fredag 26 februari 2016

บีบีซีไทย - BBC Thai


บีบีซีไทย - BBC Thais foto.


สหประชาชาติย้ำกระบวนการรับร่าง รธน.ไทยต้องโปร่งใส สะท้อนความต้องการประชาชน ด้านองค์กรสิทธิ์ชี้จำนวนผู้ถูกคุมขังจากคดี 112 เพิ่มขึ้น 9 เท่า นับตั้งแต่รัฐประหาร
เฟซบุ๊ก United Nation in Thailand เผยแพร่ข้อมูลเรื่องการเดินทางเยือนไทยในสัปดาห์นี้ ของนายมิโรสลาฟ เยนเชอ ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติสำหรับกิจการทางการเมือง ซึ่งเขาได้พบหารือกับนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ กับแกนนำพรรคการเมืองและภาคประชาสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประ...เทศไทย กระบวนการกลับไปสู่การปกครองประเทศโดยรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และแผนงานที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งภายในกลางปี 2560
ข้อมูลในเฟซบุ๊กระบุว่า นายเยนเชอะ ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหประชาชาติ และวิธีที่สหประชาชาติสามารถสนับสนุนกระบวนการทางประชาธิปไตยต่าง ๆ ในไทย โดยเขาได้เน้นย้ำต่อทุกฝ่ายถึงข้อเรียกร้องของสหประชาชาติเกี่ยวกับกระบวนการจัดเตรียมและการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เป็นกระบวนการที่โปร่งใสและครอบคลุมทุกภาคส่วน เป็นไปตามมาตรฐานสากล และให้มีการจัดการเลือกตั้งที่เสรี เที่ยงธรรม เป็นประชาธิปไตย และเชื่อถือได้ รวมทั้งสะท้อนถึงความประสงค์ของคนไทย
อีกด้านหนึ่ง สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล ในกรุงปารีส ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ออกรายงานล่าสุดหัวข้อ “36 and counting - Lèse-majesté imprisonment under Thailand’s military junta” ระบุว่า ในช่วงเริ่มต้นของการที่รัฐบาลทหารเข้าปกครองประเทศ มีผู้ถูกคุมขังจากการกระทำความผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำนวน 6 คน แต่นับจนถึงวันที่ 20 ก.พ.2559 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 53 คน หรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 9 เท่า ในจำนวนนี้ 35 คน ถูกตัดสินลงโทษจำคุก และอีก 18 คน อยู่ระหว่างรอการพิจารณาคดี
รายงานระบุด้วยว่า มีการโอนอำนาจในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งหมดให้ไปอยู่ใต้อำนาจของศาลทหารซึ่งนำไปสู่การลิดรอนสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ศาลทหารได้ดำเนินคดีและลงโทษจำเลยในคดีดังกล่าวไปแล้ว 24 คน โดยโทษที่บุคคลเหล่านั้นได้รับสูงกว่าที่เคยมีการตัดสินในศาลพลเรือนในช่วงก่อนรัฐประหาร ราว 2 ปีครึ่ง ‪#‎ThaiConstitution‬

~



เพิ่มเติมเนื้อหา 16:50 GMT
“รด.จิตอาสา” เริ่มลงพื้นที่ กทม.เชิญชวนประชาชนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ด้านนักรัฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกต รด.รณรงค์หมายถึงทหารและ รด.มีส่วนได้ส่วนเสียกับการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติหรือไม่
ช่วงสายของวันนี้ นักศึกษาวิชาทหารกลุ่ม รด.จิตอาสาและคณะทหารเริ่มออกรณรงค์ลงในพื้นที่กทม.ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในชุมชน 3 แห่งย่านถนนเจริญกรุง ได้แก่ ชุมชนโชฎึก ชุมชนโปลิสสภา และชุมชนจงสวัสดิ์
นายวรเมศ จงโอฬารดำรง ประธานชุมชนโปลิสสภากล่าวว่า ขณะนี้คนในชุมชนมีความสับสนและยังไม่เข้าใจในตัวร่างรัฐธรรมนูญมากนัก เขาเห็นว่ารัฐบาลควรทำให้ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น ก่อนจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงประชามติ ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละคนว่าจะเลือกลงคะแนนรับหรือไม่รับ
ขณะที่นายวิเชียร กมลงามพิพัฒน์ ประธานชุมชนจงสวัสดิ์เห็นว่า การรณรงค์ของ รด.จิตอาสา อาจเข้าถึงประชาชนได้ไม่มากนัก และเห็นว่าหากมีการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญผ่านทางโทรทัศน์ก็จะเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า
ทางด้านรศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยถึงความเห็นต่อการลงพื้นที่ของ รด.จิตอาสาว่า เขาไม่เห็นด้วยและไม่คิดว่าเป็นหน้าที่ของ รด.ที่ต้องออกมารณรงค์ เนื่องจากจะทำให้เกิดคำถามว่า การที่ รด.ออกมารณรงค์นั้นหมายถึงทหารและ รด.มีส่วนได้ส่วนเสียกับการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติหรือไม่ เขาเห็นว่า สิ่งที่ทหารควรทำคือ ทำให้การลงประชามติครั้งนี้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนให้มากที่สุด รวมทั้งทำให้บรรยากาศการลงประชามติเป็นไปอย่างอิสระ ซึ่งรวมถึงอิสระในการที่ประชาชนจะไม่ออกมาใช้สิทธิด้วย
รศ.ดร.พิชญ์ กล่าวว่า ทางออกที่ดีควรเปิดให้มีเวทีถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดยทหารถอยตัวเองออกมาเป็นผู้รักษาความสงบ และทำให้กระบวนการลงประชามติสะท้อนเจตจำนงของประชาชนและให้ประชาชนมีอิสระในการเลือกให้มากที่สุด และเตือนว่า อย่าทำให้การรณรงค์ครั้งนี้มองเห็นคนที่ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญมีค่าเท่ากับคนที่ไม่เอาคสช.ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
ก่อนหน้านี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยออกมาระบุถึงข้อกังวลว่านักศึกษา รด. จะไปชี้นำประชาชนให้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาลขอเน้นย้ำว่าโครงการนี้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา รด. สมัครใจเข้าเป็นจิตอาสาช่วยเหลือบ้านเมืองในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน และยืนยันว่า การทำหน้าที่ของนักศึกษา รด. จึงไม่ใช่การชี้นำให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการตัดสินใจขึ้นอยู่กับประชาชนเอง













คลิกดูเพิ่ม-Visa mer


Inga kommentarer:

Skicka en kommentar