tisdag 8 september 2020

“ถ้าให้พูดกันตรง ๆ อำนาจจะแก้หรือไม่แก้ ก็อยู่ที่ ส.ว. 100 % และถ้าใช้ม็อบมากดดัน ก็ไม่มีผลการตัดสินใจ เพราะหากในอนาคต ไม่ชอบอะไรก็ยกกลุ่มมาประท้วง บ้านเมืองก็จะอยู่ไม่ได้” นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กล่าว

รัฐธรรมนูญ 2560 : ก้าวไกลยื่นญัตติ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” แล้ว ขณะที่วงประชุมกลุ่ม “60 ส.ว.” ล่ม

พรทิพย์

พรรคก้าวไกลนำทีมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อ "ปิดสวิตซ์ ส.ว." แล้ว ขณะที่ ส.ว. ที่เรียกตัวเองว่า "ส.ว. อิสระ" ไม่อาจประชุมร่วมกันได้ตามนัดหมาย เนื่องจากมี ส.ว. มาประชุมเพียง 2 คน จึงต้องยกเลิกการประชุมไป

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ และนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม คือ 2 ส.ว. ที่เดินทางมารอประชุมหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนัดหมาย โดยนายดิเรกฤทธิ์ให้เหตุผลว่าการเลื่อนการหารือครั้งนี้เนื่องจากสมาชิกหลายคนเกรงว่าจะมีสื่อมวลชนมาติดตามจำนวนมาก และไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน เพราะยังเป็นการหารือภายในอย่างไม่เป็นทางการ จึงมี ส.ว. ในกลุ่ม 60 ทยอยออกจากกลุ่มไลน์ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการนำแนวคิดของกลุ่มออกไปเปิดเผยต่อสื่อมวลชน

เขายืนยันว่า การทำหน้าที่ของ ส.ว. ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ "เป็นอิสระ" จากรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า ไม่อยากเรียกว่าการประชุมนัดนี้วงแตก แต่ ส.ว. หลายคนไม่ถนัดออกสื่อ กลัวเจ็บตัวหากมีการเปิดเผยตัวตนออกไป ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะนัดประชุมอีกเมื่อใด หรือจะล่มสลายไป

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเช้า นายกิตติศักดิ์กล่าวยอมรับว่า กลุ่ม 60 ส.ว. เห็นปัญหาและจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด แต่ก็มีส่วนดีคือการป้องกันการทุจริต พร้อมยืนยันว่า ส.ว. ไม่เคยหวงอำนาจ

"ถ้าให้พูดกันตรง ๆ อำนาจจะแก้หรือไม่แก้ ก็อยู่ที่ ส.ว. 100 % และถ้าใช้ม็อบมากดดัน ก็ไม่มีผลการตัดสินใจ เพราะหากในอนาคต ไม่ชอบอะไรก็ยกกลุ่มมาประท้วง บ้านเมืองก็จะอยู่ไม่ได้" นายกิตติศักดิ์กล่าว

ด้าน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มองว่าเป็นเรื่องดีที่จะได้นายกรัฐมนตรีที่แก้ปัญหาปฏิรูปประเทศ แต่มาถึงวันนี้พบว่าไม่ใช่ และไม่ได้ช่วยอะไรเลย ไม่มีประโยชน์ เห็นควรให้ตัดเลยเพราะไม่ได้ช่วยให้มีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลที่ดีขึ้น

"วันนั้นบอกเลยว่าคาดหวังว่าจะได้รัฐบาลที่ขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศได้เฉพาะกิจ แต่เมื่อเอาเข้าจริงไม่ได้ เมื่อไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเป็น ส.ว. แบบนี้ก็เหมือนกับมีความเกรงใจซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นปล่อยให้เป็นอิสระดีกว่า" พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว

3 นิ้ว

สำหรับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ว. กลุ่มนี้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ สรุปได้ ดังนี้

  • สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ไม่ใช่ร่างใหม่ทั้งฉบับ
  • ห้ามแตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
  • ยินดีให้แก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี
  • ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. เพราะทำให้สิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณ และอาจถูกวิจารณ์ว่าเป็นการ "ซื้อเวลา"

อย่างไรก็ตามนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อีกราย ออกมาระบุว่า จากการพูดคุยกับกลุ่ม 60 ส.ว. ยังมีปัญหาที่ไม่สามารถหลอมรวมความคิดกันได้ เพราะแต่ละคนมีความคิดที่หลากหลาย บางส่วนเห็นควรแก้เป็นรายมาตรา บางส่วนเห็นด้วยกับแก้ไขมาตรา 272 บางส่วนเห็นด้วยให้ตั้ง ส.ส.ร แต่บางส่วนไม่เห็นด้วย จึงเกิดความไม่มีเอกภาพ

นายวันชัยยังย้ำจุดยืนให้มีการแก้ไขมาตรา 272 เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ ส.ว. ต้องร่วมโหวตเลือกฯ อีกต่อไป และขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับ ส.ว. กลุ่มต่าง ๆ พร้อมยืนยันว่าการออกมาแสดงท่าทีเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว. ไม่ได้เป็นการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่ ส.ว. เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของส่วนรวม

สำหรับ ส.ว. ชุดปัจจุบัน 250 คน มาจาก 3 ช่องทาง โดย 194 คนมาจากการสรรหาของ คสช., 6 คนเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง และอีก 50 คนมาจากการเลือกตั้งไขว้กลุ่มอาชีพ โดยทำหน้าที่เป็นเวลา 5 ปี จึงถูกเรียกว่าเป็น "ส.ว.เฉพาะกาล"

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำทีมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อประธานรัฐสภา
คำบรรยายภาพ,

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำทีมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อประธานรัฐสภา

วันเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นำทีมยื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยให้ยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าด้วยอำนาจของ ส.ว. ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มี ส.ส. ร่วมลงชื่อรับรองญัตติ 99 คน จาก 13 พรรคการเมือง ทั้งนี้หัวหน้าพรรคก้าวไกลเปิดเผยว่ามี ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ร่วมลงชื่อรับรองญัตติด้วย แต่ไม่มีพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่อย่างใด

นายพิธาคาดหวังว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับการพิจารณาในวันที่ 23-24 ก.ย. นี้ และมั่นใจว่าจะไม่มี ส.ว. คนใดขัดขวาง เนื่องจากทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การแก้ไขมาตรานี้จะเป็นทางออกให้กับประเทศ

ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ปชป. หนึ่งในผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากความเห็นพ้องร่วมกันที่จะแก้ไขเรื่องการให้ ส.ว. เลือกนายกฯ เพียงประเด็นเดียว เพื่อยกเลิกการสืบทอดอำนาจ ซึ่งการดำเนินการของ ส.ส.ปชป. เป็นเอกสิทธิ์ที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามจะเข้าไปชี้แจงต่อที่ประชุมพรรคต่อไป คิดว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าใจ เพราะหัวหน้าก็เคยแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 272 เช่นกัน

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar