torsdag 20 september 2012

เบื้องหลังการยึดอำนาจวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คือการเตรียมการเปลี่ยนผ่านรัชกาล ทีทางวังตอ้งการควบคุมอำนาจรัฐบาลไว้ในมือ โดยผ่าน เปรม เพื่อจะได้เสนอให้ลูกสาวคนที่สามขึ้นเป็นรัชกาลที่ ๑๐ แทน ลูกชาย แต่ผลที่ออกมาคงจะไม่ได้เป็นไปตามที่ทางวังต้องการ ผลของการยึดอำนาจจึงทำให้สถาบันกษัตริย์อาจถึงจุดจบ เหมือนประวัติศาสตร์ของหลายๆประเทศที่เคยมีมาแล้วก็ได้ .....

19 กันยายน 2555

โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เผยแพร่ครั้งแรก หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 377  ประจำวันเสาร์ ที่ 15 กันยายน 2555

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่า การรัฐประหารในประเทศไทยครั้งนั้น เผชิญปัญหาประการแรกทันที เพราะเป็นการรัฐประหารที่เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เอื้ออำนวยของสถานการณ์ ระหว่างประเทศ เพราะโลกนานาชาติไม่ได้ถือกันแล้วว่า การรัฐประหารเป็นวิถีทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบอารยะ ประเทศที่ก้าวหน้าในยุโรป ไม่มีการรัฐประหารมาเป็นเวลาช้านาน ในลาตินอเมริกา แอฟริกา ก็แทบจะไม่เหลือประเทศที่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยวิธีการรัฐประหารเลย การรัฐประหาร พ.ศ.2549 ของไทยจึงถูกมองด้วยความประหลาดใจและไม่เข้าใจ กล่าวกันว่าแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาก็มีความเห็นว่า การรัฐประหารในไทยครั้งนั้น “ไม่มีเหตุผลที่จะยอมรับได้” สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้คณะรัฐประหารไม่สามารถถือครองอำนาจไว้ได้ยาวนาน ต้องรีบดำเนินการให้กลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองปกติโดยเร็ว

ความล้มเหลวของการรัฐประหารประการสำคัญ เห็นได้จากการไม่บรรลุข้ออ้างในการรัฐประหาร เช่น ข้ออ้างที่จะทำหารรัฐประหารเพื่อการป้องกันความรุนแรงและความแตกแยกในสังคม จะเห็นได้ว่า หลังรัฐประหาร สังคมไทยก็ยังแตกแยกยิ่งกว่าเดิม และยิ่งนำมาซึ่งความรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และจนถึงขณะนี้ ผลกระทบจากความแตกแยกและความรุนแรงก็ยังไม่อาจเยียวยาได้ แม้ว่า พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ในวันนี้ จะเปลี่ยนบทบาทมาเป็น ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร และรับตำแหน่งประธานกรรมาธิการปรองดองฯของรัฐสภา พร้อมทั้งเสนอกฎหมายปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่การปรองดองก็ยังไม่บรรลุผล


ข้ออ้างต่อมา คือ เรื่องของการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เห็นได้ชัดว่า หลังจากการัฐประหาร มีการเอาอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาทำลายศัตรูทางการเมืองกันชัดเจน ดังเช่นการใช้มาตรา 112 มาจับกุมประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก จนถึงขณะนี้ ก็ยังมีผู้บริสุทธิ์ถูกคุมขังอยู่ การที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขังผู้บริสุทธิ์ หรือทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตคาคุกเช่นนี้ ไม่ได้เป็นการปกป้องพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด แต่จะยิ่งทำให้เกิดความแยกห่างจากประชาชนมากยิ่งขึ้น


ข้อกล่าวหาเรื่อง รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แทรกแซงองค์กรอิสระ ในวันนี้ องค์กรอิสระทั้งหมดก็ยังถูกแทรกแซงโดยฝ่ายตุลาการ ที่ทำให้องค์กรเหล่านี้ มีบทบาทอันอัปลักษณ์บิดเบี้ยว การดำเนินการและผลงานล้วนไม่เป็นที่ยอมรับ กลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอยุติธรรม เช่นเดียวกับองค์กรตุลาการอื่น ส่วนข้อกล่าวเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์อันชัดเจนแต่อย่างใด แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นมายาคติขนาดใหญ่ ที่ยังคงมีการสร้างอย่างต่อเนื่อง และทำให้ฝ่ายประชาชนเสื้อเหลืองเชื่อว่าเป็นความจริง และยังคงต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไม่ลืมหูลืมตา


แต่ผลของการรัฐประหารที่เสียหายอย่างยิ่ง คือ การล้มเลิกรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะความจริงแล้วการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยพัฒนาอย่างราบรื่นมา ตั้งแต่ พ.ศ.2535 มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ และมีกติกาชัดเจนว่า พรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุด และรวบรวมเสียงในรัฐสภาได้มากกว่าครึ่ง ก็จะได้จัดตั้งรัฐบาล และการเปลี่ยนรัฐบาลก็เป็นไปตมครรลองประชาธิปไตยเสมอ 


ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2540 ก็ถือว่าเป็นฉบับประชาธิปไตยและประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดฉบับหนึ่ง แต่คณะรัฐประหารล้มเลิกหมด และนำเอารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอัปลักษณ์ ที่ให้อำนาจแก่ศาลเหนือการเมือง มาใช้แทน จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แต่กระนั่นความพยายามที่จะแก้ไขยกเลิกรัฐธรรมอัปลักษณ์นี้ ก้ยังถูกต่อต้านจากฝ่ายปฏิกิริยาเสมอมา


ปัญหาสำคัญที่นำมาสู่ความรุนแรงก็คือ การที่กลุ่มอำมาตยาธิปไตยที่อยู่เบื้องหลังทางการเมืองหลังรัฐประหาร สนับสนุนให้มีการตั้งรัฐบาล โดยพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่สองในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2550 โดยให้มีการรวบรวมเสียงจากพรรคเสียงเล็กน้อยกับกลุ่มแปรพักตร์มาตั้งรัฐบาล บริหารประเทศ นั่นคือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่รับตำแหน่งในเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 จึงนำมาซึ่งการต่อต้านคัดค้านอย่างหนัก ในที่สุด ชนชั้นนำที่ค้ำจุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็สนับสนุนการใส่ร้ายป้ายสีด้วยการสร้างผังล้มเจ้า เพื่อเปิดทางให้เกิดการใช้ความรุนแรงในการกวาดล้างปราบปรามประชาชนด้วย กองทัพ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 94 คน และบาดเจ็บนับพันคน มีผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก และในขณะนี้ก็ยังมีการดำเนินคดีกับประชาชนที่ถูกจับกุมอยู่


แต่ในอีกด้านหนึ่ง การรัฐประหาร พ.ศ.2549 ก็ได้ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หวนกลับ โดยเฉพาะในเรื่องการตื่นตัวของประชาชน ที่มีความสนใจและมีส่วนร่วมทางการเมือง อันทำให้การรัฐประหารครั้งใหม่คงเกิดขึ้นอีกได้ยาก และที่เห็นได้คือ การเกิด”ปรากฏการณ์ตาสว่าง” ที่ทำให้ประชาชนเห็นถึงความชั่วร้ายของฝ่ายอำมาตย์ และทำให้เกิดการปฏิเสธสถาบันหลัก(Establishment)ที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน และทำให้เห็นว่า สังคมไทยที่แท้จริงแล้วเป็นเมืองตอแหล หน้าไหว้หลังหลอก พร่ำพูดกันแต่เรื่องดีด้านเดียว ไม่สนใจความจริง ชนชั้นนำไทยไม่สนใจและเอาใจใส่ชีวิตของประชาชนระดับล่าง ยิ่งกว่านั้น คือ การได้เห็นธาตุแท้ของตุลาการและกระบวนยุติธรรม ที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนชั้นล่าง แต่ยอมจำนนกับการรัฐประหาร และพร้อมที่จะเอื้ออำนวยให้มีการจับผู้บริสุทธิ์เข้าคุก


สถานการณ์ในระยะ 6 ปีนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่จะสร้างประเทศให้มีความก้าวหน้ามั่นคง ไม่อาจจะฝากความหวังใดกับชนชั้นนำ เพราะชนชั้นนำไทยมีแนวโน้มทางทัศนะที่เป็นอนุรักษ์นิยมจัด โลกทัศน์แคบ หวาดกลัวความคิดแตกต่าง ยอมรับและปอปั้นอภิสิทธิ์ชน และไม่นิยมประชาธิปไตย 


อำนาจในการเปลี่ยนแปลงสังคมจึงอยู่ที่ประชาชนระดับล่าง ซึ่งมีใจรักประชาธิปไตย เคารพในสิทธิของมนุษย์ คิดในหลักเสมอภาค และ มีจิตใจกล้าต่อสู้ ปัญญาชนที่ก้าวหน้าและอยู่ฝ่ายประชาชน เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ ครก.112 กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ นักวิชาการแนวหน้าคนอื่น อาจจะมีบทบาทในการนำเสนอประเด็นต่อสังคมไทย แต่การผลักดันให้เป็นจริง ย่อมอยู่ที่การทำให้ประเด็นเหล่านั้นมีลักษณะยอมรับร่วมกันในหมู่ประชาชน การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยจึงจะเป็นจริงได้

มุมประวัติศาสตร์: จุดจบของสถาบันกษัตริย์เมื่อสนับสนุนการทำรัฐประหาร



Inga kommentarer:

Skicka en kommentar