onsdag 1 maj 2013

"1 พ.ค. วันกรรมกรสากล" การจะได้มาซึ่ง สิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันในสังคม..ไม่มีใครจะหยิบยื่นให้ฟรีๆ จะต้องมีการต่อรองเรียกร้องกับนายทุนทุกครั้ง ดังนั้นการรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพแรงงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเอาไว้เป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานไว้ต่อรองกับนายจ้าง

by  Thai E- New
 
1 พฤษภา วันกรรมกรสากล หรือ “วันเมย์เดย์” (May Day) วันที่ต้องระลึกถึงวันแห่งความสามัคคี วันแห่งการยืนหยัดต่อสู้ ของชนชั้นกรรมาชีพและประชาชนผู้ใช้แรงงานทั่วโลก 

ในทศวรรษที่ 80 แห่งศตวรรษที่ 19 ได้กำเนิดการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุคของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” จากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรม ส่งผลให้ผู้คนอพยพจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ลัทธิทุนนิยมแห่งอเมริกาได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางซึ่งกรรมกรต้องถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด ไม่มีสวัสดิการและมาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน ขบวนการของกรรมกรอเมริกาและยุโรป ที่มีการรวมตัวกันขึ้นเป็นองค์การที่จัดตั้งอย่างเข้มแข็ง และเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้การกดค่าจ้างแรงงานและให้ลดชั่วโมงการทำงาน แนวความคิดนี้ได้ขยายไปในหลายประเทศทั้งยุโรป อเมริกา ลาติน อเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย 

1 พฤษภาคม ค.ศ.1886 องค์กรคนงานแห่งเมืองชิคาโกประเทศอเมริกาและในประเทศแคนาดา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่ จัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง “ระบบสามแปด” คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และการศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การต่อสู้ครั้งนั้นอำนาจรัฐนายทุนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกา ได้ฟื้นการต่อสู้เรียกร้องระบบสามแปด โดยมีมติให้เดินขบวนทั่วประเทศ ในช่วงนั้นแนวคิดจากกรรมกรในหลายประเทศแถบยุโรป ที่จะประกาศวันที่แน่นอนให้เป็นวันสามัคคีต่อสู้ของขบวนการกรรมกรทั่วโลก ที่ประชุมของสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส จึงมีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคม 1890 เป็นวันเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก เรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงานเป็นวันละ 8 ชั่วโมง มติดังกล่าวได้แพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง จากการยืนหยัดต่อสู้ของคนงานชิคาโกและคนงานทั่วโลกอย่างพร้อมเพรียงกัน ทำให้นายทุนต้องลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง และกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันกรรมกรสากล” เป็นสัญลักษณ์แห่งการสามัคคีต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นกรรมกร ในทั่วโลกจะจัดให้มีการชุมนุมเดินขบวน เพื่อระลึกถึงและ

กำเนิดกรรมกรในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2365 การคุกคามและล่าอาณานิคมของจักรพรรดินิยมอังกฤษ อเมริกา ฮอลันดา ฝรั่งเศส ทำให้ประเทศไทยต้องเปิดทำการค้า มีการลงนามทำสนธิสัญญาบาวริ่ง เมื่อ พ.ศ.2398 ทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้า พานิชกรรม โรงงานอุตสาหกรรม จึงมีคนงานรับจ้างจำนวนมากในโรงงาน เช่น โรงสี โรงพิมพ์ โรงงานยาสูบ โรงงานไม้ขีด โรงกลั่นเหล้า ฯลฯ แต่กรรมกร ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิต่างๆ จากรัฐ จึงมีกรรมกรเรียกร้องสิทธิค่าจ้าง และกฎหมายคุ้มครองการจ้างงาน จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นประชาธิปไตย ขบวนการกรรมกรไทยจึงจัดตั้งขึ้นเป็นสมาคม หรือสหบาลกรรมกร (Trade Union) สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย ได้รวมคนงานสาขาอาชีพต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ลดการกดขี่ขูดรีดให้มีสิทธิมากขึ้น การจัดงานวันกรรมกรในประเทศไทย ครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ที่สนามหน้าพระราชวังอุทยานสราญรมย์ จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพรวมกับสมาคมไตรจักร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 3 พันคน 

การชุมนุมวันกรรมกรสากล 1 พ.ค. 2489 มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายใต้คำขวัญ “กรรมกรทั้งหลาย จงสามัคคีกัน” มีกรรมกรเข้าร่วมกว่าแสนคน ซึ่งถือเป็นการแสดงพลังความสามัคคีของชนชั้นกรรมกรไทยครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้ง “สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย” นับเป็นการจัดงานที่มาจากจิตสำนึกของกรรมกร โดยกรรมกรและเพื่อกรรมกรอย่างแท้จริง แต่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 การรัฐประหารยึดอำนาจโดยรัฐบาลเผด็จการได้สั่งห้ามจัดงานวันกรรมกรสากล ต่อมาในปี พ.ศ.2499 “กรรมกร 16 หน่วย” จัดตั้งรวมตัวโดยมีเป้าหมายเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายรับรองสิทธิด้านต่าง ๆ และให้มีการจัดงานวันกรรมกรสากลขึ้นอีกครั้ง แต่รัฐบาลเผด็จการมีเงื่อนไขให้เปลี่ยนชื่อ “วันกรรมกรสากล” เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” มาจนถึงทุกวันนี้ 

ในประเทศไทยวันกรรมกรสากลมักจะถูกแทรกแซงจากรัฐมาโดยตลอด เนื้อหาและรูปแบบของการจัดงานถูกควบคุมโดยรัฐบาลเพราะต้องพึ่งพางบประมาณในการจัดงาน การยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในวันที่ 1 พฤษภาคม ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลเท่าที่ควร เพราะกรรมกรขาดอำนาจการต่อรอง จึงทำให้การยื่นข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานเป็นเพียงพิธีการเท่านั้น 

ดังนั้น “วันกรรมกรสากล” พี่น้องกรรมกรทุกคนจะต้องร่วมกันรำลึกถึงการต่อสู้ในอดีตกว่า 200 ปี ที่ปลดปล่อยกรรมกรจากการทำงานเยี่ยงทาส ณ วันนี้การต่อสู้ของกรรมกรยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของชนชั้นกรรมาชีพ ให้เชื่อมั่นในพลังของเรา ต้องปลดปล่อยโซ่ตรวนทางความคิดที่คอยแต่พึ่งพา ร้องขอและยอมจำนน ไม่นำพาการต่อสู้ด้วยตนเอง เพื่อปลดปล่อยโซ่ตรวนของการกดขี่ขูดรีดทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เฉกเช่นบรรพบุรุษของเราที่ได้ต่อสู้ เสียสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่ออนาคตของลูกหลานกรรมกรของเราและสังคมใหม่ 

สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ขอยืนหยัดร่วมต่อสู้กับมวลพี่น้องกรรมกรและประชาชนทุกสาขาอาชีพ เพื่อปากท้องของทุกคน ในแนวทางที่เป็นประชาธิปไตย กรรมกรต้องสร้างอำนาจประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นคืออำนาจประชาธิปไตยทางการเมือง อำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ อำนาจประชาธิปไตยทางด้านวัฒนธรรม 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar