fredag 15 april 2016

บีบีซีไทย - BBC Thai

บีบีซีไทย - BBC Thai's photo.
บีบีซีไทย - BBC Thai
จาตุรนต์ ฉายแสง: ประชามติที่เสรีและเป็นธรรมจะช่วยลดความแตกแยกและขัดแย้งในสังคม
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและแกนนำพรรคเพื่อไทยโพสต์ในเฟซบุ๊ก ส่วนตัวกล่าวถึงเรื่องปัญหาของการเตรียมจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ควรจะถามประชาชนด้วยว่า หากไม่รับจะให้ผู้เกี่ยวข้องทำอย่างไร เพราะขณะนี้สิ่งที่ทำความเข้าใจกับประชาชนคือ หากมีการลงประชามติออกมาว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว คสช.จะดำเนินการตามที่เห็นสมควร “ก็เท่ากับว่าไม่ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกอะไรเลย กลายเป็นออกหัวออกก้อยก็เป็นตาม คสช.หมด อย่างนั้นไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการลงประชามติ”
นายจาตุรนต์ ชี้ว่า ถ้าจะให้ดีควรจะกำหนดคำถามใส่เข้าไปด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนี้ไม่ผ่านการลงประชามติ เห็นควรให้ทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม นายจาตุรนต์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ข้อเสนอนี้คงจะไม่มีวันเป็นจริงเนื่องจากผู้เกี่ยวข้องคงจะใจไม่กว้างพอ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำคือแสดงเจตนารมณ์ยืนยันไปว่า ผู้เกี่ยวข้องจะยอมรับผลการลงประชามติ
“การลงประชามติที่เสรีและเป็นธรรมจะช่วยลดความขัดแย้งแตกแยกในสังคม เพราะฝ่ายต่างๆได้แลกเปลี่ยนและรับรู้ข้อมูลและความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ผลออกมาอย่างไร แม้จะมีคนที่ยังไม่เห็นด้วย แต่ก็จะไม่ติดใจและมีโอกาสยอมรับได้มาก แต่ถ้าการลงประชามติทำไปแบบมัดมือชกข้างเดียว ผลที่ออกมาก็บอกไม่ได้ว่าเป็นความเห็นคนส่วนใหญ่ ความไม่พอใจก็ยังมีอยู่มาก” พร้อมระบุว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความแตกแยกกันต่อไปเรื่อย ๆ ควรจะเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี
พร้อมกันนั้นนายจาตุรนต์ยังกล่าวถึงรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ว่า คสช.และผู้เกี่ยวข้องควรถือว่าเป็นกระจกสะท้อนภาพของไทยในสายตาต่างประเทศ และไทยมีพันธะกับต่างประเทศในเรื่องสิทธิมนุษยชน ดังนั้นต่างประเทศย่อมมีสิทธิจะวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกับชี้ว่า ข้อมูลในรายงานของสหรัฐฯเป็นเพียงข้อมูลของปี 2558 เท่านั้นยังไม่รวมอีกหลายกรณีที่เกิดใหม่ เช่นการจะนำคนไปอบรมปรับทัศนคติ หรือการออกคำสั่งใหม่ที่ให้อำนาจทหารในการจับกุมคุมขังและสอบสวนคนได้โดยที่ ไม่ต้องมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งถือว่าเปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิอย่างมากเป็นต้น
เรื่องของการเปิดกว้างให้ประชาชนได้แสดงออก และปัญหาสิทธิมนุษยชนหลายด้าน เป็นส่วนหนึ่งของรายงานของสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมทั้งด้านเสรีภาพทางการเมือง การที่มีการจับกุมและไม่ยอมให้มีการแสดงความเห็นทางการเมืองหรือการชุมนุม ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงการใช้ศาลทหาร การจับกุมคุมขัง การรับมือผู้อพยพ การบังคับส่งกลับผู้หนีภัย ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในทางปฏิบัติจริงไม่พบว่ามีเสียงสะท้อนในเชิงลบจากประชาชนในเรื่องการละเมิด สิทธิมนุษยชน และเรื่องเหล่านี้เป็นเพียงความกังวลของกลุ่มที่เห็นต่างที่พยายามนำขึ้นมา พูดเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ส่วนในแง่ของต่างประเทศเช่นสหรัฐฯ นั้นปัญหาอยู่ที่ยังไม่เข้าใจดีพอ ซึ่งจะต้องพยายามทำความเข้าใจกันต่อไปเรื่อยๆ ‪#‎ประชามติ‬

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar