Submitted on Fri, 2020-09-04 22:05
อยู่ดีๆ ปรีดี ดาวฉาย ก็ไขก๊อก ใครเชื่อบ้างว่าลาออกเพราะป่วย? วิษณุเชื่อ
ข่าวอ้างว่าเป็นเส้นเลือดสมองตีบ คนระดับนี้ไม่เคยตรวจสุขภาพ? เป็นรัฐมนตรีไม่ถึงเดือนเพิ่งจะรู้? โธ่เอ๋ย ใครก็เห็นว่าเป็นเพราะการเมืองกดดัน เพราะขัดแย้งกับรัฐมนตรีพลังประชารัฐ แม้โผย้ายที่เป็นข่าวขัดกัน ผ่านมติ ครม.ตามที่รัฐมนตรีเสนอ
ขัดกันแค่นี้ ทำไมประยุทธ์ไม่เคลียร์ให้ อุตส่าห์ไปเชิญเขามา นั่นละปัญหาใหญ่ รัฐมนตรีลาออกเพราะป่วย ยังพอหาคนใหม่ได้ แต่รัฐมนตรีลาออกเพราะอึดอัด นักการเมืองขัดแข้งขัดขา แล้วนายกฯ ที่ไปเชิญมา ไม่สามารถปกป้องให้ทำงานอย่างอิสระ
เจออย่างนี้ จะไปหาใครมาแทน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปรีดี อยู่ที่ประยุทธ์ต่างหาก
แม้อาจเป็นได้ว่าอดีตเอ็มดีกสิกรไทยไม่สามารถปรับตัวกับระบบราชการ กับการเมือง ก็ต้องถามประยุทธ์ว่าเลือกมาอย่างไร ไม่ดูความเหมาะสม ทำงานแค่ 21 วันก็ไป ยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เสียเวลาสำคัญในช่วงเศรษฐกิจวิบัติ
ปัญหาจึงไม่ใช่แค่หาใครมาแทน (ซึ่งหายาก เพราะก่อนนี้ก็ปฏิเสธกันหมด) แต่เป็นเรื่องความเชื่อมั่นต่อภาวะผู้นำ และเสถียรภาพรัฐบาล
ประยุทธ์จัดการนักการเมืองที่กวาดต้อนมาหนุนตัวเองไม่ได้ ก่อนหน้านี้ที่เงียบๆไป ปรับ ครม.ใหม่เพิ่มให้ พปชร. 3 เก้าอี้นึกว่าจะพอใจ ที่ไหนได้ยังมีคลื่นใต้น้ำ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ก็ถูกพรรคประชาธิปัตย์ขวางเรือดำน้ำ จนต้องขอให้กองทัพเรือถอนงบประมาณ ล่าสุด ปชป.กับภูมิใจไทย ยังงอแงกันเรื่องแบน 3 สารพิษ ที่รัฐมนตรีเกษตรรับเรื่องเกษตรกรขอทบทวนใหม่
ท่ามกลางความไม่มีเสถียรภาพนี้ ประยุทธ์ไม่สามารถยุบสภาลาออกได้ ลาออก? ก็ไม่สามารถเปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาล ยุบสภา? ท่ามกลางรัฐธรรมนูญที่ยังไม่แก้ หนึ่ง ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว สูตรคำนวณเศษมนุษย์ สอง 250 ส.ว.ยังโหวตกลับมาใหม่ ความไม่พอใจของประชาชนจะพุ่งปรี๊ด ม็อบล้นถนนแน่ ๆ
ซ้ำร้าย ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.มากขึ้น จากกลไกอำนาจ การเมืองถอยหลังสู่ระบบอุปถัมภ์ อย่างที่ชนะเลือกตั้งซ่อมมาแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับประยุทธ์ เพราะนักการเมือง พปชร.ยิ่งมีอำนาจต่อรองมากขึ้น
เอาเข้าจริง รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ล็อกไว้ให้ประยุทธ์สืบทอดอำนาจ ก็ล็อกตายทำให้ประยุทธ์ไม่มีทางออก นอกจากตื๊อต่อไป ภายใต้ความไม่พอใจของประชาชนที่มากขึ้นๆ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หวังลดกระแสม็อบ ก็ล่าช้าเกินไป ร่างแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี เร็วสุดก็เดือนมีนาคม 2565 หวังซื้อเวลา ลากตู่อยู่ยาว
ไม่ต้องพูดถึงด้านม็อบ ด้านประชาชน ที่คงไม่ยอมแน่ๆแต่ด้านรัฐบาลเอง ก็มีปัญหาว่าถ้าอยู่ไม่รอดจะทำอย่างไร ระหว่างมี ส.ส.ร. ยุบสภาไม่ได้นะ ถ้ายุบสภาเลือกตั้งใหม่ ใช้รัฐธรรมนูญเก่า 250 ส.ว.โหวตตู่ ความโกรธแค้นจะถล่มทลาย
หรือในทางกลับกัน ถ้ารัฐบาลแย่สุดๆปัญหาปากท้องประดัง ปัญหาการเมืองเน่าเฟะ พรรคร่วมกัดกัน โดนแฉทุจริต ฯลฯ แต่รัฐบาลอ้างว่ายังยุบสภาไม่ได้ ต้องรอรัฐธรรมนูญใหม่กลางปี 65 โอ้โห คงได้เละกันไปข้าง
ทางออกที่ดีที่สุด คือต้องแก้ไขกติกาขี้โกงเสียแต่วันนี้ หนึ่ง แก้รัฐธรรมนูญระบบเลือกตั้ง กลับไปใช้ปี 40 สอง “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ตัดอำนาจโหวตนายกฯ สาม ตั้ง ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สี่ ระหว่างลงประชามติก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ไปเลย ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลมีโอกาสสูงที่จะชนะ ประยุทธ์มีโอกาสสูงจะได้กลับมาเป็นนายกฯ เพราะได้เปรียบทุกอย่าง
แต่ทางเลือกที่ปลดล็อกได้ อย่างนี้ก็ไม่เอา เพราะต้องการล็อกอำนาจไว้ในมือ จนล็อกตายไม่มีทางออกอื่น ได้แต่ยืนดื้อแข็งกร้าว
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/386565
ในสภา กมธ.งบ 64 เลื่อนโหวตเรือดำน้ำไปเป็นวันจันทร์ หลังพรรคประชาธิปัตย์มีมติให้ 7 กมธ.โหวตค้าน ถ้ารัฐบาลดึงดัน รัฐบาลก็ชนะ เพราะใน 71 กมธ. รัฐบาลมีเสียงมากกว่าท่วมท้น (กมธ.มีสัดส่วนคณะรัฐมนตรี 18 คน ที่เหลือเฉลี่ยตามพรรค)
แต่พอกลับเข้าสภาวาระ 2 ซึ่งตัดสินกันด้วย 489 ส.ส. 52 ปชป. จะเป็นตัวแปรสำคัญ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยี้เรือดำน้ำ รัฐบาลจะยังดันทุรัง? ทั้งที่ไม่คุ้มทางการเมือง
งบเรือดำน้ำคาอก ยังมีข่าวกองทัพบกซื้อรถบรรทุกทหารจากอินเดีย 600 คัน 1,338 ล้าน แม้เป็นงบเก่า ชาวบ้านก็รับไม่ได้ ทหารซื้อยุทโธปกรณ์เต็มไปหมด ในเศรษฐกิจอย่างนี้ เช่นเครื่องบิน VIP 1,348.5 ล้าน แล้วยังบอกว่า #จะไม่ยอมให้จบที่รุ่นเรา
ข่าวการเมืองร้อนแรง ข่าวเศรษฐกิจก็ซึมยาว ไปในทางที่ซึมลง ทีมเศรษฐกิจใหม่ที่มีแค่ 2 คนไม่ค่อยเป็นข่าว แม้คงทำงานอยู่ เข้าใจตรงกันนะ จุดเด่นของทีมสมคิดคือ “สร้างข่าว” รู้วิธีใช้สื่อ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อ ตีปี๊บ “ข่าวดี” ถึงแม้ราคาคุย ก็มีผลทางจิตวิทยา
ข่าวจริงที่ออกมาตอนนี้คือ รมต.ท่องเที่ยวยอมรับว่า “เราเที่ยวด้วยกัน” ไม่ได้ผลตามคาด เพราะกำลังซื้อในประเทศน้อย ให้สิทธิ 5 ล้านห้องพัก มีผู้ใช้สิทธิและจ่ายเงินจริงไม่ถึง 8.2 แสนห้อง
อดีตรัฐมนตรีท่องเที่ยว ส.ว.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ จัดหนักจัดเต็ม ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ SME ไทยเที่ยวไทยก็แทบไม่ช่วย เพราะคนเที่ยวใกล้ๆ ช่วงวันหยุด เที่ยวเพราะอัดอั้นจากช่วงล็อกดาวน์ ได้ระบายสักรอบสองรอบก็กลับไปออมเงิน ทำได้ไหมที่จะให้สินเชื่อระยะยาว ยกเว้นเงินต้นดอกเบี้ย 3 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องปรับปรุงพัฒนาและไม่เลิกจ้าง เพราะธุรกิจท่องเที่ยวจ้างงานอยู่ราว 4 ล้านคน
วันที่ 4-7 ก.ย.นี้รัฐบาลก็หยุดยาวให้เที่ยวอีกแล้ว ไม่รู้ช่วยได้แค่ไหน ตัวเลข OccRate เดือนกรกฎาคม (ปลดล็อกหมดแล้ว และหยุดยาว 2 ช่วง) มีแค่ 25.7% จำนวนคนพัก 5.32 ล้านคน จากเดิม 12.6 ล้านคน รายได้รวม 37,000 ล้านบาท จากเดิม 202,000 ล้านบาท กระตุ้นอย่างไรก็ไม่รอด
เรื่อง SME เข้าไม่ถึงสินเชื่อ พูดกันเยอะแต่แก้ไม่ตก วันก่อนมีตลกร้าย ผมนอนอยู่ดีๆ แบงก์โทรมา อยากกู้เงินไหม คงเพราะแจ้งไว้ว่าประกอบอาชีพอิสระ มีค่าต้นฉบับเข้าบัญชีต่อเนื่อง นี่สะท้อนว่าเงินฝากล้น คนกู้น้อย SME อยากกู้ก็กู้ไม่ได้ แบงก์เลยหันมาไล่ถามชาวบ้าน “กู้เงินไหมคะ”
ยังดีที่รัฐบาลอุ้ม 7 สายการบิน ให้ซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล้าน เพื่อไม่ปลดพนักงาน 2 หมื่นตำแหน่ง แต่ข่าวปลดคนงานก็ยังไม่หมด จากโรงงานผลิตถุงลมนิรภัยที่ปราจีนบุรี ลามไปที่ลูกจ้าง อปท. เพราะได้ส่วนแบ่งภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้อยลง (เป็นไงล่ะ ห้ามขายแอลกอฮอล์) ภาษีโรงเรือนที่เปลี่ยนเป็นภาษีที่ดินก็ยังเก็บไม่ได้
อันที่จริงก็ถูกนะ เก็บภาษีได้น้อยลดกำลังคนภาครัฐ แต่กลับไปโดน อปท. ไม่ลดส่วนราชการที่ใหญ่โต โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง
เศรษฐกิจหลังโควิดดูเหมือนค่อยๆ ฟื้น แต่มองอีกมุมก็เหมือนค่อยๆ ตาย เพราะหนักหนาสาหัสจนแก้ไม่ได้ แก้ไม่ทัน ก่อนโควิดก็ย่ำแย่อยู่แล้ว รัฐที่ใหญ่โตแต่ไร้ประสิทธิภาพเน้นความมั่นคงมาก่อน รับมือวิกฤติเศรษฐกิจอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้เทคโนแครตที่มีฝีมือแค่ไหนก็ตาม
ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจน่าจะฉุดกันไปในทางเดียว คือแตกสลาย และเอาไม่อยู่ แม้ตอนนี้ยังไม่เห็นภาพชัด
ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/385987
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar