måndag 29 februari 2016

วีรพงษ์ รามางกูร.....เศรษฐกิจโลกปี 2559




เศรษฐกิจของโลกทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ถ้าจะประเมินภาวะเศรษฐกิจโลก คงต้องดูไปที่ประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่โตหลาย ๆ ประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะเกี่ยวโยงถึงกันในยุคโลกาภิวัตน์นี้ก็ตาม
เมื่อจะพูดถึงเศรษฐกิจของโลก ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเจาะไปที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอาจจะรวมไปถึงอินเดีย ในฐานะที่เป็นตลาดที่ใหญ่อีกประเทศหนึ่ง

สหรัฐอเมริกายังคงมีภาวะเศรษฐกิจที่ถือว่ายังสดใส ต่อเนื่องมาจากปี 2558 ที่ผ่านมา อัตราการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ที่มาลงทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน เพื่อขอเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ว่างงาน อัตราการว่างงานดังกล่าวถือว่าเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่ประมาณร้อยละ6เป็นอันมาก ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานในอัตราที่ต่ำเช่นนี้ น่าจะทำให้เกิดความกดดันทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น ถ้าเป็นภาวะปกติ

สถานการณ์การว่างงานในอัตราที่ต่ำเช่นว่านี้ กลับไม่ก่อให้เกิดความกดดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อแต่อย่างไร เพราะปรากฏว่าอัตราเงินเฟ้อกลับมีอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ซึ่งเป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินของธนาคารกลาง

เป้าหมายที่เคยคาดการณ์กันไว้ว่าในปี 2559 ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน 8 ครั้ง นักการเงินในตลาดการเงินและตลาดทุน คาดว่าธนาคารกลางของสหรัฐคงจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วในปี 2559 นี้ ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาควรจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณร้อยละ 1.00 เพราะดึงวัฏจักรที่เป็นขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย มิฉะนั้น อัตราเงินเฟ้อก็จะก่อตัวขึ้น เมื่ออัตราเงินเฟ้อก่อตัวขึ้นแล้ว ก็เป็นการยากที่จะแก้ไขและยับยั้ง หากไม่ทำการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อป้องกันความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

ความ เห็นดังกล่าวมีนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักคัดค้านโดยให้ความเห็นว่าแม้ว่าอัตรา การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกาจะอยู่ในระดับที่สูงจนอัตราการว่างงานอยู่ ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายถึงกว่าร้อยละ 1.00 ก็จริง แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของโลกยังเปราะบาง ซึ่งในที่สุดก็จะย้อนมากระทบเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะค่าเงินดอลลาร์จะแข็งขึ้น หากธนาคารกลางสหรัฐยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป สหรัฐควรจะดูสถานการณ์ให้แน่ใจเสียก่อน ในสถานการณ์อย่างนี้ ไม่จำเป็นที่อัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ในวัฏจักรขาขึ้นตามทฤษฎีเสมอไป เพราะขณะนี้อัตราเงินเฟ้อนอกจากไม่มีทีท่าว่าจะก่อตัวขึ้นเท่านั้น อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มว่าจะลดลง จนอาจจะกลายเป็นภาวะเงินฝืดเสียด้วยซ้ำไป

ดังจะเห็นได้จากระดับการบริโภค หรือการใช้สินค้าโภคภัณฑ์ทุกอย่าง เป็นต้นว่า น้ำมันดิบ ถ่านหิน เหล็ก ทองแดง และอื่น ๆ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าความสามารถในการผลิตแทบทั้งสิ้น การที่ความต้องการสินค้าต่าง ๆ เหล่านี้ของตลาด มีกำลังไม่เพียงพอกับความสามารถในการผลิต จึงเป็นเหตุให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิด ทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมลดลงอย่างหนัก ถ้าสหรัฐอเมริกายังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เงินจะไหลกลับไปที่สหรัฐ สถานการณ์ก็คงจะย่ำแย่มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณีสหภาพยุโรป อังกฤษ และประเทศยุโรปตะวันออกรวมทั้งรัสเซีย

สถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรปก็ยังย่ำแย่หนักอยู่ เพราะภาวะหนี้สินของประเทศที่ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่อยู่ในสหภาพด้วยกันและกับประเทศนอกสหภาพ ประเทศที่มีหนี้สินจนต้องเข้าโครงการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างหนี้ มีหลายประเทศ เช่น กรีซ สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ เป็นต้น

สถานการณ์ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ยังต้องรัดเข็มขัดต่อไป ทั้ง ๆที่อัตราการว่างงานก็ยังไม่ลดลง

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวลือว่า ดอยช์แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของเยอรมนี ประสบปัญหาหนี้เสียจากการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมัน จนธนาคารอาจจะขาดสภาพคล่อง ดอยช์แบงก์ออกมาปฏิเสธ พร้อมกับเอาเงินสดมาซื้อหุ้นกู้บุริมสิทธิ์ของตนคืน เพื่อแสดงว่าฐานะทางการเงินของตนยังมั่นคง แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทน้ำมันจะเริ่มมีหนี้เสียอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เป็นปัญหาถึงกับจะขาดสภาพคล่องของธนาคาร

เศรษฐกิจของยุโรปขณะนี้ยังอยู่ในสภาพที่เปราะบางธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ต้องเพิ่มปริมาณเงินยูโร เพื่อพยุงสภาพคล่องของระบบธนาคารในยุโรป โดยการเพิ่มปริมาณเงินยูโรเพื่อเข้าซื้อหนี้เสียจากระบบธนาคารพาณิชย์ในสหภาพยุโรป การที่ธนาคารกลางยุโรปต้องดำเนินการดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจและการเงินของยุโรป ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น

สำหรับ ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีอาเบะเพิ่มปริมาณเงินเยนในระบบ โดยการให้ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือธนาคารกลาง เพิ่มปริมาณเงินโดยการออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากระบบธนาคารพาณิชย์ โดยหวังว่าค่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงการส่งออกจะได้ดีขึ้น เพราะสินค้าส่งออกจะได้มีราคาลดลง แต่สถานการณ์ก็ไม่เป็นอย่างที่อาเบะคาดหวัง เพราะผู้ส่งออกรถยนต์ เครื่องจักร และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของญี่ปุ่น ไม่ยอมลดราคาที่ตั้งราคาเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐไว้ แม้ว่าค่าเงินเยนจะอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นจึงไม่สูงขึ้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต่ำกว่าศูนย์ หรือเป็นอัตราติดลบแล้วก็ตาม

สำหรับ จีน ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก แม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง จนผู้จัดการกองทุนคนหนึ่งซึ่งเคยพยากรณ์ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์หนี้ด้อยคุณภาพในตลาดการเงินของสหรัฐ ออกมาบอกว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในจีนบัดนี้เป็นหนี้เสียไปแล้วถึงร้อยละ 10 ค่าเงินหยวนของจีนจะต้องอ่อนค่าลง เพราะจีนจะต้องเพิ่มปริมาณเงินหยวน โดยธนาคารกลางของจีนจะออกมาช่วยเพิ่มสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ของจีน

ธนาคารกลางของจีนออกมาปฏิเสธและตอบโต้ว่าเป็นการกล่าวเท็จของนักเก็งกำไรอเมริกันสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ของจีนมีสูงถึง35 ล้านล้านหยวน ถ้าสินเชื่อเสียไป 10 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับธนาคารมีหนี้เสียถึง 3.5 ล้านล้านหยวน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะธนาคารกลางของจีนมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างเข้มงวด

ธนาคารพาณิชย์ของจีนต้องนำเงินสำรอง40เปอร์เซ็นต์ของยอดเงินฝากไปฝากไว้ที่ธนาคารกลางในรูปพันธบัตรรัฐบาลหรือเงินสด เหลือเงินที่ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยเงินกู้ได้เพียงร้อยละ 60 ของเงินฝาก ในจำนวนร้อยละ 60 ที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ ครึ่งหนึ่งของสินเชื่อของลูกหนี้ธนาคารจะต้องมีหลักทรัพย์ที่มั่นคงค้ำประกัน ซึ่งก็คือประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินฝากเท่านั้นที่เป็นสินเชื่อให้กับโครงการการลงทุน สินเชื่อ 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินฝากจะกลายเป็นหนี้เสียถึง 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 3 ย่อมเป็นไปไม่ได้ นโยบายสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ของจีนเข้มงวดมาก กล่าวคือสามารถปล่อยสินเชื่อที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงร้อยละ 30 ของเงินฝาก จึงเป็นเหตุให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์จีนมีอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของประเทศอื่นๆมาก

อัตราดอกเบี้ยที่สูงเช่นนี้ ทำให้จีนต้องควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาหาประโยชน์จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย การไหลเข้ามาของเงินทุนจากต่างประเทศก็จะทำให้ค่าเงินหยวนของจีนแข็งขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่ไหลเข้ามา จีนจึงยังไม่เปิดเสรีทางการเงิน การเคลื่อนย้ายของเงินทุนยังอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการอย่างเคร่งครัด แม้กระนั้นนักเก็งกำไรก็ยังพยายามปล่อยข่าวโจมตีค่าเงินหยวนอยู่เสมอ จีนจึงยังไม่เปิดเสรีทางการเงินเพื่อป้องกันการถูกปั่นให้เป็นฟองสบู่ ป้องกันการถูกโจมตีโดยกองทุนตรึงค่าของนักการเงินอเมริกัน

สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียนที่น่าเป็นห่วงคือประเทศอินโดนีเซียที่มีภาวะการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเรื่อยมา ตั้งแต่อินโดนีเซียไม่มีน้ำมันส่งออก มีแต่ต้องนำเข้าเท่านั้น อินโดนีเซียต้องกู้มาชดเชยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับการส่งออก โอกาสที่ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียจะถูกโจมตีจึงยังมีสูง

อินโดนีเซียควรศึกษากรณีต้มยำกุ้งของไทยให้ดี

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar