måndag 29 februari 2016

Chaturon Chaisang.....รัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่เลือกตั้งดีกว่า

Chaturon Chaisang
ให้สัมภาษณ์ "โลกวันนี้"ไปเมื่อเร็วๆนี้ครับ
คอลัมน์ : ฟังจากปาก ผู้เขียน : กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข


การเมืองไทยภายใต้โรดแม็พของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อคืนการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยให้กับประชาชนทั้งประเทศอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ในมุมมองของ “จาตุรนต์ ฉายแสง” เห็นว่า
ปัญหาเรื่องการคืนประชาธิปไตยยังไม่มีความชัดเจน ถึงแม้จะบอกว่ามีโรดแม็พที่ชัดเจนและจะทำตามโรดแม็พนั้น แต่เนื่องจากว่าในโรดแม็พนั้นมีเรื่องเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า ถ้าไม่ผ่านประชามติแล้วจะทำอย่างไร ทำให้คนยังไม่ค่อยแน่ใจว่าการคืนประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ตามกำหนดหรือไม่
นอกจากนี้สภาพที่มีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพอย่างมากทำให้ผู้ที่เดือดร้อนในสาขาอาชีพต่างๆไม่สามารถแสดงออกหรือเสนอข้อเรียกร้องอะไรที่มีน้ำหนักต่อรัฐบาล เท่ากับเป็นการเก็บกดปัญหาต่างๆไว้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะกดไว้ได้นานเท่าใด ดังนั้น สภาพของสถานการณ์ในวันนี้จึงเหมือนกับสถานการณ์ที่ยังไม่ได้เปิดเผยปัญหา ยังไม่ได้เห็นปัญหาที่แท้จริง และคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะปะทุขึ้นมามากขึ้น เพียงแต่ว่าจะปะทุในช่วงที่ คสช. มีอำนาจหรือปะทุหลังการเลือกตั้ง หรือทั้ง 2 อย่าง ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัย
ร่างเบื้องต้นเป็นร่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง แล้วจะทำให้ประชาชนไม่มีอำนาจ ไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้จนนำไปสู่วิกฤตที่ไม่มีทางออก เพราะตัวร่างรัฐธรรมนูญนี้เขียนไว้ในลักษณะที่จะแก้ไม่ได้แล้ว ในช่วงที่ผ่านมามีหลายฝ่ายแสดงความเห็น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีปัญหามาก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็มีท่าทีว่าจะแก้บางประเด็นตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์คือ เรื่องสิทธิเสรีภาพ ในเรื่องอื่นดูเหมือน กรธ. ยืนยันจะคงไว้เหมือนเดิม ยกเว้นอีกเรื่องหนึ่งที่ กรธ. จะรับเอาความเห็นมาปรับปรุงก็คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ
โดยรวมแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเป็นปัญหาอย่างมากต่อประเทศ ซึ่งเท่าที่ดูพบว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัยมีจุดที่อันตรายและน่าเป็นห่วงคือ มันเชื่อมโยงกันจนเป็นระบบ จากวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการแต่งตั้ง แต่มีอำนาจในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มีอำนาจยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ และเห็นชอบในการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ นอกจากนี้กรรมการองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้นฟ้าเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร สามารถล้มรัฐบาลได้ง่าย เรียกได้ว่าเป็นการหักล้าง ล้มล้างมติหรือการตัดสินของประชาชน
ที่สำคัญองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญยังควบคุมกำกับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินนโยบายและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และรัฐบาลจะมีความอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ นอกจากนั้นรัฐบาลยังถูกกำกับโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และมีแผนยุทธศาสตร์ซึ่งใช้เวลานานถึง 20 ปี ตรงนี้เป็นจุดอันตรายมาก เพราะโลกในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าประเทศไหนกำหนดยุทธศาสตร์ยาวถึง 20 ปี แสดงว่าไม่เข้าใจโลกเลย ไม่สนใจโลกนี้เลย แล้วจะกลายเป็นกับดักหรือหลุมพรางสำหรับตัวเอง ทำให้ประเทศทั้งประเทศจะติดกับของความล้าหลัง ความไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ยังมีจุดที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ชักจูงให้สังคมเดินเข้าสู่วิกฤต เพราะทำให้คนคิดว่าถ้าไม่พอใจรัฐบาลก็หาทางล้มโดยนอกกติกา และโดยใช้กติกาและกลไกตามรัฐธรรมนูญเพื่อจะให้เกิดวิกฤต และหวังว่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยหาทางออกให้ตรงกับที่ตัวเองต้องการ
ประเด็นสำคัญเมื่อคนเห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญนี้ ในอนาคตถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติแล้วคนเห็นปัญหาว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็จะพบว่ารัฐธรรมนูญนี้แก้ไม่ได้แล้ว และทำให้สังคมอยู่ในสภาพที่ไม่ได้แก้ปัญหา ความขัดแย้ง ความเห็นแตกต่างทางการเมืองด้วยกลไกหรือกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย คือเลือกตั้งไปก็ไร้ความหมาย แทนที่จะใช้การเลือกตั้งมาตัดสินว่าใครควรเป็นรัฐบาล และรัฐบาลควรมีนโยบายอย่างไร กลายเป็นเลือกตั้งไปแล้วก็กำหนดอะไรไม่ได้ เสร็จแล้วเมื่อคนเห็นแตกต่างกันเรื่องกติกา การแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาที่มาจากประชาชนก็ทำไม่ได้อีก เท่ากับเป็นสังคมที่เปิดช่องหรือชักจูงส่งเสริมให้เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญ
เมื่อการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้ก็ทำให้ผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซง และเมื่อเข้ามาแทรกแซงถึงขั้นหนึ่งก็จะฉีกรัฐธรรมนูญ มันจะเดินเข้าสู่วิกฤตและวนกลับมาสู่ที่เดิม เพียงแต่ว่าการเดินกลับมาสู่ที่เดิมในระหว่างทางจะเป็นความสูญเสียมหาศาล ที่สูญเสียอย่างมากก็คือโอกาสของประเทศ ความล้าหลัง ความชะงักงันในการพัฒนา แล้วก็ความขัดแย้งที่อาจจะรุนแรงจนกลายเป็นวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่มากขึ้นในอนาคต
ส่วนเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น ลำพังการกำหนดรายชื่อ 3 ชื่อที่พรรคการเมืองเสนอก็ไม่น่ากลัวอะไรมาก แต่ว่ามันเป็นการเปิดช่องและส่งเสริมให้เกิดการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ โดยเฉพาะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างวิกฤตขึ้นมาในสังคมเพื่อจะให้วินิจฉัยว่าให้มีคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตรงนั้นน่ากลัวกว่า หมายความว่าเมื่อมันเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆแล้วจะน่ากลัวกว่าการกำหนดให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้โดยผ่านรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar