torsdag 9 maj 2013

"ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลควรหาทางแก้ไขปรับปรุง" เห็นด้วยที่รัฐบาลกล้าตัดสินใจแก้ปัญหา.....เพื่ออนาคตของเด็กที่ด้อยโอกาสทั่วประเทศ เพราะการศึกษาให้ความรู้ที่มีมาตรฐาณคือคือหัวใจหลักที่สำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนาๆอารยะประเทศทั่วโลก...

วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เวลา 15:42 น.  ข่าวสดออนไลน์

ข่าวเพิ่มเติม"พงศ์เทพ"เผยการยุบโรงเรียนขนาดเล็กมีการดำเนินการมาแล้วกว่า20ปี


เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 11 พ.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า  ที่  ร.ร.บ้านเหล็ก  สพป.ศรีสะเกษ  เขต  3  อ.ปรางค์กู่  จ.ศรีสะเกษ  นายพงศ์เทพ   เทพกาญจนา  รองนายกรัฐมนตรี  และ  รมว.ศึกษาธิการ  เป็นประธานในพิธีรับมอบ  และเปิดป้ายอาคารแหล่งเรียนรู้ปฐมวัย  โรงเรียนบ้านเหล็ก  โดยมี  ข้าราชการ  พ่อค้า  และประชาชนชาว  อ.ปรางค์กู่  ได้ร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้าง  ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก  ขนาด  6  ห้องเรียน  และจัด ซื้อที่ดิน  ตลอดจนมีการปรับภูมิทัศน์รอบบริเวณโรงเรียน  คิดเป็นมูลค่า  จำนวนทั้งสิ้น  2,435,000  บาท  โดยมี  นายประทีป  กีรติเรขา  ผวจ.ศรีสะเกษ  ให้การต้อนรับ

ในโอกาสนี้  นายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา  รองนายกรัฐมนตรี  และ  รมว.ศึกษาธิการ  พร้อมด้วย  นางสุนีย์  อินฉัตร อดีต  สว.ศรีสะเกษ  นางมาลินี  อินฉัตร  ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคเพื่อไทย  ได้มอบเงินสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารแหล่งเรียนรู้ปฐมวัยโรงเรียนบ้านเหล็ก  จำนวน  200,000  บาท  อีกด้วย 

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ  รมว.ศึกษาธิการ  กล่าวว่า  การรวมโรงเรียน  หรือการยุบ   โรงเรียนขนาดเล็กนั้น  เป็นนโยบายที่มีการดำเนินการมานานกว่า  20  ปีแล้ว  ไม่ใช่เป็นนโยบายใหม่แต่อย่างใด   ดังนั้น  ตนจึงได้สั่งการไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกจังหวัด  ให้ตรวจสอบคุณภาพของ  โรงเรียนในสังกัด  ที่มีนักเรียนไม่ถึง  60  คน  และหลังจากที่ได้ทำการตรวจสอบแล้ว  พบว่า  มีโรงเรียนเป็นจำนวนมากที่มีจำนวนนักเรียนไม่ถึง  20  คน  ซึ่งไม่ได้หมายความว่า  การที่โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์จะถูกยุบโรงเรียนแต่อย่างใด  หากแต่ว่า  ศักยภาพในด้านการศึกษายังมีประสิทธิภาพที่ดี  มีการเรียนการสอนที่มีมาตรฐาน  และเด็กสามารถเรียนรู้จากการศึกษาภายในโรงเรียนได้อย่างเต็มที่  โรงเรียนก็ถือว่าประ สบผลสำเร็จ  ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้การส่งเสริม  และสามารถทำการเรียนการสอนต่อได้  แต่หากโรงเรียนในชนบทที่มีจำนวนนักเรียนน้อย  และประสบปัญหาในเรื่องการเรียนการสอน  อาจจะมีการยุบโรงเรียน  เพื่อนำไปเรียนร่วมกับโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่า  แต่ก็ไม่ไกลจากที่อยู่อาศัยของนักเรียนมากนัก  ซึ่งทางรัฐบาลจะได้มีการจัดเตรียมรถรับ -  ส่งนักเรียนไว้  เพื่อให้บริการฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด  ซึ่งถือว่า  เป็นการผ่อนเบาภาระของผู้ปกครอง  และเป็นการสร้างฐานความรู้ที่ดีขึ้นสำหรับเด็กอีกทางหนึ่งด้วย 

นายพงศ์เทพ  กล่าวต่อไปว่า  สิ่งที่รัฐบาลต้องการ  คือ  การศึกษาที่มีคุณภาพ  ที่จะสร้างเด็กในระดับประถม ศึกษา  ให้สามารถเรียนต่อในระดับมัธยมพื้นฐานได้อย่างมั่นคง  หรือสามารถเรียนต่อในสายอาชีพ  หรือสายอาชีวะได้อย่างภาคภูมิใจ  ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้  มีการดำเนินการแล้วกว่า  20  ปี  ไม่ใช่เพิ่งเริ่มกระทำแต่อย่างใด  ซึ่งหากจะนับสถิติตั้งแต่ปี  2551 – 2555  จะเห็นได้ว่า  ในแต่ละปีจะมีการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่ต่ำกว่าปีละประมาณ  100  โรงเรียน   ซึ่งนโยบายนี้  ถือเป็นโครงการปกติ  และจะสามารถพัฒนา  และยกระดับการศึกษาของประเทศไทย  และเยาวชนไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย


สั่งยุบ! โรงเรียนขนาดเล็ก 17,000 แห่งทั่วประเทศสั่งยุบโรงเรียน! โดยรัฐมนตรี ศธ. กว่า 17,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อประหยัดงบ พร้อมย้ำดูแลเด็กที่จำต้องย้ายโรงเรียน





สั่งยุบโรงเรียน! โดยรัฐมนตรี ศธ. กว่า 17,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อประหยัดงบ พร้อมย้ำดูแลเด็กที่จำต้องย้ายโรงเรียน

นายพงศ์เทพ รัฐมนตรี ศธ. เปิดเผยหลังประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเพื่อรับฟัง นโยบายเตรียมความพร้อมรับเปิดภาคเรียน 2556 ว่า เบื้องต้นได้มอบนโยบายให้ผู้อำนวยการเขตฯ ไปสำรวจโรงเรียน พบว่า โรงเรียนใดมีนักเรียนน้อยและด้อยคุณภาพ ก็ให้ยุบรวมกับโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง โดยโรงเรียนที่จะยุบจะต้องมีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน โดยจะดูเป็นรายโรงเรียนไม่ได้เหมารวมทั้งหมด และจะรวบรวมตัวเลขมาประชุมร่วมกันอีกครั้ง และให้เร่งทำความเข้าใจกับชุมชน เพื่อลดการต่อต้าน โดยต้องชี้แจ้งว่า รัฐไม่มีกำลังงบประมาณจะพัฒนาโรงเรียนทุกแห่ง และไม่สามารถนำงบจากเงินภาษีมาดูแลทุกโรงเรียนได้เท่าเทียมกัน

ด้าน เลขาธิการ กพฐ. บอกว่า โรงเรียนขนาดเล็กที่เข้าข่ายว่าอาจถูกยุบ มีรายละเอียด ดังนี้
โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน มีทั้งหมด 14,816
โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน มีทั้งหมด 8,962 โรง
โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียน 41-60 คน จำนวน 3,163 โรง
โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียน 21-40 คน จำนวน 2,090 โรง
โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 20 คน จำนวน 709 โรง

ข้อมูลโดย : www.talkystory.com

ที่มา:เวป msn

ค้านยุบ 'โรงเรียนขนาดเล็ก' แนะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ

กรณี พงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ให้ข่าววานนี้ (8 พ.ค.56) เรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 17,000 โรง วันนี้ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยและเครือข่ายองค์กรการศึกษา ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อแนวทางดังกล่าว โดยระบุว่า การยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในการแก้ปัญหาอันเกิดจากความล้มเหลวด้านการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงที่ใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึงปีละ 4 แสนล้านบาท แต่ล้มเหลวในการดูแลพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพและทั่วถึง ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน ความไม่เป็นธรรมต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง ต่อเด็กในด้านการเรียนรู้ และต่อชุมชน นอกจากนี้ยังทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการบริหารจัดการศึกษาแบบรวมศูนย์ของรัฐด้วย
ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุด้วยว่า หากกระทรวงศึกษาธิการไม่พร้อมที่จะบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชุมชนให้มีคุณภาพได้ ขอเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ลูกหลานของตนเองตรงตามบริบทแวดล้อม สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม รวมถึงขอคืนพื้นที่การศึกษาให้แก่ชุมชน โดยส่งเสริมและมอบให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลบริหารจัดการ ตามแนวทางการศึกษาของชุมชน และการศึกษาทางเลือกที่มีความหลากหลาย
โดยหากกระทรวงศึกษาธิการยังเดินหน้ายุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 17,000 โรง โดยไม่รับฟังแนวทางจากภาคประชาชนนั้น สภาการศึกษาทางเลือกจะประสานองค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศจัดรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการรวมศูนย์อำนาจการจัดการศึกษาดังกล่าว


รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้
นับตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2554 สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย พร้อมด้วยเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) ทั่วประเทศ ได้คัดค้านต่อนโยบายดังกล่าวโดยมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งได้มีการยื่นจดหมายคัดค้านและเสนอแนวทางออกแก่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมานับตั้งแต่สมัยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล จนต่อมาได้เกิดแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์โรงเรียนขนาดเล็กร่วมกัน โดย ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แถลงผ่านสื่อมวลชนว่าจะร่วมมือกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนเพื่อตอบโจทย์เรื่องคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก
สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยได้ดำเนินการตามแนวทางความร่วมมือดังกล่าว มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายโรงเรียนชุมชนทั่วประเทศ พัฒนาจัดทำแผนทั้งในระดับพื้นที่ชุมชน พื้นที่จังหวัด และระดับชาติ จนเกิดเป็นแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการปฏิรูปการจัดการศึกษาแนวใหม่ ทั้งนี้แม้ต่อมาจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีทำให้มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่หลายครั้ง นับตั้งแต่ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา หากแต่สภาการศึกษาทางเลือกก็ยังคงเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง มีการยื่นจดหมายและเสนอแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กฯ แก่ สพฐ. มาโดยตลอด รวมทั้งได้เสนอขอให้เปลี่ยนจากการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมาเป็นการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นโรงเรียนชุมชน ที่ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมบริหารโรงเรียน มีหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ มีการระดมทรัพยากรจากทุกฝ่ายมาสนับสนุน ด้วยหวังว่าจะนำมาสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมตามแนวทางอันเป็นไปตามที่ สพฐ.เคยได้แถลงต่อสื่อมวลชนไว้
ระยะเวลา 2 ปีกว่าที่สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายโรงเรียนชุมชนทั่วประเทศ และองค์กรด้านการศึกษาหลายแห่งได้ระดมสรรพกำลัง ระดมความคิดเห็น และเผยแพร่ผลงานของการปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในระดับพื้นที่หลายแห่ง เช่น โรงเรียนบ้านกุดเสถียร จ.ยโสธร , โรงเรียนบ้านท่าสะท้อน จ.นครศรีธรรมราช , โรงเรียนบ้านดอนทราย จ.นครศรีธรรมราช , โรงเรียนบ้านมอวาคี และ โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดนอก จ.เชียงราย
อย่างไรก็ตามความหวังบนเส้นทางของกระบวนการดังกล่าวนี้กำลังพังทลายในพริบตา เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ได้ประกาศยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 17,000 โรง จากโรงเรียนทั้งหมด 30,000โรง โดยละเลยและไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพของเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พ่อแม่อยากให้อยู่ใกล้บ้าน อยากให้อยู่ในชุมชน กับกลุ่มที่พ่อแม่ยากจนไม่สามารถส่งลูกไปที่อื่นได้ประกอบกับสามารถดูแลลูกได้สะดวกด้วย ดังนั้นการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจึงเป็นการสร้างความทุกข์ยากให้เกิดขึ้นกับพ่อแม่ผู้ปกครองมากกว่าจะเป็นการสร้างสุข
การยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จึงสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำ ดังนี้
1.ความไม่เป็นธรรมในการแก้ปัญหาอันเกิดจากความล้มเหลวด้านการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึงปีละ 400,000,000,000 บาท แต่ล้มเหลวในการดูแลพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพและทั่วถึงตามความต้องการของประชาชน อีกทั้งเขตพื้นที่การศึกษายังปล่อยปละละเลยการบริหารโรงเรียนทำให้ครูมีจำนวนน้อยลงเพราะขอโยกย้าย ไปโรงเรียนใหญ่ในเมืองหรือขอเกษียณราชการล่วงหน้า และขาดการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการการศึกษาที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ และมองภาพการพัฒนาเชิงระบบ
2.ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน เพราะรัฐยังคงใช้วิธีคิดผูกขาดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้กับกระทรวงฯ โดยเมื่อจัดไม่ได้ดีจนเกิดโรงเรียนเล็กมากมาย ก็ยุบทิ้งแล้วเอางบประมาณรายหัว อาคารสถานที่ อัตราจ้าง และผลประโยชน์อื่นๆของโรงเรียนเล็กที่ถูกยุบมาเป็นของโรงเรียนใหญ่ และเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งที่มีวิธีการจัดการศึกษาที่เป็นทางออกได้ คือ การจัดร่วมกับภาคประชาสังคม
3.ความไม่เป็นธรรมต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะการแก้ไขปัญหาด้วยการยุบควบรวมโรงเรียนเล็ก เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ และขาดความรับผิดชอบ โดยปัดภาระให้ประชาชนต้องย้ายลูกไปเรียนโรงเรียนที่ห่างไกลชุมชน และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้จะมีรถรับส่งดูแล แต่การเรียนไกลบ้านย่อมรวมถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ย่อมจะเกิดขึ้นตามมา
4.ความไม่เป็นธรรมต่อเด็กในด้านการเรียนรู้ เพราะรัฐยังคงเน้นการจัดการศึกษาโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เน้นการจดจำสาระวิชาเพื่อไปสอบแข่งขันศึกษาต่อ เพื่อผลิตแรงงานสนองความต้องการของอุตสาหกรรม ซึ่งล้มเหลวในการพัฒนาคุณภาพเด็กที่รอบด้าน และสอดคล้องกับการพัฒนาสังคมที่หลากหลายตามบริบท
5.ความไม่เป็นธรรมต่อชุมชน สิ่งที่สำคัญยิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการละเลยไม่พูดถึง คือ โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ ชุมชนมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง ทั้งบริจาคที่ดิน ชาวบ้านช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียน ช่วยทำนุบำรุงโรงเรียนทั้งแรงกายและแรงทรัพย์ การยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กโดยไม่ได้รับฟังเสียงสะท้อน คัดค้านจากเจ้าของพื้นที่ เจ้าของโรงเรียนตัวจริงอย่างชาวบ้าน ชุมชน จึงเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างเห็นได้ชัด
และ 6.ความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการบริหารจัดการศึกษาแบบรวมศูนย์ของรัฐ การจัดสรรงบประมาณตามขนาดของโรงเรียนหรือจัดสรรงบอุดหนุนตามรายหัว โรงเรียนใหญ่ได้รับงบประมาณเยอะกว่าโรงเรียนเล็ก วิธีการนี้กำลังถ่างให้เกิดความเหลื่อมล้ำ งบอุดหนุนที่ไม่เท่ากันย่อมนำมาสู่การพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนได้ไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่มีเงื่อนไข ข้อจำกัดเช่นนี้ แต่การประเมินคุณภาพการศึกษากลับใช้มาตรฐาน ไม้บรรทัดเดียวกันในการชี้วัดซึ่งไม่เป็นธรรม
ท่าทีและแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการในวันนี้ จึงเป็นการหักหาญ ทำลายหัวจิตหัวใจของพ่อแม่ หัวอกของชุมชนอย่างยิ่ง ซึ่งหากกระทรวงศึกษาธิการไม่พร้อมที่จะบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชุมชนให้มีคุณภาพได้ สภาการศึกษาทางเลือกและเครือข่ายโรงเรียนชุมชน(โรงเรียนขนาดเล็ก) ทั่วประเทศ มีข้อเสนอดังนี้
1.กระทรวงศึกษาธิการต้องกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ลูกหลานของตนเองตรงตามบริบทแวดล้อม สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างมิติการศึกษาที่หลากหลายด้วยการดึงความรู้จากชุมชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของภาคการศึกษาในระบบผ่านการหนุนเสริมทั้งด้านงบประมาณและรับรองความรู้จากกระทรวงศึกษาธิการด้วยการให้สถานศึกษาทางเลือกและชุมชนคิดและจัดการได้ด้วยตนเอง
2.ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้แก่ชุมชน ยกเลิกนโยบายการยุบ เลิกหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทพื้นที่ห่างไกลและที่อื่นๆ โดยเปลี่ยนเป็นส่งเสริมและมอบให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลบริหารจัดการ ตามแนวทางการศึกษาของชุมชน และการศึกษาทางเลือกที่มีความหลากหลาย โดยให้ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมกันบริหารจัดการโรงเรียนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ สภาการศึกษาทางเลือกได้ปรึกษาหารือกันแล้วว่า หากกระทรวงศึกษาธิการยังเดินหน้ายุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 17,000 โรง โดยไม่รับฟังแนวทางจากภาคประชาชนแล้วนั้น สภาการศึกษาทางเลือกจะประสานองค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศจัดรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการรวมศูนย์อำนาจการจัดการศึกษา ที่เป็นต้นตอสำคัญซึ่งทำให้เกิดวิกฤติทางการศึกษาในครั้งนี้และในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
“เด็กทุกคนต้องมีโอกาสทางการศึกษา ได้เลือก ได้คิด
และเรียนรู้ตามความถนัดในสิ่งที่ตนสนใจ ครอบครัว ชุมชนเป็น
ส่วนหนึ่งของการกระบวนการทางการศึกษา ร่วมกับโรงเรียน
เราจะไม่โยนภาระอันนี้ให้เป็นหน้าที่หลักของโรงเรียนเท่านั้น”
ด้วยความเชื่อมั่นในการมีส่วนร่วมของประชาชน
สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย
สมาคมบ้านเรียน
เครือข่ายโรงเรียนไทยไท
เครือข่ายการศึกษาทางภาคเหนือ
เครือข่ายการศึกษาทางภาคกลาง
เครือข่ายการศึกษาทางภาคอีสาน
เครือข่ายการศึกษาทางภาคใต้
เครือข่ายโรงเรียนชุมชน
เครือข่ายการศึกษาทางเลือกชนเผ่าพื้นเมือง
9 พฤษภาคม 2556

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar