tisdag 16 juni 2015

ห้าม (รอ) เวลา....ไปหามาอ่าน แล้วจะเกิดปัญญาพาตัวเองออกพ้นจาก"วงจรอุบาทว์"เป็นแสงสว่างส่องนำทางพาประเทศชาติและพี่น้องประชาชนไทยเพื่อนร่วมชาติร่วมมือกันฝ่าฟันอุปสรรคปลดปล่อยประเทศชาติสู่ความเป็นไท...

Nucharin TPnews foto.


ชื่อหนังสือ : ฟ้าเดียวกัน ปีที่13 ฉบับที่1 ห้าม (รอ) เวลา
ชื่อผู้แต่ง : กองบรรณาธิการฟ้าเดียวกัน
พิมพ์ครั้งแรก : พฤษภาคม 2558
สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน
จำนวนหน้า : 281
 
 
ห้าม (รอ) เวลา
 
ปรากฏการณ์จากวิกฤตการเมืองปี 2556 รัฐประหารพฤษภาคม 2557 ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2559 ตามโรดแมปของคณะรัฐประหาร อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นอีกวงรอบหนึ่งของ “วงจรอุบาทว์” ของการเมืองไทย ซึ่งมักเริ่มต้นจากการเกิดวิกฤตการเมือง นำไปสู่การรัฐประหาร แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จัดการเลือกตั้ง ก่อนจะเกิดวิกฤตการเมืองอีก แล้วจบลงด้วยการก่อรัฐประหารใหม่และฉีกรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นความเคยชินของชนชั้นนำไทยในการใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือในการ “ห้ามเวลา” หรือหยุดความเปลี่ยนแปลงให้เป็นคุณแก่ตัวเอง
 
การใช้อำนาจที่ติดอาวุธโดยกองทัพ ซึ่งไชยันต์ รัชชกูลบอกเราว่าคงเป็น “อำนาจชี้ขาด” ของการเมืองไทยอยู่ในปัจจุบันนั้น ยังดำเนินไปควบคู่กับกระบวนการอื่น ทั้งที่นุ่มนวลแนบเนียน ทั้งที่กระด้างโจ่งแจ้ง ดังที่ธนศักดิ์ สายจำปา ในบทความ “‘ระบอบทักษิณ’ ในฐานะผู้ปลดปล่อยความปรารถนาของคนในสังคมไทย” ชี้ให้เราเห็นถึงการควบคุมทางสังคมผ่านการผลิตและเก็บกดปิดกั้น “ความปรารถนา” ของผู้คน เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นปกครองและรัฐไทย หรือดังที่ธนาพล อิ๋วสกุล ในบทความ “วุฒิสภาป้อมปราการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ชี้ให้เราเห็นถึงที่มาและความพยายามในการสร้างวุฒิสภาให้เป็นสถาบันการเมืองอัน “เป็นกลาง” และปลอด “การเมือง” เพื่อเป็นฐานที่มั่นในการต้านทานนักการเมืองจากการเลือกตั้ง
 
ทว่าในโลกความเป็นจริง แม้แต่ในวงจรอุบาทว์ซ้ำซากเอง แต่ละวงรอบก็หาได้เหมือนเดิมไม่ การรัฐประหารแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนเดิม ผลลัพธ์และผลพวงของรัฐประหารรวมถึงการต่อต้านรัฐประหารแต่ละครั้งก็ต่างกันออกไป เช่นเดียวกับการเมืองของ “ความปรารถนาแบบเก่า” ที่สุดท้ายย่อมต้องถูกท้าทายจากความปรารถนาใหม่ เช่นเดียวกับฐานที่มั่นของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่สุดท้ายย่อมต้องเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเลี่ยงไม่ได้จากความเปลี่ยนแปลงของสังคม
 
อย่างไรก็ดี ภายใต้ ความเปลี่ยนแปลง ในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่แน่นอนหนึ่งก็มี ความไม่เปลี่ยนแปลง ในประวัติศาสตร์ช่วงยาวดำรงอยู่
 
สิ่งที่ไชยันต์ รัชชกูล ได้เตือนให้เห็นในบทสัมภาษณ์ “อะไรเปลี่ยน อะไรไม่เปลี่ยน ในพลวัตของรัฐไทย” ก็คือ แม้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่เราต้องตระหนักว่านั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับไหนและอย่างไร เพราะหากพิจารณาพลวัตทางประวัติศาสตร์ของรัฐจากประวัติศาสตร์ช่วงยาว เขาเห็นว่าชนชั้นปกครอง (ruling class) ของไทย ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ กลับยังเป็นคนกลุ่มเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าลักษณะของรัฐจะเปลี่ยนไปอย่างไร
 
ส่วนบททดลองนำเสนอของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ว่าด้วยเรื่อง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในฐานะที่เป็นรูปแบบรัฐกระฎุมพีของไทย (ดูรายงานของชัยธวัช ตุลาธน “จากวิวาทะการเปลี่ยนผ่านจาก ‘ศักดินา’ สู่ ‘ทุนนิยม’ สู่บททดลองเสนอ ว่าด้วย ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ในฐานะรูปแบบรัฐกระฎุมพีของไทย”)  ก็พยายามชี้ให้เห็นรูปแบบสังคมของเราที่มีรากฐานย้อนไปในยุคก่อนทุนนิยมอันแตกต่างไปจากแบบแผนของฟิวดัลยุโรป ซึ่งเป็นบริบทใหญ่ของความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดทั้งทางเศรษฐกิจสังคมและทางการเมืองในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็เพื่อให้เข้าใจระบอบการเมืองที่เป็นจริงของไทย ฐานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์แบบใหม่ รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
 
กระนั้นก็ตาม โลกวันนี้ย่อมไม่เหมือนกับโลกเมื่อวาน และชีวิตของมนุษย์สำคัญอยู่ที่การปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและโลกภายนอก
 
ดังนั้น ด้านหนึ่ง การ “ห้ามเวลา” เพื่อหยุดความเปลี่ยนแปลง จึงย่อมฝืนกับความเป็นจริงของสังคมและธรรมชาติของมนุษย์
 
แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมก็ย่อมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นไปเองตามกาลเวลา หากแต่เป็นตัวมนุษย์ที่ชี้ขาดความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย ฉะนั้น การหยุดนิ่ง เพื่อ “รอ” ให้ “เวลา” มาเปลี่ยนแปลงโลกเอง จึงเป็นโลกทัศน์ที่น่ากังขาไม่ต่างจากการห้ามเวลาเพื่อหยุดความเปลี่ยนแปลง
 
กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ไม่เคยมีเผด็จการที่ไหนล้มลงไปเอง และไม่มีสังคมใหม่ที่จะดีได้ด้วยการนั่งรอให้เผด็จการล้มลงไปเองแล้วไปลงสนามเลือกตั้งอีกครั้ง มีแต่การต่อสู้ ต่อรอง เรียนรู้ และเข้าไปช่วงชิงปฏิสังสรรค์กับการเมืองที่เป็นจริงอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ระบอบการเมืองที่เปิดโอกาสให้ทุกพลังทางสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างเสรีจึงจะปรากฏเป็นจริง

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar