tisdag 18 september 2012
ชำนาญ จันทร์เรือง: รัฐประหารกันยา 49 โอกาสในวิกฤติ
โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
19 กันยายน 2555
เนื่องในโอกาสที่ครบรอบ 6 ปีที่ของการรัฐประหารกันยา 49 ซึ่งเราต้องยอมรับว่าได้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยอย่างมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับนับถือของนานาอารยประเทศที่ต่างพากันดูถูกเหยียดหยามในวิธีการแก้ปัญหาการเมืองการปกครองอย่างมักง่ายของเหล่าบรรดาขุนทหารทั้งหลาย ความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่สามารถนับประเมินเป็นเม็ดเงินได้ลงตัวจนปัจจุบันว่าเสียหายไปเท่าไหร่กันแน่ ประชาชนในชาติแตกเป็นก๊กเป็นเหล่าจนเกิดการปะทะกันเสียชีวิตเป็นร้อย บาดเจ็บเป็นพัน ฯลฯ
อย่างไรก็ตามในวิกฤติย่อมมีโอกาส เพราะในปรากฏการณ์อันเลวร้ายนี้ได้เกิดผลด้านบวกขึ้นมาในหลายด้านเช่นกัน คือ
1)ทำให้จิตสำนึกในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน จากเดิมที่คนไทยเรามีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า(subjective)กลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม(parcitipatory) ประชาชนมีช่องโทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์ประจำตามรสนิยมทางการเมืองเป็นของตนเอง
พ่อค้าแม่ค้า สองแถว แท็กซี่ ฯลฯ เดี๋ยวนี้เขาไม่คุยกันแล้วเรื่องละครน้ำเน่า หรือถึงแม้ว่าจะคุยก็ตามแต่ก็น้อยเต็มที เรื่องราวที่เขาเหล่านั้นพูดคุยกันเป็นเรื่องลึกๆที่แม้แต่สื่อกระแสหลักก็ยังไม่กล้าลงเสียด้วยซ้ำไป
2)ทำให้เรารู้ว่าบรรดาผู้นำทหารที่ไม่ได้ทำอาชีพอะไรเลยนอกจากการรับราชการมีทรัพย์สินว่ากันเป็นเกือบร้อยล้าน มีที่บ้านหรือที่ดินในที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้จนต้องส่งคืน ไม่รวมถึงบรรดาสร้อยถนิมพิมพาภรณ์ทั้งหลายของคู่สมรสที่มีกันเป็นกุรุสๆ
นอกจากนั้นยังเป็นผลทางอ้อมที่ทำให้เรารู้ว่าไม้ล้างป่าช้าก็สามารถซื้อกันได้เป็นราคาหลายสิบล้านเพื่อนำไปชี้หาวัตถุระเบิดจนเหล่าทหารชั้นผู้น้อยต้องสังเวยชีวิตไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ซึ่งก็รวมถึงถึงเรือเหาะที่ใช้การได้เฉพาเหาะแต่ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย
3)ที่สำคัญทำให้เรารู้ว่าในกองทัพหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ขึ้นชื่อลือชาในการรักษาความลับทางราชการยิ่งชีพนั้นก็มีนายทหาร/นายตำรวจแตงโมหรือนายทหาร/นายตำรวจฟักทองแทรกอยู่โดยทั่วไป
ที่ตลกที่สุดก็คือนายตำรวจระดับผู้บัญชาการกล้าประกาศออกมาว่าถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาลก็พร้อมจะลาออก นับได้ว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ข้าราชการประจำจะลาออกตามฝ่ายการเมืองซึ่งไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้กับบรรทัดฐานใหม่นี้ดี ซึ่งก็หมายรวมไปถึงการนำบัญชีโยกย้ายนายทหารที่ยังทำไม่เสร็จร่อนไปฟ้ององคมนตรีจนเป็นเรื่องราวฉาวโฉ่อีกนะครับ
4)ทำให้คนกล้าลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จนถึงกับมีการรณรงค์เข้าชื่อเพื่อแก้ไขมาตรานี้ต่อรัฐสภาที่ถึงแม้ว่าโอกาสที่จะสำเร็จนั้นยังอยู่ห่างไกลก็ตาม
5)ทำให้คนกล้าลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาคดีของศาลทั้งหลายกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบและไม่ยุบพรรคการเมือง กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ฯลฯ หรือกรณีการพิจารณาไม่ให้ประกันตัวของศาลยุติธรรรมจนมีคนตายคาคุก ซึ่งหากเป็นก่อนหน้านั้นผู้คนก็จะทำได้แต่เพียงการก้มหน้ารับกรรมไปอย่างไม่หือไม่อือ และทำให้ผู้คนเริ่มเรียกร้องให้มีการยึดโยงของอำนาจตุลาการกับประชาชนกันอย่างหนาหูขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาในอดีต
6)ทำให้ผู้คนไม่ว่าสีใดๆก็ตามต่างรู้ว่าต้นเหตุของปัญหาทั้งปวงที่ทำให้ประชาชนทะเลาะกันจนเกิดการรัฐประหารและลุกลามใหญ่โตตามาภายหลังก็เนื่องเพราะเหตุแห่งการรวมศูนย์อำนาจของการบริหารราชการแผ่นดินไว้ที่ส่วนกลาง และการมีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่ไร้ประสิทธิภาพที่รังแต่จะเป็นการเพิ่มขั้นตอนและไม่มีน้ำยาใดๆในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้มีการยกเลิกราชส่วนภูมิภาคและเพิ่มอำนาจการตัดสินใจให้แก่การบริหาราชการส่วนท้องถิ่นให้เพิ่มขึ้น
ตัวอย่างที่สำคัญในกรณีนี้ก็คือการรวมตัวของผู้คนไม่ว่าจะเป็นสีใดๆของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงวิกฤติที่เกิดขึ้นจนเกิดเป็น “เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น”เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจนั่นเอง จึงได้มีการยกร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯขึ้น จนเกิดการแพร่กระจายไปถึง 45 จังหวัดที่พร้อมจะดำเนินรอยตามเชียงใหม่ ซึ่งเชื่อกันว่าไม่ช้าหรือเร็ว ไม่มากก็น้อยก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และจะเป็นการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่ปี พ.ศ. 2435 เลยทีเดียว
6)ทำให้เรารู้ว่ายังมีนักวิชาการที่ยึดมั่นในหลักการอย่างแท้จริงอยู่ในสังคมและในทำนองเดียวกันก็ทำให้เรารู้ว่าใครที่เป็นเนติบริกร รัฐศาสตร์บริการหรือขุนนางวิชาการที่แท้จริง ซึ่งก็เป็นผลดีที่จะทำให้เราส่งลูกส่งหลานไปเล่าเรียนได้ถูกหลักถูกแหล่ง
7)ทำให้เรารู้ว่าทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยที่ว่าคนชนบทตั้งรัฐบาลแต่คนกรุงเทพเป็นผู้ล้มรัฐบาลนั้นใช้ไม่ได้แล้ว ดังผลของการเลือกตั้งกรกฎาปี 54 ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้ว
8)ทำให้เรารู้ว่าทฤษฎีวงจรอุบาทว์อันเลื่องชื่อของการเมืองไทยที่เริ่มด้วยการมีรัฐธรรมนูญแล้วเลือกตั้ง เลือกตั้งแล้ววุ่นวายจึงต้องรัฐประหาร เมื่อรัฐประหารแล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วก็เลือกตั้งวนไปวนมาเป็นวงจรนั้นถูกทำลายลงแล้ว เพราะเรารู้ว่าการรัฐประหารต่อแต่นี้ไปไม่สามารถทำได้ง่ายๆอีกต่อไปแล้ว และถึงแม้ว่าจะยังมีคนคิดบ้าๆอย่างนี้อยู่แต่ก็จะได้รับแรงต้านอย่างมหาศาลแน่นอนหากจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก
ในวิกฤติย่อมมีโอกาสฉันใด ในด้านตรงกันข้ามความเลวร้ายของการรัฐประหารกันยา 49 ย่อมมีโอกาสดีๆเกิดขึ้น และได้เกิดขึ้นแล้วดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น อยู่ที่ว่าเราจะสามารถดำรงและวิวัฒนาการให้ก้าวต่อไปอย่างไรเท่านั้นเอง
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 19 กันยายน 2555
Prenumerera på:
Kommentarer till inlägget (Atom)
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar