วันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายสากล ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุ 6 เดือนแรกของปี 2563 นี้ มีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 2,551 ราย เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว บีบีซีไทย ชวนอ่านเรื่องนี้
โควิด-19 : เมื่อคนเลือกฆ่าตัวตายเพราะไร้ทางออกเรื่องปากท้องในภาวะปิดเมือง
หลังขับแท็กซี่เลี้ยงชีพมากว่า 20 ปี นาม เจียมสุภา ชายวัย 58 ปี ขึ้นรถเก๋งสีเขียวเหลืองคู่ใจครั้งสุดท้ายเมื่อไม่นานมานี้
ไม่ใช่ในฐานะคนขับ แต่เป็นอัฐิและภาพนิ่งใส่กรอบที่ญาติประคองไว้ โดยสารกลับไปทำพิธีกรรมที่ราชบุรีบ้านเกิด
ราวตีสองวันที่ 18 เม.ย. เขาผูกคอเสียชีวิตที่บ้าน
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น เขาบ่นกับลูกชายว่าหาเงินไม่ได้ และกลัวจะถูกยึดรถไป
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และน่าเศร้าที่อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่คนไทยตัดสินใจจบชีวิตตัวเองท่ามกลางวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
หลังรัฐบาลเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์ การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่ดูจะดีขึ้นเป็นลำดับสวนทางกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ไม่มีเงินเก็บ และไม่มีช่องทางทำมาหากิน
เวลาผ่านไป เราได้ยินคำพูดประเภท "ไวรัสไม่กลัวหรอก กลัวอดตายมากกว่า" จนชินหู เห็นได้จากภาพผู้คนต่อคิวกันเนืองแน่นเพื่อขอข้าวจากคนที่นำมาบริจาค หรือเรียกร้องเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ไม่คิดเกรงกลัวว่าจะติดเชื้อจากคนรอบข้าง
สำหรับคนที่มีฐานะทางการเงินที่แสนเปราะบาง การเว้นระยะห่างทางสังคม 1-2 เมตร เท่ากับการเว้นระยะห่างจากข้าวหรือเงินประทังชีวิตไปอีกพักหนึ่งเช่นกัน
ก่อนนามตัดสินใจฆ่าตัวตาย เขาค้างผ่อนแท็กซี่มา 2 งวด งวดละ 9,250 บาท เอื้องฟ้า แซ่ลิ้ว หลานสาวของนาม บอกกับบีบีซีไทยว่า หลังล็อกดาวน์ อาหาเงินได้เพียงวันละไม่กี่ร้อย จากที่เคยหาได้วันละพันกว่าบาท เขาต้องหาเงินเลี้ยงทั้งลูกและหลานตัวเองด้วย
คณะนักวิจัย "โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง" รวบรวมกรณีการฆ่าตัวตายจากวิกฤตโควิด-19 ที่ปรากฏในสื่อ ระหว่างวันที่ 1-20 เม.ย. พบว่า มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 กรณี (ผู้เสียชีวิต 28 ราย อีก 10 คน ยังไม่เสียชีวิต)
ล่าสุด ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก็บข้อมูลต่อและพบว่า ระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. มีการฆ่าตัวตายเพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้นทั้งหมด 44 กรณี มีผู้เสียชีวิต 31 ราย
สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ซึ่งให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย บอกกับบีบีซีไทยว่า ตั้งแต่วิกฤตในครั้งนี้เริ่มขึ้น มีคนโทรเข้ามาปรับทุกข์มากขึ้นถึง 3 เท่าตัว
"ไม่ผิดจากความคาดหมาย" คือคำตอบจาก นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จิตแพทย์และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 30 เม.ย. เมื่อถามถึงปัญหาการฆ่าตัวตายของประชาชนในช่วงนี้
"คาดไม่ถึงเลย" คือคำตอบจากเอื้องฟ้า เธอบอกว่าอาซึ่งเลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่เด็กเป็นคนพูดน้อย ไม่ค่อยชอบระบายเรื่องอะไรกับใคร
เงิน 5,000 บาท
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินเป็นปัจจัยหนึ่งของความเครียดและการฆ่าตัวตาย ก่อนนามเสียชีวิตไม่นาน เขาเดินทางไปกระทรวงการคลังเพื่อร้องเรียนเรื่องเงิน 5,000 บาทที่ยื่นเรื่องไปแต่ยังไม่ได้ และก็ต้องกลับบ้านมือเปล่าอีก ไม่นานมานี้ เราเห็นหญิงวัยกลางคนกินยาเบื่อหนูหน้ากระทรวงการคลังหลังร้องเรียนว่าไม่ได้เงินเยียวยา อีกไม่กี่วัน เราเห็นคนขับแท็กซี่สูงวัยร่ำไห้ ปีนรั้วกระทรวงการคลังตะโกนเรียกร้องเงิน ก่อนจะเป็นลมหมดสติไป
"ห้าพัน ถามว่าพอไหมมันก็ไม่พอแต่มันก็ยังได้ประทังสำหรับคนที่ไม่มีจริง ๆ" เอื้องฟ้าเล่า ตัวเธอเองซึ่งประกอบอาชีพขายของก็ไม่มีรายได้ตั้งแต่กรุงเทพฯ สั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ 22 มี.ค. และถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเช่นกัน
จากที่รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 เงินเยียวยาที่ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน" ใช้งบจากก้อน 6 แสนล้านบาทที่ตั้งไว้สำหรับรักษาและเยียวยาด้านสุขภาพของประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินกู้ที่ ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังได้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุผ่านเฟซบุ๊กวันที่ 3 พ.ค. ว่า ได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ผ่านเกณฑ์แล้วจำนวน 11 ล้านคน และยืนยันว่าอีก 5 ล้านคนที่เข้าข่ายจะได้เงินภายในวันที่ 8 พ.ค.
นามและเอื้องฟ้า ก็เข้าเกณฑ์แรงงาน ลูกจ้าง และอาชีพอิสระ ที่รัฐกำหนดว่าจะได้รับการช่วยเหลือ แต่เธอบอกว่ามันไม่มีความหมายแล้ว
"อาเขาก็เสียชีวิตไปแล้ว ถ้าเรียกร้องก็คงไปเรียกร้องกับยมบาล เพราะมันสายไปแล้ว มันไม่ทันแล้ว"
ไม่ควรมีใครจะต้องตายจากมาตรการของรัฐ
รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะนักวิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง บอกว่าข่าวคนฆ่าตัวตายในช่วงนี้สะท้อนว่ารัฐล้มเหลวอย่างมากในการช่วยเหลือประชาชน
การรวบรวมยอดคนฆ่าตัวตายคณะนักวิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองฯ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย บางฝ่ายบอกว่าขาดการเปรียบเทียบกับข้อมูลเดือนหรือปีอื่น ๆ ด้านกรมสุขภาพจิตออกมาบอกว่านี่เป็นเพียงมุมมองจากสื่อมวลชน และไม่อาจสรุปการฆ่าตัวตายว่ามาจากปัจจัยใดเพียงอย่างเดียวได้
แถลงการณ์ในเวลาต่อมาของคณะนักวิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองฯ ชี้แจงว่า ไม่ได้เก็บข้อมูลผู้ที่ฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุอื่น ๆ และไม่ได้คิดจะเปรียบเทียบศึกษาการฆ่าตัวตายในช่วงเวลาต่าง ๆ การเก็บข้อมูลดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อบ่งบอกถึง "ฟางเส้นสุดท้ายของผู้คนกำลังกดทับจนไม่สามารถที่จะมองหาทางออกในชีวิตได้"
"ผมคิดว่ามันเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง" รศ. สมชาย บอกกับบีบีซีไทยถึงยอดผู้เสียชีวิตที่ปรากฏตามสื่อ
"ข้างใต้เนี่ยผมว่ามันยังมีอีกเยอะ อย่างที่เชียงใหม่ สองสามวันที่ผ่านมา มีการแจกข้าว คนไปเบียดเสียดแย่งข้าวกันโดยไม่สนใจการเว้นระยะห่าง บางคนอาจจะบอกว่า 38 ราย (กรณีฆ่าตัวตายระหว่างวันที่ 1-20 เม.ย.) มันน้อย อยากจะบอกว่าจริง ๆ ไม่ควรมีใครจะต้องตายจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐ"
รศ. สมชาย บอกว่านโยบายเยียวยาของรัฐนอกจากคับแคบและล่าช้า แล้วยัง "โลเล" เรื่องจำนวนประชาชนที่จะได้รับการช่วยเหลืออีกด้วย
"มันเป็นการคาดคำนวณความเดือดร้อนโดยที่คุณไม่มีฐานข้อมูลอะไรอยู่ในมือเลยเหรอ… บางคนคอมเมนต์ว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในการจัดการโรค ผมเห็นด้วย [แต่]ผมคิดว่ามันต้องเอาคนไปด้วยพร้อมกัน"
จุดประสงค์หนึ่งของคณะนักวิจัยชุดนี้คือต้องการชี้ให้เห็นว่า ยอดคนฆ่าตัวตายที่เครียดจากวิกฤตครั้งนี้ ไม่ได้น้อยไปกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคโดยตรงเท่าไรเลย (ถึงวันที่ 6 พ.ค. ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 55 ราย)
บีบีซีไทยไม่สามารถยืนยันหรือพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตในกรณีเหล่านี้ได้
แต่นายตระการ เชนศรี นายกสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย บอกกับบีบีซีไทยว่า สถิติที่สมาคมเก็บรวบรวมระหว่างเดือน เม.ย. ก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน ร้อยละ 25 ของผู้ที่โทรเข้ามาขอความช่วยเหลือกับสมาคมมีความคิดอยากจะจบชีวิตตัวเอง และร้อยละ 70 มีปัญหาเรื่องเงิน
นายตระการ บอกว่า ช่วงเดือน เม.ย. มีคนติดต่อสมาคมเฉลี่ยวันละ 75 สาย มากกว่าช่วงปกติถึง 3 เท่า และน่าจะมากกว่านี้อีกแต่สมาคมไม่สามารถเปิดบริการสายด่วนเหมือนเดิมได้เพราะมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ต้องให้คนฝากเบอร์ไว้แล้วโทรกลับหรือคุยผ่านข้อความทางเฟซบุ๊กแทน
รัฐว่าอย่างไร
บีบีซีไทยพยายามติดต่อ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลายครั้ง ทั้งทางโทรศัพท์และเพจเฟซบุ๊กทางการ เพื่อขอคำชี้แจงต่อข้อกล่าวหาว่าการดำเนินมาตรการช่วยเหลือของรัฐที่ล้มเหลวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย แต่ไม่มีการตอบรับ
วันที่ 4 พ.ค. ศ.ดร.นฤมล รายงานผ่านเฟซบุ๊กว่า สถิติข้อมูลในเดือน เม.ย. ว่า มีคนไทยฆ่าตัวตาย 62 ราย แต่สาเหตุการไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท และได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เป็นสาเหตุลำดับท้าย ๆ หลังจากปัญหาส่วนตัว, หนี้สิน, ตกงาน, ปัญหาสุขภาพ, เป็นโรคซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว
ในโพสต์เดียวกัน ศ.ดร.นฤมล ระบุว่า นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สั่งเพิ่มคู่สายและคนรับสายด่วน พม. โทร 1300 เป็น 60 คู่สาย เพื่อรองรับปัญหา
บีบีซีไทยทดสอบโทรไปเบอร์ดังกล่าว แต่ผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมงก็ไม่มีใครรับสาย
ไม่มีเนื้อหานี้
ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.สิ้นสุด Facebook โพสต์, 2
หลังกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จิตแพทย์และโฆษก ศบค. ระบุว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายในช่วงนี้ "ไม่ผิดจากความคาดหมาย" พร้อมกับระบุว่าจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายในวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ยังน้อยกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ในเวลาต่อมา นพ.ทวีศิลป์ ออกมาย้ำว่า ในฐานะจิตแพทย์ "เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในวิชาชีพของผม" และแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกท่าน
"ในฐานะโฆษก ศบค. (ขอชี้แจงว่า) เรารับฟังทุกเรื่องเพื่อนำไปหาทางช่วยเหลือ ผมจะพยายามทุกวิถีทางให้คนที่มีความทุกข์ในเรื่องนี้ได้เข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือเยียวยา" นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเมื่อวันที่ 1 พ.ค.
บีบีซีไทยทดสอบโทรไปเบอร์ 1323 สายด่วนกรมสุขภาพจิต 3 ครั้ง โดยได้รับแจ้งให้ปรึกษาทางเฟซบุ๊กแทนเพราะมีผู้ขอรับบริการรอสายจำนวนมาก
บีบีซีไทยลองส่งข้อความไปทางเพจเฟซบุ๊กของสายด่วนปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต แต่ผ่านไปเกือบ 24 ชั่วโมงกว่าจะมาคนตอบข้อความ
ล่าสุด วันที่ 6 พ.ค. กรมสุขภาพจิตได้เปิดตัวช่องทางไลน์อย่างเป็นทางการที่ชื่อ "คุยกัน" (KhuiKun) โดยระบุว่าประชาชนสามารถปรับทุกข์เรื่องผลกระทบทางจิตใจที่เกิดจากโควิด-19 หรือปัญหาสุขภาพจิตทั่วไป สามารถส่งข้อความคุยกับผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่ก็ฝากเบอร์ให้โทรกลับได้
คนจนเมือง
เมื่อจัดการเรื่องงานศพของอาเสร็จแล้ว ทุกวันนี้ เอื้องฟ้าได้แต่อยู่บ้านเฉย ๆ เพราะห้างสรรพสินค้าที่เธอทำงานเป็นพนักงานขายของยังปิดกิจการอยู่ พร้อมกับภาระค่าไฟที่แพงขึ้นทุกเดือน
"เครียดมาก ไม่รู้ว่าจะสั่งหยุดยาวไปถึงเมื่อไหร่" เอื้องฟ้ากล่าว "ก็อยากให้รัฐบาลลงมาดูแลประชาชนให้ทั่วถึงมากกว่านี้อะค่ะ ไม่อยากให้ประชาชนที่เขาไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลมาเครียด แล้วก็ต้องมาเกิดเหตุการณ์เหมือนอา"
ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และการฆ่าตัวตายของคนทำให้นึกถึงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า ถ้าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังยืดเยื้อ เศรษฐกิจ "มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงกว่าต้มยำกุ้งด้วยซ้ำไป"
เมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 มีหลายประเทศในเอเชียที่ติด "โรคต้มยำกุ้ง" จากไทย ต้องลดค่าเงิน มีหนี้ต่างประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ พุ่ง ในส่วนของไทย รศ.ดร.อภิชาตเห็นว่า หลังลดค่าเงินบาท การส่งออกฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว (เนื่องจากราคาสินค้าไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกลง ขายของได้มากขึ้น) ใช้เวลาฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดเพียง 2-3 ปีเท่านั้น แต่ครั้งนี้ทั่วโลกได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าจนนักเศรษฐศาสตร์กำลังคิดว่าจะรุนแรงขนาดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และการปฏิวัติปี 2475 ในไทยหรือไม่
ธนาคารโลกระบุว่า จากปี 2559 ถึง 2561 อัตราความยากจนเพิ่มจาก 7.21 เปอร์เซ็นต์ เป็น 9.85 เปอร์เซ็นต์ หรือจาก 4.85 ล้านคน เป็นกว่า 6.7 ล้านคน รศ.ดร.อภิชาต บอกว่าเป็นเรื่องน่ากังวลว่าวิกฤตครั้งนี้จะทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร
ข่าวคนจนฆ่าตัวตาย หรือภาพคนต่อคิวขอบริจาคข้าวและเงินช่วยเหลือที่มีให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในขณะนี้ตรงกับที่ รศ.ดร.อภิชาตบอกว่า ชนชั้นล่างเป็นกลุ่มคนที่น่าห่วงที่สุด
เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง รศ.ดร.อภิชาตบอกว่า "คนรวย ชนชั้นกลางโดนก่อน สถาบันการเงิน พนักงานแบงก์ อสังหาริมทรัพย์เละหมด" เมื่อต้องเริ่มปิดกิจการต่าง ๆ คนรายได้น้อยอย่างคนงานก่อสร้างหรือพนักงานในโรงงาน ค่อยโดนผลกระทบตามมา
ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 การทำการเกษตรเพื่อส่งออกยังไปได้ดี แต่คราวนี้ภาคเกษตรไทยแย่มาหลายปีแล้ว และเมื่อมาตรการล็อกดาวน์เริ่มต้นขึ้นในกรุงเทพฯ "คนจนเมืองจำนวนมากถูกตัดขาดจากรากในชนบท กลับไปพึ่งชนบทไม่ได้ ไม่มีญาติ ไม่มีที่ดินในชนบทเหลืออยู่แล้ว"
อาจารย์เศรษฐศาสตร์ผู้นี้บอกอีกว่า การขาดรายได้ของคนจนเมืองยังส่งผลกระทบต่อ "ครอบครัวแหว่ง" หรือสมาชิกในบ้านที่เป็นคนแก่และเด็กของพวกเขาที่รอการช่วยเหลืออยู่อีกทอดหนึ่งด้วย
เขาบอกว่า มาตรการช่วยเหลือให้เงิน 5,000 บาท ที่รัฐทำอยู่ไม่เพียงพอ เพราะวิธีการแจกเงินไม่ครอบคลุม และท้ายที่สุดแล้ว คนที่จนที่สุดกลับไม่ได้อะไร
เขาเป็นหนึ่งในอาจารย์เศรษฐศาสตร์ 18 คนที่ออกแถลงการณ์เสนอให้รัฐให้ช่วยเหลือเป็นจำนวน 3,000 บาทแทนโดยให้กับประชากรทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นบุคลากรของภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจและผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 อยู่แล้ว โดยดำเนินการเป็นเวลา 3 เดือนโดยจะใช้งบราว 3.3 แสนล้านบาท โดยคาดว่าช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า 30 ล้านราย
รศ.ดร.อภิชาต บอกว่า มาตรการช่วยเหลือที่ล้มเหลวของรัฐบาล "มีส่วนแน่นอน" ที่ทำให้คนฆ่าตัว แต่ "กี่เปอร์เซ็นต์ไม่รู้"
ย้อนไปเมื่อเมื่อวิกฤตปี 2540 เขาบอกว่าการที่รัฐช่วยเหลือไม่เพียงพอก็มีส่วนที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย
โดยภาพรวม อาจารย์เศรษฐศาสตร์ผู้นี้บอกว่า นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่ระบบประกันสังคมของไทย หรือสิ่งที่เรียกกันว่า "social safety net" อ่อนแอมาก
ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ในปี 2015 ไทยใช้เงินคิดเป็นเพียงร้อยละ 3.7 ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี สำหรับระบบคุ้มครองทางสังคม ขณะที่ตัวเลขของจีนและเวียดนามอยู่ที่ร้อยละ 6.3 ส่วนเกาหลีใต้อยู่ที่ร้อยละ 10.1
รศ.ดร.อภิชาต ปิดท้ายว่า "วิกฤตครั้งนี้มันเปลือยกาย เปลือยโครงสร้างที่มันอยุติธรรมทางเศรษฐกิจให้เห็นอย่างล่อนจ้อน"
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar