จากเด็กเร่ร่อนที่อาศัยอยู่ กับแม่ที่ประกอบอาชีพเก็บขยะขาย ใครจะไปคาคดิดว่า ในอนาคตข้างหน้าเขาจะสามารถคว้าใบปริญญามาให้แม่ได้ชื่นชมสมใจ หนำซ้ำยังเป็นปริญญาเอกที่ทำให้เด็กชายคนนี้ภูมิใจอย่างที่สุดในฐานะด็อก เตอร์ เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา รายการเจาะใจ ทาง ททบ.5 จึงได้เชิญชายคนนี้มาร่วมพูดคุย ปัจจุบันเขาคืออาจารย์ภาควิชาวิศวอุตสาหการ ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี..."ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ"
จะว่าไปเรื่องราวของอาจารย์กุลชาติก็เหมือนกับนิยายเรื่องหนึ่งที่เริ่มต้น มาด้วยความยากลำบาก แต่เพราะความพยายามและตั้งใจ ทำให้เขาประสบความสำเร็จในตอนท้าย โดยอาจารย์ เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของเขาเป็นชาวชุมพร เขาจำความได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ว่ามีพี่น้องทั้งหมด 5 คน เขาเป็นลูกคนที่ 4 คุณพ่อทำงานเป็นคนขับรถทัวร์ ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน ชีวิตในช่วงนั้นมีความสุขมาก แต่หลังจากนั้นได้ 2 ปี พ่อกับแม่ก็มีปัญหาทะเลาะกัน เขาเห็นพ่อใช้ค้อนทุบรูปภาพของตัวเองพร้อมกับประกาศว่า "ต่อจากนี้จะไม่มีพ่ออยู่ในบ้านแล้ว" ก่อนที่พ่อจะพาน้องสาวคนเล็กไปด้วย และไม่กลับมาที่บ้านอีกเลย
หลังจากคุณพ่อและคุณแม่ของอาจารย์แยกทางกัน คุณแม่ซึ่งต้องเลี้ยงดูลูก ๆ อีก 4 คน ไม่มีเงินพอจะเช่าบ้านอยู่ต่อ จึงได้ไปเช่าโกดังเก่า ๆ อยู่ ในราคาเดือนละ 350 บาท พร้อมกับออกไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ต่างจังหวัด เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว และส่งเงินกลับมาให้ลูก ๆ เดือนละ 500 บาท เท่ากับว่าในแต่ละเดือน 4 พี่น้องจะมีเงินเหลือใช้เพียงแค่ 150 บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากทนความลำบากได้เพียงไม่กี่เดือน พี่สาวคนโต และพี่ชายของอาจารย์ก็ตัดสินใจหนีออกจากโกดังไปใช้ชีวิตเอาดาบหน้า เหลือเพียงเขากับพี่สาวอีกคนที่ต้องดิ้นรนใช้ชีวิตต่อไป แม้กระทั่งบากหน้าไปขอข้าวข้างบ้านกิน แต่ทำอย่างนี้อยู่เพียงแค่ 2 เดือน ในที่สุด พี่สาวคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ก็หายออกจากบ้านไปอีก ทิ้งอาจารย์ในวัย 6 ขวบ ให้อยู่ที่โกดังเพียงคนเดียว ซึ่งอาจารย์บอกว่า ช่วงนั้นเป็นชีวิตที่มีอิสระมาก เขาเอาแต่นอนทั้งวัน จนหิวถึงได้ลุกไปที่ บขส. เพื่อหาข้าวที่คนกินเหลือประทังความหิว ซึ่งเขาก็ถูกแม่ค้าไล่อยู่บ่อย ๆ จนชิน
อาจารย์ เล่าต่อว่า ในวัยเด็กเขายังเคยไปเดินเร่ร่อนขอเงินจากผู้โดยสารตามท่ารถ ถ้าได้เงินก็จะนำไปซื้อข้าวกิน บ่าย ๆ ก็ไปเล่นเกมกับเพื่อนตามประสาเด็ก ๆ พอตกเย็นก็กลับไปนอนที่โกดัง แต่อยู่ไปสักพัก โกดังก็ถูกตัดน้ำ ตัดไฟ เพราะไม่มีใครไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ แต่อาจารย์ก็ยังคงอยู่ในโกดังแห่งนั้น ไม่ได้อาบน้ำ แปรงฟัน และไม่กล้าไปเรียน เพราะทั้งเนื้อทั้งตัวมีเพียงชุดนักเรียนเพียงชุดเดียว ซึ่งสภาพก็ดูมอมแมม ทำให้เพื่อน ๆ ไม่มีใครกล้าคุยด้วย แต่เขาจะเลือกไปโรงเรียนเฉพาะในวันที่โรงเรียนแจกนมถั่วเหลืองเท่านั้น เพราะช่วยคลายความหิวให้ตัวเองได้
ตลอดชีวิตในช่วงวัยเด็ก อาจารย์กุลชาติต้องต่อสู้กับชีวิตมาตลอด ทั้งไปขอข้าวกินตามวัด หรือตามงานเทศกาลต่าง ๆ แม้กระทั่งเป็นเด็กเก็บกระทง เด็กรับใช้วิ่งซื้อของ เรียกว่าทำทุกอย่างไม่ต่างจากเด็กจรจัดทั่วไป แต่ถึงชีวิตจะลำบาก ถูกตำรวจจับก็หลายครั้ง เขาก็ไม่คิดย้ายไปอยู่กับเพื่อนเหมือนกับพี่ชายพี่สาวที่หนีไปก่อนหน้านี้ เหตุผลเดียวก็คือ เขาต้องการรอแม่ เพราะกลัววันใดที่แม่กลับมาแล้ว จะไม่เจอลูก ๆ เหลืออยู่เลยแม้แต่คนเดียว
และหลังจากใช้ชีวิตเพียงลำพังมา 2 ปี ในที่สุด "แม่" ก็กลับมาจริง ๆ และบอกว่าจะไม่ทิ้งลูกไปอีกแล้ว อาจารย์บอกว่า นี่คือช่วงเวลาที่เขามีความสุขที่สุด แม้จะถูกแม่ตีบ่อย ๆ เพราะติดนิสัยไม่ยอมตื่นไปโรงเรียน แต่เขาก็เข้าใจว่า แม่หวังดีเพราะอยากให้เขามีความรู้ ขณะเดียวกัน เขากับแม่ก็ช่วยกันเก็บขยะขายของหาเงินเลี้ยงชีพไปพร้อม ๆ กัน และแม่ก็พร่ำสอนให้เขาเลิกเป็นขโมย
เมื่อถามจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้เขาขวนขวายเรียนหนังสือคืออะไร? ดร.กุลชาติ บอกว่า เพราะวันหนึ่งส้วมที่บ้านเต็ม ราดเท่าไหร่ก็ไม่ลง แม่ของเขาตัดสินใจใช้ค้อนทุบบ่อเกรอะด้วยตัวเอง และใช้กระป๋องสีตักสิ่งปฏิกูลยกไปทิ้งทีละถัง ๆ ตลอดทั้งคืน
"ผมมองเห็นแม่ทำแบบนั้นทั้งคืน ผมคิดในใจว่าท่านยอมทำขนาดนี้เพื่อลูก เขาแค่อยากให้ผมไปเรียนเอง ตีผมทุกวันเพื่อให้ผมไปเรียน ทำไมผมถึงไม่ยอมไป เทียบแล้วแม่ลำบากกว่าเรามาก ก็เลยตั้งเป้าจะไปเรียนให้ได้" อาจารย์กุลชาติ บอก
หลังจากนั้น ดร.กุลชาติ ก็ปฏิวัติตัวเองใหม่ ตื่นแต่เช้า ออกไปช่วยแม่เก็บขยะตั้งแต่ตี 4 เสร็จสรรพ 7 โมงเช้าก็ไปเข้าห้องเรียน เพื่อตั้งใจเรียนหนังสือ กระทั่งวันหนึ่งความพยายามของเขาก็ประสบความสำเร็จ เมื่อสามารถสอบได้เป็นที่ 5 ของห้อง จากเดิมที่เคยได้ที่โหล่ และยังได้รับทุนเด็กเรียนดีมาช่วยเหลือ ในตอนนั้น ดร.กุลชาติ ตั้งใจจะเรียนสายอาชีพ เพื่อจะเป็นช่างเชื่อม จะได้หาเงินมาเลี้ยงดูแม่
ขณะเดียวกัน นอกจากรายการจะได้เชิญ ดร.กุลชาติ มาร่วมพูดคุยแล้ว ยังได้เชิญคุณแม่ของอาจารย์มาเล่าถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาด้วย โดยคุณแม่บุษรี จุลเพ็ญ เล่าว่า ที่เน้นย้ำให้ลูกชายต้องเรียนหนังสือ เพราะถูกคนรอบข้างสบประมาทว่า เธอไม่เอาลูกแล้ว ทำให้ลูกเป็นเด็กจรจัด เธอจึงตั้งใจจะเลี้ยงลูกให้ได้ดี เพื่อลบคำสบประมาทดังกล่าว และสิ่งที่จะทำให้ลูกได้ดีได้ก็คือการเรียนหนังสือ
คุณแม่บอกอีกว่า คนส่วนใหญ่มองว่า พวกเขาเป็นคนขี้ขโมย ไม่น่าคบหา ซึ่งเธอก็ได้สอนลูกไปว่า ไม่ต้องอายที่คนมองแบบนั้น แต่เราต้องอยู่ให้ได้ เพื่อพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่า เราไม่ได้เป็นแบบนั้น ลูกแค่เป็นเด็กหลงทางไปชั่วขณะเท่านั้น
แต่ทว่า หลังจากอาจารย์กุลชาติเรียนจบชั้น ปวช. ก็มาพบว่า คุณแม่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกต้องมารักษาตัวที่กรุงเทพมหานคร เหตุการณ์นั้นทำให้เขาตัดสินใจศึกษาระดับชั้น ปวส. ต่อ โดยคิดว่า หากเรียนจบแค่ชั้น ปวช. คงได้เงินเดือนไม่เท่าไหร่ แต่หากเรียนต่อน่าจะได้เงินเดือนมากขึ้น เขาจึงตัดสินใจไปเรียนต่อ ปวส. ที่สงขลา โดยขอให้แม่ช่วยส่งเสียให้เดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อวันหนึ่ง เขารู้ว่าแม่ส่งเงินให้ไม่ไหวแล้ว เขาจึงตัดสินใจไปทำงานกะกลางคืนที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อส่งเสียตัวเอง
ในที่สุด อาจารย์กุลชาติก็เรียนจบชั้น ปวส. แต่มีความคิดจะเรียนต่ออีก 2 ปี เพื่อเอาวุฒิปริญญาตรีด้านวิศวกรรม คุณแม่จึงตัดสินใจไปกู้เงินหมื่นมาจ่ายค่าเทอมให้อาจารย์ได้เรียนวิศวกรรมสม ใจ กระทั่งวันหนึ่ง อาจารย์ตัดสินใจเลือกรับทุนของมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้เรียนต่อ แต่ต้องแลกกับการใช้ทุนด้วยการเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยที่ตอนนั้นได้ เงินเดือนราว ๆ 6 พันกว่าบาท ต่างจากอาชีพวิศวกรที่จะได้เงินเดือนสูงถึง 15,000 บาท แต่อาจารย์ก็ยินยอม เพื่อจะได้มีโอกาสได้เรียนหนังสือให้สูงขึ้น
หลังจากเรียนจบชั้นปริญญาตรี อาจารย์บอกว่า เป็นความภูมิใจที่สุด เพราะทำให้แม่ได้เห็นภาพเขารับปริญญาจนได้ ขณะที่เด็ก ๆ รุ่นเดียวกันในละแวกบ้านไม่มีใครได้รับปริญญาเลย หลังจากนั้น เขาก็ทำงานเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาชั้นปริญญาตรี แต่เพราะตัวเองก็จบชั้นปริญญาตรีเช่นกัน ทำให้วิชาพื้นฐานที่สอนชนกัน จึงตัดสินใจเรียนต่อเพื่อให้มีวุฒิสูงกว่าปริญญาตรี เขาจึงยื่นขอทุนเรียนปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย
เมื่อเรียนจบปริญญาโทแล้ว ทางมหาวิทยาลัยมีโครงการจะเปิดหลักสูตรปริญญาโทอีก ดังนั้นจึงต้องหาบุคลากรที่มีวุฒิการศึกษาสูงกว่าปริญญาโท เพื่อมาสอนนักศึกษา อาจารย์กุลชาติจึงตัดสินใจรับทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ก็เจอปัญหาใหญ่ เพราะเขาไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลย แต่สุดท้ายอาจารย์ก็พยายามขวนขวายจนคว้าปริญญาเอกมาได้สำเร็จ
ทั้งนี้ อาจารย์ตั้งใจไว้ว่าจะพาแม่มางานรับปริญญาที่ญี่ปุ่นให้ได้ เขาจึงเจียดเงินทุนการศึกษาเก็บไว้เป็นค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าอื่น ๆ เพื่อให้แม่เดินทางมาเห็นความสำเร็จของเขา พร้อมกับพาครอบครัวไปเที่ยวด้วยกัน
"วันรับปริญญา ตอนที่ออกมาจากหอประชุม พอเปิดประตูปุ๊บ ผมเห็นแม่ยืนหน้าประตู ความรู้สึกแรกที่อยากเข้าไปทำก็คือ อยากเข้าไปกราบเท้าแม่มาก ที่ผมมาถึงตรงนี้ได้ ถ้าไม่มีแม่วันนั้นที่คอยเคี่ยวเข็ญเรามาขนาดนี้ ผมคงมาไม่ถึงวันนี้ได้ ผมเห็นแม่ปุ๊บ ผมก้มลงกราบเลย คนญี่ปุ่นงงกันหมดว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนแม่ผมก็ร้องไห้ด้วยความซาบซึ้ง" ดร.กุลชาติ เล่าวินาทีแห่งความประทับใจ
"วันรับปริญญา ตอนที่ออกมาจากหอประชุม พอเปิดประตูปุ๊บ ผมเห็นแม่ยืนหน้าประตู ความรู้สึกแรกที่อยากเข้าไปทำก็คือ อยากเข้าไปกราบเท้าแม่มาก ที่ผมมาถึงตรงนี้ได้ ถ้าไม่มีแม่วันนั้นที่คอยเคี่ยวเข็ญเรามาขนาดนี้ ผมคงมาไม่ถึงวันนี้ได้ ผมเห็นแม่ปุ๊บ ผมก้มลงกราบเลย คนญี่ปุ่นงงกันหมดว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนแม่ผมก็ร้องไห้ด้วยความซาบซึ้ง" ดร.กุลชาติ เล่าวินาทีแห่งความประทับใจ
ขณะที่คุณแม่ก็บอกว่า ในวันนั้น น้ำตาที่ไหลออกมาเป็นน้ำตาของความดีใจที่รอมานานหลายปี และเธอก็สอนลูกเสมอว่า คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้
คำสอนของคุณแม่ที่จดจำอยู่ในใจเสมอมา ทำให้ในวันนี้ ดร.กุลชาติ สามารถพิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้วว่า "คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้" นี่ไม่ใช่คำพูดที่เกินความจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะจากต้นทุนชีวิตติดลบที่ต้องเกิดมากลายเป็นเด็กเร่ร่อน ขออาหารคนอื่นกินประทังหิวไปวัน ๆ แต่มาถึงวันหนึ่ง เขาตัดสินใจเลือกเดินในเส้นทางที่จะเป็นคนดี และใฝ่เรียน ทำให้ ณ วันนี้ เด็กชายเร่ร่อนคนนั้นได้กลายมาเป็น "ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ"
"มีคนถามผมเยอะว่าชีวิตที่ผ่านมา ผมได้แง่คิดอะไรบ้าง อะไรมันสอนผมบ้าง ผมก็พยายามคิดหาคำตอบให้กับตัวเองเหมือนกันว่าอะไรที่ผมต่างจากคนอื่น ผมมองว่า มันก็คือคำพูดที่ทุกคนเคยได้ยินกันมาเสมอว่า ความลำบากสอนให้คุณอดทน ความลำบากสอนให้คุณพยายาม สอนให้คุณมีเป้าหมายในชีวิต ถ้าไม่ลำบากก็ไม่เจอสิ่งนั้น ผมถือว่าผมโชคดีที่เกิดมาจน ผมขาดโอกาสจากความจน เราต้องสร้างโอกาสให้กับตัวเอง ทำตัวเองให้พร้อม ทำขึ้นมาเองกับมือแล้วมันจะมีความภาคภูมิใจมากกว่า" ...นี่คือเรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยายจากชีวิตของ ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar