onsdag 25 september 2013

จักรภพ เพ็ญแข - Jakrapob Penkair ขอร่วมระดมสมองกับรัฐบาลในกรณีมีผู้คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์สักหน่อยครับ

จักรภพ เพ็ญแข - Jakrapob Penkair
ขอร่วมระดมสมองกับรัฐบาลในกรณีมีผู้คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์สักหน่อยครับ

ขณะ นี้ความคิดเห็นขัดแย้งในกรณีนี้ยังไม่บานปลาย การเมืองระดับลูกน้องหรือระดับผู้ปฏิบัติยังไม่ซึมเข้ามามาก มีแต่การเมืองในระดับโครงสร้าง (การแย่งชิงอำนาจในการควบคุมดูแลทรัพยากรน้ำ) ซึ่งเราต้องคอยรับมืออยู่แล้ว นี่จึงถือเป็นจังหวะเวลาที่ดี และมีค่ายิ่ง ที่เราจะวางกรอบสื่อสารของภาครัฐให้ถูกต้องเสียตั้งแต่ต้นมือ อย่าให้ซ้ำกับกรณีแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในยุครัฐบาลทักษิณ ที่เราปล่อยให้เวลาอันมีค่าผ่านพ้นไปจนต้องเผชิญหน้ากันและกลายเป็นสงคราม ตัวแทน (a proxy war) ระหว่างสองระบอบ ซึ่งบาดลึกมาจนถึงทุกวันนี้

คำ ว่า เรา นี้ ผมรวมตัวผมเองเข้าไปด้วย ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ผมยอมรับว่า อ่านไม่ขาด มองไม่เห็น ไม่รู้เกม และไม่คาดคิดว่าผู้ใหญ่ขนาดบ้านเมืองที่เราเคยเคารพนับถือมาตลอดชีวิตจะเป็น ไปได้ถึงขนาดนั้น จึงขอนำข้อผิดพลาดของฝ่ายเราที่ผมมีส่วนรับผิดชอบด้วย มาเตือนกันในคราวนี้ ก่อนจะต้องมานั่งวิเคราะห์ย้อนหลังกันอีก



ขั้นแรกรัฐบาลควรสื่อสารใน ๒ ประเด็นใหญ่ที่สุดให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อให้ทุกคนนิ่งและสงบลง เพื่อจะได้หารือกันอย่างปัญญาชน สองประเด็นนั้นคือ:


๑. ยังไม่มีการตัดสินใจสร้างเขื่อนแม่วงก์ในขณะนี้เลย
ข่าวที่ทำให้ พลเมืองบางส่วนเกิดกังวล เป็นเพียงแนวคิดบนแผ่นกระดาษ ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนในสาระสำคัญและในรายละเอียดกันได้อีกหลายรอบ เวทีที่จะระดมสมองกันได้มีอีกหลายเวที รวมทั้งกระบวนการประชาพิจารณ์ที่ต้องทำอย่างครบขั้นตอนด้วย


๒. แนวคิดเรื่องการสร้างเขื่อนทั้งหลาย ไม่ได้มาจากรัฐบาล แต่รัฐบาลถูกขอร้องให้รับหน้าเสื่อและแบก “เผือกร้อน” แบบนี้แทนทุกครั้ง อดีต นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีปัจจุบันจะช่วยยืนยันได้ว่ารัฐบาลมักเป็นเพียง เลขานุการหรือผู้ประสานงานในโครงการสร้างเขื่อนเท่านั้น ผมขอแนะว่า รัฐบาลควรแถลงกับประชาชนเจ้าของประเทศให้ชัดเจนว่า โครงการสร้างเขื่อนทั้งหลายรวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ มาจากที่ใด เลิกรับผิดแทนคนอื่น และปล่อยให้คนที่ไม่ควรได้รับความดี ลอยตัวไปเรื่อยได้แล้วครับ


ขั้นต่อมา ในฐานะรุ่นลูกและรุ่นน้อง ผมกราบขอร้องให้ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี และคุณบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๑ ของเมืองไทยให้ใจเย็นลงหน่อย ท่านรองนายกฯ ท่านรู้จักองค์กรพัฒนาเอกชนบางส่วนที่มีพฤติกรรมที่ไม่น่าชื่นชมยกย่อง จนบางครั้งท่านเลยนึกว่าทุกหน่วยงานแย่เหมือนกันหมด ผมคิดว่าเราจะได้ประโยชน์มากจากการแยกปลาออกจากน้ำ องค์กรพัฒนาเอกชนที่จริงใจและคุยกันได้ยังมีตัวตนอยู่ ส่วนพวกที่รับงานจากบรรษัทข้ามชาติที่ให้เงินบริจาคผ่านมาหลายต่อจนถึง องค์กรของตัวนั้น เราก็ค่อยๆ บอกให้สาธารณชนไทยได้รู้จัก และรับทราบ ทำเหมือนตอนรัฐบาลแยกปลาออกจากน้ำในกรณีม็อบยางพารานั่นล่ะครับ (ผู้เดือดร้อนตัวจริงกับนักการเมืองและนายหน้าแฝง) ส่วนท่านนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๑ นั้น ดูท่านจะฉุนว่า ผู้ประท้วงไม่ห่วงปัญหาน้ำท่วม และจะเอาแต่เรื่องที่ตนสนใจ ซึ่งผมก็เข้าใจจิตใจท่าน แต่ผมคิดว่ามีผู้ประท้วงอย่างนี้เป็นการดีแล้ว อย่าไปต่อว่าเขาเลยครับ มีคนมาจับตามองเรามากๆ อย่างนี้ จะทำให้เราเดินงานในระดับสากลได้สะดวกขึ้นในภาพรวม ถึงเสียงคัดค้านภายใน ทำให้เราต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในบางครั้ง แต่คุ้มค่า เพราะการนำผู้เกี่ยวข้อง (stakeholders) ทั้งหมดมาประชันกันเสียแต่ต้นทางจะช่วยลดความเสี่ยงที่กลางทางและปลายทางไป ได้มาก เรื่องนี้วานฝากถึงท่านอื่นๆ ด้วยนะครับ ผมยกสองท่านนี้เป็นเพียงตัวอย่างเพราะเห็นอยู่ในสื่อตอนนี้เท่านั้นเอง


ขั้นต่อมา ประกาศภูมิศาสตร์น้ำของประเทศซึ่งจะใหญ่กว่าแผนแม่บทในการจัดการเรื่องน้ำ เพื่อให้ผู้คนทั่วประเทศได้รู้ว่าแต่ละโครงการเป็นขั้นตอนใดของแผนใหญ่นั้น แต่ระวังหน่อย ตอนจะโยนงบประมาณประชาสัมพันธ์ไปรอบๆ เราต้องวางระบบกรองงานที่ดี และลึกซึ้ง (ขนาดรู้ให้ชัดเลยว่าใครเป็นใคร และใครเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของใคร) อย่ากระจายงบประมาณแบบโปรยทาน หรือชิงเปรต สื่อกระแสหลักส่วนหนึ่งเขาไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตย แต่มุ่งรักษาอำนาจของระบอบเดิมไว้เสมอ เขาก็จะรับการโปรยทานแล้วไปช่วยฝ่ายตรงข้ามเลื่อนขาเก้าอี้ของรัฐบาลไปเรื่อยๆ ทุกวันเช่นที่ทำมาโดยตลอด โดยเฉพาะสื่อที่พยายามช่วยป้ายสีว่าทุกโครงการของรัฐบาลเป็นเรื่องคอร์รัปชั่นทั้งนั้นนี่ล่ะครับ


ขั้นต่อมา โยงการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติของไทย ให้เป็นประเด็นความร่วมมือในอาเซียนและอยู่ภายในกรอบ AEC ไปเสียเลย เพราะการจัดการน้ำคือ ยุทธศาสตร์หลักเรื่องหนึ่งในการพัฒนาภูมิภาคเสมอมา น้ำทำให้เราลดและเพิ่มต้นทุนในชีวิตได้มาก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างใกล้ชิดที่สุดเรื่องหนึ่ง เพื่อนบ้านทุกประเทศที่มีพื้นที่ต่อกันกับไทย ล้วนได้รับผลโดยตรงจากนโยบายจัดการน้ำของไทย โดยเฉพาะในเรื่องผลิตผลทางการเกษตรและอาหาร อย่าให้เป็นเรื่องของไทยล้วนๆ เพราะเราลงทุนทั้งหมดนี้ก็เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับชาติ ไม่ใช่ทำเท่หรือชวนขี่ช้างจับตั๊กแตนแต่อย่างใดเลย ซึ่งจะขยายไปถึงความสามารถการผลิตในระดับภูมิภาคอีกต่อหนึ่ง



โปรดรีบวางกรอบการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เรื่องเขื่อนแม่วงก์และการจัดการน้ำในภาพกว้างเสียให้ดีครับ เราเป็นรัฐบาล ไม่ต้องเอาชนะด้วยคำพูดมันทุกเรื่อง เรายกตัวเองขึ้นไปเป็นอนุญาโตตุลาการให้มันสมภาคภูมิเลยจะดีกว่า

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar