วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เวลา 22:56 น.
"แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติประกาศใช้เพื่อให้มีการเลือกตั้งต่อไป คณะผู้ถือปืนก็ยังถือปืนควบคุมอยู่ต่อไปในท่ามกลางรัฐธรรมนูญที่บอกว่าเป็น ประชาธิปไตย ซึ่งตามปกติแล้วการรัฐประหารที่ผ่านๆ มาทุกครั้งในอดีตนั้น เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้อย่างถูกต้องแล้ว คณะรัฐประหารนั้นต้องถอยออกไป เหลือไว้แต่รัฐบาลในขณะนั้นทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการ เลือกตั้งเข้ามาแทน แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นอย่างนั้น แถมพ่วงมาตรา 44 ให้คงอยู่ต่อไปอีก"
ข้อความข้างต้นเป็นของใคร ถ้าไม่รู้มาก่อนให้ทายร้อยครั้งก็คงทายผิด ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่นักวิชาการประชาธิปไตย ที่ไหนได้เป็น น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ คาบไปป์เขียนบทความ "รัฐธรรมนูญปีวอก"
มีชัย ฤชุพันธุ์ คงไม่บอกว่า อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 บิดเบือน เพราะบทเฉพาะกาลมาตรา 257 เขียนชัด คสช.ยังมีอำนาจเต็มใบตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีจากเลือกตั้ง ซึ่งแปลว่า ม. 44 ยังไม่ไปไหน แม้รัฐธรรมนูญใหม่ผ่านประชามติโดยมีคำว่า "ปวงชนชาวไทยมีสิทธิเสรีภาพ" ม. 44 ก็ยังปรับทัศนคติคืนความสุขได้ตลอดช่วงหาเสียงเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล
บท เฉพาะกาลแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่ารัฐประหารครั้งไหนก็ไม่เคยเขียนให้ "กฎหมายสูงสุดของประเทศ" 2 ฉบับ ทับกัน โดยฉบับถาวรผ่านประชามติยังไม่ใช้ ฉบับชั่วคราวกล้ามใหญ่กว่า
รัฐธรรมนูญ 2534 ที่มีชัยร่าง แม้คงอำนาจรสช.บางอย่าง แต่ก็ไม่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ตามม. 27 รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับคาบไปป์ แม้ถูกคัดค้านอย่างไร เรื่องนี้ก็เคลียร์คัตชัดเจน เพราะเป็นฉบับแรกที่อุตส่าห์ทำประชามติ เมื่อประกาศใช้แล้วต้องไม่มีกฎหมายฉบับใดเหนือกว่า (บิ๊กบังจึงลาออกจากประธานคมช.ไปเป็นรองนายกฯ เพราะอยู่ไปก็เป็นคนไร้ค่า เอ๊ย ไลฟ์บอย)
นี่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติบังคับใช้ มาตรา 5 "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ...." กฎหมายใดขัดหรือแย้ง "เป็นอันใช้บังคับมิได้" ก็จะกลายเป็นเรื่องตลก เพราะภายใต้มาตรา 257 รัฐธรรมนูญต่างหาก "เป็นอันใช้บังคับมิได้"
ในทางตรงกันข้าม ประชามติล้นหลามอาจกลายเป็น "รับรอง ม.44" ให้ชอบธรรม จากที่เป็นประกาศคำสั่งโดยรัฏฐาธิปัตย์ ต่อไปจะอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วนะครับ เป็นรัฐธรรมนูญที่มีประชาชนโหวตรับ 20-30 ล้านเสียด้วย แม้บางคนบอกว่าไม่ได้ตั้งใจรับรอง ม.44 แต่เมื่อคุณรับร่าง ก็คือรับบทเฉพาะกาล
ที่เหลือจากนั้นก็แล้วแต่ คสช.จะเติมคำในช่องว่าง เพราะ ม.44 คืออำนาจเติมคำในช่องว่าง
บท เฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2550 คาบไปป์ยังต่างจากฉบับใส่หมวก เพราะทันทีที่ประกาศใช้ คณะกรรมาธิการก็กลับบ้านใครบ้านมัน อ้าว แล้วใครร่างกฎหมายลูก ก็ร่างไว้หมดแล้วไง ส่งสนช.ที่ประธานชื่อมีชัยผ่านอย่างฉับไวเลือกตั้งใน 4 เดือน ไม่ได้นั่งร่างต่ออีก 8 เดือน ร่างไม่เสร็จให้คสช.ยุบตั้งใหม่
เอาละ ล่าสุดท่านจะร่นเวลาตามโรดแม็ป แต่ประเด็นไม่ใช่แค่เวลา ข้อสำคัญคือเนื้อหา เพราะดูร่างรัฐธรรมนูญแล้วมีหลายมาตราจะไป "งอก" ในกฎหมายลูก
ยกตัวอย่าง มาตรา 102 การเลือกกันเองของวุฒิสภา อ่านแล้วรู้อะไรบ้าง การแบ่งกลุ่ม คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ ฯลฯ จะไปเขียนพ.ร.บ.ประกอบอีกที 20 สาขาอาชีพมีอะไร ยังไม่มีใครรู้เลย กรรมกร ชาวนา เด็กปั๊ม อยู่สาขาอาชีพไหน พริตตี้มีสิทธิเป็นส.ว.ไหม ฯลฯ ไม่รู้ซักอย่าง จนประชามติผ่านท่านค่อยไปเขียน ถ้าเขียนแล้วประชาชนรู้สึกไม่เข้าท่า ไม่เอาดีกว่า ก็ไม่ได้นะ รับร่างไปแล้วนี่
มาตรา 139 ความผิดฐานแปรญัตติงบประมาณ ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนตัดสิทธิส.ส.ใน 7 วัน ปลดครม.ได้ทั้งคณะให้ปลัดรักษาการ แต่ความผิดร้ายแรงนี้อธิบายไว้น้อยมาก ใช่หรือไม่ว่าจะไปเขียนเพิ่มในกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
มีอีกหลายข้อนะครับ เช่นศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมาก ท่านจะเขียนวิธีพิจารณาอย่างไร ถ้าเขียนให้วิจารณ์ไม่ได้ อำนาจศาลยิ่งล้นไปใหญ่
มาตรา 265 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไปทำมาตรฐานจริยธรรม ทั้งใช้กับตัวเองและใช้ถอดถอนนักการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย มาตรา 266, 267, 268 ปฏิรูปอัยการ การศึกษา ตำรวจ โดยไม่รู้รายละเอียด มาตรา 269 ยิ่งฮาไปใหญ่ มีทั้งจุดประ ฯลฯ ให้เล่นเกมเติมคำในช่องว่าง "รับไปก่อน เติมทีหลัง" แต่ทั้งหมดนี้คือเรื่องอำนาจอธิปไตย จะให้ "ตีเช็คเปล่า" ได้ไง
ถ้าอยากให้ประชาชนรับร่าง กลับไปเขียนเรื่องเหล่านี้ให้ชัดก่อนดีไหม
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar