏิวัติ 14 ตุลาใน พ.ศ.2516 ทำให้นายพลไม่อาจผูกขาดการเมืองไว้แต่ฝ่ายเดียวได้อีกต่อไป แม้อำนาจทางการเมืองของนายพลยังมีสูง แต่ต้องแบ่งปันพื้นที่ให้ฝ่ายอื่นๆ มากขึ้น รวมทั้งฝ่ายแรงงานและชาวนาชาวไร่ด้วย นายทุนเองก็ต้องวิ่งเกาะหลายฝ่ายไปพร้อมกัน ในขณะเดียวกัน พลังทางการเมืองของฝ่ายนายทุนก็เป็นที่ประจักษ์ของฝ่ายต่างๆ มากขึ้น ที่สำคัญคือเข้ายึดกุมอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยทำให้ทุกฝ่ายยอมรับว่าหากทุนได้ดี ประเทศก็ได้ดีไปด้วย
สอง คือ ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาแล้วที่เริ่มมีแรงผลักดันให้เปลี่ยนนโยบายจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้ามาสู่การผลิตเพื่อส่งออก แต่กว่าจะสัมฤทธิผลก็ตกมาในช่วงทศวรรษ 2520
เหตุสองอย่างนี้ทำให้นายทุนต้องการการคุ้มครองอีกลักษณะหนึ่ง เช่น นายทุนรู้ดีว่าการกดค่าจ้างแรงงานให้ต่ำคงที่อย่างเดิมใช้ไม่ได้แล้ว เพราะจะเกิดความวุ่นวายในสังคมเสียจนเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเอง ในขณะที่แรงงานในประเทศก็กำลังเริ่มขาดแคลน แต่จะทำให้ค่าแรงต่ำกว่าประสิทธิผลของแรงงานอย่างไร เป็นกลวิธีทางการเมืองมากกว่าคำสั่งเด็ดขาดของนายพล ในที่สุดนายทุนก็ได้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ตอบสนองความประสงค์ของตนอย่างดี แต่กำลังอำนาจดิบของนายพลก็ยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะนายพลยึดกุมมิติด้าน "ความมั่นคง" ของบ้านเมืองไว้อย่างเหนียวแน่น นายพลจึงสามารถขายบริการด้านนี้ด้วยการข่มขู่ คุกคาม อุ้ม หรือทำให้สาบสูญผู้นำแรงงานที่หัวแข็งเกินไปได้ ภายในนามของ "ความมั่นคง"
ยิ่งไปกว่านั้น ในนามของ "ความมั่นคง" นี่แหละ ที่นายพลยังยึดกุมรัฐวิสาหกิจอีกหลายอย่างไว้กิน "ส่วนเกิน" เช่น รถไฟ และโทรคมนาคม เป็นต้น ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520 สืบมาจนถึงทศวรรษ 2540 การเมืองในระบบรัฐสภาเริ่มมั่นคงขึ้น การเมืองระบบนี้นำนายทุนต่างจังหวัดหรือ "เจ้าพ่อ" ประเภทต่างๆ เข้ามามีบทบาททั้งในสภาและใน ครม. แม้ว่าคนเหล่านี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายพล โดยเฉพาะที่เคยคุมหน่วยทหารในต่างจังหวัดมาก่อน แต่เมื่อมีอำนาจทางการเมือง พวกเขากลับพยายามเข้าไปแบ่ง "ส่วนต่าง" ในรัฐวิสาหกิจ โดยการสร้างโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน "ส่วนเกิน" ที่นายทุน-นักการเมืองต่างจังหวัดเรียกเก็บจากโปรเจ็กต์เหล่านี้สูงจนเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งก็คือนายทุนในเมืองซึ่งลงทุนเองโดยตรงหรือร่วมทุนกับต่างชาติ
ทั้งนายทุนในเมืองและนายพลจึงไม่พอใจการเมืองเรื่องเงิน (money politics) ของนักการเมืองเจ้าพ่อนัก การรัฐประหารของนายพลใน 2534 ได้รับการสนับสนุนจากนายทุนในเมือง พวกเขาพากันนำกระเช้าดอกไม้ไปเข้าคิวแสดงความยินดีกับคณะรัฐประหารในวันรุ่งขึ้น ไม่เว้นแม้แต่นายธนาคารใหญ่......
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar