onsdag 16 december 2015

เพิ่มอำนาจประมุข 3 ศาล ไข Deadlock แก้ศึกการเมือง 2 ขั้ว?

เพิ่มอำนาจประมุข 3 ศาล ไข Deadlock แก้ศึกการเมือง 2 ขั้ว

 16 ธ.ค. 2558 เวลา 21:20:27 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
แม้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่เคยบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะ ที่ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติคว่ำไป มีแนวโน้มแน่นอนจะไม่ถูกนำมาบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์

แต่ข้อเสนอที่ให้มีองค์กรขึ้นมา "ผ่าทางตัน" ทางการเมืองนั้น ถือเป็นคำขอของผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เพราะต้องการให้มีช่องทางที่ไม่ให้นำไปสู่ Deadlock การเมือง เหมือนก่อน 22 พ.ค. 2557

ปรากฏในข้อเสนอ 10 ข้อ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งส่งคำขอตรงมายังห้องประชุม กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีข้อหนึ่งระบุว่า

"ปัญหาวิกฤต หรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และรัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้นควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคตในการผ่าทางตัน"

"ชาติชาย ณ เชียงใหม่" โฆษก กรธ. จึงเผยไอเดียของ กรธ. โดยอาจให้ ประธาน 3 ศาล คือ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้หาทางออกเมื่อบ้านเมืองถึงทางตัน

แม้ว่ายังไม่ใช่ข้อสรุป แต่ก็เห็นภาพลาง ๆ ว่า กรธ.จะไม่ตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ แต่จะใช้องค์กรเดิมที่มีในรัฐธรรมนูญ แต่เพิ่มอำนาจ "ผ่าทางตัน" เข้าไป ต่างจาก คปป. ที่บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญของ "บวรศักดิ์" ต้นทางก็มาจากคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี และ คสช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ปรับแก้ไปตามคำขอ เพื่อให้มีองค์กรขึ้นมา "ผ่าทางตัน"

กระทั่งถูกวิจารณ์ว่าเป็น "ซูเปอร์รัฐบาล" นอกจากมีองค์กร คปป. ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "บวรศักดิ์" ยังปรับมาตรา 7 จากที่เป็นปัญหาเรื่องการตีความในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ในกรณีเกิดปัญหาที่ไม่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

โดยเพิ่มมาตรา 7 วรรค 2 ระบุว่า "ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยกรณีใดที่ไม่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้

เป็นอีกทางหนึ่งที่ให้ศาลเข้ามาแก้วิกฤตทางตัน ทั้งนี้ ข้อเสนอให้ประมุข 3 ศาล ออกมาแก้วิกฤต มิใช่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะหากย้อนไปในการเมืองช่วงปี 2549 หลังการเลือกตั้ง 2 เม.ย. ในปีนั้นเกิดอุบัติเหตุ เพราะหัวขบวนพรรคการเมืองขนาดใหญ่ประกาศบอยคอตเลือกตั้ง นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย 2 แกนนำพรรคฝ่ายค้านส่งผลให้พรรคไทยรักไทยลงแข่งในลู่กับพรรคเล็ก พรรคน้อย และบางเขตเลือกตั้งไม่มีคนแข่งขัน ส่วนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เรียกร้องนายกฯพระราชทาน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7

วิกฤตการเมืองเขม็งจนตึง ทางออกวิกฤตตามช่องทางรัฐธรรมนูญแทบจะหาทางออกไม่ได้

ประมุข 3 ศาล ประกอบด้วย ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองสูงสุด นัดประชุมกันเพื่อหาทางออกจากวิกฤตการเมือง เมื่อวันที่ 28 เม.ย.

การประชุมวันนั้นได้ข้อสรุปเบื้องต้น 3 ข้อ 1.ทั้ง 3 ศาลเห็นพ้องต้องกันว่า จะเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีและดำเนินการในส่วนที่อยู่ในอำนาจ หน้าที่ของศาลแต่ละศาลให้รวดเร็ว ทันต่อความจำเป็นของแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น

2.ทั้ง 3 ศาลมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ว่าคดีความจะขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลไหน การใช้กฎหมายหรือตีความกฎหมาย ต้องระมัดระวัง ว่าให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน เพื่อยุติความสับสนที่อาจจะเกิดขึ้น

และ 3.ในการดำเนินการของแต่ละศาลนั้นถือเป็นความอิสระของศาล ตามเขตอำนาจของแต่ละศาลให้ดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายด้วยความยุติธรรมและสุจริต

หลังจากการประชุมในวันที่ 28 เม.ย.จบสิ้นลง ทั้ง 3 ศาลก็เริ่มตัดสินคดี ตามถ้อยแถลง 3 ข้อ ที่ประกาศไว้ โดยเร่งพิจารณาคดี ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน เพื่อยุติความสับสน

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ลงวันที่ 8 พ.ค. 2549 วินิจฉัยว่า การเลือกตั้ง 2 เม.ย.เป็นโมฆะ เพราะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง จัดคูหาเลือกตั้งออกนอกหน่วยเลือกตั้ง จึงไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นเที่ยงธรรม ตั้งแต่การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง การรับสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนนเสียง การประกาศผลการเลือกตั้ง

ในวันรุ่งขึ้น 9 พ.ค. ประมุข 3 ศาล ในเวลานั้น ประกอบด้วย นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลปกครอง ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ปรึกษาถึงทางออกวิกฤตอีกครั้ง

มติที่ออกมามี 2 ข้อ 1.เห็นด้วยในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ และให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่

2.ประธาน 3 ศาล เห็นพ้องว่า ศาลจำเป็นจะต้องรับภาระดูแล ให้การดำเนินการการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้จบสิ้นด้วยการเรียบร้อย ถูกต้องเป็นที่ถูกใจของประชาชน หลังจากนั้นภารกิจของ 3 ศาลถึงจะยุติลง

ถัดมาไม่กี่วัน ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาที่ 607-608/2549 ในวันที่ 16 พ.ค. 2549 ให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. เป็นโมฆะ

สอดคล้องกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยคำวินิจฉัยตอนหนึ่งระบุว่า "จัดเรียงคูหาเลือกตั้ง จากเดิมที่ให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหันหลังให้ผนังหรือฉากกั้นที่เลือกตั้ง มาเป็นให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหันหน้าไปทางผนังหรือฉากกั้นที่เลือกตั้ง จึงเป็นการกระทำที่ทำให้การออกเสียงลงคะแนนไม่เป็นไปโดยลับทั้งในทางข้อเท็จจริง และในทางความรู้สึกของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง"

ในระหว่างนั้นมีการเรียกร้องให้ กกต.ที่เหลืออยู่ 4 คน ลาออกจากการเป็น กกต. กระทั่งในเดือนกรกฎาคม ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ให้ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. นายปริญญา นาคฉัตรีย์ กกต. และนายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต. จำคุก 4 ปีโดยไม่รอลงอาญา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี โดยไม่ให้ประกันตัว

ด้วยเหตุผลที่จัดการเลือกตั้งใหม่ที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม มิใช่เป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง



ทว่ายังไม่ทันที่จะมีการเลือกตั้ง คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เคลื่อนกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เมื่อ 19 ก.ย. เข้ามาเคลียร์วิกฤตการเมืองอย่างเด็ดขาด ฉับพลัน

แม้การผ่าทางตันของ 3 ศาล จะยังไม่บรรลุผล เข้าดูแลจัดการเลือกตั้งร่วมกับ กกต. เพราะเกิดการรัฐประหารขึ้นก่อน

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า 3 ศาลที่หารือแก้วิกฤตในปี 2559 เป็นต้นแบบของตุลาการภิวัตน์ขนานแท้ และอาจปรากฏในรัฐธรรมนูญใหม่

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar