Chaturon Chaisang
กรณียุบพรรคไทยรักไทย : ความอยุติธรรมกับวิกฤตที่ยังไม่สิ้นสุด
...สังคมไทยต้องวนเวียนอยู่ในวิกฤตที่เกิดจากการทำลายล้างและการกระทำอัน ‘อยุติธรรม’ ภายใต้ข้ออ้างของการจัดการกับคนโกงคนเลวให้สิ้นซาก ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำไปอย่างผิดฝาผิดตัวและไม่รับผิดชอบใดๆต่อความเสียหายที่ตามมา เช่น ในกรณีพรรคไทยรักไทยนี้
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 พรรคไทยรักไทยถูกยุบและกรรมการบริหารพรรค 111 คนถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้ตัดสินคดีจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นข้อยุติว่าไม่มีคนของพรรคไทยรักไทยคนใดกระทำผิดกฎหมายแม้แต่คนเดียว
ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยซึ่งตกเป็นจำเลยข้อหาว่าจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีมูลความจริง และอัยการไม่ฎีกา คดีจึงเป็นที่สุด
เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นอะไร
เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 คดีมาสู่ศาลเอาเมื่อหลังการรัฐประหาร 22 กันยายน 2549 ในขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญถูกยุบไปโดยคณะรัฐประหาร และคมช.ได้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ ในคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้อาศัยพยานหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ มีเพียงพยานแวดล้อมที่จินตนาการเอาเอง และเชื่อว่าพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา น่าจะจ้างพรรคเล็กลงสมัครเพื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย จะได้ไม่ต้องพบเงื่อนไขที่ต้องได้เสียงเกินร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิ์ในเขตที่ไม่มีผู้สมัครอื่นลงเลือกตั้ง
เมื่อเชื่อว่าพล.อ.ธรรมรักษ์ น่าจะจ้างผู้สมัครพรรคเล็ก ก็ใช้ตรรกะโดยไม่มีพยานหลักฐานใดๆทึกทักต่อไปว่า พล.อ.ธรรมรักษ์เป็นถึงรองหัวหน้าพรรคและประธานภาคอีสานของพรรค ทั้งยังได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย จึงเชื่อว่าหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรคต้องรู้เห็นเป็นใจกับการจ้างพรรคเล็กในครั้งนี้คือร่วมกันทั้งพรรค จากนั้นก็โยงต่อไปว่าการจ้างพรรคเล็กนี้เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงสมควรต้องยุบพรรคไทยรักไทยเสีย
ตามระบบกฎหมายปรกติในขณะนั้น เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคจะถูกห้ามไม่ให้ไปก่อตั้งพรรคหรือเป็นกรรมการบริหารพรรคใหม่ ไม่มีบทลงโทษให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่คมช.ได้ออกประกาศกำหนดว่าเมื่อพรรคการเมืองใดถูกยุบ ให้กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ประกาศของคณะรัฐประหารนี้ออกหลังจากวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นเวลาหลายเดือน
แต่คณะตุลาการเสียงข้างมากมีมติวินิจฉัยให้ใช้ประกาศนี้ย้อนหลังไปลงโทษกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยได้ ด้วยเหตุผลว่าการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ใช่การลงโทษทางอาญา กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้งหมด 111 คนจึงถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตลอดมาว่า การยุบพรรคที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปโดยปราศจากพยานหลักฐาน และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 111 คนนั้นขัดต่อหลักนิติธรรม เนื่องจากเป็นการใช้คำสั่งของคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นกฎหมายอันมีที่มาที่ไม่ชอบธรรม และเป็นการใช้ให้มีผลย้อนหลังไปเป็นโทษอย่างร้ายแรง ทั้งยังเป็นการลงโทษบุคคลที่ไม่ได้กระทำความผิด แต่ต้องถูกลงโทษเนื่องจากความเกี่ยวพันกับองค์กร
แต่ขณะเดียวกัน พรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เคยมีสมาชิกพรรคมากที่สุด ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นติดต่อกัน มีสส.ในสภามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และตั้งรัฐบาลที่บริหารงานเป็นที่ยอมรับของประชาชนอย่างกว้างขวาง นอกจากถูกทำลายไปแล้วก็ยังต้องถูกประณามว่าเป็นพรรคการเมืองที่ทุจริตในการเลือกตั้งจนถูกยุบไป นักการเมือง 111 คนต้องอยู่ในสภาพเป็นพลเมืองชั้นสองชั้นสามของประเทศ ทั้งยังถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ที่สมควรแล้วที่ต้องถูกลงโทษให้สาสม
เมื่อศาลฎีกาตัดสินเป็นข้อยุติว่าไม่มีคนของพรรคไทยรักไทยกระทำผิดกฎหมาย เมื่อพิจารณาย้อนหลังไปก็เท่ากับว่า ไม่มีเหตุอะไรที่จะยุบพรรคไทยรักไทย และก็ยิ่งไม่มีเหตุผลความชอบธรรมใดๆที่จะไปเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 111 คน
ประวัติศาสตร์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า การยุบพรรคไทยรักไทยและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนักการเมือง 111 คนที่เกิดขึ้นนั้น คือ ‘ความอยุติธรรม’
ความอยุติธรรมที่ไม่อาจรื้อฟื้นให้ความถูกต้องกลับคืนมาได้ง่ายๆเสียแล้ว ด้วยระบบกฎหมายของประเทศนี้ยังถือว่าคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นที่สุด แม้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นผลมาจากการรัฐประหาร และแม้ว่าคำวินิจฉัยจะได้รับการพิสูจน์ต่อมาว่าไม่ถูกต้องชอบธรรมก็ตาม เรื่องนี้คงต้องเป็นเรื่องของผู้รักและใฝ่หาความยุติธรรมทั้งหลายจะขบคิดกันต่อไป
แต่ความเสียหายที่เกิดจากกรณียุบพรรคไทยรักไทยนั้นใหญ่หลวงลึกซึ้งกว่าการยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และการตัดสิทธิ์นักการเมืองจำนวนหนึ่งมากนัก
การยุบพรรคไทยรักไทยและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของแผนบันได 4 ขั้นของคมช.ที่ต้องการทำลายพรรคไทยรักไทย และสกัดกั้นไม่ให้นักการเมืองพรรคไทยรักไทยกลับมาสู่อำนาจอีก เพื่อการนี้คณะรัฐประหารได้ใช้ฝ่ายตุลาการเป็นเครื่องมือด้วยการยุบศาลรัฐธรรมนูญ แล้วตั้งบุคลากรฝ่ายตุลาการขึ้นเป็นคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่แทน คล้ายกับการตั้งศาลพิเศษขึ้นมาพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะ เท่ากับเป็นการประสานร่วมมือกันระหว่างคณะรัฐประหารกับตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งถูกผลักดันให้มีบทบาทหาทางออกของวิกฤตการเมืองไทยในขณะนั้นด้วยความเชื่อว่า ฝ่ายตุลาการมีความเป็นอิสระและเป็นกลางกว่าฝ่ายอื่นใด แต่เอาเข้าจริงกลับจัดการกับการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรมแต่อย่างใด
หลังจากกรณียุบพรรคไทยรักไทยแล้ว ผู้มีอำนาจทั้งหลายก็เดินหน้าต่อด้วยการทำให้การยุบพรรคการเมืองทำได้ง่ายขึ้น เช่น หากกกต.เชื่อว่ากรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งทุจริตก็ให้ใบแดงได้ง่ายๆ และก็เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้แล้ว นอกจากนั้นการลงโทษทั้งหมู่คณะหรือทั้งองค์กร ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้กระทำผิดก็ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างเป็นทางการ ทำลายความเป็นประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมมากยิ่งขึ้น
แล้วระบบที่อ้างว่ามีไว้จัดการกับนักการเมืองเลวๆให้อยู่หมัดนี้ก็แสดงพิษสงของมันออกมา
รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ถูกล้มก็ด้วยระบบนี้
กรณีคล้ายกับการยุบพรรคไทยรักไทยยังเกิดขึ้นอีก ในการเลือกตั้งปี 2550 ผู้สมัครของพรรคชาติไทยถูกกกต.ให้ใบแดง เนื่องจากกกต.เชื่อว่าจ่ายเงินให้แก่ผู้สนับสนุนเป็นจำนวน 2 หมื่นบาท ต่อมาพรรคชาติไทยก็ถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 5 ปี ที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ก็ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีและไม่อาจเป็นอะไรอีกได้
ต่อมามีการดำเนินคดีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้ใบแดง ได้ข้อยุติว่าทางการสั่งไม่ฟ้องและให้คืนเงิน 2 หมื่นบาทแก่ผู้สมัครรายนั้นไป เนื่องจากพิสูจน์ได้ว่าเป็นเงินที่ใช้ในการชำระหนี้และไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
สิ่งที่เกิดกับพรรคชาติไทยก็เป็น ‘ความอยุติธรรม’ เช่นกัน
ระบบที่ให้อำนาจองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองและขจัดนักการเมืองได้ง่ายๆโดยไม่คำนึงถึงหลักประชาธิปไตยและนิติธรรมนี้ ได้ทำให้พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองอ่อนแอลงอย่างมาก รัฐบาลอ่อนแอไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถบริหารงานได้ เกิดการหักล้างมติของประชาชนและเกิด ‘ความอยุติธรรม’ ขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า มีผลกระทบทางสังคมอย่างลึกซึ้งต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้
การใช้ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ เป็นเครื่องมือจัดการกับการเมืองได้รับการพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าไม่ได้ผล ซ้ำร้ายยังทำให้ระบบยุติธรรมของประเทศนี้ต้องเสื่อมลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การจัดการที่ไม่ชอบธรรมนี้นอกจากไม่ช่วยแก้ความขัดแย้งแล้ว ยังทำให้ประเทศต้องจมปลักอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งที่ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นได้ในเร็วๆนี้เลย
วันนี้กำลังมีความพยายามทำให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากขึ้น และมีบทบาทแทรกแซงจัดการกับการเมืองได้มากขึ้นกว่าที่แล้วมา ทั้งยังจะเอาระบบผิดคนเดียวลงโทษทั้งคณะมาใช้เพิ่มขึ้นอีก
สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคไทยรักไทยและผลกระทบต่อเนื่องมาน่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้หวังดีห่วงใยต่อชาติบ้านเมืองทั้งหลายต้องหันมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบันกันเสียใหม่ เพื่อไม่ให้สังคมไทยต้องวนเวียนอยู่ในวิกฤตที่เกิดจากการทำลายล้างและการกระทำอันอยุติธรรมภายใต้ข้ออ้างของการจัดการกับคนโกงคนเลวให้สิ้นซาก ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำไปอย่างผิดฝาผิดตัวและไม่รับผิดชอบใดๆต่อความเสียหายที่ตามมาเช่นในกรณีพรรคไทยรักไทยนี้
จาตุรนต์ ฉายแสง
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
6 กุมภาพันธ์ 2559
......................
#ยุบพรรคไทยรักไทย #ความอยุติธรรม #ตุลาการภิวัฒน์ #จาุตรนต์
...สังคมไทยต้องวนเวียนอยู่ในวิกฤตที่เกิดจากการทำลายล้างและการกระทำอัน ‘อยุติธรรม’ ภายใต้ข้ออ้างของการจัดการกับคนโกงคนเลวให้สิ้นซาก ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำไปอย่างผิดฝาผิดตัวและไม่รับผิดชอบใดๆต่อความเสียหายที่ตามมา เช่น ในกรณีพรรคไทยรักไทยนี้
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 พรรคไทยรักไทยถูกยุบและกรรมการบริหารพรรค 111 คนถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้ตัดสินคดีจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นข้อยุติว่าไม่มีคนของพรรคไทยรักไทยคนใดกระทำผิดกฎหมายแม้แต่คนเดียว
ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยซึ่งตกเป็นจำเลยข้อหาว่าจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีมูลความจริง และอัยการไม่ฎีกา คดีจึงเป็นที่สุด
เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นอะไร
เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 คดีมาสู่ศาลเอาเมื่อหลังการรัฐประหาร 22 กันยายน 2549 ในขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญถูกยุบไปโดยคณะรัฐประหาร และคมช.ได้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ ในคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้อาศัยพยานหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ มีเพียงพยานแวดล้อมที่จินตนาการเอาเอง และเชื่อว่าพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา น่าจะจ้างพรรคเล็กลงสมัครเพื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย จะได้ไม่ต้องพบเงื่อนไขที่ต้องได้เสียงเกินร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิ์ในเขตที่ไม่มีผู้สมัครอื่นลงเลือกตั้ง
เมื่อเชื่อว่าพล.อ.ธรรมรักษ์ น่าจะจ้างผู้สมัครพรรคเล็ก ก็ใช้ตรรกะโดยไม่มีพยานหลักฐานใดๆทึกทักต่อไปว่า พล.อ.ธรรมรักษ์เป็นถึงรองหัวหน้าพรรคและประธานภาคอีสานของพรรค ทั้งยังได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย จึงเชื่อว่าหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรคต้องรู้เห็นเป็นใจกับการจ้างพรรคเล็กในครั้งนี้คือร่วมกันทั้งพรรค จากนั้นก็โยงต่อไปว่าการจ้างพรรคเล็กนี้เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงสมควรต้องยุบพรรคไทยรักไทยเสีย
ตามระบบกฎหมายปรกติในขณะนั้น เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคจะถูกห้ามไม่ให้ไปก่อตั้งพรรคหรือเป็นกรรมการบริหารพรรคใหม่ ไม่มีบทลงโทษให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่คมช.ได้ออกประกาศกำหนดว่าเมื่อพรรคการเมืองใดถูกยุบ ให้กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ประกาศของคณะรัฐประหารนี้ออกหลังจากวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นเวลาหลายเดือน
แต่คณะตุลาการเสียงข้างมากมีมติวินิจฉัยให้ใช้ประกาศนี้ย้อนหลังไปลงโทษกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยได้ ด้วยเหตุผลว่าการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ใช่การลงโทษทางอาญา กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้งหมด 111 คนจึงถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตลอดมาว่า การยุบพรรคที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปโดยปราศจากพยานหลักฐาน และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 111 คนนั้นขัดต่อหลักนิติธรรม เนื่องจากเป็นการใช้คำสั่งของคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นกฎหมายอันมีที่มาที่ไม่ชอบธรรม และเป็นการใช้ให้มีผลย้อนหลังไปเป็นโทษอย่างร้ายแรง ทั้งยังเป็นการลงโทษบุคคลที่ไม่ได้กระทำความผิด แต่ต้องถูกลงโทษเนื่องจากความเกี่ยวพันกับองค์กร
แต่ขณะเดียวกัน พรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เคยมีสมาชิกพรรคมากที่สุด ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นติดต่อกัน มีสส.ในสภามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และตั้งรัฐบาลที่บริหารงานเป็นที่ยอมรับของประชาชนอย่างกว้างขวาง นอกจากถูกทำลายไปแล้วก็ยังต้องถูกประณามว่าเป็นพรรคการเมืองที่ทุจริตในการเลือกตั้งจนถูกยุบไป นักการเมือง 111 คนต้องอยู่ในสภาพเป็นพลเมืองชั้นสองชั้นสามของประเทศ ทั้งยังถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ที่สมควรแล้วที่ต้องถูกลงโทษให้สาสม
เมื่อศาลฎีกาตัดสินเป็นข้อยุติว่าไม่มีคนของพรรคไทยรักไทยกระทำผิดกฎหมาย เมื่อพิจารณาย้อนหลังไปก็เท่ากับว่า ไม่มีเหตุอะไรที่จะยุบพรรคไทยรักไทย และก็ยิ่งไม่มีเหตุผลความชอบธรรมใดๆที่จะไปเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 111 คน
ประวัติศาสตร์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า การยุบพรรคไทยรักไทยและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนักการเมือง 111 คนที่เกิดขึ้นนั้น คือ ‘ความอยุติธรรม’
ความอยุติธรรมที่ไม่อาจรื้อฟื้นให้ความถูกต้องกลับคืนมาได้ง่ายๆเสียแล้ว ด้วยระบบกฎหมายของประเทศนี้ยังถือว่าคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นที่สุด แม้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นผลมาจากการรัฐประหาร และแม้ว่าคำวินิจฉัยจะได้รับการพิสูจน์ต่อมาว่าไม่ถูกต้องชอบธรรมก็ตาม เรื่องนี้คงต้องเป็นเรื่องของผู้รักและใฝ่หาความยุติธรรมทั้งหลายจะขบคิดกันต่อไป
แต่ความเสียหายที่เกิดจากกรณียุบพรรคไทยรักไทยนั้นใหญ่หลวงลึกซึ้งกว่าการยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และการตัดสิทธิ์นักการเมืองจำนวนหนึ่งมากนัก
การยุบพรรคไทยรักไทยและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของแผนบันได 4 ขั้นของคมช.ที่ต้องการทำลายพรรคไทยรักไทย และสกัดกั้นไม่ให้นักการเมืองพรรคไทยรักไทยกลับมาสู่อำนาจอีก เพื่อการนี้คณะรัฐประหารได้ใช้ฝ่ายตุลาการเป็นเครื่องมือด้วยการยุบศาลรัฐธรรมนูญ แล้วตั้งบุคลากรฝ่ายตุลาการขึ้นเป็นคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่แทน คล้ายกับการตั้งศาลพิเศษขึ้นมาพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะ เท่ากับเป็นการประสานร่วมมือกันระหว่างคณะรัฐประหารกับตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งถูกผลักดันให้มีบทบาทหาทางออกของวิกฤตการเมืองไทยในขณะนั้นด้วยความเชื่อว่า ฝ่ายตุลาการมีความเป็นอิสระและเป็นกลางกว่าฝ่ายอื่นใด แต่เอาเข้าจริงกลับจัดการกับการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรมแต่อย่างใด
หลังจากกรณียุบพรรคไทยรักไทยแล้ว ผู้มีอำนาจทั้งหลายก็เดินหน้าต่อด้วยการทำให้การยุบพรรคการเมืองทำได้ง่ายขึ้น เช่น หากกกต.เชื่อว่ากรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งทุจริตก็ให้ใบแดงได้ง่ายๆ และก็เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้แล้ว นอกจากนั้นการลงโทษทั้งหมู่คณะหรือทั้งองค์กร ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้กระทำผิดก็ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างเป็นทางการ ทำลายความเป็นประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมมากยิ่งขึ้น
แล้วระบบที่อ้างว่ามีไว้จัดการกับนักการเมืองเลวๆให้อยู่หมัดนี้ก็แสดงพิษสงของมันออกมา
รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ถูกล้มก็ด้วยระบบนี้
กรณีคล้ายกับการยุบพรรคไทยรักไทยยังเกิดขึ้นอีก ในการเลือกตั้งปี 2550 ผู้สมัครของพรรคชาติไทยถูกกกต.ให้ใบแดง เนื่องจากกกต.เชื่อว่าจ่ายเงินให้แก่ผู้สนับสนุนเป็นจำนวน 2 หมื่นบาท ต่อมาพรรคชาติไทยก็ถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 5 ปี ที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ก็ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีและไม่อาจเป็นอะไรอีกได้
ต่อมามีการดำเนินคดีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้ใบแดง ได้ข้อยุติว่าทางการสั่งไม่ฟ้องและให้คืนเงิน 2 หมื่นบาทแก่ผู้สมัครรายนั้นไป เนื่องจากพิสูจน์ได้ว่าเป็นเงินที่ใช้ในการชำระหนี้และไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
สิ่งที่เกิดกับพรรคชาติไทยก็เป็น ‘ความอยุติธรรม’ เช่นกัน
ระบบที่ให้อำนาจองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองและขจัดนักการเมืองได้ง่ายๆโดยไม่คำนึงถึงหลักประชาธิปไตยและนิติธรรมนี้ ได้ทำให้พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองอ่อนแอลงอย่างมาก รัฐบาลอ่อนแอไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถบริหารงานได้ เกิดการหักล้างมติของประชาชนและเกิด ‘ความอยุติธรรม’ ขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า มีผลกระทบทางสังคมอย่างลึกซึ้งต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้
การใช้ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ เป็นเครื่องมือจัดการกับการเมืองได้รับการพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าไม่ได้ผล ซ้ำร้ายยังทำให้ระบบยุติธรรมของประเทศนี้ต้องเสื่อมลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การจัดการที่ไม่ชอบธรรมนี้นอกจากไม่ช่วยแก้ความขัดแย้งแล้ว ยังทำให้ประเทศต้องจมปลักอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งที่ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นได้ในเร็วๆนี้เลย
วันนี้กำลังมีความพยายามทำให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากขึ้น และมีบทบาทแทรกแซงจัดการกับการเมืองได้มากขึ้นกว่าที่แล้วมา ทั้งยังจะเอาระบบผิดคนเดียวลงโทษทั้งคณะมาใช้เพิ่มขึ้นอีก
สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคไทยรักไทยและผลกระทบต่อเนื่องมาน่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้หวังดีห่วงใยต่อชาติบ้านเมืองทั้งหลายต้องหันมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบันกันเสียใหม่ เพื่อไม่ให้สังคมไทยต้องวนเวียนอยู่ในวิกฤตที่เกิดจากการทำลายล้างและการกระทำอันอยุติธรรมภายใต้ข้ออ้างของการจัดการกับคนโกงคนเลวให้สิ้นซาก ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำไปอย่างผิดฝาผิดตัวและไม่รับผิดชอบใดๆต่อความเสียหายที่ตามมาเช่นในกรณีพรรคไทยรักไทยนี้
จาตุรนต์ ฉายแสง
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
6 กุมภาพันธ์ 2559
......................
#ยุบพรรคไทยรักไทย #ความอยุติธรรม #ตุลาการภิวัฒน์ #จาุตรนต์
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar