fredag 26 februari 2016

Chaturon Chaisang....‘เปลี่ยนผ่าน 5 ปี ถอยหลัง 40 ปี’

รูปภาพของ Chaturon Chaisang
Chaturon Chaisang
‘เปลี่ยนผ่าน 5 ปี ถอยหลัง 40 ปี’
ติดตามข่าวพลเอกประยุทธ์พูดถึงการเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแล้ว ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าค.ส.ช.และพลเอกประยุทธ์ต้องการอะไร
พลเอกประยุทธ์บอกว่าให้มองแผนระยะยาว 20 ปี แผนปฏิรูปครั้งละ 5 ปี ต้องมีไกด์ตรงนี้ แต่ถามว่าต้องมีมาตรการอะไรหรือไม่ มันก็ต้องมีและต้องมีอะไรซักอย่างควบคุมให้ตรงนั้นเป็นไปตามนี้ ซึ่งมีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นคณะอะไรขึ้นมาใหม่หรือจะเป็นส.ว.หรือใครก็แล้วแต่ ทั้งหมดนี้ คือ กลไกที่จะประเมินเท่านั้นเอง
พลเอกประยุทธ์บอกต่อว่าถ้าไม่ได้ขึ้นมาทั้งสองสภาก็คุยกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ โดยการเปิดอภิปรายกันได้หรือไม่ว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำนี่ทำนู่น แล้วจะแก้ไขกันอย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกัน ถ้าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ต้องมีคนตัดสิน จะไปศาลรัฐธรรมนูญได้หรือเปล่าก็ไม่รู้... ช่วงนี้จะยกเว้นบางส่วนก่อนได้หรือไม่ ถึงเวลาสถานการณ์ปกติกลับมา ทั้งหมดจะกลับเข้าที่เดิมหมด ส.ว.ก็เลือกตั้งใหม่ทั้งหมดก็ได้ เพียงแต่รัฐบาลหน้าต้องเกิดความมั่นใจให้เรา
พลเอกประยุทธ์ปฏิเสธว่าไม่ใช่สองขยัก แต่ความจริงแล้วพลเอกประยุทธ์ได้อธิบายให้เป็นที่เข้าใจกันอย่างชัดเจนว่าที่ว่า 2 ขยักนั้นแปลว่าอย่างไร
ฟังทั้งหมดแล้วก็ทำให้นึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่เคยทำแบบ 2 ขยักมาแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนั้น มีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว เช่น ให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้และส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด แต่ก็ห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีและให้ส.ว.มีอำนาจอย่างจำกัด เหมือนกับว่าเมื่อประชาชนไปเลือกตั้งแล้วจะสามารถเลือกรัฐบาลตามที่ต้องการได้
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าในมาตราท้ายๆของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ได้บัญญัติสาระที่แตกต่างอย่างสำคัญ จากที่บัญญัติไว้ในตอนต้น คล้ายกับเป็นบทเฉพาะกาลโดยให้ใช้ไปเป็นเวลา 4 ปีนับตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้งสมาชิกที่วุฒิสภาซึ่งก็คือ วันเดียวกับวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง
เนื้อหาสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับระยะเปลี่ยนผ่าน 4 ปีนั้น ก็คือ การกำหนดให้ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีได้ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดนั้นมีอำนาจที่จะประชุมร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณากฎหมายสำคัญสำคัญเช่น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่างพระราชบัญญัติสำคัญอื่นๆ รวมทั้งร่างพระราชกำหนดและยังสามารถร่วมประชุมในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ด้วย
การกำหนดไว้อย่างนี้ก็เท่ากับทำให้ส.ว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด ‘ความเป็นความตาย’ ของรัฐบาล หรือพูดง่ายๆใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ย่อมขึ้นกับวุฒิสภานั่นเอง
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 มีผลตามที่มีการออกแบบไว้ คือ ทำให้ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภาได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องกันมาอีกมากกว่า 4 ปี ตามที่บัญญัติไว้ เพราะก่อนจะครบกำหนด 4 ปีก็มีการยุบสภาเสียก่อน ทำให้กติกาในการเลือกตั้งและอำนาจของวุฒิสภาที่มีผลต่อการตั้งรัฐบาลยังคงใช้บังคับอยู่
นี่เอง คือ ระบบที่เรียกกันว่า ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’
ความจริงระบบอย่างนั้นไม่ควรเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบด้วยซ้ำ เพราะมีความเป็นเผด็จการอยู่มาก แต่สาเหตุที่ระบบอย่างนั้นสามารถดำรงอยู่ได้เป็นเวลานานโดยไม่มีการต่อต้านคัดค้านที่รุนแรงเท่าใดนัก เป็นเพราะสังคมไทยในด้านหนึ่ง เพิ่งผ่านการเผชิญกับความคิดที่จะปกครองแบบเผด็จการสุดโต่งเป็นเวลานานถึง 12 ปี อีกด้านหนึ่งก็เพิ่งผ่านความขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติ และอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวว่าประเทศไทยจะล้มไปตามทฤษฎีโดมิโนด้วย
แต่ถึงกระนั้น ‘ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ’ ก็ไม่อาจอยู่ยงคงกระพันตลอดไป ในที่สุดประเทศไทยก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความเป็นประชาธิปไตยโดยเฉพาะระบบรัฐสภาและบทบาทของพรรคการเมืองไปได้ เมื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในเวลาต่อมาถูกรัฐประหาร รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ก็ถูกประชาชนต่อต้านคัดค้าน จนในที่สุดบ้านเมืองก็ต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และพัฒนาต่อเนื่องมาอีกเป็นเวลานานหลายปี
จากปี 2521 ถึงวันนี้ โลกได้เปลี่ยนไปมากแล้ว สังคมไทยเองก็มีพัฒนาการมามาก ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนพยายามทำให้ประเทศต้องถอยหลังไปเกือบครึ่งศตวรรษ
แต่ก็อย่าแปลกใจ ถ้าคณะกรรมการร่างชุดปัจจุบันจะไปเปิดกรุเอาแนวความคิดที่เคยใช้กันเมื่อ 40 ปีก่อน มาใช้อีกครั้งหนึ่ง เพราะผู้ที่เข้าใจกระบวนการที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญระยะเปลี่ยนผ่าน ที่ละเอียดลึกซึ้งที่สุดคนหนึ่ง ก็คือ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน เนื่องจากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 มากับมือ ทั้งยังเป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากรัฐธรรมนูญช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นมากที่สุดคนหนึ่งด้วย
มาวันนี้ เป็นข่าวว่า ท่านประธานคนเดียวกับที่ถามท่านรองวิษณุ ‘บังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงเวลา ทำยังไง’ มาจับเข่านั่งคุยกัน 2 ชั่วโมง จนเข้าใจตรงกัน
เพื่อพาประเทศ ‘ถอยหลัง’ ไป 40 ปี ???
00000000000000‪#‎ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ‬ ‪#‎รัฐธรรมนูญฉบับปี2521‬ ‪#‎เปลี่ยนผ่าน5ปี‬ ‪#‎สองขยัก‬ ‪#‎จาตุรนต์ฉายแสง‬



Inga kommentarer:

Skicka en kommentar